แสดงโอวาทปาฏิโมกข์
เมื่อเหล่าพระสาวกได้ออกจาริกไปเผยแผ่พระศาสนากันทั่วประเทศ ก็ไม่ได้มารวมกันหรือประชุมกันเลย ต่างก็แยกย้ายกันออกไปทำหน้าที่ในการเผยแผ่ตามเส้นทางที่ตนได้เดินทางไป ซึ่งทุกรูปที่จาริกไปก็เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด จึงไม่ได้มีการเรียกประชุมกัน ด้วยเหตุนี้ จึงมีเรื่องอันเป็นเหตุน่าอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา คือ ในวันเพ็ญเดือนมาฆะ (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3) ได้มีพระภิกษุสาวกจำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมเพรียงกันโดยไม่ได้นัดหมายที่พระวิหารเวฬุวันสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้าในขณะนั้น การประชุมในครั้งนี้จึงเรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต เพราะประกอบพร้อมด้วยองค์ 4 ประการ คือ
1. เป็นวันอุโบสถขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์
2. ภิกษุสาวกจำนวน 1,250 รูป เดินทางมาจากทิศทั้ง 4 มาประชุมพร้อมเพรียงกันโดยไม่ได้นัดหมาย
3. ภิกษุเหล่านั้นเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา 6 ทั้งหมด ไม่มีภิกษุผู้เป็นปุถุชนหรือพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามีแม้สักรูปเดียวมาประชุมในครั้งนี้
4. ภิกษุเหล่านั้นเป็นผู้ที่พระพุทธเจ้าทรงประทานการบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้ทั้งหมด
ในการประชุมครั้งนี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทพระปาฏิโมกข์ในท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ 1,250 รูป ซึ่งถือว่าเป็นหลักคำสอนที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา และเป็นนโยบายในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพื่อให้คณะสงฆ์ยึดเป็นหลักปฏิบัติเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ซึ่งมีเนื้อหาสาระสำคัญแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ
1. อุดมการณ์หรือเป้าหมายสูงสุดของชีวิต คือ ความอดทน พระนิพพานเป็นธรรมอย่างยิ่ง และบรรพชิตผู้ทำร้ายผู้อื่น เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ
2. หลักการดำเนินชีวิตของชาวพุทธ คือ การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม และการทำจิตของตนให้ผ่องใส
3. วิธีการที่จะนำไปสู่การบรรลุถึงอุดมการณ์และหลักการดำเนินชีวิต คือ การไม่กล่าวร้าย การไม่ทำร้าย ความสำรวมในพระปาติโมกข์ ความเป็นผู้รู้ประมาณใน ภัตตาหาร อยู่ในที่นั่งที่นอนอันสงัด และประกอบความเพียรในอธิจิต
โอวาทปาฏิโมกข์ทั้ง 3 ส่วนนี้ เป็นหลักปฏิบัติและนโยบายในการเผยแผ่ของพระพุทธศาสนาที่ พระพุทธเจ้าทรงประทานให้แก่พระอรหันต์ชุดแรกที่ได้ออกไปประกาศพระศาสนาในโอกาสที่ได้มาประชุม พร้อมเพรียงกัน เพื่อให้ถือเป็นนโยบายและหลักปฏิบัติในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เป็นแนวทางเดียวกัน
การประชุมพระอรหันตสาวกเช่นนี้ เพื่อประทานนโยบายในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ไม่ได้มีแต่ใน ยุคของพระสมณโคดมพุทธเจ้าซึ่งอยู่ในกัปนี้เท่านั้น แต่ในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ในอดีต ก็ทรงแสดง โอวาทปาติโมกข์13) แต่จำนวนครั้งในการประชุมภิกษุสาวกและจำนวนพระอรหันตสาวกที่เข้าร่วมประชุมต่างกัน จะเห็นว่า วิธีการในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ทรงปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน คือ เมื่อทรงฝึกพระอรหันต์ชุดแรก สำหรับเป็นครูและเป็นต้นแบบให้กับชาวโลกได้จำนวนมากพอสมควรแล้ว ก็ส่งออกไปประกาศพระพุทธศาสนา และเมื่อคราวที่พระอรหันตสาวกเหล่านั้น มาประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน พระพุทธองค์ก็ทรงประทานนโยบายในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพื่อจะนำพาสรรพสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากทะเลแห่งทุกข์ ไปสู่ฝั่งแห่งพระนิพพาน
-------------------------------------------------------------------
13) มหาปทานสูตร, ทีฆนิกาย มหาวรรค. เล่ม 10 ข้อ 7 หน้า 4.
GL 204 ศาสตร์แห่งการเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต