ฉบับที่ ๑๓๕ เดือนมกราคม ๒๕๕๗

พิธีมอบพัดรองและประกาศเกียรติคุณ พระธรรมทูตภาคพื้นเอเชีย

รายงานพิเศษ

เรื่อง : ร.ลิ่วเฉลิมวงศ์

 

พิธีมอบพัดรองและประกาศเกียรติคุณ
 

พระธรรมทูตภาคพื้นเอเชีย

พิธีมอบพัดรองและประกาศเกียรติคุณ   พระธรรมทูตภาคพื้นเอเชีย

"การถวายพัดรอง ถือเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติคุณ
และเป็นการถวายกำลังใจแด่พระธรรมทูต ที่เสียสละ    ไปเผยแผ่ธรรมะในต่างแดน"

    ..ก่อนจะรู้ว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ณ แดนอาทิตย์อุทัยในคอลัมน์นี้ เราเชื่อว่า..มีคนจำนวนไม่น้อย ที่อ่านพาดหัวคอลัมน์แล้วสงสัยว่า “พัดรอง” คืออะไร? ..มอบไปเพื่ออะไร?

    และ “พัดรอง” กับ “พัดยศ” ต่างกันอย่างไร?

    หรือแม้กระทั่งคำว่า “พระธรรมทูต” คือใคร?

    นับจากวินาทีนี้เป็นต้นไป นอกจากคุณจะเข้าใจความหมายของคำเหล่านี้แล้ว ยังจะได้รู้อีกว่า มีอะไรเกิดขึ้น ณ ดินแดนที่เห็นพระอาทิตย์ส่องแสงเป็นแห่งแรกของโลกในแต่ละวัน !!!

    ก่อนอื่นเราจะไปทำความรู้จักกับคำว่า “พัดยศ” หรือ “ตาลปัตร” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเครื่องบริขารหรือของใช้ของพระภิกษุสงฆ์ ที่ใช้บังหน้าเวลาประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา แต่ตาลปัตรที่เรียกว่า “พัดยศ” นี้ มีความพิเศษกว่าตาลปัตรธรรมดาตรงที่ เป็นพัดที่พระมหากษัตริย์มีพระบรมราชานุญาตให้สร้างขึ้น เพื่อถวายแด่พระสงฆ์พร้อมกับสมณศักดิ์ ถือเป็นเครื่องประกอบยศและเป็นการประกาศเกียรติคุณที่พระสงฆ์ได้รับ...

    ส่วน “พัดรอง” ก็คือ พัดที่พระมหากษัตริย์มีพระบรมราชานุญาตให้สร้างถวายพระสงฆ์ เพื่อเป็นที่ระลึกในพระราชพิธีสำคัญ หรือประชาชนจะสร้างขึ้นเพื่อถวายพระเองในวาระต่าง ๆ ก็ได้ ซึ่งพัดรองนี้ใช้เป็นพัดสำรองแทนพัดยศในการประกอบพิธีบุญทั่ว ๆ ไป เพราะพัดยศจะใช้เฉพาะในพระราชพิธีเท่านั้น !!!

    ..และเนื่องในวาระครบ ๘๐ ปี แห่งรัฐสภาไทย ประธานรัฐสภาจึงถือโอกาสอันเป็น      มหามงคลนี้ น้อมถวาย “พัดรอง” แด่คณะพระธรรมทูต ซึ่งคำว่า “พระธรรมทูต” นั้น หมายถึง พระภิกษุที่เดินทางไปแสดงธรรมยังสถานที่ต่าง ๆ โดยทำหน้าที่เป็นทูตของพระศาสนา ซึ่งมีทั้งที่ปฏิบัติหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศและต่างประเทศ

    แต่ทว่า..พิธีมอบพัดที่เกิดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น ณ วัดพระธรรมกายคานากาว่า ในวันอาทิตย์ที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๖ ที่ผ่านมานี้ เป็นพิธีมอบพัดรองแด่ พระธรรมทูตสายต่างประเทศ ที่เป็นเจ้าอาวาสศูนย์สาขาของวัดพระธรรมกายภาคพื้นเอเชีย ๑๘ วัด ที่ตั้งอยู่ใน ๙ ประเทศ ซึ่งได้แก่ ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย มองโกเลีย เกาหลี และอินโดนีเซีย 

พิธีมอบพัดรองและประกาศเกียรติคุณ   พระธรรมทูตภาคพื้นเอเชีย

    การถวายพัดรอง ถือเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติคุณ และเป็นการถวายกำลังใจแด่        พระธรรมทูตที่เสียสละไปเผยแผ่ธรรมะในต่างแดน ซึ่งการจากบ้านเกิดเมืองนอนไปเช่นนี้ ต้องปรับตัวและฟันฝ่าอุปสรรคหลายอย่าง แต่ท่านก็ยอมเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา

    ด้วยความเสียสละอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดแก่เหนื่อยเช่นนี้เอง ทางคณะกรรมการสภาธรรมกายสากลแห่งภาคพื้นเอเชีย และสาธุชนชาวญี่ปุ่น จึงพร้อมใจกันจัดงานในครั้งนี้ขึ้น โดยมี         คณะสงฆ์เข้าร่วมพิธีเกือบ ๖๐ รูป และสาธุชนเกือบ ๔๐๐ คน

คุณพรสรร กำลังเอก  พระเดชพระคุณพระพรหมดิลก

    พิธีในครั้งนี้ นับเป็นเกียรติอย่างสูงสุดที่ พระเดชพระคุณพระพรหมดิลก กรรมการมหาเถร- สมาคม เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร เจ้าอาวาสวัดสามพระยาวรวิหาร ท่านได้เมตตาไปเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และ คุณพรสรร กำลังเอก ภริยาท่านพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ได้กรุณาเดินทางจากเมืองไทย เพื่อไปเป็นประธานฝ่ายฆราวาส  

    ด้วยเหตุนี้ จึงนับเป็นความโชคดีอย่างสูงสุดของพุทธศาสนิกชนที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่น      ที่ได้ถือโอกาสนี้กราบถวายมุทิตาจิตแด่ พระเดชพระคุณพระพรหมดิลก ที่ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นรองสมเด็จพระราชาคณะ ในราชทินนามที่ พระพรหมดิลก ปริยัตินายกคณาทร บวรศาสนกิจวิธาน ศีลสมาจารนิวิฐ ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม       คามวาสี เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๓ และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ในด้านการปกครองเป็น เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ 

    ในโอกาสนี้ พระเดชพระคุณพระพรหมดิลกได้กล่าวสัมโมทนียกถา พร้อมทั้งกล่าวอนุโมทนาบุญญาติโยมว่า “การเดินทางมามอบพัดรองในครั้งนี้ ทำให้เห็นความเจริญของพระพุทธศาสนาในต่างแดน ซึ่งเป็นความตั้งใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และการที่ทุกท่านได้เดินทางมาร่วมพิธีกรรม และทำบุญในวันนี้ ถือเป็นการสร้างความดีให้กับชีวิต เพื่อจะทำชีวิตให้เจริญ ซึ่งตามหลักพระพุทธศาสนาแล้ว มีหลักในการดำเนินชีวิตที่เรียกว่าบันได ๓ ขั้น คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเราก็ควรเลือกสิ่งที่ดีงามมาสรรค์สร้างให้กับชีวิตตนเอง...”

    ส่วน คุณพรสรร กำลังเอก ได้กล่าวว่า “พอได้ทราบว่า พระเดชพระคุณพระพรหมดิลกท่านเมตตามาเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ให้ในครั้งนี้ ก็ดีใจมาก ทำให้เราเกิดแรงบันดาลใจอยากจะเดินทางมาที่นี่อีกครั้ง ประกอบกับการที่เราได้เป็นเจ้าภาพสร้างวัดพระธรรมกายคานากาว่าร่วมกับสาธุชน   ที่นี่เอาไว้ ครั้นพอได้กลับมาเยือนจริง ๆ ก็รู้สึกปลื้มกว่าที่คิดไว้มาก เพราะได้เห็นถึงพลังศรัทธาของสาธุชนจำนวนมาก ที่มานั่งสมาธิรวมกัน จนสัมผัสได้ถึงความตั้งใจจริงของทุกคน ตลอดจนพระอาจารย์ท่านก็ตั้งใจเผยแผ่พระศาสนากันอย่างเอาจริงเอาจัง จนเราอยากจะให้สิ่งดี ๆ อย่างในวันนี้กับทุกวัดทั่วโลกค่ะ”..

คุณพรสรร กำลังเอก  พระเดชพระคุณพระพรหมดิลก

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล