ฉบับที่ ๑๔๐ เดือนมิถุนายน ๒๕๕๗

สมุดไทย ใบลาน...งานศาสน์งามศิลป์

 

 

บทความพิเศษ
เรื่อง : Tipitaka (DTP)

 

 

สมุดไทย ใบลาน...งานศาสน์งามศิลป์

 

 

สมุดไทยบันทึกพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์

 

 

    ปลายพู่กันนฤมิตวิจิตรศิลป์      มรดกแผ่นดินถิ่นสยาม
สืบแนวทางสุนทรีย์ความดีงาม    ประกาศนามให้โลกลือเราคือไทย
ทุกจังหวะปากไก่คือสายหมึก       จากศรัทธาจารึกอักษรสมัย
ทุกสีสันเน้นวาดพิลาสพิไล          คือแรงใจสร้างสรรค์จากบรรพชน

                                                             บุญเตือน ศรีวรพจน์

 

   เมื่อครั้งที่อุตสาหกรรมผลิตกระดาษยังไม่เจริญแพร่หลาย ผู้คนสมัยโบราณได้ใช้การเขียนบันทึกลงบนวัสดุต่าง ๆ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นจารึกบนแผ่นศิลา เปลือกไม้หรือภาชนะดินเผา แม้วัสดุดังกล่าวจะคงทนถาวร แต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องน้ำหนักของวัสดุ ขนาดเนื้อที่ และความยากในการจารจารึก แต่ด้วยภูมิปัญญาของบรรพชนไทยจึงได้นำเอาส่วนประกอบของต้นไม้มาทำเป็นกระดาษเพื่อบันทึกเหตุการณ์สำคัญ ซึ่งมีข้อดีคือน้ำหนักเบา บันทึกเรื่องราวได้มาก และเคลื่อนย้ายสะดวก

 

 

 

 

  ดังปรากฏหลักฐานในหนังสือราชอาณาจักรสยามของราชทูตฝรั่งเศสนามว่า มองซิเออร์เดอ ลา ลูแบร์ ที่เข้ามายังราชสำนักกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ความตอนหนึ่งว่า “...ชาวสยามทำกระดาษจากผ้าฝ้ายเก่า ๆ และยังทำจากเปลือกต้นไม้ชนิดหนึ่งชื่อต้นข่อยอีกด้วย...”

 

   สมุดข่อยเรียกอีกอย่างว่าสมุดไทย เป็นหนังสือโบราณที่เกิดจากการสร้างสรรค์ด้วยภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย โดยการนำเปลือกของต้นข่อยมาทำเป็นแผ่นกระดาษ มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ต่อเป็นแผ่นยาว แล้วพับทบกลับไปกลับมาเป็นเล่มสมุด รูปทรงเป็นปึกหนา มีความยาวและจำนวนหน้าตามต้องการ เวลาเปิดต้องเปิดจากด้านล่างขึ้นไปด้านบน ซึ่งต่างจากสมุดในปัจจุบันซึ่งเปิดจากขวามาซ้าย มี ๒ สี คือ สีขาว และสีดำ เรียกว่า สมุดขาว และ สมุดดำ

 

 

ตัวอย่างสมุดไทยเขียนอักษรด้วยหมึกสีต่าง ๆ
จากธรรมชาติ อาทิเช่น สีขาวจากดินสอพอง
สีดำจากเขม่าไฟ สีแดงจากชาด สีเหลืองจาก
รง (ยางไม้) และหรดาล (หินแร่) หรือสีทอง
จากทองคำเปลว เป็นต้น

 

 

   แต่เดิมสมุดไทยมีไว้สำหรับบันทึกหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา ต่อมาจึงใช้บันทึกข้อมูลความรู้เกี่ยวกับวิทยาการด้านต่าง ๆ ซึ่งบรรพบุรุษไทยสร้างสรรค์ไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ นอกจากบันทึกเรื่องราวเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วบางเล่มโดยเฉพาะสมุดข่อยที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ยังมีภาพจิตรกรรมประกอบเรื่องราวอยู่ด้วย ซึ่งล้วนเป็นภาพงดงามตามคตินิยมของวิจิตรศิลป์ไทยที่จิตรกรในแต่ละยุคสมัยได้บรรจงฝากไว้เพื่อรักษาและเผยแผ่พระศาสนาด้วยความเคารพบูชา ผลงานที่ออกมาจึงเป็นศิลปะที่งดงามวิจิตรบรรจง เปี่ยมด้วยคุณค่าทางด้านสุนทรียศาสตร์ ในขณะเดียวกันก็สะท้อนคตินิยมในแต่ละยุคสมัยอีกด้วย

 

 


สมุดภาพ ๒ เล่ม ของวัดปากคลอง จ.เพชรบูรณ์ เรื่องพระมาลัย ๑
เป็นสมุดไทยขาว เขียนด้วยหมึกสีดำ ตัวอักษรขอม เป็นภาพชายตัดฟืนกำลัง
เก็บดอกบัวเพื่อถวายแก่พระมาลัย

สมุดภาพเล่มที่ ๑ รูปแบบงานจิตรกรรมและตัวอักษรเป็นสกุลช่างที่สืบทอดมาจากสมัยอยุธยาโดยตรง จิตรกรวางองค์ประกอบของภาพได้อย่างลงตัว และใช้สีกลมกลืนได้อย่างงดงามไม่ว่าจะเป็นสีน้ำตาลของพื้นดิน สีกรักผ้าทรงของพระมาลัย และสีแดงของดอกไม้

 

สมุดภาพเล่มที่ ๒ รูปแบบงานจิตรกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สีและการวางองค์ประกอบคล้ายคลึงกับเล่มที่ ๑ สันนิษฐานว่าใช้เป็นต้นแบบในการวาด แต่มีการเพิ่มรายละเอียดบางอย่างเข้าไป เช่น สีครามของท้องฟ้า มีดในมือซ้ายของผู้ชายและมัดฟืนใกล้หนองน้ำ แสดงให้เห็นถึงการถ่ายทอดแบบแผนหรือขนบของศิลปกรรมไทยจากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่งได้เป็นอย่างดี

 

 

   นอกจากเปลือกของต้นข่อยแล้ว คนไทยโบราณยังนำใบของต้นลานมาทำหนังสือแต่ต่างกันตรงที่ใบลานนิยมใช้บันทึกเรื่องราวทางพุทธศาสนามากกว่าเรื่องอื่น จึงเรียกกันทั่วไปว่า “คัมภีร์ใบลาน” ที่พระภิกษุมักใช้เวลาเทศน์สอนพุทธศาสนิกชน ทั้งนี้เพราะใบจากต้นลานมีคุณสมบัติที่เบาและบาง สามารถเก็บรักษาหรือเคลื่อนย้ายได้สะดวกที่สำคัญคือคงทนถาวรมาก


  แม้ว่าคัมภีร์ใบลานจะไม่มีภาพสีประกอบแบบสมุดไทย ทว่าความวิจิตรงดงามก็สามารถเห็นได้จากการตกแต่งขอบคัมภีร์ ใบปกหน้า ปกหลัง และไม้ประกับรวมถึงผ้าเนื้อดีที่ใช้ห่อใบลาน แม้แต่ฉลากก็นิยมประดิษฐ์ให้งดงามด้วยวัตถุชนิดต่าง ๆเช่น งาหรือไม้ จำหลักด้วยศิลปะนูนต่ำเป็นลวดลายต่าง ๆ เป็นต้น

 

 

 


   สมุดไทยและคัมภีร์ใบลานเป็นสมบัติล้ำค่า เป็นเอกสารโบราณของชาติที่นับวันจะหาดูได้ยากยิ่ง เส้นสายและลายสีที่ปรากฏล้วนเกิดจากการบรรจงสรรค์สร้างของจิตรกรเอกและยอดนักปราชญ์แห่งยุค สมุดไทยและใบลานจึงบรรจุทั้งถ้อยคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สอดผสานกับภาพวิจิตรงดงามที่บ่งบอกถึงจิตใจที่เปี่ยมศรัทธาและอ่อนโยนยิ่งของชาวพุทธ จนเป็นศิลปะในงานพระพุทธศาสนาที่งดงามชิ้นหนึ่งของโลก ทั้งล้ำค่าในงานพระศาสน์และทรงคุณค่าด้วยความงามแห่งศิลป์ พุทธศาสนิกชนเช่นเราจึงมิควรแค่ภูมิใจในศรัทธาและภูมิปัญญาของบรรพชนเท่านั้น แต่ควรแสดงพลังศรัทธาช่วยกันสืบทอดงานศาสน์และสืบสานงานศิลป์นี้ให้ดำรงอยู่ค่ชูาติและพุทธศาสนาตลอดไป..

 

 

 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล