ฉบับที่ 72 ตุลาคม ปี 2551

สัมภาษณ์พิเศษ แห้วพันล้าน ป้าเหรียญ สกุลเกศทิพย์

สัมภาษณ์พิเศษ
เรื่อง : ร.ลิ่วเฉลิมวงศ์   e-mail : [email protected]   ภาพ : เจริญ เพ็ชรกิจ

 

 

ป้าเหรียญ สกุลเกศทิพย์ เจ้าของร้านขายแห้วที่ตลาดไท ที่ปลูกแห้วไว้ขายจนเป็นที่รู้จักอย่างมาก ในอำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี

         "ป้าเป็นคนสุพรรณบุรี มีพี่น้อง ๖ คน เราต้อง อยู่กันอย่างอัตคัดขัดสน ตั้งแต่เล็กต้องเร่ร่อนกันไป เรื่อยๆ เพราะไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง ที่ดินทำกินก็ไม่มี พ่อแม่ก็มีอาชีพที่ไม่แน่นอน ต้องรับจ้างเขาไปเรื่อยๆ จนกระทั่งป้ามาแต่งงาน ชีวิตก็ไม่ได้ สบายขึ้นเลย ต้องไปรับจ้างเขาแบกไม้จากโรงเลื่อย รับจ้างหุงข้าว รับจ้างขนทราย ใช้พลั่วตักทราย จนเต็มรถคันใหญ่ๆ ได้เงินคันละ ๑๐ สลึง คันหนึ่งก็ต้องทำกันเป็นชั่วโมง บางทีรถขนทรายเข้าตอนตี ๑ ตี ๒ ก็ต้องรีบออกไปขนให้เสร็จ ทำงานเหงื่อโทรมกายทั้งวัน ไม่เป็นเวล่ำเวลา ป้าต้องช่วยสามีทำงาน เนื่องจากรายได้ไม่พอใช้ เพราะเขาเป็นแค่ช่างไม้ ได้เงินวันละแค่ ๒๒ บาท

 

 

         ชีวิตป้าขัดสนมาก จนมาก จนสุดท้ายป้ากับสามีต้องเปลี่ยนอาชีพมารับจ้างยาเรือที่รั่ว เราได้เงิน ค่ายาเรือลำละ ๑๐๐ บาท แต่ ๑ ลำเราใช้เวลาทำถึง ๑๐ วันถึงจะเสร็จ ช่วงนั้นลำบากที่สุด เพราะเราต้องเลี้ยงลูกถึง ๓ คน ข้าวแต่ละมื้อก็กินกันอย่าง อดๆ อยากๆ คือ ข้าว ๑ ถ้วย ขยำกับไข่ต้ม ๑ ใบ ต้องแบ่งให้ลูกกินถึง ๓ คน

         ตอนนั้นครอบครัวป้ายังไม่มีบ้านอยู่ ต้องมาอาศัยอยู่อย่างแออัดในบ้านพักคนงานที่เขาสร้างให้ เราต้องนอนบน ไม้กระดานด้านๆ เพราะเสื่อสักผืน เราก็ยังไม่มีปัญญาที่จะซื้อปูให้ลูกนอน

        ต่อมาไม่นานนัก..สามีป้าก็มาล้มป่วยเสียชีวิต ตอนนั้น.. ทุกคนในครอบครัวของเราเสียใจกันมาก หนำซ้ำยังไม่รู้ อนาคตว่าพวกเราจะเอาอะไรกิน สภาพ ป้าตอนนั้นกลายเป็นผู้หญิงตัวคนเดียวที่ต้องเลี้ยงลูก ถึง ๔ คน เพราะเสาหลักของครอบครัวตายจากพวกเราไปแล้ว อีกทั้งลูกคนที่ ๔ ของป้าก็เพิ่งคลอด ได้แค่ ๓ เดือนเท่านั้น ช่วงนั้นป้าก็ต้องไปรับจ้างเขาทำทุกอย่าง คือตั้งแต่เช้าก็ต้องรีบไปเก็บผักบุ้ง รับจ้างปอกแห้ว ทำขนมขาย ทำเสร็จก็ใส่รถเข็น ขายไปเรื่อยๆ ลำบากแค่ไหนก็ต้องทน เพราะป้า ไม่มีทางเลือก

       จนกระทั่งวันหนึ่ง น้องสำเภา เฉกแสงทอง คนบ้านอยู่ใกล้ๆ กันมาหา เขาก็มาเล่าเรื่องหลวงปู่ วัดปากน้ำให้ป้าฟัง และก็มาชวนป้าให้ทำบุญหล่อหลวงปู่ด้วยทองคำองค์แรก (ปี ๒๕๓๗) จากเดิมที่ป้าศรัทธาหลวงปู่ท่านอยู่แล้ว พอฟังเขาแล้ว ป้าเกิดศรัทธาอยากทำบุญด้วยมากๆ ป้าจึงตัดใจทำบุญด้วย ๑๐๐ บาท เป็น ๑๐๐ แรกของชีวิต ซึ่ง ๑๐๐ นี้ มันหมายถึงเงินค่าข้าว ของคนในครอบครัวเราทุกคน ที่จะกินอยู่กันได้ถึง ๑ สัปดาห์ แต่ป้าก็เอาออกมาทำ ด้วยความปลื้มปีติอย่างที่สุด เพราะตลอดชีวิตที่ ผ่านมา เนื่องจากเราไม่มีจะกิน การทำบุญแต่ละครั้ง จะทำได้เต็มที่ก็แค่ ๕ บาท หรือ ๑๐ บาทเท่านั้น

 

 

          และจากเงิน ๑๐๐ บาทนี้เอง ป้าก็ตั้งจิตอธิษฐาน บอกกับหลวงปู่ว่า ขอให้หลวงปู่ช่วยให้ลูกมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่านี้ และนับจากนั้นมา น้องสำเภาก็มักจะมาชวนป้าให้มาวัดบ่อยๆ จนสุดท้ายป้าก็ยอมมากับเขา แล้วก็ไปกราบพระที่โบสถ์ อธิษฐานกับท่านว่า ขอให้มีรถกระบะไว้ค้าขายสักคันหนึ่ง ป้าอธิษฐานขอ ทั้งๆ ที่ดูแล้วไม่มีทางเป็นไปได้เลยว่า คนยากจน อย่างป้าจะมีรถได้ จนกระทั่งพอกลับมาบ้าน ก็มีเหตุอัศจรรย์เกิดขึ้น คือ มีคนชวนป้าให้ไปดูรถกระบะเป็นเพื่อน เพราะเขาจะซื้อ ซึ่งตอนนั้น..ป้าเองไม่ได้ คิดจะซื้อ แต่อยากไปดูเฉยๆ เผื่อในอนาคตสักวันหากป้ามีเงินขึ้นมาจริงๆ ก็คงได้ซื้อ แต่เมื่อไปดูแล้ว เกิดเหตุการณ์จับพลัดจับผลูอย่างไรไม่ทราบ คนที่ จะซื้อจริงๆ เขาไม่ยอมซื้อ คนขายเขาเลยมัดมือชก พยายามให้ป้าซื้อให้ได้ โดยให้ป้าเอาเงินที่มีอยู่ทั้งหมด คือ ๒,๐๐๐ บาท จองเอาไว้ก่อน ซึ่งป้าก็ไม่รู้จะทำอย่างไร อึดอัดใจมาก แต่ดูเหมือนขัดเขาไม่ได้ จนตอนหลังกลับมาบ้านมาเล่าให้ลูกๆ ฟัง ลูกทุกคน รุมป้าใหญ่เลย ว่าให้ยกเลิกเขาไปเสีย เราจะเอาเงิน ที่ไหนไปผ่อน จนกระทั่งเรื่องนี้รู้ไปถึงคนแถวบ้าน ซึ่งอยู่ๆ เขาก็เกิดเห็นใจ และสงสารป้ามาก เขาเลย บอกว่า ให้ป้าไปกู้เงิน ธกส. มาก่อน เขาจะเอาที่ดิน ส่วนตัว ๒๘ ไร่ของเขาค้ำประกันให้ป้าเอง ตอนนั้น ป้าเองก็ตัดสินใจไม่ถูก แต่เหมือนเหตุการณ์มันพาไป จนเราขัดไม่ได้ สุดท้ายก็กู้เงินออกมา ๓๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อซื้อรถคันนี้ พอได้รถมาตอนแรกป้าก็ไม่รู้จะทำอย่างไรกับมันดี เพราะไม่มีใครขับเป็น อีกทั้งซื้อมา แล้วจะปล่อยเอาไว้ว่างๆ ก็ไม่ได้ จึงต้องไปรับจ้างบรรทุกอ้อยของคนอื่น แล้วก็จ้างคนขับไปพร้อมลูกชาย ไปเปิดกระบะขายกันที่ตลาดไท พอจ้างคนขับไปได้ไม่กี่ครั้ง ลูกชายก็พยายามหัดขับเอง เพราะหากหักค่าจ้างที่ต้องให้เขาแล้ว นอกจากไม่ได้ กำไรแล้วยังขาดทุนเข้าเนื้ออีก จากนั้นเราก็ไปยืมเงินเขามาทำทุนต่อ ซื้อเผือก ซื้อกระจับ ซื้อแห้ว บรรทุกใส่กระบะมาขายเพิ่มขึ้น ช่วงนั้นแห้วเป็นที่ต้องการของตลาดมาก ป้าจึงไปเช่าที่นาเขา เพื่อทำนาแห้ว แล้วเอาแห้วมาขายเอง แต่ยิ่งขาย หนี้สิน ก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพิ่มขึ้นถึงเกือบล้านบาท เพราะเราต้องขายเชื่อ และยังเก็บเงินไม่ได้

 

 

          ตอนนั้น..คนในครอบครัวเครียดกันมาก ป้าเลย ไปหาหมอดู เขาบอกป้าว่าให้เลิกขายแห้ว เพราะชื่อ มันแห้วๆ ไม่เป็นมงคล หากขายก็จะหมดเนื้อหมดตัว ซึ่งพอกลับมา ที่บ้านป้าก็มาปรึกษาลูกๆ ซึ่งลูกๆ ก็ รุมป้าอีก แถมไม่มีลูกคนไหนยอมเลิกเลยสักคน ต่างบอกป้า เป็นเสียงเดียวกันว่า เราอุตส่าห์มีอาชีพกับเขาแล้ว จะให้มาเลิกได้อย่างไร ซึ่งในช่วงนั้นเอง.. น้องสำเภาก็มาหาเราอีก แล้วก็ชวนเราทำบุญ สร้างองค์พระแกนกลางให้หลวงปู่วัดปากน้ำในวันเข้าถึงธรรมของท่านจำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท บอกตรงๆ ว่า ตอนนั้นเราไม่มีเงินเลย แถมหนี้สินก็ท่วมตัว แต่ทำ ยังไงได้ ป้าอยากทำบุญมากๆ เพราะคิดว่า ที่เราค้าขายขาดทุน หนี้สินท่วมตัวขนาดนี้ เพราะเราบุญ ไม่พอ ป้าเลยไปคุยกับลูกให้เอาเงินหมุนเวียนที่เก็บ ไว้ในบัญชีของเขาที่มีอยู่ ๓๐,๐๐๐ บาท ออกมาทำบุญก่อน ลูกก็เลยบอกป้าว่า แม่ทำอย่างนี้ หากคนอื่นเขารู้ว่าเรายังใช้หนี้เขาไม่หมดแล้วเอาเงินมาทำบุญ เขาจะว่าเราได้นะ ตอนนั้นป้าต้องพูดกับลูกถึง ๓ วัน กว่าเขาจะยอม คือ บอกเขาให้ทำบุญเถอะ เพราะตอนนี้เราเองก็ยังไม่เห็นหนทางที่จะค้าขายดีขึ้น เลยแม้แต่นิดเดียว ยิ่งทำยิ่งมีหนี้ หากไม่ทำอาจจะแย่ลงไปกว่านี้อีก จนตอนหลังลูกๆ ทุกคนก็ยอม จึง มานั่งอธิษฐานพร้อมกันทั้งบ้าน ขอกับหลวงปู่เลยว่า ขอให้เราขายดีมากๆ มีเงินใช้หนี้สินจนหมด มีเงินทำบุญได้มากมาย เราพากันอธิษฐานแล้วอธิษฐานอีก เพราะตั้งแต่เกิดมา เราก็ไม่เคยทำบุญกันมากขนาดนี้ มาก่อน มันเป็นเงินก้อนแรกของชีวิตทุกคน เหมือน เป็นเงินล้านของเราเลย

 

 

          หลังจากทำบุญนี้ไปแล้ว ป้าก็ฝันว่า หลวงปู่ ท่านมาหาเราที่บ้าน แล้วป้าก็เข้าไปกราบท่าน แล้ว ท่านก็ยิ้มให้ 

      และนับจากนั้นไม่นานนัก ชีวิตของทุกคน ในครอบครัวก็พลิกเลย เหมือนมีชีวิตขาขึ้นเพียงอย่าง เดียว เพราะเราขายของดีขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แห้วเรามีชื่อเสียงมาก จนมีร้านสุกี้รายใหญ่มารับซื้อแห้วจากร้านเราเป็นประจำ เพื่อไปทำทับทิมกรอบ อีกทั้งเรายังขายแห้วเพื่อให้เขาทำส่งนอก จนเรามีเงิน ใช้หนี้เกือบล้านจนหมด สามารถมีแผงขายแห้ว ที่ตลาดไทเป็นของตัวเอง ที่เปิดขายตลอด ๒๔ ชม. มีรถ ๖ ล้อบรรทุกแห้ว ๒ คัน มีรถกระบะและรถ สี่ประตูรวมแล้ว ๗ คัน อีกทั้งยังมีเงินซื้อที่นาทำแห้ว ของตัวเองได้อีก ๑๗ ไร่ และซื้อที่ดินเพื่อปลูกบ้านหลังใหม่ได้อีก ๖ ไร่เศษ

       ชีวิตเราดีขึ้นอย่างอัศจรรย์พระบุญที่ทำกับหลวงปู่แท้ๆ ซึ่งนับจากวันนั้น ป้าเองก็มาวัดทำบุญ เป็นประจำ แทบไม่เคยขาดอาทิตย์ต้นเดือนเลย ชวน ลูกๆ ทุกคนให้สร้างบุญใหญ่อย่างตลอดต่อเนื่อง เรื่อยมา โดยเฉพาะบุญอะไร ที่เกี่ยวเนื่องกับหลวงปู่ ป้าจะทำแบบทุ่มสุดใจ แล้วอย่างบุญทอดกฐินปีนี้ ก็เหมือนกัน ครอบครัวเราทำเต็มที่

       ป้าว่านะ..คนฉลาดเขาต้องทำบุญทอดกฐินกัน ทุกปี เพราะกฐินเป็นกาลทาน จึงได้บุญมากกว่าปกติ ซึ่งแต่ละวัด เขาก็ทอดกันได้แค่ครั้งเดียว เรียกได้ว่า เป็นบุญใหญ่ที่สุดแล้ว ป้าก็เลยทำหน้าที่ชวนคนเขาทำบุญด้วย โดยเอาป้ายใหญ่ๆ มาแขวนที่บ้านและที่ร้าน ชวนคนเขาให้มาหล่อหลวงปู่กันมากๆ ให้เขา ได้บุญนี้เหมือนอย่างพวกเรา เผื่อเขาจะพลิกชีวิตแบบป้าบ้าง

 

 

         สุดท้ายนี้ป้าก็ขอกราบแทบเท้าขอบพระคุณหลวงพ่ออย่างสูงสุด ที่นำคำสอนของหลวงปู่ และคุณยายอาจารย์สืบทอดมาถึงป้า ทำให้ป้ามีวันนี้"

       จากที่เราเดินทางมาหาป้าเหรียญถึงสุพรรณบุรี ทำให้เราได้ข้อคิดที่เยอะมาก เพราะชีวิตป้าเริ่มต้นจากไม่มีจริงๆ มีเงินทำบุญมากที่สุดในชีวิตครั้งแรก ก็แค่ ๑๐๐ บาท ที่ต้องแลกกับค่าอาหารของทุกคน ในบ้านถึงหนึ่งสัปดาห์ ต่อมาทำให้ได้รถคันแรกไว้ค้าขายแบบไม่ได้ตั้งใจ อีกทั้งยังมีเงินทำบุญมากถึง ๓๐,๐๐๐ บาทครั้งแรก และนับจากนั้นก็มีเงินเข้ามา เรื่อยๆ จนสามารถทำบุญสร้างองค์พระได้ ๒๐ กว่า องค์ และเมื่อถึงวันนี้ ป้าสามารถทำบุญทอดกฐิน และหล่อทองหลวงปู่ได้มากเป็นแสนๆ บาท

          และนี่เองเป็นสิ่งพิสูจน์แล้วว่า คนจนที่ติดลบกลับรวยเหลือเชื่อได้จริงๆ ด้วยอานุภาพบุญ ที่ทำกับหลวงปู่ แม้ท่านจะมรณภาพไปแล้ว เหมือน กับที่หลวงปู่เคยพูดไว้กับปู่ผงอุปัฏฐากของท่านว่า ไม่ว่าท่านจะมี ชีวิตอยู่หรือตายแล้ว คนที่ทำบุญกับท่าน ได้บุญไม่ต้องพูดถึงกันละวะ ซึ่งก็คือได้บุญมากจนประมาณไม่ได้นั้นเอง

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล