ฉบับที่ 37 พฤศจิกายน ปี 2548

พระเวสสันดรยกพระโอรสและพระธิดาเป็นทานแก่ชูชก

พระเวสสันดรยกพระโอรสและพระธิดา

 

 


กราบนมัสการพระเดชพระคุณหลวงพ่อที่เคารพอย่างสูงคนส่วนใหญ่มักจะมีความสงสัยว่า การที่พระเวสสันดรยกพระโอรส และพระธิดาให้แก่ชูชก ทำให้ทั้ง ๒พระองค์ได้รับความลำบาก การให้ทานในลักษณะนี้ถูกต้องหรือไม่ ?

             ในการที่จะตัดสินว่าใครทำอะไรผิด หรือถูกนั้น มีสิ่งที่ต้องพึงระมัดระวังอยู่ ๒ ประการด้วยกัน คือ

             ๑. กฎเกณฑ์ของเรื่องนั้นมีอย่างไร

            ๒. สถานภาพของผู้ทำเป็นอย่างไร

เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งประเมินเหตุการณ์ใด โดยเอาความรู้สึกนึกคิดของเราเข้าไปใส่ ต้องนำกฎเกณฑ์ของเรื่องนั้นๆ กับสถานภาพของผู้ทำ เข้ามาประกอบในการพิจารณาด้วย ไม่อย่างนั้น เดี๋ยวจะตัดสินผิดพลาดไปได้
ในกรณีของพระเวสสันดร ให้ทานพระโอรสและพระธิดาแก่ขอทานเฒ่านั้น ในกรณีนี้ ก่อนที่จะเอาตัวของเราเข้าไปเปรียบเทียบ หลวงพ่ออยากจะให้หลักในการตัดสินใจว่าจะทำอะไร เอาไว้สัก ๓ ประการด้วยกัน คือ

            ประการที่ ๑ เวลาจะทำอะไร ถามตัวเองก่อนว่า มีอะไรเป็นเป้าหมายหลัก และมีอะไรเป็นเป้าหมายรอง

            ประการที่ ๒ เวลาจะทำอะไร แน่นอนว่า ต้องเอาเป้าหมายหลักเป็นที่ตั้ง แต่ว่าเป้าหมายรองก็ต้องไม่เสียหาย หรือถ้าจะมีความเสียหายบ้าง ก็ให้เสียหายน้อยที่สุด

            ประการที่ ๓ หลังจากตัดสินใจทำลงไปแล้ว ถ้าจะให้ดีที่สุดล่ะก็ ทั้งเป้าหมายหลักและเป้าหมายรอง ต้องทำให้สำเร็จด้วยกันทั้งคู่
หรือว่าถ้าเกิดมีความผิดพลาดอะไรขึ้นมา อย่างน้อยเป้าหมายหลักต้องสำเร็จ ส่วนเป้าหมายรองค่อยว่ากันอีกที

            ในกรณีของพระเวสสันดร เป้าหมายหลักที่พระองค์ทรงตั้งเอาไว้ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญสูงสุด ซึ่งติดตัวข้ามภพข้ามชาติ มานับชาติกันไม่ถ้วน คือ

            ๑. การบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ พระองค์มุ่งในเรื่องของการบรรลุธรรม คือ การปราบกิเลสในตัวเองให้หมดไป

            ๒. การรื้อสัตว์ขนสัตว์ เมื่อตัวของพระองค์หมดกิเลสแล้ว ก็ยังตั้งใจที่จะช่วยชาวโลกทั้งหลายให้หมดกิเลส จะได้พ้นทุกข์ตามไปด้วย เพราะที่มนุษย์ทั้งหลายเป็นทุกข์อยู่ขณะนี้ จริงๆ แล้วเกิดจากกิเลสที่ฝังอยู่ในใจของแต่ละคนนั่นเอง

            หน้าที่หลัก หรือว่าเป้าหมายหลักที่พระองค์ทรงตั้งเอาไว้ ข้ามภพข้ามชาติมาเป็นอย่างนี้
ส่วนเป้าหมายรอง หรือว่าหน้าที่รอง คือ หน้าที่แห่งความเป็นพ่อ ซึ่งมีต่อพระโอรสและพระธิดาของพระองค์นั่นเอง

            ในเหตุการณ์นี้จึงมีอยู่ ๒ เรื่องใหญ่ๆ เพราะฉะนั้น เมื่อพระองค์ตัดสินใจยกพระโอรสและพระธิดาให้ชูชกไป ถามว่า พระองค์ทำผิดหรือถูก เพราะในสถานภาพของพระองค์นั้น ถ้าทำผิดก็ไม่ได้บุญ แต่ถ้าทำถูกล่ะก็ ได้บุญอย่างเต็มที่ทีเดียว

            เมื่อเอาหน้าที่สำคัญสูงสุดของพระองค์เป็นตัวตั้ง ก็ตอบได้ชัดเจนเลยว่า การที่พระองค์ยกพระโอรสและพระธิดาให้ชูชกไปนั้น พระองค์ทำถูกแล้ว

            เพราะว่าที่พระองค์ต้องไปบำเพ็ญภาวนาอยู่ในป่าครั้งนี้ ก็ตั้งใจที่จะไปค้นคว้าทางจิต คือการทำสมาธิภาวนา เพื่อจะได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ

            เมื่อเป็นอย่างนี้ การที่ยกพระโอรสและพระธิดาเป็นทาน จึงเป็นการตัดความกังวลออกไป เพราะว่าให้ไปครั้งนี้ไม่ได้ให้ไปตาย เมื่อให้ไปแล้ว พระองค์ก็จะมีเวลาสำหรับทำการสมาธิภาวนา ค้นคว้าทางจิตได้เต็มที่

            แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เป้าหมายรองเกิดความเสียหาย พระองค์ทรงใช้ปฏิภาณในการป้องกัน ไม่ให้หน้าที่แห่งความเป็นพ่อของพระองค์เสียไปคือ

            ประการที่ ๑ ทรงตั้งค่าไถ่ตัวพระโอรสและพระธิดาเอาไว้แพงลิ่ว ผู้ที่จะมาไถ่ตัวได้ ต้องเป็นกษัตริย์เท่านั้น พูดง่ายๆ ให้ปู่กับย่าเตรียมไถ่ตัวเอาไปก็แล้วกัน

            ประการที่ ๒ เมื่อเป็นอย่างนี้ ผู้ที่ได้พระโอรสและพระธิดาของพระองค์ไป อย่างไรเสีย ก็ต้องถนอมทั้ง ๒ พระองค์อย่างดี เพราะเขาก็อยากเงินเหมือนกัน

            ประการที่ ๓ พอกลับไปถึงเมืองหลวง พระโอรสและพระธิดาก็จะมีความสะดวกสบาย มากกว่าอยู่กับพระองค์ในป่า

            ประการที่ ๔ พระราชบิดา พระราชมารดาของพระองค์เอง รวมทั้งพระญาติพระวงศ์ และประชาชนทั้งหลาย ก็จะพากันดีใจ

            เพราะฉะนั้น แม้หนทางจะทุรกันดาร แต่ว่าเมื่อตอนเสด็จมา พระโอรสและพระธิดาก็เดินมาเหมือนกัน เพียงแต่ว่าตอนนั้น มากับเสด็จพ่อ เสด็จแม่ แต่ครั้งนี้จะต้องไปกับขอทานเฒ่า อาจจะลำบากหน่อย และคิดถึงเสด็จพ่อ เสด็จแม่ ต้องร้องไห้กระจองอแงบ้าง ก็ต้องอดทน เพราะอย่างไรก็ไม่ถึงตาย

            แล้วที่แน่ๆ พระนางมัทรีซึ่งเป็นพระมารดา ก็คงจะเสียอกเสียใจไม่น้อย แต่ว่าก็ไม่ถึงตายอีกเช่นกัน
เมื่อไม่ถึงกับตายกันอย่างนี้ แล้วยังมีทางก้าวหน้า มีทางลดภาระ จึงทรงยกให้เขาไป

            นี่เป็นความคิดของคนที่ใจใหญ่ เป็นความคิดของคนที่มุ่งจะบรรลุพระสัมมาสัมโพธิ เพื่อจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ต่อไปข้างหน้า เขาคิดกันอย่างนี้เอง

            อุปมาเหมือนทหารกับประชาชน ย่อมคิดไม่เหมือนกันหรอกลูกเอ๊ย เช่น ในภาวะสงคราม ประชาชนอย่างไรก็ห่วงลูกห่วงหลาน อุ้มลูกจูงหลานกันกระจองอแง ไม่ยอมทิ้งลูกหลานให้ห่างตัว นั่นคือความรักของพ่อแม่ทั่วไป

            ทหารก็มีลูกเหมือนกัน แต่ว่าเมื่อเป็นหน้าที่ แม้ลูกและภรรยาจะร้องไห้อย่างไร ทหารก็ต้องออกไปรบ ออกไปรบทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าตัวเองจะได้กลับมาอีกหรือไม่

            เพราะถ้าบ้านเมืองแพ้สงครามก็ต้องตายกันทั้งหมด หากออกไปรบแล้วชนะ ยังมีสิทธิ์ได้กลับมา หรือแม้จะตายในสงคราม แต่ว่าโดยรวมแล้วประเทศชาติชนะ ลูกกับภรรยาที่อยู่ข้างหลัง ก็ยังรอดอยู่ดี

            ทหารทิ้งลูก ทิ้งภรรยา ออกไปรบ ยังไม่มีใครว่าเลย กลับชมเสียอีก ว่าทหารทำถูก ทหารเสียสละ

            เช่นเดียวกัน พระเวสสันดรก็กำลังทำสงคราม กำลังสู้รบกับกิเลสอยู่ในป่า จึงทรงตัดใจส่งพระโอรสและพระธิดากลับบ้านกลับเมือง โดยยืมมือขอทานเฒ่าชูชก

            ตรงนี้นี่เองคือสิ่งที่หลวงพ่ออยากจะเตือนเอาไว้ ว่าอย่าเที่ยวเอาตัวของเราไปเปรียบเทียบกับคนอื่น เนื่องจากเราอยู่กันคนละสถานภาพนะลูก

            เพราะฉะนั้น ขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า พระเวสสันดรท่านทำถูกต้องแล้ว ทำถูกในฐานะของผู้มุ่งที่จะบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ เพื่อที่จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ต่อไปข้างหน้า

            แต่ว่าอย่านำมาเปรียบเทียบกับพวกเรา ซึ่งงานการอะไรที่จะรับผิดชอบทางโลกก็มีไม่เท่าไหร่ ขี้เกียจเลี้ยงลูก เลยถือโอกาส ยกลูกให้คนนั้น คนนี้ไป เพื่อจะเอาบุญ อย่างนี้ทำผิดแน่นอน เพราะเป็นคนละเรื่องกัน ห้ามนำมาปนกันอย่างเด็ดขาด


www.kalyanamitra.org

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล