ฉบับที่ 114 เมษายน ปี2555

พระธรรมเทศนา "สรีรัฏฐธัมมสูตร-ธรรมประจำสรีระ" ตอนที่ ๘

พระธรรมเทศนา

 



 

ตอนที่ ๘

พระธรรมเทศนา

"สรีรัฏฐธัมมสูตรธรรมประจำสรีระ"

         ๓.๕ ขั้นตอนที่ ๒ ปลูกฝังความรู้พื้นฐานเพื่อเตรียมรับมือกับความทุกข์ทั้ง ๓ ประเภท ให้แก่คนรุ่นหลัง          

          ตราบใดที่ยังไม่หมดกิเลส ชีวิตก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดเรื่อยไป เมื่อคนรุ่นหลังมาเกิดใหม่ในสังคมเดียวกับที่เราอยู่ตอนนี้ เราในฐานะผู้เกิดก่อน ก็ต้องมีหน้าที่แนะนำวิธีรับมือกับความทุกข์ประจำชีวิตทั้ง ๓ ประเภท ให้แก่คนรุ่นหลัง ด้วยการถ่ายทอดความรู้พื้นฐาน ๓ ประการ ในการดำเนินชีวิตดังนี้

         พื้นฐานที่ ๑ ความรู้เรื่องสุขภาพ เพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาทุกข์จากการดำรงชีพในแต่ละวัย

          ความรู้พื้นฐานแรกที่จะต้องแนะนำก็คือ ความรู้เรื่องสุขภาพ เพื่อเตรียมรับมือกับความทุกข์จากการดำรงชีพในแต่ละวัย ซึ่งร่างกายมีความต้องการในการเติมธาตุ ๔ ไม่เหมือนกันและไม่เท่ากัน

         ยกตัวอย่างเช่น ในวัยเด็ก คนเราต้องการอาหารประเภทโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตในปริมาณสูง เพราะร่างกายต้องการใช้ธาตุ ๔ ในการสร้างกล้ามเนื้อให้เจริญเติบโต มากกว่าการซ่อมแซมอวัยวะส่วนที่สึกหรอ

          แต่ในวัยผู้ใหญ่กลับตรงกันข้าม คือต้องการอาหารประเภทโปรตีนกับคาร์โบไฮเดรตน้อยลง แต่ต้องการอาหารประเภทพืชผักมากขึ้น เพราะร่างกายต้องการใช้ธาตุ ๔ ในการสร้างกล้ามเนื้อน้อยลง แต่ต้องการธาตุอาหารที่ใช้ซ่อมแซม และฟื้นฟูอวัยวะต่างๆ ที่สึกหรอ เป็นต้น

          นี่ก็เป็นตัวอย่างที่ยกมาเพื่อให้เห็นว่า เมื่อวัยเปลี่ยนไป จากเด็กไปสู่วัยรุ่น จากวัยรุ่น ไปสู่วัยผู้ใหญ่ จากวัยผู้ใหญ่ไปสู่วัยชรา ร่างกายของคนเราก็มีความต้องการธาตุอาหารเปลี่ยน ไปตามวัยด้วย การศึกษาหาความรู้ด้านสุขอนามัยที่พอเหมาะพอสมกับแต่ละวัย จึงเป็นสิ่ง ที่ต้องเตรียมไว้รับมือกับความทุกข์ประจำสรีระ

          แน่นอนว่า การศึกษาหาความรู้เรื่องสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ในแต่ละวัย ย่อมมิใช่เฉพาะเรื่องอาหารการกินเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ความปวดปัสสาวะ ความปวดอุจจาระ (สรีรัฏฐธัมมสูตรข้อ ๑-๖) อีกด้วย

         อนึ่ง หากการดูแลสุขภาพในวัยเด็กไม่ถูกต้อง ก็จะกลายเป็นการถล่มทลายสังขารให้ทรุดโทรมก่อนวัยอันควร สภาพบั้นปลายชีวิตย่อมไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ กลายเป็นภาระหนักของผู้อื่น

         ดังนั้น การดูแลสุขภาพสังขารเป็นตั้งแต่วัยเด็ก ย่อมส่งผลระยะยาวถึงการมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงในบั้นปลาย ซึ่งต้องมีความละเอียดอ่อนช่างสังเกต และหมั่นฝึกฝนให้เป็นนิสัยในทุกอิริยาบถ เช่น การนั่งหลังตรงจนเป็นนิสัยตั้งแต่ในวัยเด็ก ก็จะส่งผลให้มีกระดูกสันหลังตรง ไม่คดไม่งอในวัยชรา การรู้จักดูแลร่างกายไม่ให้ขาดน้ำตั้งแต่ในวัยเด็ก ก็จะส่งผลให้ไม่เป็นโรคท้องผูก โรคนิ่ว โรคไต โรคม้ามในวัยชรา เป็นต้น ยกเว้นแต่วิบากกรรมจะมาตัดรอนเท่านั้น

        พื้นฐานที่ ๒ ความรู้ในการสร้างตัวสร้างฐานะ เพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาทุกข์จากการอยู่ร่วมกัน

          ความรู้พื้นฐานที่สองเป็นความรู้ในเรื่องของการประกอบอาชีพ เพราะเมื่อคนเราโต เป็นผู้ใหญ่ ก็จะต้องรู้จักพึ่งตนเอง โดยเฉพาะการหา การเก็บ การใช้ ที่ต้องฝึกฝนอบรมให้ถูกต้องตั้งแต่ในวัยเด็ก

          วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียนก็คือ ต้องการความรู้จากการ เล่าเรียนเขียนอ่านไปใช้ในการทำมาหากิน แต่ก็ปรากฏว่า คนที่ร่ำเรียนมาสูง ๆ แม้กระทั่ง บางคนเรียนจบระดับปริญญา ไม่ว่าในเมืองไทยหรือต่างประเทศ ก็มิได้ประสบความสำเร็จ ในชีวิตเสมอไปทุกคน สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการเรียนในสถานศึกษานั้น เป็นการเข้า ไปแสวงหาความรู้ในสาขาวิชาต่าง ๆ แต่การจะสร้างตัวสร้างฐานะให้มั่นคงได้นั้น อยู่ที่ความสามารถในการปฏิบัติ ๔ เรื่องนี้ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเรียกหัวข้อธรรมนี้ว่า "ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ๔"Ž อันเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างตัวสร้างฐานะในปัจจุบันชาติ ได้แก่

          ๑. อุฏฐานสัมปทา หมายถึง การแสวงหาทรัพย์เป็น หรือกล่าวสั้น ๆ ว่า หาเป็น

          ๒. อารักขสัมปทา หมายถึง การเก็บรักษาทรัพย์เป็น หรือกล่าวสั้น ๆ ว่า เก็บเป็น

          ๓. กัลยาณมิตตตา หมายถึง การคบคนดีเป็น

          ๔. สมชีวิตา หมายถึง การใช้ทรัพย์เป็น หรือกล่าวสั้น ๆ ว่า ใช้เป็น

          โดยการปฏิบัติตามหลักธรรมทั้ง ๔ ข้อนี้ จะต้องยืนอยู่บนพื้นฐานของสัมมาอาชีพ เพื่อให้การหา การเก็บ การใช้ทรัพย์ เป็นทรัพย์ที่บริสุทธิ์ ซึ่งก็จะทำให้อัตราการตายของธาตุ ๔ ในตัวเราลดลง (สรีรัฏฐธัมมสูตรข้อ ๗-๙)

          สิ่งที่คนเราต้องตระหนักก็คือ เครื่องวัดความสำเร็จในชีวิตของคนเรา ไม่ใช่วุฒิการศึกษา แต่เป็นการปฏิบัติตามหลักธรรมอันเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างตัวสร้างฐานะ ๔ ข้อ ดังกล่าวแล้ว

          ทั้งนี้เพราะคนที่จะหาเป็นนั้นต้องมี "ความขยันŽ" คนที่จะเก็บเป็นนั้นต้องมี "ความประหยัด"Ž คนที่จะรู้จักเลือกคบเพื่อนที่ดีเป็นนั้นต้องมี "ความซื่อสัตย์Ž" และคนที่จะใช้เป็นนั้นจะต้องมี "ความอดทน"Ž โดยเฉพาะความอดทนต่อความเย้ายวนของกิเลสต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นเหตุให้ใช้ทรัพย์ฟุ่มเฟือย หลงระเริงไปกับความฟุ้งเฟ้อเกินความจำเป็น

          ดังนั้น ผู้ที่จะสร้างตัวสร้างฐานะได้สำเร็จ ก็จะต้องฝึกปฏิบัติตนตามทิฏฐธัมมิกัตถ-ประโยชน์ เพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาทุกข์จากการอยู่ร่วมกัน

          พื้นฐานที่ ๓ ความรู้ในการพัฒนาจิตใจ เพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาทุกข์จากอำนาจกิเลส

          ความรู้พื้นฐานที่ ๓ เป็นความรู้สำหรับการตั้งเป้าหมายชีวิตอย่างถูกต้องตามความเป็น จริง เพราะตราบใดที่ยังไม่หมดกิเลส ก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารที่เต็มไปด้วยภัยอันตรายต่อไป

          ด้วยเหตุนี้ ความรู้ที่ต้องรีบปลูกฝังลงในจิตใจเด็กหรือลูกหลานตั้งแต่วันแรกเกิด ก็คือ สัมมาทิฐิเบื้องต้น ๑๐ ประการ ดังที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง ทั้งนี้เพราะว่า

          สัมมาทิฐิเบื้องต้นข้อที่ ๑-๔ คือคุณธรรมเพื่อความอยู่เป็นสุขในชาตินี้

          สัมมาทิฐิเบื้องต้นข้อที่ ๕-๙ คือคุณธรรมเพื่อความอยู่เป็นสุขในชาติหน้า

          สัมมาทิฐิเบื้องต้นข้อที่ ๑๐ คือคุณธรรมเพื่อความสิ้นทุกข์สิ้นกิเลสอย่างถาวร

          สัมมาทิฐิเบื้องต้นทั้ง ๑๐ ประการนี้ เป็นแสงเงินแสงทองของชีวิต เป็นต้นกำเนิดแห่งความดีทั้งปวงในโลกนี้ ต้องรีบปลูกฝังลงไปก่อนที่มิจฉาทิฐิหรือความเห็นผิดจะเกิดขึ้น ซึ่งถ้าปล่อยปละละเลยถึงขั้นลูกหลานเกิดมิจฉาทิฐิดิ่งแล้ว โลกนี้คงจะเต็มไปด้วยสงคราม เพราะน้ำมือของคนบาปทั้งหลาย ดังนั้น คุณธรรมนี้จึงเป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝังกันตั้งแต่แรกเกิด เพื่อให้เติบโตขึ้นมาเป็นมนุษย์ที่มีจิตใจสมบูรณ์ และพร้อมจะทำความดีอย่างอุทิศชีวิตเป็นเดิมพัน อันเป็นการเตรียมรับมือกับปัญหาทุกข์จากอำนาจกิเลสนั่นเอง

          ๓.๖ ขั้นตอนที่ ๓ ชักชวนหมู่ญาติสนิทมิตรสหายให้ปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ พร้อมด้วยการทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาร่วมกันอยู่เป็นประจำ

          เมล็ดพันธุ์พืชนั้น ถึงแม้จะเป็นพันธุ์ดีแค่ไหน แต่หากนำไปปลูกในทะเลทราย ก็ยากจะงอกงามเติบโตได้เต็มที่

          การทำความดีของมนุษย์เราก็เช่นกัน หากเราตั้งใจทำความดีเพียงลำพัง ไม่ชักชวนผู้อื่นทำความดี แม้จะตั้งใจทำความดีเพียงใดก็ตาม ก็ยากที่จะมีความก้าวหน้าในการฝึกอบรมตนเองให้หลุดพ้นจากกิเลส

          ด้วยเหตุนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงให้ความสำคัญต่อการสร้างความดีอย่างเป็นทีม โดยตรัสแสดงไว้ใน "อปริหานิยธรรม" ว่า

          ๑. หมั่นประชุมกันเป็นเนืองนิตย์

          ๒. พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจพึงจะทำ

          ๓. ไม่บัญญัติสิ่งที่พระพุทธองค์มิได้บัญญัติขึ้น ไม่ถอนสิ่งที่พระพุทธองค์บัญญัติไว้แล้ว ถือปฏิบัติมั่นอยู่ในสิกขาบทที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้

          ๔. ให้ความสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ผู้ใหญ่ที่เป็นประธาน ให้ความสำคัญในถ้อยคำของท่านว่าเป็นสิ่งควรรับฟัง

          ๕. ไม่ลุแก่อำนาจของตัณหาที่ก่อให้เกิดภพใหม่ที่เกิดขึ้นแล้วในใจ

          ๖. ยินดีในการบำเพ็ญภาวนาในเสนาสนะป่า

          ๗. ตั้งใจอยู่ว่า เพื่อนผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ผู้มีศีลงดงามที่ยังไม่มา ก็ขอให้ได้มา ที่มาแล้ว ขอให้อยู่อย่างผาสุก

          การสร้างความดีแบบเป็นทีมนั้น มีความสำคัญอย่างใหญ่หลวงต่อการฝึกฝนอบรมตนเองยิ่งนัก พระพุทธองค์ถึงกับทรงมีรับสั่งว่า หากหมู่ภิกษุสงฆ์ปฏิบัติต่ออปริหานิยธรรม นี้อย่างเคร่งครัด แม้พระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว พระพุทธศาสนาก็จะไม่มี วันเสื่อมสลาย

          ดังนั้น การชักชวนหมู่ญาติสนิทมิตรสหายให้สร้างบุญร่วมกันเป็นประจำ ก็ถือว่าเป็น การปฏิบัติอปริหานิยธรรมร่วมกันอย่างเคร่งครัดได้เหมือนกัน เพราะทำให้เกิดความสามัคคี ในการอยู่ร่วมกัน เกิดแนวร่วมในการทำทาน การรักษาศีล และเจริญภาวนา เพื่อสั่งสมบุญ และกำจัดทุกข์จากอำนาจกิเลสอย่างเป็นทีมนั่นเอง

          ๔. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาเดียวในโลกที่สอนวิธีกำจัดทุกข์

          ตราบใดที่ยังไม่หมดสิ้นกิเลส มนุษย์ทุกชาติ ทุกศาสนา ทุกเผ่าพันธุ์ ก็จะต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารกันต่อไปอย่างไม่รู้จบรู้สิ้น ยิ่งเวียนว่ายตายเกิดนานเท่าใดยิ่งทุกข์มากเท่านั้น

          ครั้นเมื่อเราถือกำเนิดขึ้นในภพชาติใหม่ สิ่งที่ต้องเผชิญกันใหม่ ก็คือปัญหาทุกข์ประจำชีวิตทั้ง ๓ ประเภท คือ ทุกข์จากการดำรงชีพ ทุกข์จากการอยู่ร่วมกัน และทุกข์จากอำนาจกิเลส นอกจากนี้ก็ต้องแสวงหาความรู้พื้นฐานในการดำเนินชีวิตอีก ๓ ประการ เพื่อรับมือกับความทุกข์ทั้ง ๓ ประเภทดังกล่าวแล้ว คือ ความรู้พื้นฐานเพื่อสุขภาพ ความรู้ พื้นฐานเพื่อการทำมาหากิน ความรู้พื้นฐานเพื่อการพัฒนาจิตใจ จากนั้นสิ่งที่ตามมาก็คือ ความแก่ ความเจ็บ และจบลงด้วยความตาย ก่อนจะเริ่มด้วยการเกิดใหม่อีกครั้ง วนเวียน กันอยู่แบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

          หลังจากละโลกไปแล้ว ความรู้ที่สะสมไว้จากการต่อสู้กับความทุกข์มาตลอดชีวิต ไม่ว่าจะศึกษาค้นคว้ามามากเท่าใดก็ต้องทิ้งไปและลืมไปจนหมดสิ้น ครั้นเมื่อไปเกิดใน ภพชาติใหม่ ก็ต้องเริ่มต้นหาความรู้แบบเดิมซ้ำอีก ชีวิตของผู้คนในโลกนี้ต้องตกอยู่ในสภาพการณ์เช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จึงกล่าวได้ว่าแท้ที่จริงแล้วโลกใบนี้ ก็คือ คุกยักษ์ที่กักขังสรรพสัตว์ทั้งหลายให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารนั่นเอง จะมีสักกี่คนที่รู้ความจริงเรื่องนี้ เพราะเหตุที่ผู้คนส่วนมากไม่รู้ความจริงเรื่องนี้ จึงยอมทนทุกข์ทรมานอยู่ในคุกยักษ์นี้ ชั่วกาลนาน

       ปัจจุบันแม้ชาวโลกจะมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวไกลไปกว่ายุคใด ๆ ในประวัติศาสตร์ก็ตาม แต่ก็ยังอยู่ในระดับของการแก้ปัญหาทุกข์จากการดำรงชีพ กับการแก้ปัญหาทุกข์จากการอยู่ร่วมกัน ยังไปไม่ถึงการแก้ปัญหาทุกข์จากอำนาจกิเลส นั่นคือยังคงเป็นความรู้ที่ไม่สามารถกำจัดกิเลสได้สำเร็จนั่นเอง

          อย่างไรก็ตาม พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาเดียวในโลกเท่านั้น ที่มีคำสอนเรื่องการกำจัดทุกข์ครอบคลุมทุกระดับ และเป็นศาสนาเดียวในโลกเท่านั้น ที่มีคำสอนสำหรับการกำจัดกิเลสโดยตรง ซึ่งได้แก่คำสอนเรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘

          พระบรมศาสดาก็ทรงตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยการปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ พระสาวกก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์และพระอรหันตเถรีด้วยการปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ โดยสรุป ก็คือ พระบรมศาสดาและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ของพระองค์ล้วนดับทุกข์ดับกิเลสได้ด้วยการปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ทั้งสิ้น

          สิ่งที่น่าอัศจรรย์ก็คือ การหมดกิเลสตามคำสอนในพระพุทธศาสนานั้น มิได้ผูกขาดเฉพาะพระบรมศาสดาเท่านั้น แต่ยังเปิดกว้างสำหรับทุกคนในโลกนี้ให้หมดกิเลสตามได้ เช่นเดียวกัน ซึ่งก็หมายความว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ เป็นเส้นทางปฏิบัติอันเป็นของกลางของโลก ที่ใคร ๆ ในโลกนี้เมื่อได้ปฏิบัติแล้ว ก็จะสามารถดับทุกข์ดับกิเลสได้เช่นเดียวกับพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า

          ดังมีเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วในสมัยพุทธกาล กล่าวคือ ปริพาชกผู้มีนามว่า สุภัททะ เขา เป็นนักบวชนอกพระพุทธศาสนา ตลอดชีวิตนักบวชที่ผ่านมา เขาได้แสวงหาคำสอนเรื่อง การกำจัดทุกข์จากสำนักของลัทธิคำสอนอื่น ๆ นอกพระพุทธศาสนา ตั้งแต่วัยหนุ่มจนเข้า สู่วัยชราก็ยังไม่พบ

          ต่อมาวันหนึ่ง เขาจึงนึกขึ้นได้ว่า ยังเหลือแต่พระบรมศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้น ที่เขายังไม่ได้ทูลถามถึงเรื่องการดับทุกข์ จึงตัดสินใจรีบเดินทางไป เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ เนื่องจากขณะที่เขาไปถึงนั้นใกล้เวลาที่พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพานแล้ว แม้เขาจะขออนุญาตถึง ๓ ครั้ง แต่พระอานนท์ พุทธอุปัฏฐาก ก็ไม่อนุญาตให้เข้าเฝ้า

          พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงได้ยินถ้อยคำเจรจาระหว่างบุคคลทั้งสองชัดเจน ขณะเดียว กันก็ทรงเห็นอุปนิสัยแห่งการบรรลุอรหัตผลของสุภัททปริพาชก จึงมีพุทธานุญาตให้เขาเข้า เฝ้า เพื่อทูลถามปัญหาที่สงสัยมาตลอดชีวิต

          สุภัททปริพาชกกราบทูลถามว่า เจ้าลัทธิอื่นทั้งหมด (ในสมัยพุทธกาล) รู้ตามที่ตนกล่าวอ้างหรือไม่Ž

          พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปฏิเสธที่จะตอบคำถามนั้น แต่ได้ตรัสบอกให้สุภัททปริพาชก ตั้งใจฟังพระธรรมเทศนาของพระองค์ ดังนี้

          สุภัททะ ในธรรมวินัยที่ไม่มีอริยมรรคมีองค์ ๘ ย่อมไม่มีสมณะที่ ๑ (พระโสดาบัน) ย่อมไม่มีสมณะที่ ๒ (พระสกิทาคามี) ย่อมไม่มีสมณะที่ ๓ (พระอนาคามี) ย่อมไม่มีสมณะที่ ๔ (พระอรหันต์)

          ในธรรมวินัยที่มีอริยมรรคมีองค์ ๘ ย่อมมีสมณะที่ ๑ (พระโสดาบัน) ย่อมมีสมณะที่ ๒ (พระสกทาคามี) ย่อมมีสมณะที่ ๓ (พระอนาคามี) ย่อมมีสมณะที่ ๔ (พระอรหันต์)

สุภัททะ ในธรรมวินัยนี้มีอริยมรรคมีองค์ ๘ สมณะที่ ๑ (พระโสดาบัน) มีอยู่ใน ธรรมวินัยนี้เท่านั้น สมณะที่ ๒ (พระสกิทาคามี) มีอยู่ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น สมณะที่ ๓ (พระอนาคามี) มีอยู่ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น สมณะที่ ๔ (พระอรหันต์) ก็มีอยู่ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น ลัทธิอื่นว่างจากสมณะทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึง

          สุภัททะ ถ้าภิกษุเหล่านี้เป็นอยู่โดยชอบ โลกจะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลายŽ

          จากพระธรรมเทศนาที่ตรัสแสดงแก่สุภัททปริพาชกนี้ ย่อมชี้ชัดว่า มีแต่คำสอนในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ที่สอนเรื่องการกำจัดทุกข์กำจัดกิเลสให้สิ้นไปด้วยการปฏิบัติ อริยมรรคมีองค์ ๘ หลังจากได้รับคำตอบที่รอคอยมาตลอดชีวิตแล้ว สุภัททปริพาชกก็ ขอบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ทุ่มชีวิตบำเพ็ญภาวนาปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ไม่นานนักก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ซึ่งเป็นการยืนยันว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ คือวิธีปฏิบัติเพื่อการดับทุกข์ของบุคคลทั้งปวง ไม่ว่าจะเคยนับถือลัทธิศาสนาใดมาก่อนก็ตาม ถ้าทุ่มเทปฏิบัติตามอย่างอุทิศชีวิตเป็นเดิมพันแล้ว ก็จะสามารถบรรลุมรรคผลนิพพานถึงความสิ้นทุกข์สิ้นกิเลสดุจเดียวกับพระบรมศาสดาได้แน่นอน

          ดังนั้น การที่พวกเรามาบวชเป็นพระภิกษุในคราวนี้ ได้กล่าวคำปฏิญาณต่อหน้าพระอุปัชฌาย์ว่า ขอออกบวชเพื่อความสิ้นทุกข์สิ้นกิเลสนั้น ก็พึงรู้คุณค่ามหาศาลของคำสอน ในพระพุทธศาสนาที่มีต่อโลกทุกยุคทุกสมัย และใช้โอกาสอันมีค่าที่ได้มาบวชอยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ เป็นพุทธบุตรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันนี้ หมั่นฝึกตน ทนหิว บำเพ็ญตบะ ทุ่มเทชีวิตจิตใจให้แก่การเจริญภาวนา ปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ อย่างอุทิศชีวิตเป็นเดิมพัน ตามรอยพระบรมศาสดาให้เต็มที่ ไม่นานนักก็จะได้รู้แจ้งในธรรมที่พระองค์ตรัสรู้อย่างแน่นอน เมื่อถึงเวลานั้น โลกก็จะพลันสว่างไสวไปกับการเข้าถึงธรรมของเราด้วย ความสับสนวุ่นวายด้วยทุกข์จากการดำรงชีพ ทุกข์จากการอยู่ร่วมกัน ทุกข์จากอำนาจกิเลส ก็จะถึงคราวสงบลง ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า3

          "ภิกษุใดแลยังหนุ่มแน่น ย่อมประกอบขวนขวายในพุทธศาสนา ภิกษุนั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว เหมือนดวงจันทร์พ้นจากเมฆฉะนั้นŽ"

(อ่านต่อฉบับหน้า)

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล