ฉบับที่ 56 มิถุนายน ปี 2550

ทำอย่างไรพนักงานจึงจะสนใจธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 

 

 

           หลวงพ่อเจ้าค่ะ ลูกมีห้องปฏิบัติธรรมในโรงงาน สำหรับให้พนักงานขึ้นมาสวดมนต์ นั่งสมาธิ มีวิธีใดที่จะทำให้พวกเขาสนใจธรรมะค่ะ

          อย่าว่าแต่ลูกจ้างเลย แม้แต่ลูกของเราเองพอชวนไปฟังเทศน์ ชวนไปสวดมนต์ ชวนไปนั่งสมาธิ บางทียังไม่ค่อยอยากจะไป
ยิ่งกว่านั้นแม้ตัวของเราเองบางวันยังชักจะขี้เกียจ ก็มีบ้างเหมือนกัน

 

   ส่วนการที่จะให้เด็กๆ หรือว่าผู้ใหญ่ที่อยู่ในความควบคุมดูแลของเราซึ่งอาจจะเป็นผู้ใหญ่โดยอายุ แต่ว่าโดยคุณธรรมความรู้ ความสามารถ ของเขายังหย่อนกว่าเรา ไม่อย่างนั้นเขาคงไม่ต้องมาเป็นลูกจ้างของเรา

       พูดง่ายๆ เขายังอ่อนในทางธรรมนั่นเอง จึงมีความจำเป็นจะต้องได้ต้นแบบที่ดี แต่ว่าปัจจุบันโลกของเรากำลังขาดแคลนต้นแบบที่ดีเพราะฉะนั้น สิ่งที่คุณหนีไม่พ้นที่จะต้องทำคือ

๑. เป็นต้นแบบที่ดี เสร็จจากงานแล้ว อย่างไรเสียเราก็จะต้องเป็นผู้นำ เป็นต้นแบบในการ ประพฤติปฏิบัติธรรมให้กับเขา

       โดยถึงเวลาก็เรียกเลย ลูกเอ๋ย มาสวดมนต์กับแม่ มาสวดมนต์กับป้า มานั่งสมาธิกันสักพักหนึ่งให้ใจสบาย กลับไปบ้านจะได้มีหน้าตาสดใส ยิ้มแย้มกับครอบครัวเพราะทางครอบครัวเขารอเรากลับบ้านมาตลอดทั้งวันแล้ว

 

  ...เวลาอยู่ในโรงงานเราก็เป็นต้นเเบบ ต้นบุญ ต้นธรรม ให้เขาดู พอกลับไปถึงบ้านเขาก็จะกลายเป็นต้นแบบ ต้นบุญ ต้นธรรม เหมือนอย่างกับที่เราทำ ให้กับคนในครอบครัวของเขาดู...

๒. สอนให้รู้คุณค่าของบุญ เพราะว่าโดย สติปัญญาของเขา อาจจะรู้แต่คุณค่าของการทำงานเพื่อให้ได้เงิน ส่วนคุณค่าของบุญอาจจะยังไม่รู้ก็ได้

       เพราะฉะนั้น จำเป็นจะต้องสอนให้เขารู้ว่า คนเราในทางโลกนั้น ความเก่ง ความสามารถ อยู่ที่การฝึกหัดในด้านเทคโนโลยี
ในด้านฝีมือ

       แต่ว่าในทางธรรม คนเราจะมีจิตใจที่ดีงาม จะมีความสุข ความเจริญนั้น จะต้องมีบุญเป็นพลัง เกื้อหนุนอยู่ในใจ

       แล้วเราต้องเป็นผู้นำในการทำบุญด้วย เช่น เวลาตักบาตร หรือว่าถึงคราวทอดกฐิน ทอดผ้าป่า จะไปเลี้ยงพระที่ไหน มีสาธารณกุศลที่ไหน ก็ชวนเขาไปด้วย เพื่อเขาจะได้เห็นคุณค่าของธรรมะที่เราประพฤติปฏิบัติ เห็นคุณค่าของบุญที่ชวนเขาไปทำ ตรงนี้เองที่จะทำให้เขาซาบซึ้งในน้ำใสใจจริงของเราว่าเรื่องจะไปเอารัดเอาเปรียบเขานั้นไม่มี แถมยังเห็นเขาเหมือนเป็นลูกเป็นหลานของตัวเองอีกด้วย

       ความไว้วางใจซึ่งกันและกันอย่างนี้ จะกลาย เป็นกำลังใจให้เขาอยากจะปฏิบัติธรรมตาม แล้วห้อง สำหรับสวดมนต์ สำหรับนั่งสมาธิ ของเราก็จะไม่ว่างอีกต่อไป

       แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเขายังอ่อนในทางด้านธรรมะ ยังอ่อนในด้านศีลธรรมประจำใจ เพราะฉะนั้น นอกจากชวนเขานั่งธรรมะแล้วยังต้องถือโอกาสอบรมศีลธรรมให้กับเขาเป็นประจำอีกด้วย

        ส่วนจังหวะในการอบรมที่ดีนั้น หลวงพ่ออยากฝากไว้เลยว่า ในเมื่อลูกน้องของเราทำงานอยู่กับเรามาเป็นสิบๆ ปีแล้วเพราะฉะนั้น ทุกเดือน หรือว่าทุกสัปดาห์ที่จ่ายค่าแรงงาน ขอให้จ่ายด้วยมือของเราเองให้ได้หรือถ้าไม่ได้ทั้งหมดเอาเฉพาะระดับหัวหน้างานก็ยังดี

       แล้วก็อบรมเขาให้รู้จักคุณค่าของเงิน ให้รู้จักใช้จ่ายเงิน และให้รู้จักแบ่งเงินไปทำบุญแบ่งเงินไปตอบแทนพระคุณพ่อแม่ปู่ย่าตาทวดของ ตัวเอง เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีบ้าง

         สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของการฝึกให้คนของเรา มีทั้งความรับผิดชอบต่อตัวเอง มีความรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจของตัวเอง มีความรับผิดชอบต่อครอบครัว

        เมื่อเขามีความรับผิดชอบอย่างนี้ ครอบครัว ของเขาก็จะสงบร่มเย็นไปโดยปริยาย ลูกของเขาก็จะน่ารัก สามีหรือว่าภรรยาของเขาก็จะน่ารัก ความน่ารักเหล่านี้ก็จะนำไปสู่ความร่มเย็นเป็นสุขต่อบ้านของเขา แล้วใจของเขาก็จะรักในธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมา ตามที่เราทำให้ดูนั่นเอง

       เวลาอยู่ในโรงงานเราก็เป็นต้นแบบ ต้นบุญ ต้นธรรม ให้เขาดู พอกลับไปถึงบ้านเขาก็จะกลายเป็นต้นแบบ ต้นบุญ ต้นธรรม เหมือนอย่างกับที่เราทำ ให้กับคนในครอบครัวของเขาดู

       เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว เราจะชวนให้เขาปฏิบัติธรรมไม่ว่าจะมากน้อยแค่ไหน เขาย่อมยินดี เพราะใจเขาเกินร้อยแล้ว

        เพราะฉะนั้น เราต้องเป็นแม่แบบที่ดีของทุกคนในโรงงาน เพราะว่าพวกเขาเหล่านั้นเป็นทั้งลูกจ้างและเป็นทั้งลูกเราจึงไม่ได้เป็นแค่เพียงนายจ้าง แต่ว่าต้องทำหน้าที่เหมือนแม่ของเขาด้วย

        ในฐานะลูกจ้างก็จ้างเขาด้วยแรงงาน พร้อมกันนั้นก็เอาธรรมะไปเลี้ยงเขาในฐานะที่เป็นแม่ด้วย เอาธรรมะไปเลี้ยง เอาบุญไปเลี้ยง ในที่สุด เขาก็จะเป็นลูกจ้างที่น่ารักของเรา

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล