ฉบับที่ 92 มิถุนายน ปี2553

ชะตากรรมของโลกอยู่ในมือครู

พระธรรมเทศนา

เรียบเรียงจากโอวาทพระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว)

 



 

ชะตากรรมของโลกอยู่ในมือครู

ตอนที่ ๒

 

หน้าที่ของครู

          ชีวิตของครูนั้นเปรียบเสมือนแสงสว่างนำทางชีวิตให้แก่ลูกศิษย์ โลกที่มืดมิดเพราะ ขาดดวงอาทิตย์ส่องสว่าง ย่อมไม่อาจดำเนินชีวิตรอดฉันใด ชีวิตของคนที่ขาดครูเป็นแสงสว่าง ย่อมไม่อาจหลุดพ้นความมืดมนได้ฉันนั้น แต่การที่ครูจะเป็นแสงสว่างให้แก่ชีวิตของลูกศิษย์ได้ จำเป็นต้องทำหน้าที่ ๒ ประการ จึงจะนำพาลูกศิษย์หลุดพ้นจากความมืดมิด ในชีวิตได้

          ๑. หน้าที่แนะ คือ การอบรมสั่งสอนให้ลูกศิษย์มีนิสัยใฝ่รู้ ใฝ่ดี ใฝ่รักษาสุขภาพ เช่นเดียวกับครู 
          วิธีการสอนที่จะทำให้ครูครองใจลูกศิษย์ได้นั้น จะต้องเป็นวิธีการที่สามารถปลูก สัมมาทิฐิเบื้องต้น ๑๐ ประการให้แก่ลูกศิษย์ได้ ลูกศิษย์จึงจะมีศูนย์รวมใจและรู้สึกอบอุ่นใจเหมือนอยู่กับพ่อแม่ของตนเองที่โรงเรียน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเรียกวิธีสอนแบบนี้ว่า "สังคหวัตถุ ๔" คือ ความทุ่มเทด้วยความจริงจังและจริงใจ เพื่อให้ลูกศิษย์เป็นบุคคลที่มีสัมมาทิฐิเบื้องต้นเป็นแสงสว่างในชีวิต ได้แก่

          ๑. ทาน คือ การแบ่งปันสิ่งของด้วยความรักและความห่วงใย
          ๒. ปิยวาจา คือ การพูดจาไพเราะด้วยการแนะนำให้กำลังใจและเตือนสติ
          ๓. อัตถจริยา คือ การถ่ายทอดความรู้ ความสามารถด้วยความจริงจังและจริงใจ
          ๔. สมานัตตตา คือ การให้ความปลอดภัยและความอบอุ่นใจอย่างเสมอต้นเสมอปลาย

          ศิษย์ที่ได้รับการอบรมสั่งสอนให้มีความใฝ่รู้ ใฝ่ดี ใฝ่รักษาสุขภาพด้วยวิธีการสอนแบบสังคหวัตถุ ๔ นี้ จะเกิดความเชื่อมั่นในการทำความดี เพราะมีครูคอยให้การชี้แนะและสนับสนุนจนกระทั่งมีศักยภาพในการดำเนินชีวิตให้มีความสุข อยู่ร่วมกับสังคมให้มีความสุข และกำจัดทุกข์จากกิเลสได้อย่างมีความสุข ส่งผลให้ครูได้กลายเป็นปูชนียบุคคล ประจำชีวิตของลูกศิษย์ไปโดยทันที ตลอดชีวิตของลูกศิษย์ก็จะมีความรู้และความดีที่เป็นขุมทรัพย์ตักไม่พร่อง กินและใช้ทำความดีเท่าไรก็ไม่หมดสิ้น

          ๒. หน้าที่นำ คือ การเป็นต้นแบบศีลธรรมที่สร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ชีวิต สังคม เศรษฐกิจ และทิศ ๖ ให้ลูกศิษย์ได้เดินตาม

          แม้ว่าลูกศิษย์จะได้รับการอบรมสั่งสอนที่ดีจากครูไปมากเพียงใดก็ตาม แต่ความสว่าง ในใจศิษย์จะมอดไหม้หมดไปในระหว่างทางหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการนำทางชีวิตให้แก่ลูกศิษย์ ของครู คือครูจะต้องไม่เป็นผู้ทำลายแสงสว่างในชีวิตของครูเองให้ลูกศิษย์ดูเป็นแบบอย่าง
ครูที่จะไม่ทำลายแสงสว่างในชีวิตของตนเองและชีวิตของลูกศิษย์ คือ ครูที่ไม่ได้เป็น เพียงแสงสว่างแต่ในโรงเรียน แต่เป็นแสงสว่างให้แก่คนในสังคมด้วย นั่นคือ ครูต้องเป็น ต้นแบบความรับผิดชอบต่อศีลธรรม ๔ ประการ

          ๑. มีความรับผิดชอบต่อศีลธรรมของตนเอง ได้แก่
          การไม่ทำกรรมกิเลส ๔ ประการ
          ๑.๑ ไม่ฆ่า
          ๑.๒ ไม่ลักขโมย
          ๑.๓ ไม่ประพฤติผิดในกาม
          ๑.๔ ไม่พูดปด

          ๒. มีความรับผิดชอบต่อศีลธรรมของสังคม ได้แก่
          การไม่ปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความอคติ ๔ ประการ
          ๒.๑ ลำเอียงเพราะรัก
          ๒.๒ ลำเอียงเพราะชัง
          ๒.๓ ลำเอียงเพราะโง่
          ๒.๔ ลำเอียงเพราะกลัว

          ๓. มีความรับผิดชอบต่อศีลธรรมทางเศรษฐกิจ ได้แก่
          การไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข ๖
          ๓.๑ ไม่เป็นนักเลงสุรา
          ๓.๒ ไม่เป็นนักเที่ยวกลางคืน
          ๓.๓ ไม่หมกมุ่นในสิ่งบันเทิงเริงรมย์
          ๓.๔ ไม่เป็นนักเลงการพนัน
          ๓.๕ ไม่คบคนพาลเป็นมิตร
          ๓.๖ ไม่เกียจคร้านการงาน

          ๔. มีความรับผิดชอบต่อศีลธรรมประจำทิศ ๖ ได้แก่
          ๔.๑ การปฏิบัติหน้าที่ต่อทิศเบื้องหน้า คือ พ่อแม่ของครู ให้สมบูรณ์
          ๔.๒ การปฏิบัติหน้าที่ต่อทิศเบื้องขวา คือ ครูของครู ให้สมบูรณ์
          ๔.๓ การปฏิบัติหน้าที่ต่อทิศเบื้องหลัง คือ คู่ครองของครู ให้สมบูรณ์
          ๔.๔ การปฏิบัติหน้าที่ต่อทิศเบื้องซ้าย คือ เพื่อนของครู ให้สมบูรณ์
          ๔.๕ การปฏิบัติหน้าที่ต่อทิศเบื้องล่าง คือ หัวหน้าและลูกน้องของครู ให้สมบูรณ์
          ๔.๖ การปฏิบัติหน้าที่ต่อทิศเบื้องบน คือ พระภิกษุที่เป็นครูบาอาจารย์ของครู ให้สมบูรณ์

          ครูที่เป็นต้นแบบความรับผิดชอบทั้ง ๔ ประการนี้ ไม่เพียงแต่เป็นแสงสว่างให้แก่ลูกศิษย์ในโรงเรียนเท่านั้น แต่ยังเป็นแสงสว่างให้แก่คนทั้งบ้านทั้งเมืองอีกด้วย และก็เป็นหลักประกันว่า ครูจะไม่เป็นบุคคลอันตรายที่ทำลายความสว่างไสวให้แก่ลูกศิษย์ด้วยมือของ ตัวเอง มีแต่จะเป็นแสงสว่างที่จุดต่อไปยังลูกศิษย์คนแล้วคนเล่า จนกระทั่งกลายเป็นความ สว่างไสวในใจของคนทั้งบ้านทั้งเมือง และเมื่อนั้นความสว่างไสวของสังคม ความสว่างไสว ของเศรษฐกิจ และความสว่างไสวของทิศ ๖ ประจำชีวิตของแต่ละคน ก็จะกลายเป็นความ สว่างไสวของประเทศและของโลกใบนี้ โดยมีครูเป็นผู้ให้แสงสว่างแก่โลกใบนี้อย่างต่อเนื่อง นั่นเอง

สรุป

          ชีวิตของครูนั้นเป็นชีวิตที่ประเสริฐและน่ายกย่อง เพราะแม้จะต้องแบกภาระหนักที่สุด ในโลก นั่นคือ การปลูกฝังศีลธรรมให้สว่างไสวในใจของลูกศิษย์ แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป ย่อมมีแต่ได้รับรางวัลแห่งความชื่นใจในชีวิต เพราะการสร้างคนดีนั้น มีคุณค่ามหาศาล ยิ่งกว่าการสร้างสิ่งใด ๆ ทั้งหมดในโลกนี้ และท้ายที่สุดนั้น เมื่อครูสร้างคนดีไว้มากเท่าไร ก็เป็นหลักประกันว่า บั้นปลายชีวิตของครูนั้น ย่อมมีแต่คนดีแวดล้อมอยู่รอบตัว ได้เห็นความรู้และความดีในชีวิตของตนที่ปลูกสร้างมากับมือกำลังสว่างไสวอยู่ในใจของลูกศิษย์ และลูกศิษย์ก็กำลังนำความสว่างไสวนั้นไปจุดต่อความสว่างให้คนรุ่นต่อ ๆ ไป

          แสงสว่างที่จุดต่อ ๆ กันไปจากความสว่างไสวในใจของครูนั้น คือความทรงจำ อันสว่างไสวที่ทำให้ชีวิตของครูมีคุณค่า และคุณค่านั้นจะติดตัวครูไปตลอดชีวิต เป็นรางวัล ทางใจที่มีแต่ความสุขใจ ไม่ว่าครูจะย่างก้าวไปทางใด โลกทั้งโลกก็พลันมีค่ายิ่งกว่าทองคำ และไม่ว่าโลกใบนี้จะยิ่งใหญ่แค่ไหน แต่ท้ายที่สุดแล้ว ก็กลายเป็นโลกใบเล็ก ๆ ที่ถูกสร้าง ความสว่างไสวขึ้นมาด้วยมือของครู เพราะครูคือผู้กุมชะตากรรมของโลกทั้งใบไว้ในมือ

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล