ฉบับที่ 125 มีนาคม ปี2556

สถานที่สำคัญ ๖ แห่ง ใน ๕ จังหวัด ณ “เส้นทางมหาปูชนียาจารย์”

เรื่องเด่น ๑

เรื่อง : มาตา

 

 

สถานที่สำคัญ ๖ แห่ง ใน ๕ จังหวัด
ณ “เส้นทางมหาปูชนียาจารย์”

 

           เราเชื่อว่า ขณะนี้คำว่า “เส้นทางมหาปูชนียาจารย์” เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมากขึ้นแล้ว หลังจากมีการเดินธุดงค์ธรรมชัย แต่คนส่วนใหญ่ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับ เส้นทางมหาปูชนียาจารย์ไม่มากพอ และหลายคนยังไม่เคยไปเยือนสถานที่สำคัญบน เส้นทางสายนี้

           ดังนั้น เราจึงขออาสาพาทุกท่านไปพบกับสถานที่สำคัญบนเส้นทาง มหาปูชนียาจารย์ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ทั้ง ๖ แห่ง ในวันนี้

 

 

สถานที่เกิด อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

           จุดเริ่มต้นของเส้นทางมหาปูชนียาจารย์ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) คือ สถานที่เกิดของท่าน ซึ่งตั้งอยู่ ณ ตำบลสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

 



 

           พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ถือกำเนิดเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๒๗ (ตรงกับรัชกาลที่ ๕) บนผืนดินรูปดอกบัว ที่แวดล้อมด้วยธารน้ำ คือ คลองสองพี่น้องและคลองบางใหญ่ ภายหลังญาติ ๆ ในสกุลมีแก้วน้อยได้ถวายแผ่นดินผืนนี้ ให้แก่มูลนิธิธรรมกาย และคณะศิษยานุศิษย์ นำโดยพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) ได้ประกอบพิธีประดิษฐานดวงแก้วมณีบรมจักรพรรดิ และพิธีเทคอนกรีตเสามงคลครอบเสาไม้ เรือนเกิดของพระเดชพระคุณหลวงปู่ เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

 



           นอกจากนี้ ยังร่วมใจกันสร้างอนุสรณ์สถาน มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) บนแผ่นดินรูปดอกบัว และประดิษฐานรูปหล่อทองคำพระมงคลเทพมุนีในมหาวิหารเรียบร้อยแล้ว

 

 

สถานที่ออกบวช วัดสองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี

           สถานที่สำคัญในชีวิตการสร้างบารมีของหลวงปู่แห่งถัดไป คือวัดสองพี่น้อง ซึ่งเป็นสถานที่ออกบวชของท่าน และเป็นที่ที่ท่านเกิดใหม่ในเพศสมณะ

 

 

           วัดสองพี่น้องเป็นพระอารามหลวง ตั้งอยู่ริมคลองสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี หลวงปู่เข้าพิธีบรรพชาอุปสมบทที่วัดนี้ เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ ขณะมีอายุได้ ๒๒ ปี หลังจากที่เกิดธรรมสังเวชในเรื่องการทำมาหากินของผู้ครองเรือน และตั้งจิตอธิษฐานบวชอุทิศชีวิตแด่พระศาสนาตั้งแต่อายุ ๑๙ ปี โดยมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ในการบวช คือ “จะทำพระนิพพานให้แจ้ง นำพาตนเองให้พ้นทุกข์” ซึ่งการตัดสินใจบวชอย่างเด็ดเดี่ยวของท่านในครั้งนั้น ทำให้มีการค้นพบวิชชาธรรมกายหวนกลับคืนมา สู่โลกอีกครั้งหนึ่ง

           อาคารหลังซ้ายมือในภาพบน คือพระอุโบสถซึ่งสร้างอยู่บนสถานที่ตั้งโบสถ์เก่า ซึ่งเป็นสถานที่อุปสมบทของหลวงปู่ ปัจจุบันคณะศิษยานุศิษย์ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถหลังนี้ และสร้างวิหารคดล้อมรอบเรียบร้อยแล้ว พร้อมที่จะอัญเชิญรูปหล่อทองคำพระมงคลเทพมุนีไปประดิษฐานเป็นการถาวร

 

 

สถานที่บรรลุธรรม
วัดโบสถ์ (บน) จังหวัดนนทบุรี

           เมื่อบวชแล้ว พระเดชพระคุณหลวงปู่ ใช้เวลาในแต่ละวันอย่างทรงคุณค่าด้วยการฝึกธรรมปฏิบัติ นับตั้งแต่วันแรกที่บวชโดยไม่ขาด เลยแม้แต่วันเดียว ขณะเดียวกันก็ศึกษาค้นคว้าความรู้ในพระไตรปิฎกจนเชี่ยวชาญภาษาบาลี จากนั้นจึงมุ่งศึกษาธรรมปฏิบัติให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ในพรรษาที่ ๑๒ ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ (ตรงกับรัชกาลที่ ๖) พระเดชพระคุณหลวงปู่ไปจำพรรษา ที่วัดโบสถ์ (บน) ตำบลบางคูเวียง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี

 

 

           ในวันเพ็ญเดือนสิบ ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ระหว่างกลางพรรษาที่ ๑๒ ท่านตั้งสัจจาธิษฐาน ทำสมาธิภาวนาอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพันว่า “ถ้าเรานั่งลงไปครั้งนี้ ไม่เห็นธรรมที่พระพุทธเจ้าต้องการ เป็นอันไม่ลุกจากที่นี้จนหมดชีวิต” จากนั้นก็นั่งเจริญสมาธิภาวนา จนกระทั่งเข้าถึงพระธรรมกายกลางดึกคืนนั้น ณ อุโบสถวัดโบสถ์ (บน) หลังที่ปรากฏอยู่ในภาพ ซึ่งปัจจุบันผ่านการบูรณ-ปฏิสังขรณ์แล้ว

           เมื่อเข้าถึงพระธรรมกายแล้ว หลวงปู่ได้นำความรู้ในพระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่าง ๆ ที่ท่านศึกษามาเป็นเวลาสิบกว่าปี มาตรวจสอบความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติว่าตรงกันหรือไม่ ก็ปรากฏว่าตรงกันโดยไม่มีความคลาดเคลื่อนแต่อย่างใด ทำให้ท่านปลาบปลื้มใจเป็นอย่างยิ่ง

 

 

             ทัศนียภาพ (Perspective) วิหารและวิหารคด วัดบางปลา

 

 

           ทัศนียภาพวิหารที่จะประดิษฐานรูปหล่อทองคำหลวงปู่สถานที่ที่มีผู้บรรลุธรรมตามหลวงปู่ เป็นครั้งแรกวัดบางปลา จ.นครปฐม

           เมื่อหลวงปู่เข้าถึงพระธรรมกายแล้ว ก็เดินทางไปสอนธรรมปฏิบัติที่วัดบางปลา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม และมีพระภิกษุเข้าถึงพระธรรมกาย รู้เห็นธรรมตามท่าน ๓ รูป และฆราวาสอีก ๔ คน บุคคลเหล่านี้ถือเป็นพยาน ในการบรรลุธรรมของท่านได้เป็นอย่างดี

 

 

อาคารอเนกประสงค์ วัดบางปลา

           วัดบางปลายังเป็นสถานที่ที่หลวงปู่ในครั้งยังเยาว์วัย เคยไปเรียนหนังสือจนสามารถอ่านเขียน ทั้งหนังสือไทยและขอมได้อย่างคล่องแคล่ว

           ปัจจุบัน คณะศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่กำลังเตรียมการก่อสร้างวิหารเพื่อประดิษฐาน รูปหล่อทองคำของหลวงปู่ และจะมีการสร้าง วิหารคดในลำดับต่อไป

 

 

สถานที่ปักหลักเผยแผ่วิชชาธรรมกายวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร

            ในราวกลางปี พ.ศ. ๒๔๖๑ (กลางรัชกาลที่ ๖) หลวงปู่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ท่านทำนุบำรุงวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ จนกระทั่งมีพระภิกษุสามเณรถึง ๕๐๐ กว่ารูป มากที่สุดในประเทศไทยในยุคนั้น สร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่พระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง

 

 

           ที่วัดปากน้ำแห่งนี้ หลวงปู่ได้ปักหลักค้นคว้า ทำวิชชา และสอนธรรมปฏิบัติจนตลอดชีวิต นอกจากนี้ท่านยังส่งลูกศิษย์ออกไปสอน ธรรมปฏิบัติเกือบทุกจังหวัดในประเทศไทย จนกระทั่งกระแสการปฏิบัติธรรม แผ่ขยายไปอย่างกว้างขวางและคึกคัก มีผู้เข้าถึงพระธรรมกายเป็นจำนวนมาก ทำให้กิตติศัพท์ของพระเดชพระคุณหลวงปู่ โด่งดังไปถึงต่างประเทศ และมีชาวยุโรปเข้ามาบวชพระเป็นครั้งแรกของประเทศไทย

           พระเดชพระคุณหลวงปู่มรณภาพที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๒ รวมอายุได้ ๗๕ ปี รวมพรรษาได้ ๕๓ พรรษา

           ปัจจุบัน คณะศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่ ร่วมกันก่อสร้างพระมหาเจดีย์มหารัชมงคลไว้ที่ วัดปากน้ำ และต่อมาคณะพระธุดงค์ธรรมชัยได้อัญเชิญรูปหล่อทองคำพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) จากวัดพระธรรมกาย ซึ่งเป็น องค์แรกที่หล่อขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ไปประดิษฐาน ณ พระมหาเจดีย์มหารัชมงคล เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๕

 

 


สถานที่สืบสานวิชชาธรรมกายวัดพระธรรมกาย จ.ปทุมธานี

           วัดพระธรรมกาย อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เป็นสถานที่สืบสานวิชชาธรรม-กายให้เผยแผ่ไปทั่วโลก ตามมโนปณิธานของ พระเดชพระคุณหลวงปู่ ที่ปรารถนาจะเผยแผ่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย แก่มวลมนุษยชาติโดยไม่เลือกเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ เพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า ๔๐ ปี ที่ผ่านมา วัดพระธรรมกายได้ดำเนินการเผยแผ่วิชชา ธรรมกายไปสู่มหาชนชาวโลก จนกระทั่งในขณะนี้ทางวัดมีวัดสาขาและศูนย์สาขาทั้งในประเทศและ ในทวีปต่าง ๆ เป็นจำนวนถึง ๑๑๕ แห่ง ทำให้ชาวโลกจำนวนมาก รู้เป้าหมายที่แท้จริงของการเกิดมาเป็นมนุษย์ และรู้จักสั่งสมบุญเพื่อเป็นเสบียงสำหรับเดินทางในสังสารวัฏ

 

 

           นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสืบสานวิชชาธรรมกาย ให้ยืนยงตราบนิรันดร์ วัดพระธรรมกายจึงได้ริเริ่มสถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์ขึ้น โดยมีเรื่องราวความเป็นมาเป็นไปดังที่ปรากฏอยู่ในคอลัมน์นี้

 

 

ความคืบหน้าของการสถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์

           ในขณะนี้ การดำเนินการก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์สถานที่ประดิษฐานรูปหล่อทองคำพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) และการประดิษฐานรูปหล่อทองคำ ณ สถานที่สำคัญทั้ง ๖ แห่ง บนเส้นทางมหาปูชนียาจารย์ ได้ดำเนินการรุดหน้าไปตามลำดับดังนี้

           สถานที่เกิด

           โลตัสแลนด์ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี คณะศิษยานุศิษย์ดำเนินการก่อสร้างอนุสรณ์สถาน และประดิษฐานรูปหล่อทองคำ พระมงคลเทพมุนีเรียบร้อยแล้ว

           สถานที่อุปสมบท

วัดสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ทำการบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ และสร้างวิหารคดล้อมรอบพระอุโบสถเสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะมีพิธีอัญเชิญรูปหล่อทองคำพระมงคลเทพมุนี ไปประดิษฐานเป็นการถาวรใน วันอังคารที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๖

           สถานที่บรรลุธรรม

           วัดโบสถ์ (บน) บางคูเวียง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ทำการบูรณปฏิสังขรณ์อุโบสถ และสร้างวิหารคดล้อมรอบอุโบสถเสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะนำรูปหล่อทองคำพระมงคลเทพมุนี ไปประดิษฐานในวาระที่เหมาะสมต่อไป

           สถานที่ที่มีผู้บรรลุธรรมตามหลวงปู่เป็นครั้งแรก

           วัดบางปลา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม กำลังเตรียมการสร้างวิหาร เพื่อประดิษฐานรูปหล่อทองคำ และจะสร้างวิหารคดในลำดับต่อไป

           สถานที่ปักหลักเผยแผ่วิชชาธรรมกาย

           วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร มีการก่อสร้างเจดีย์และประดิษฐานรูปหล่อทองคำพระมงคลเทพมุนีเรียบร้อยแล้ว

           สถานที่สืบสานวิชชาธรรมกาย

           วัดพระธรรมกาย อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี จะมีพิธีอัญเชิญรูปหล่อทองคำพระมงคลเทพมุนี เข้าประดิษฐานเป็นการถาวร ณ มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ใน วันจันทร์ที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๖

 

 

๒๕ – ๒๖ มีนา ไปกันดีกว่าไปเอาบุญใหญ่

           สถานที่สำคัญทั้ง ๖ แห่ง บนเส้นทางมหา-ปูชนียาจารย์ ล้วนเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งสิ้น และในอนาคตจะเป็นที่ที่มีผู้คนจากทั่วโลก เดินทางมาตามรอยพระเดชพระคุณหลวงปู่ ดังนั้นการสถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์ ให้สถิตสถาพรยั่งยืนนานอยู่คู่โลก จึงมิเพียงก่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองแก่พระพุทธศาสนา และเกิดประโยชน์แก่อนุชนรุ่นหลังเท่านั้น แต่ยังเป็นทางมาแห่งบุญใหญ่

 

 

         ซึ่งจะหลั่งไหลไปสู่ผู้สถาปนา เป็นเวลาที่ต่อเนื่องยาวนาน จึงขอเรียนเชิญทุกท่าน ไปเอาบุญใหญ่กับหลวงปู่โดยทั่วหน้ากัน โดยงานบุญสำคัญในช่วงนี้จะเริ่มขึ้นในวันจันทร์ที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ คือจะมีพิธีตักบาตรพระ ๑๒,๖๐๐ รูป ในตัวเมืองสุพรรณบุรี เวลา ๐๖.๐๐ น. และมีพิธีอัญเชิญรูปหล่อทองคำพระมงคลเทพมุนี โดยพระธุดงค์ธรรมชัยจำนวนพันกว่ารูปที่จังหวัดสุพรรณบุรี ส่วนในวันอังคารที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ คณะพระธุดงค์จะจาริกไปยังวัดสองพี่น้อง เพื่อทำพิธีประดิษฐานรูปหล่อทองคำพระมงคลเทพมุนี ไว้ในพระอุโบสถเป็นการถาวร จะได้เป็นเครื่องสักการบูชาของมหาชนสืบไป

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล