ฉบับที่ 73 พฤศจิกายน ปี 2551

ธรรมชาติการบรรลุธรรมของมนุษย์ ตอนที่ ๔ วงจรการบรรลุธรรม

พระธรรมเทศนา

 

 


   การบรรลุธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่เรื่องที่เกินความสามารถของมนุษย์ เพราะมีผู้ปฏิบัติตาม พระองค์ท่านแล้วได้บรรลุธรรมตามเป็นจำนวนมาก บุคคลเหล่านั้นคือพระอรหันต์ที่มีจำนวนนับไม่ถ้วน

    ปัจจุบันนี้ยังมีพระอรหันต์อยู่หรือไม่นั้นเรา ไม่ทราบ แต่อย่างน้อยเมื่อเราได้ฝึกสมาธิแล้ว ประสบการณ์ที่เกิดจากการฝึกสมาธิจะทำให้เราเลิกคลางแคลงใจในธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเหตุนี้ พระพุทธศาสนาจึงมีคำว่า “อกาลิโก” ซึ่งแปลว่า “ไม่จำกัดด้วยเวลา ให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติทุกเวลา ทุกโอกาส บรรลุเมื่อใด ก็ได้รับผลเมื่อนั้น”

       หากเราจะพูดโดยหลักการของการฝึกสมาธิแล้ว เมื่อใจเราจรดนิ่งๆ หรือกำหนดนิมิตดวงแก้วหรือองค์พระเบา ๆ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางกายและทางใจ นั่นคือ ร่างกายจะเริ่มใช้พลังงานลดน้อยลง  ส่งผลให้อัตราการเผาผลาญ ในร่างกายลดลงตามไปด้วย

         เมื่อการเผาผลาญน้อยลง ร่างกายจึงต้องการ ออกซิเจนน้อยลง การหายใจเข้าหายใจออกจึงช้าลงกว่าปกติ

        เมื่อลมหายใจช้าลง นุ่มลง กล้ามเนื้อจึง คลายตัว ทำให้เราเกิดความรู้สึกผ่อนคลาย รู้สึกสบายกายสบายใจ มีความสุขขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ความสงบภายในก็เกิดขึ้นพร้อมกับความชุ่มชื่นใจ และความสว่างก็เกิดขึ้นตามมา ความสว่างภายในนี้เองที่ทำให้เกิดการเห็นภายใน การนึกองค์พระหรือ ดวงแก้วก็ง่ายขึ้น ชัดขึ้น และนึกได้ ต่อเนื่องนานขึ้น

       จากนั้นปฏิกิริยาเดิมนี้ก็จะเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก รอบแล้ว รอบเล่า เมื่อซ้ำหลายรอบเข้า ก็เหมือนการไขสกรู (screw) เข้าไปซ้ำแล้วซ้ำอีก ความสว่างก็จะเพิ่มขึ้นทับทวี จากตอนแรกอาจจะสว่างแค่แสงเทียน ก็กลายเป็นสว่างเท่าดวงดาว แล้วเพิ่มขึ้นเป็นสว่างเท่าดวงจันทร์ สว่างเท่าดวงอาทิตย์ยามเช้าบ้าง เท่าดวงอาทิตย์ตอนสายบ้าง สว่างเหมือนพระอาทิตย ์ตอนเที่ยงวันบ้าง ในที่สุดก็สว่างกว่าตะวันเที่ยงมาเรียงเต็มท้องฟ้า

         เพราะอาศัยความสว่างอย่างยิ่งในระดับนี้เอง การเห็นสรรพสิ่งทั้งหลายตรงตามความเป็นจริง จึงเกิดขึ้น การตรัสรู้ธรรม ก็เกิดขึ้นมาด้วยวงจรนี้

 

 

 

 

การฝึกสมาธิแบบแผ่เมตตานั้นเขาทำอย่างไร สาเหตุของการไม่บรรลุธรรม

       บางท่านที่นั่งสมาธิแล้วเกิดอาการตึง เครียด มึนศีรษะ ก็ให้รู้ตัวเองว่า เราตั้งใจมากเกินไป หรือไม่ก็จ้องนิมิตโดยใช้ ความรู้สึกของการเห็นด้วยลูกนัยน์ตา พอเป็นอย่างนี้ก็ทำผิดวิธีตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว นั่นคือ เราไม่ได้เริ่มจากการกำหนดเบา ๆ พอไปกำหนดแบบหนัก ๆ ไปบังคับใจจะให้หยุดนิ่งให้ได้ ร่างกายจึงใช้พลังงานมาก เมื่อใช้พลังงานมาก ร่างกายก็ต้องเผาผลาญมาก

        เมื่อเป็นเช่นนี้แทนที่จะรู้สึกสบาย จึงเกิดเป็นความรู้สึกเครียดขึ้นมาแทน เพราะตั้งใจมากเกินไปจะคุมใจตัวเองให้ได้ เลยเกิดสภาพเหมือนเตะฟุตบอลกับข้างฝา ยิ่งเตะไปแรงเท่าไร ลูกบอลก็สะท้อนกลับมากระแทกเราแรงเท่านั้น คุณครูไม่ใหญ่ (พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโย) ท่านจึงเตือนพวกเราเสมอแทบทุกคืนในโรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยาว่า เมื่อยก็ให้ขยับ ง่วงก็ให้หลับ ฟุ้งก็ให้ลืมตา

        จุดเริ่มต้นเพียงแค่เราไม่ได้ทำตามคำของครูบาอาจารย์ที่ท่านพร่ำสอนว่าให้นึกนิมิตเบา ๆ สบาย ๆ เพียงเท่านี้ แต่มีผลกระทบต่อตัวเรามากทีเดียว เพราะทำให้การฝึกสมาธิของเราไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร จนอาจถึงขั้นหมดกำลังใจ ในการนั่งสมาธิไปเลย และทำให้เราหลุดออกจากวงจรการบรรลุธรรมไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ

การฝึกสมาธิแบบอื่นๆ ในพระพุทธศาสนา

        หากฝึกสมาธิด้วยวิธีอื่น ๆ เป็นต้นว่า กำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออกแบบอานาปานสติ แบบ ยุบหนอพองหนอ วงจรการบรรลุธรรมนี้ก็จะเกิดขึ้น เช่นเดียวกัน  เพราะไม่ว่าจะฝึกด้วยวิธีใด  สิ่งที่เหมือนกัน ในการฝึกสมาธิคือ ต้องกำหนดเบา ๆ

         ก่อนที่หลวงพ่อจะมาเจอคุณยายอาจารย์ มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูงนั้น ก็ไปเจออาจารย์ ประเภทเสกเป่า ไปฝึกรูดโซ่ลุยไฟอยู่สิบกว่าปี จึงคุ้นกับการส่งใจไปนอกตัว แต่ธรรมะนั้นอยู่ภายในตัว พอจะฝึกเอาใจกลับมาไว้ในตัว ก็เสียเวลาไปเป็นสิบกว่าปี

        เพราะฉะนั้น การบวชของหลวงพ่อในช่วง ๒๐ พรรษา จึงเป็นเรื่องของการแก้ของเก่า เหมือนเวลาที่เราจะสร้างตึก ตั้งใจว่าจะสร้างสัก ๑๐ ชั้น พอสร้างไปได้เพียง ๓ ชั้นแล้ว จึงมาพบว่าคำนวณผิด เลยต้องทุบตึก ๓ ชั้น ที่สร้างเสร็จแล้วออกไปก่อน จึงลงมือเริ่มต้นสร้างใหม่อีกครั้ง 

          เพราะฉะนั้น หลวงพ่อจึงต้องเอาหลักการ มาถ่ายทอดให้พวกเราเห็นชัดเจน เป็นขั้นเป็นตอนตามลำดับ เพราะถ้าพบว่าผิดพลาด จะได้รีบแก้ไขกันได้อย่างตรงจุด

             บางท่านอาจสงสัยว่า แล้วการแผ่เมตตา การเพ่งเทียน การเพ่งอสุภะ ผลที่เกิดขึ้นจะแตกต่างจากวงจร การบรรลุธรรมนี้หรือไม่

             เราก็มาทำความเข้าใจให้ถูกต้องตรงกันว่า การฝึกสมาธิในแต่ละแบบนั้น วิธีการจะแตกต่างกันเล็กน้อยในขั้นต้น แต่ท่ามกลางและเบื้องปลายนั้นเหมือนกัน

             ถ้าเป็นหญิงก็ให้ทำความรู้สึกว่า เราเป็นเหมือนแม่ของคนทั้งโลก

             ส่วนถ้าเป็นชายก็ทำความรู้สึกเหมือนกับเราเป็นพ่อของคนทั้งโลก

            ต่อจากนั้นก็แผ่ความรู้สึกความเป็นแม่ ความเป็นพ่อนี้ให้เต็มโลก เหมือนพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญลอยเด่น อยู่กลางท้องฟ้า แผ่รัศมีสว่างนวลตาเย็นใจออกไปให้สรรพสัตว์ทั้งหลายทั่วโลก โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง

            เมื่อใจของเราไม่ได้มุ่งไปที่ใครคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษแล้ว ใจก็จะไม่มีที่เกาะ แล้วก็จะกลับมาอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ โดยอัตโนมัติ จากนั้นปฏิกิริยาก็จะเกิดต่อเนื่องกันต่อไปตามวงจรของการบรรลุธรรม

            ส่วนการฝึกแบบเพ่งเทียน คือ เขาจะจุดเทียนไว้ แล้วไม่ว่าจะหลับตาหรือลืมตา ก็จะนึกถึงแต่ เปลวเทียน แต่การฝึกแบบนี้แบ่งออกเป็นอีก ๒ วิธี คือ ถ้าเป็นพวกฤๅษีชีไพรก็จะส่งใจไปไว้ที่เปลวเทียน แต่ผลที่ได้รับในที่สุดก็จะเหมือนกับ หลวงพ่อเมื่อตอนที่ฝึก รูดโซ่ลุยไฟ คือใจไปอยู่ข้างนอกตัว

              อีกวิธีหนึ่งคือ หลับตาลืมตาก็นึกถึงเปลวเทียนเช่นกัน แต่นึกน้อมเอาเปลวเทียนหรือความสว่างนั้นมาตั้งอยู่ที่ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เริ่มต้นอาจจะชัดบ้างไม่ชัดบ้าง แต่นึกบ่อยๆ เข้าแล้วก็จะชัดขึ้นมาเอง แล้วปฏิกิริยาก็จะค่อยๆ เกิดขึ้นเป็นวงจร ซึ่งจะเป็นฐานของการบรรลุธรรมของเราต่อไปใน

            ส่วนการฝึกแบบเพ่งอสุภะหรือเพ่งซากศพ พระผู้ใหญ่สมัยปู่ย่าตาทวด ของเรา ท่านมักใช้วิธีนี้กับ พระภิกษุหนุ่มที่เพิ่งบวช เพราะออกพรรษาแต่ละปี พระเพื่อนรุ่นเดียวกันก็ทยอยสึกออกไป ท่านก็เริ่มคิดแล้วว่าจะบวชต่อหรือจะสึกดี

           พระอุปัชฌาย์ท่านเห็นหงอยๆ ไปก็มองออก ท่านให้ตามเข้าไปในป่าช้า ไปดูศพที่เพิ่งตายใหม่ๆ นั่งล้อมรอบศพแล้วก็หลับตาท่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อเห็นสภาพการเปลี่ยนแปลงของศพแล้วพระท่านก็ได้ความสลดใจ พิจารณาอย่างนี้ไปสักพัก ก็เข้าสู่วงจรการบรรลุธรรมได้เช่นเดียวกัน

           ครูบาอาจารย์ที่ท่านผ่านการฝึกมามาก ท่านไม่กังวลว่าลูกศิษย์ท่านจะเคยฝึกสมาธิ  มาจากสำนักไหนบ้าง  เพราะท่านเข้าใจดีว่าถึงอย่างไรก็หลักการเดียวกัน แต่วิธีการอาจแตกต่างกันไปบ้างเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะฝึกแบบใด เมื่อติดขัดขึ้นมา ตรงไหน ท่านก็แก้ไขให้ได้บุคคล ที่ผ่านการฝึกจากท่านเหล่านี้ จึงเป็นพยานยืนยันได้ว่า ธรรมะของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอกาลิโก

            การฝึกสมาธิแต่ละแบบนั้น มีความแตกต่างกันโดยวิธีการ แต่หลักการนั้นเหมือนกัน คือนำใจกลับมาไว้ที่ศูนย์กลางกาย เพราะเป็น ทางเดียวเท่านั้นที่ทำให้เกิด การเปลี่ยนแปลงทางกายและใจไปพร้อมๆ กัน สติสัมปชัญญะก็จะสมบูรณ์ขึ้น เป็นเส้นทางให้ความสว่างภายในเกิดขึ้นมา แล้วเมฆหมอกคือความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่เคยมาบังใจก็จะพัดผ่านไป ความสว่างภายในก็มากขึ้นไปตามลำดับๆ การรู้ การเห็นธรรมก็เกิดขึ้นมาตามลำดับอย่างนี้

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล