ฉบับที่ 93 กรกฎาคม ปี2553

กลวิธีชวนลูกเข้าวัดอย่างสม่ำเสมอ

กลวิธีชวนลูกเข้าวัดอย่างสม่ำเสมอ


          เคยพาลูกเข้าวัดตั้งแต่ยังเล็ก พอโตเป็นวัยรุ่นเขาก็รู้ ว่าการให้ทานดีอย่างไร รักษาศีลดีอย่างไร นั่งสมาธิดีอย่างไร แต่เขาติดเพื่อน จะพามาวัดแต่ละครั้งยากเหลือเกิน มีวิธีใดที่จะชวนเขามาวัดได้อย่างสม่ำเสมอ

          ลูกของคุณโยมเข้าวัดปฏิบัติธรรมกันมาตั้งแต่เล็ก ๆ ก็เป็นเพราะบุญวาสนาของเด็ก อย่างไรก็ตาม จิตใจของเด็กวัยรุ่นกับวัยเล็กไม่เหมือนกัน คุณโยมจะใช้การอบรมแบบเดียวกันไม่ได้ ตอนนี้ลูกของคุณโยมก้าวเข้าสู่วัยรุ่น เขาเริ่มมองไปข้างหน้า เพราะฉะนั้น เรื่องสนุก ๆ ก็เข้ามาแทน แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่สนใจเรื่องดี ๆ หรือไม่รักแม่ เขายังสนใจเรื่องบุญ ยังรักแม่ แต่ก็เริ่มมีความอยากสนุกขึ้นมาตามลำดับ

          


          กรณีนี้ไม่ยาก ในเมื่อเรารู้แล้วว่า ลูกกำลังมองไปในอนาคต ให้สอนลูกเลยว่าอนาคตของลูกจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว ขึ้นอยู่กับ ๒ เรื่องใหญ่ ๆ คือ

          ๑. เรื่องของความเก่ง ถ้าพูดภาษาชาวบ้านก็ขึ้นอยู่กับความเก่งและความเฮง คนที่มี ความเก่งแต่ไม่เฮงหยิบจับอะไรไม่เคยสำเร็จ เพื่อนนักเรียนรุ่นเดียวกับแม่กับพ่อที่เรียนเก่ง ฝีไม้ลายมือการทำงานเก่งกว่าแม่กว่าพ่อของลูกมีอยู่หลายคน แต่ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตเท่าที่ควรเพราะเก่งแต่ไม่เฮง แม่กับพ่อของลูกมีความรู้ความสามารถพอประมาณ แต่ว่ามีความเฮง

         เมื่อพูดถึงความเฮงต้องบอกลูกว่า แม่ไม่ได้พูดให้ลูกคิดถึงเรื่องลม ๆ แล้ง ๆ แต่กำลัง จะบอกว่า ลูกจะต้องสร้างเหตุแห่งความเฮงหรือความมีโชคมีลาภของชีวิตนั่นเอง ความมีโชค มีลาภหรือความสำเร็จ นอกจากจะเกิดจากความเก่งแล้ว ยังมาจากบุญที่เกิดจากการให้ทานบ้าง รักษาศีลบ้าง ทำภาวนาบ้าง และที่สำคัญมาก ๆ ก็คือ บุญที่เกิดจากการขวนขวายในงานที่เหมาะ ที่ควร

           ในเรื่องของการทำทานลูกก็ทำกับแม่มาตลอด แม่ก็ภูมิใจที่ลูกรักการทำทานเหมือนแม่ การทำทานของลูกนอกจากจะได้บุญแล้ว ยังเป็นการปูพื้นฐานความมีใจงาม ชาตินี้แม่มั่นใจว่า ลูกจะไม่เอาเปรียบใคร ไม่คดโกงใคร เพราะลูกแม่ให้ทานเหมือนแม่เป็นประจำ ภาพนี้ชี้ให้เขาเห็น ชัด ๆ

           ลูกแม่รักษาศีลตามแม่ตลอดเวลา แม่ก็ภูมิใจ นี้เป็นหลักประกันว่า ถึงลูกจะไม่สวยเหมือน นางงามจักรวาล แต่ลูกก็สามารถจะข่มอารมณ์ ข่มความโกรธได้ ไม่ว่าจะมีอะไรมากระทบกระทั่ง กระแทกกระทั้น ลูกก็ข่มได้ ซึ่งจะเป็นเสน่ห์ของลูก เวลาใครเข้าใกล้ลูก เขาจะไม่ร้อน เพราะว่าเรารักษาศีลมาดี และลูกแม่ตั้งใจทำภาวนามาทุกคืนกับแม่ ทำให้ลูกใจใส ความใจใสของลูกจะทำให้ลูกมีความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นมาโดยอัตโนมัติ นี้เป็นสิ่งที่แม่เพาะให้ลูก แล้วลูกก็สังเกตได้ด้วยตัวเองเวลาเข้าหมู่คณะว่า ลูกสามารถมีข้อเสนอแนะดี ๆ ให้กับหมู่คณะตลอดมา ซึ่งลูกก็เคย มาเล่าให้แม่ฟัง แม่ก็ภูมิใจ

           แต่ว่ามีอีกอย่างหนึ่งซึ่งแม่และพ่อของลูกได้ฝึกมาตลอด คือ การขวนขวายที่จะทำในสิ่งที่เหมาะที่ควร พูดง่าย ๆ คือ ถ้ามีงานบุญเกิดขึ้นที่ไหน แม่และพ่อก็จะรับอาสาเข้าไปเป็นเจ้าหน้าที่บ้าง ไปรับผิดชอบในหน่วยงานนั้น ๆ บ้าง ซึ่งนอกจากจะได้บุญแล้ว ยังเป็นการฝึกให้รู้จักงาน รู้จักเพื่อนมากขึ้น รู้จักแก้ไขปัญหาการกระทบกระทั่งได้ดีขึ้น พ่อของลูกบางครั้งก็เข้าไปจับงานการเมือง บางครั้งก็ไปช่วยสมาคมต่าง ๆ ทั้งสมาคมของหมู่บ้าน สมาคมของอาชีพของคุณพ่อ ขวนขวายเข้าไปรับผิดชอบงานของส่วนรวม

           เพราะฉะนั้น พ่อของลูกก็กลายเป็นคนมีเสน่ห์แรงคนหนึ่งเหมือนกัน คือ เมื่อหมู่คณะมีภาระเกิดขึ้น ลูกก็จะได้ยินเสียงโทรศัพท์จากพรรคพวกเพื่อนฝูงโทรมาตามคุณพ่อของลูก จากความที่พ่อและแม่ของลูกขวนขวายในสิ่งที่ชอบมาตลอดชีวิต ทำให้เวลาที่พ่อและแม่จะทำอะไร ก็จะได้รับความสนับสนุนช่วยเหลือจากพรรคพวกเพื่อนฝูงและผู้ใหญ่ตลอดมา เวลาพ่อแม่ ทำอะไรผิดพลาดพลั้งเผลอไป ก็มีพรรคพวกเพื่อนฝูงยื่นมือเข้ามาช่วยประคับประคองไม่ให้เซ ไม่ให้ล้ม ถ้าจะว่าไป นี่คือ ความเฮงที่พ่อแม่สร้างมากับมือ ไม่ใช่เพราะว่าเกิดมาในฤกษ์ดี นี้เป็นความดีที่แม่กับพ่อแสวงและสร้างสรรค์มาด้วยมือ

           วันนี้ลูกกำลังจะเตรียมตัวบินไปข้างหน้า วันหนึ่งลูกก็ต้องจากแม่ไปสร้างอาณาจักร ไปสร้าง ครอบครัวของตัวเอง ลูกต้องรีบสร้างความเฮงให้กับตัวเอง วันพระหรือวันอาทิตย์เวลาแม่ไปวัด ขอให้ลูกไปกับแม่ ไปสมัครเป็นเจ้าหน้าที่ของวัด ไปช่วยกันทำงานบุญในวัด หรือเวลาคุณพ่อเขาไปทำงานอะไรที่เป็นส่วนรวม ทั้งของหมู่บ้านหรือของสมาคม ถ้าคุณพ่อต้องการความช่วยเหลือให้ตามไปช่วย แล้วลูกแม่จะมีความเฮงตลอดชีวิต

           เพราะฉะนั้น วันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ไปวัดกับแม่ดีกว่า หลังจากทำบุญเสร็จแล้วก็ไปสมัครเป็นเจ้าหน้าที่ของวัดพระธรรมกาย แผนกไหนก็ได้ แล้วลูกจะมีความเฮงติดตัวไปด้วยน้ำมือของลูกเอง

 

"สอนธรรมะแก่ผู้พิพากษา"

          ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ อนธรรมะแก่ผู้พิพากษา และข้าราชการ เดือนละ ๑ ครั้ง เลยรู้สึกหนักใจ เนื่องจากผู้พิพากษาก็อยู่ในโลกของเขา คนทั่วไปยากที่จะเจาะลึกเข้าไปในจิตใจของเขาได้ ขอความเมตตาจาก หลวงพ่อช่วยแนะนำแนวทางในการ อนด้วย

          ท่านผู้พิพากษานั้น ถ้าสติปัญญาไม่เยี่ยม ท่านก็คงไม่ได้รับตำแหน่งนี้ เมื่อสติปัญญาท่านเยี่ยม ก็ถูกแล้วที่คุณโยมชักจะรู้สึกแหยง ๆ ที่จะไปมอบธรรมะให้ท่านเหล่านี้

แต่ว่าอย่างไรก็ตาม เราก็ต้องยอมรับความจริงว่า ในเรื่องของความรู้ธรรมะกับความรู้วิชาการทางโลก ..อย่าเอาไปปนกัน ผู้ที่มีสติปัญญาเฉียบแหลมในทางโลก ไม่ได้หมายความว่าจะมีสติปัญญาเฉียบแหลมในทางธรรม ตรงนี้ต้องชัด ๆ ก่อนเป็นประการที่ ๑

          ประการที่ ๒ แม้ผู้ที่มีสติปัญญาเฉียบแหลม มีความเข้าใจในเรื่องทางธรรมเหมือน ๆ กัน ก็อย่าเพิ่งทึกทักว่าจิตใจของเขาจะเป็นธรรมเหมือนกัน เพราะว่าความรู้ความเข้าใจธรรมะมีหลายระดับ

          ความรู้ในระดับที่เข้าใจ ระดับที่ใช้ตรึกตรอง พินิจพิจารณา แล้วเข้าใจเหตุผลว่า สิ่งนั้นเป็น อย่างนั้น สิ่งนี้เป็นอย่างนี้ ที่เกิดกรรมดีอย่างนั้นขึ้น เพราะได้ไปทำอย่างนั้น ๆ เอาไว้ แล้วผลจึงส่งให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มองทะลุปรุโปร่งเข้าใจหมด นี้เป็นเพียงระดับเข้าใจ ยังไม่เกิดผลดีอย่าง แท้จริง ที่จะเกิดผลดีอย่างแท้จริงขึ้นมาได้อยู่ที่ได้นำธรรมะที่ศึกษาดีแล้วไปปฏิบัติจนกระทั่งกลาย เป็นนิสัย ทั้งเนื้อทั้งตัวกลายเป็นธรรมะขึ้นมา ไม่ใช่แค่รู้ แค่ท่องจำ เอาไปสอบ เอาไปเทศน์ นั้นเป็นคนละระดับกัน

          ก็อยากจะให้กำลังใจ ให้ความเข้าใจกับท่านผู้ถามว่า ท่านผู้พิพากษาเหล่านั้น สติปัญญาของท่านอาจจะเฉียบแหลมในระดับเดียวกับเรา หย่อนกว่า หรือมากกว่าเราก็ตาม แต่ว่าสติปัญญาของท่านถูกทุ่มเทนำไปใช้ในเรื่องของการพิพากษา หรือเรื่องของคดีความเป็นหลัก หรือบางท่านอาจจะมีความเฉียบแหลมในเรื่องทางธรรมมากกว่าเราหรือเท่ากับเรา แต่ว่านั้นเป็นความเข้าใจธรรมะ ท่านจะก้าวล่วงไปถึงขนาดฝึกธรรมะหรือนำธรรมะนั้น ไปฝึกปฏิบัติให้เป็นนิสัยใจคอในชีวิตประจำวันได้แล้วหรือยัง ตรงนี้ไม่แน่ อาจจะยังไม่ได้ ถ้าอย่างนั้น ในเมื่อเราได้ เราก็มีสิทธิ์ที่จะเทศน์ ที่จะบรรยายให้ท่านฟังได้อีกเหมือนกัน

" ..ในโลกนี้ การได้ยินได้ฟังธรรมะจากผู้ที่ปฏิบัติธรรมตัวจริง เป็นมงคลอย่างยิ่ง หาฟังได้ไม่ง่าย.. "

          สมมติว่าท่านก็นำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ไม่ได้น้อยกว่าเรา อาจจะดีกว่าเราด้วย เพราะท่านเป็นผู้พิพากษา แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่เป็นไร เพราะว่าท่านที่มีความรู้ทางธรรมอย่างดี และปฏิบัติธรรมอย่างดีนั้น อย่าว่าแต่จะฟังธรรมะจากผู้ที่มีธรรมะเสมอกันกับท่านเลย แม้หย่อนกว่าท่าน ท่านก็ยินดีที่จะฟัง เพราะว่าในโลกนี้ การได้ยินได้ฟังธรรมะจากผู้ที่ปฏิบัติธรรมตัวจริง เป็นมงคลอย่างยิ่ง หาฟังได้ไม่ง่าย

          เพราะฉะนั้น ถ้าคุณโยมมั่นใจในความรู้ธรรมะและการปฏิบัติธรรมของตัวเองว่าไม่ผิดพลาด ก็ไปบรรยายให้ท่านฟัง ท่านก็จะชื่นใจ การที่เราไปบรรยายให้ท่านเหล่านี้ฟัง จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าวิตกกังวล ดีเสียอีก ถ้าเราเกิดมีอะไรผิดพลาด ท่านจะได้ช่วยตักเตือนหรือชี้แนะให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ซึ่งก็เป็นบุญของเรา

          ถ้าเรามองความจริงของโลกอย่างนี้ แล้วเข้าใจความเมตตากรุณา ความยุติธรรมของท่านผู้พิพากษาตามความเป็นจริงอย่างนี้ คุณโยมไม่ต้องกลัว อย่างไรก็ตามสิ่งที่เราจะต้องเตรียมตัวก็คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า ถ้าจะแนะนำธรรมะข้อใดกับใคร เราต้องปฏิบัติธรรมะ ข้อนั้นให้ได้เสียก่อน ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวไปพูดผิดพลาดเข้าจะยุ่ง

          ประการแรก เขาโต้แย้งมาเราก็เสียหายหน้าแตก หรือถ้าเขาไม่รู้ เขาเชื่อเราทั้ง ๆ ที่เรา พูดผิด เขาก็นำธรรมะข้อนั้นไปปฏิบัติแบบผิด ๆ เมื่อไปปฏิบัติแบบผิด ๆ บาปก็เกิดกับเขา เมื่อบาปเกิดกับเขา เขาก็ตกนรกทั้งเป็น ตายไปก็ตกนรกจริง ๆ แล้วลึกด้วย

          ประการที่ ๒ เรื่องที่คุณโยมจะนำไปพูด ให้คัดเฉพาะที่เราปฏิบัติได้จริง เมื่อเป็นอย่างนี้พูด ๑๐๐ ครั้ง ก็ถูกทั้ง ๑๐๐ หน ไม่มีคลาดเคลื่อน ได้บุญทั้งผู้พูด ได้บุญทั้งผู้ฟัง ในเรื่องนี้หลวงพ่อได้รับคำแนะนำจากคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง อาจารย์ของหลวงพ่อ เมื่อหลวงพ่อบวชพรรษาแรก มีญาติโยมมาขอร้องให้เทศน์ ก็ไม่รู้จะเทศน์เรื่องอะไรดี โดยเฉพาะเขาไม่ได้กำหนดหัวข้อมาอย่างชัดเจน ก็เลยไปปรึกษาขอบิณฑบาตความรู้จากคุณยาย คุณยายตอบชัดเลยว่า "ท่านก็ถามตัวเองสิ ตั้งแต่เข้าวัดปฏิบัติธรรม ตั้งแต่มาเจอยาย ตั้งแต่มาบวช ได้ปรับปรุงแก้ไขนิสัยตัวเองให้ดีขึ้นในเรื่องใดบ้าง อย่างไรบ้าง ไปนึกทบทวนให้ดี พอทบทวนเสร็จเรียบร้อยแล้วว่าเราเคยแก้ไขเรื่องนี้ แก้อย่างนี้แล้วทำให้เราดีขึ้นได้ ก็นำเรื่องนั้นแหละไปเทศน์ รับรองจะต้องถูกใจเขา เพราะว่าไม่ว่ายุคนี้หรือยุคไหน ๆ กิเลสที่มีอยู่ในใจคนก็มี ๓ ตัวเหมือนกัน คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลงŽ"

          เพราะฉะนั้นถ้าเราพูดในสิ่งที่ถูก อย่างไรก็ต้องถูกใจเขาวันยังค่ำ และจะเกิดประโยชน์ แน่ ๆ กับผู้ฟัง และเป็นการทบทวนความดีของเราด้วย บุญก็จะเกิดด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย คุณยายท่านให้คำแนะนำหลวงพ่อมาอย่างนี้ แล้วหลวงพ่อก็ทำอย่างนี้มาตลอดชีวิตของความเป็นพระ ก็ไปทดลองทำดูเถิด ขอการันตีว่าได้ผล

 
บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล