ฉบับที่ 102 เมษายน ปี2554

ชิตัง เม เราชนะแล้ว

ปกิณกธรรม

เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ. ๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ. ๙ / ภาพประกอบ : กองพุทธศิลป์

 



 

 

  "ความตระหนี่และความประมาท  เป็นเหตุให้คนเราให้ทานไม่ได้  ผู้มีปัญญาเมื่อต้องการบุญ  พึงให้ทานเถิด"  (พิลารโกสิยชาดก)

         ความตระหนี่และความประมาทเป็นเหตุทำให้คนเราไม่ยอมทำทาน เมื่อไม่ให้ก็ไม่ได้บุญเพราะบุญเกิดจากการทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา บุญนั่นเองเป็นบ่อเกิดแห่งความสุขและความสำเร็จในชีวิต ตั้งแต่ชีวิตของปุถุชนจนกระทั่งถึงความเป็น พระอริยเจ้า บุญจะบันดาลให้เราพรั่งพร้อมด้วยสมบัติทั้งสาม คือ เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะมีโภคทรัพย์สมบัติไว้ใช้สร้างบารมี หล่อเลี้ยงตัวเองและผู้อื่นอย่างสะดวกสบาย เมื่อเป็นชาวสวรรค์ก็จะมีทิพยสมบัติอันประณีต ครั้นบารมีเต็มเปี่ยมก็จะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน

          เมื่อครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังสร้างบารมีเสวยพระชาติเป็นพระบรมโพธิสัตว์ พระองค์ได้พิจารณาด้วยสติปัญญาอันเฉียบแหลมว่า ทานบารมี เป็นบันไดก้าวแรกของการสร้างบารมีทั้งหมด จึง ได้เริ่มต้นสร้างมหาทานบารมีก่อน เพราะถ้าหากทานบารมีเต็มเปี่ยม จะทำให้การสร้างบารมีอย่างอื่นทำได้สะดวกสบายขึ้น

          ยามใดที่เราพรั่งพร้อมด้วยโภคทรัพย์สมบัติ มีศรัทธา พบเนื้อนาบุญ ยามนั้นเราจะสามารถสร้าง บารมีได้สะดวกสบาย แต่ยามใดที่เราไม่มีไทยธรรม หรือโภคทรัพย์สมบัติ แม้จะมีศรัทธา มีเนื้อนาบุญ เราก็ไม่สามารถจะให้ทานได้ กว่าจะสร้างบารมีอื่น ๆ ได้แต่ละอย่างก็แสนจะลำบาก เพราะฉะนั้นทานบารมี จึงเป็นสิ่งที่สำคัญของการเดินทางไกลในสังสารวัฏ

          เหมือนเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต มีพราหมณ์สองสามีภรรยาอาศัยอยู่ในเมืองสาวัตถี ทั้งคู่เป็นคนยากไร้ มีสมบัติติดตัวเพียงแค่ผ้านุ่งคนละผืน และผ้าห่มที่ใช้สำหรับคลุมกายเพียงผืนเดียว เวลาจะออกไปนอกบ้านก็ต้องผลัดกันไป

          วันหนึ่งได้มีการประกาศไปทั่วเมืองว่า พระ บรมศาสดาจะเสด็จมาแสดงพระธรรมเทศนา เมื่อพราหมณ์และพราหมณีได้ยินดังนั้น เกิดจิตเป็นกุศล อยากไปฟังธรรมกับเขาบ้าง แต่เนื่องจากทั้งสองมีผ้าห่มเพียงผืนเดียว ไม่อาจไปฟังธรรมพร้อมกันได้ พราหมณ์จึงบอกนางพราหมณีว่า "ให้น้องไปฟังธรรม ในตอนกลางวันเถิด ส่วนฉันจะไปฟังธรรมในตอนกลางคืน" ตกกลางคืน พราหมณ์ได้ไปฟังธรรมที่วัดตามที่ตกลงกันไว้ เขาเกิดความเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง มีปีติแผ่ซ่านไปทั่วกาย จึงเกิดจิตเป็นกุศลว่า จะถวายผ้าห่มผืนนี้แด่พระบรมศาสดา เพื่อบูชาธรรมพระองค์ แต่ก็กังวลใจว่า ถ้าเราถวายผ้าผืนนี้แล้ว นางพราหมณีจะไม่มีผ้าห่มสำหรับคลุมกายเลย

          ในขณะที่พราหมณ์กำลังคิดว่าจะถวายดีหรือ ไม่ถวายดีนั้น มัจเฉรจิต คือ ความตระหนี่ได้เกิดขึ้น และครอบงำกุศลจิตของเขาเอาไว้ พราหมณ์จึงไม่สามารถเอาชนะความตระหนี่ที่เกิดขึ้นในใจได้ จนเวลาล่วงปฐมยามไปแล้ว

 


 

           ครั้นมัชฌิมยาม พราหมณ์ก็ยังไม่สามารถตัดใจถวายได้ จนล่วงมาถึงปัจฉิมยาม บุญเก่าได้กระตุ้นเตือนให้เขาคิดว่า "ถ้าหากเราไม่สามารถกำจัดความตระหนี่ออกจากใจได้ เราจะพ้นจากความทุกข์อันแสนสาหัสนี้ได้อย่างไร" เมื่อคิดได้ดังนี้จึงตัดใจน้อมผ้าเข้าไปถวายพระบรมศาสดา เมื่อคิด จะให้ กระแสบุญก็เกิดขึ้นในกลางกาย บุญได้กำจัด ผังจนซึ่งเป็นความตระหนี่ให้หลุดล่อนออกไปจากใจ พราหมณ์เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขความเบิกบาน ไม่อาจจะเก็บความปีตินี้เอาไว้ในใจเพียงคนเดียว จึงได้เปล่งถ้อยคำดังก้องไปทั่วธรรมสภาว่า "ชิตัง เม ชิตัง เม ชิตัง เม" แปลว่า เราชนะแล้ว เราชนะแล้ว เราชนะแล้ว

          พระเจ้าปเสนทิโกศลฟังธรรมอยู่ในที่นั้นด้วย ได้สดับเสียงพราหมณ์ จึงตรัสถามราชบุรุษว่า "เจ้าจงไปถามพราหมณ์ดูสิว่า เขาชนะอะไร ฉันไป รบทัพจับศึกได้ชัยชนะกลับมา ยังไม่เห็นกู่ร้องก้องดัง หรือดีอกดีใจเหมือนพราหมณ์เฒ่าคนนี้เลย" เมื่อ ราชบุรุษไปถาม ก็ได้รับคำตอบว่า "พราหมณ์ชนะใจตนเองแล้ว เพราะได้พยายามตัดใจถวายทานถึง ๓ ครั้ง และในครั้งสุดท้าย เขาสามารถเอาชนะความ ตระหนี่ได้ จึงเกิดความปลื้มสุดขีด" เมื่อพระราชาทราบความเช่นนั้นแล้ว ทรงดำริว่า "พราหมณ์ผู้นี้ ทำสิ่งที่คนทั่วไปทำได้โดยยาก" จึงเกิดความเลื่อมใสถึงขนาดรับสั่งให้พระราชทานผ้าสาฎกเนื้อดีแก่พราหมณ์ ๑ คู่

 



 

           พราหมณ์รับแล้วก็ไม่เก็บไว้เอง ได้น้อมถวาย ผ้าคู่นั้นแด่พระบรมศาสดาอีก ครั้นพระราชาทอดพระเนตรเห็น จึงเอาผ้าให้พราหมณ์อีก จาก ๒ คู่ เป็น ๔ คู่ ๘ คู่ และ ๑๖ คู่ พราหมณ์ก็ได้นำผ้าเหล่านั้นน้อมถวายพระพุทธองค์ทั้งหมด พระราชาทรงชื่นชมในตัวพราหมณ์มาก จึงรับสั่งให้ราชบุรุษ นำผ้ากัมพลชั้นเยี่ยม ๒ ผืน มาบูชาธรรมแก่พราหมณ์ ปกติแล้วผ้ากัมพลนี้มีแต่พระราชาเท่านั้นที่ทรงใช้สามัญชนไม่คู่ควรที่จะใช้ แต่พราหมณ์เป็นผู้มีบุญ ได้ทำบุญกับเนื้อนาบุญอันเลิศ คือพระสัมมาสัม-พุทธเจ้า สมบัติอันเลิศจึงบังเกิดขึ้น

          พราหมณ์คิดว่า ผ้ากัมพล ๒ ผืนนี้เป็นของสูง คนเช่นเรามิบังอาจที่จะนำมาใช้ จึงได้นำผ้ากัมพล ผืนหนึ่งไปขึงเป็นเพดานในพระคันธกุฎี ส่วนอีกผืนหนึ่งนำไปขึงเป็นเพดานในหอฉัน เมื่อพระราชาเสด็จ มาพระวิหาร ทอดพระเนตรเห็นผ้ากัมพลก็จำได้ จึง ตรัสถามพระบรมศาสดาถึงที่มาของผ้าผืนนี้ ครั้นทรง ทราบว่าพราหมณ์เป็นผู้ถวาย ก็ยิ่งชื่นชมพราหมณ์หนักขึ้นไปอีก จึงรับสั่งให้พระราชทานทรัพย์สมบัติแก่พราหมณ์อย่างละ ๔ คือ ช้าง ๔ เชือก ม้า ๔ ตัว ทรัพย์ ๔ พันกหาปณะ บุรุษ ๔ สตรี ๔ ทาสี ๔ และบ้านส่วยอีก ๔ ตำบล

          มหาชนที่อยู่ในธรรมสภาได้กล่าวขานเรื่องของ พราหมณ์ว่า ช่างน่าอัศจรรย์จริงหนอ ในเวลาแค่คืน เดียว พราหมณ์ผู้นี้ได้เปลี่ยนจากคนยากจนเข็ญใจ กลายมาเป็นมหาเศรษฐี พระบรมศาสดาตรัสว่า ถ้าพราหมณ์ตัดใจถวายผ้าผืนนั้นในปฐมยาม เขาจะ ได้สมบัติอย่างละ ๑๖ ถ้าถวายในมัชฌิมยามจะได้สมบัติอย่างละ ๘ แต่พราหมณ์เอาชนะความตระหนี่ ได้ในปัจฉิมยามใกล้ฟ้าสาง เขาถวายทานช้าไป จึงได้ทรัพย์สมบัติแค่เพียงอย่างละ ๔

 



 

           ดังนั้น บุคคลพึงรีบขวนขวายในการทำความดี พึงห้ามจิตเสียจากความชั่ว เพราะว่าเมื่อบุคคล ทำความดีช้า อกุศลจะเข้าครอบงำเหมือนอย่างพราหมณ์ อยากจะถวายผ้าแต่ตัดสินใจช้า ความตระหนี่จึงเข้ามาแทรก ทำให้ถวายไม่ได้ พระพุทธ-องค์จึงตรัสว่า"เมื่อจิตเลื่อมใสในที่ใด พึงให้ทานในที่นั้น ทานที่ให้แล้วแก่ผู้มีศีล มีผลมาก แต่ทานที่ให้ในผู้ทุศีล หามีผลมากไม่"

          ท่านสาธุชนทั้งหลาย... การชนะใจตนเองถือว่าเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ ที่นำมาซึ่งความภาคภูมิใจยิ่งกว่าพระราชารบชนะศึก ถ้าหากเราเอา ชนะความตระหนี่ในใจได้ ไม่หวงแหน รู้จักแบ่งปัน ซึ่งกันและกัน ชีวิตเราก็จะมีความสุขในฐานะผู้ให้ โลกก็จะพบกับสันติสุขอันไพบูลย์ เพราะมนุษย์ทุกคน จะมองกันเหมือนญาติ จะทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ แก่กัน
          โดยเฉพาะช่วงนี้ โลกกำลังเจอวิกฤตต่าง ๆ มากมาย แม้ภัยเหล่านั้นจะไม่มาถึงตัวเราเสียทีเดียว เราก็ไม่ควรประมาท ควรรีบหาที่ปลอดภัยให้กับชีวิต ด้วยการหมั่นสั่งสมบุญเอาไว้เถิด โดยเฉพาะวิกฤตโลกที่มนุษย์ขาดศีลธรรมนั้น เป็นสิ่งที่พวกเราจะต้อง ร่วมกันเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น เมื่อผู้คนขาดต้นแบบที่ดี เราจะต้องช่วยกันเป็นต้นบุญต้นแบบของโลกพลิกใจ เขาให้อยากทำความดี คนอื่นมีความตระหนี่ เราจะ ต้องเป็นผู้ให้ ชาวโลกทั่วไปกำลังประมาท ไม่คิด สร้างบุญ แต่เราจะมีลมหายใจแห่งการสร้างความดีอยู่ตลอดเวลา จะได้จากโลกนี้ไปดุสิตบุรีอย่างมั่นใจ พร้อมกับได้กู่ร้องก้องเทวสภาในสรวงสวรรค์ด้วยความภาคภูมิใจว่า

          "ชิตัง เม ชิตัง เม ชิตัง เม"

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล