ฉบับที่ 120 ตุลาคม ปี2555

พุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

ทบทวนบุญ

เรื่อง : มาตา

 


 

        ปีพุทธศักราช ๒๕๕๕ เป็นปีที่มีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่งอีกวาระหนึ่ง เนื่องจากเป็นปีครบรอบ ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยเหตุนี้ ที่ประชุม มหาเถรสมาคม โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน จึงมีมติเห็นชอบให้เสนอเรื่องไปยังรัฐบาล เพื่อดำเนินการจัดงานฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถวายเป็นพุทธบูชา ซึ่งต่อมารัฐบาลไทยได้ประกาศให้ปีพุทธศักราช ๒๕๕๕ เป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองพุทธชยันตีอย่างยิ่งใหญ่ตลอดทั้งปี โดยมหาเถรสมาคมมีมติให้เรียกงานฉลองนี้ว่า พุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ในขณะที่ชื่อทางสากล คือ "Sambuddha Jayanti 2600"

          การฉลองพุทธชยันตีกำหนดขึ้นเพื่อ น้อมระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่น วันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน ๖ หรือวันวิสาขบูชา

          คำว่า พุทธชยันตี โดยรากศัพท์มาจากคำ ๒ คำ คือ "พุทธ" กับ "ชยันตี"

          พุทธ หมายถึง พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

          ชยันตี มาจากคำว่า ชย แปลว่า ชัยชนะ

          เมื่อนำทั้ง ๒ คำ มารวมกันแล้ว ได้รูปคำใหม่ คือ "พุทธชยันตี" ซึ่งหมายถึง ชัยชนะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีต่อหมู่มาร และกิเลสทั้งปวงอย่างสิ้นเชิง ด้วยการตรัสรู้ ซึ่งในปัจจุบันคำว่าพุทธชยันตียังถูกนำไปใช้ ในความหมายแห่งชัยชนะ และอิสรภาพของชาวพุทธอีกด้วย

          การฉลองพุทธชยันตีครั้งก่อนหน้านี้เกิดขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ ซึ่งในครั้งนั้น เป็นการฉลอง พุทธชยันตีเนื่องในวาระที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จ ดับขันธปรินิพพานครบ ๒,๕๐๐ ปี ซึ่งเป็นช่วงที่ ถือกันว่าพระพุทธศาสนามีอายุกึ่งพุทธกาล ดังนั้น ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาหลายประเทศจึงจัดงานฉลองอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อน้อมระลึกถึงการปรินิพพานของพระพุทธองค์ ซึ่งในประเทศไทยเรียก การฉลองครั้งนั้นว่า "งานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ"

          ในครั้งนั้น รัฐบาลไทยจัดกิจกรรมหลายกิจกรรม ถวายเป็นพุทธบูชา และประกาศให้พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติ ประกาศให้วันพระเป็นวันหยุดราชการ สร้างพุทธมณฑลเป็นอนุสรณ์สถาน สร้างพระพุทธรูปปางลีลา เป็นพุทธสัญลักษณ์แห่งพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ฯลฯ

          ส่วนในต่างประเทศมีการเฉลิมฉลองพุทธชยันตี อย่างยิ่งใหญ่เช่นกัน เช่น ประเทศศรีลังกาใช้โอกาส นี้เฉลิมฉลองที่ได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษ ประเทศอินเดียสร้างสวนสาธารณะพุทธชยันตีไว้ เป็นอนุสรณ์ที่กรุงนิวเดลี ประเทศพม่าเป็นเจ้าภาพในการสังคายนาพระไตรปิฎกนานาชาติ นอกจากนี้ เลขาธิการองค์การสหประชาชาติในขณะนั้น ซึ่งเป็นชาวพุทธ มีดำริให้ชาวพุทธทั่วโลกร่วมกันบูรณะ ลุมพินีวันที่ตั้งอยู่ในประเทศเนปาล ให้เป็นพุทธ-อุทยานประวัติศาสตร์ของโลก ฯลฯ

          การฉลองพุทธชยันตีในครั้งนั้น ทำให้ชาวพุทธ เกิดความตื่นตัว หันมาให้ความสำคัญในคำสอนของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้ากันอย่างกว้างขวาง

          สำหรับการฉลองพุทธชยันตีในปีพุทธศักราช ๒๕๕๕ นี้ เป็นการฉลองเนื่องในวาระที่พระบรมศาสดาตรัสรู้ครบ ๒,๖๐๐ ปี โดยการคำนวณเริ่มนับ จากวันตรัสรู้ไปจนถึงวันปรินิพพาน (๔๕ ปี) บวกกับจำนวนพุทธศักราช ซึ่งเริ่มนับหลังจากปรินิพพาน (๒๕๕๕ ปี) รวมแล้วได้ ๒,๖๐๐ ปี

          กิจกรรมในการฉลองพุทธชยันตีครั้งนี้ มุ่งเน้น ให้เกิดการศึกษา การเผยแผ่ การปฏิบัติตามหลักธรรมแก่ประชาชนตั้งแต่ระดับครอบครัวไปจนถึงระดับชาติ ซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายให้หน่วยงานในแต่ละจังหวัด จัดกิจกรรมทางพุทธศาสนาตลอดปี ๒๕๕๕ ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนได้ปฏิบัติธรรม ได้เรียนรู้หลักธรรมและเรื่องราวในพระพุทธศาสนามากขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อการฟื้นฟูวิถี ชาวพุทธอย่างจริงจัง และจะทำให้เกิดความสุขสงบ ร่มเย็นทั้งแก่ตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติสืบไป

          นอกจากนี้ ในฐานะศูนย์กลางพระพุทธศาสนา โลก ประเทศไทยยังเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสัมมนาทางวิชาการ เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในระดับนานา ชาติ โดยมีผู้นำชาวพุทธจาก ๘๕ ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมประชุม ซึ่งนับว่าเป็นการประชุมในระดับนานาชาติ ที่มีชาวพุทธทั้งฝ่ายเถรวาท และมหายานเข้าร่วมประชุมมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา การประชุมในครั้งนี้ก่อให้เกิดความสามัคคี และความเข้าใจอันดีระหว่างชาวพุทธในประเทศต่าง ๆ และจะช่วยเติมความแข็งแกร่งให้กับพระพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี

          สำหรับในต่างประเทศ เช่น ศรีลังกา พม่า อินเดีย มองโกเลีย ฯลฯ ก็มีการฉลองพุทธยันตีอย่างยิ่งใหญ่เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวันวิสาขบูชา

          ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา พุทธศาสนิกชน ทั่วทั้งประเทศต่างเกิดความตื่นตัว และพากันสร้างบุญกุศล และทำความดีหลายประการเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เช่น บวชพระถวายเป็นพุทธบูชา สวดมนต์ ถวายเป็นพุทธบูชา ปฏิบัติธรรมถวายเป็นพุทธบูชา ลด ละเลิกอบายมุขถวายเป็นพุทธบูชา ฯลฯ ในส่วนของวัดพระธรรมกาย ก็มีการเชิญชวนสาธุชนเข้า ร่วมกิจกรรมฉลองพุทธชยันตีถวายเป็นพุทธบูชาในโครงการต่าง ๆ หลายโครงการ เช่น

          ๑. โครงการตักบาตรพระ ๒,๐๐๐,๐๐๐ รูป ๗๗ จังหวัดทุกวัดทั่วไทย ฉลองพุทธชยันตี

          ๒. โครงการธุดงค์ธรรมชัย ฉลองพุทธชยันตี

          ๓. โครงการปฏิบัติธรรมโรงเรียนดีศรีตำบล

          ๔. งานวิสาขบูชา ฉลองพุทธชยันตี

                                  ฯลฯ

          โครงการเหล่านี้และอีกหลายโครงการที่มิได้กล่าวถึงในที่นี้ ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ซึ่งเห็นได้จากการที่มีผู้เข้า ร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากทุกโครงการ

          นอกจากนี้ ในวันอาทิตย์ที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๕ วัดพระธรรมกายก็จะมีพิธีทอดกฐินสามัคคี ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระ-สัมมาสัมพุทธเจ้า ถวายเป็นพุทธบูชาอีกด้วย

 

 

          ขณะนี้ โอกาสที่จะทำความดีเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาในวาระฉลองพุทธชยันตี เหลือเพียงแค่ ๓ เดือนเท่านั้น หากพลาดครั้งนี้ จะต้องรออีก ๑๐๐ ปี จึงจะมีการฉลองพุทธชยันตีครบรอบ ๒,๗๐๐ ปี แห่ง การตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนั้น จึงขอเชิญชวนให้ทุกท่านตั้งใจทำความดี เพื่อน้อมบูชาแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างจริงจังในโค้งสุดท้ายนี้ ทั้งในเรื่องการทำทาน รักษาศีล และเจริญสมาธิภาวนา ให้สมกับที่มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาอันมีค่านี้ ซึ่งทุกสิ่งที่เราทำลงไปเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ล้วน เป็นทางมาแห่งบุญกุศลที่ไม่อาจประมาณได้ และ ที่สำคัญอย่าลืมไปเอาบุญใหญ่ในพิธีทอดกฐินสามัคคี ที่วัดพระธรรมกาย ในวันอาทิตย์ที่ ๔ พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้ให้ได้ เพราะหากพลาดบุญทอดกฐินซึ่งเป็น บุญใหญ่ประจำปีแล้ว การทำความดีฉลองพุทธชยันตี ของเราก็จะไม่สมบูรณ์พร้อมเท่าที่ควรอย่างแน่นอน

พุทธชยันตี หมายถึง ชัยชนัของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ที่มีต่อหมู่มารและกิเลสทั้งปวงอย่างสิ้นเชิงด้วยการตรัสรู้

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล