ฉบับที่ ๑๔๔ เดือนตุลาคม ๒๕๕๗

ว่าด้วยเรื่อง พระมหาเจดีย์ทัตตชีโว กับคุณครูไม่เล็ก

เรื่องเด่น
เรื่อง : โสตฺถิโก ภิกฺขุ

ว่าด้วยเรื่อง
พระมหาเจดีย์ทัตตชีโวกับคุณครูไม่เล็ก

    เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๗    ที่ผ่านมา คณะศิษย์วัดพระธรรมกายและกัลยาณมิตรทั่วโลกได้รับความเมตตาจากคุณครูไม่ใหญ่ (หลวงพ่อธัมมชโย) ให้มีโอกาสสั่งสมบุญใหญ่กันอีกครา ในการสถาปนา “พระมหาเจดีย์ทัตตชีโว” ขึ้นที่ศูนย์อบรมเยาวชนกาญจนบุรี ริมแม่น้ำแควน้อย จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมทั้งเป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และเพื่อประกาศคุณของหลวงพ่อทัตตชีโว (เผด็จ ทตฺตชีโว) คุณครูไม่เล็ก    ผู้เป็นครูบาอาจารย์ของพวกเราทั้งหลาย   ผู้บุกเบิกวัดพระธรรมกายและอุทิศชีวิตตนทำงานเพื่อพระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่องมากว่า ๔๐ ปี โดยไม่ขาดแม้แต่วันเดียว ความเมตตาของคุณครูไม่ใหญ่ในครั้งนี้ ก็เพื่อตอบแทนคุณครูไม่เล็กที่ทุ่มเททุกอย่าง รับงานแทบ        ทุกเรื่องในวัดพระธรรมกายเพื่อปลดภาระกังวลให้คุณครูไม่ใหญ่มีเวลานั่งหลับตาอย่างเต็มที่  

 

ความไม่ธรรมดาของพระมหาเจดีย์ทัตตชีโว

        การเกิดขึ้นของพระมหาเจดีย์นี้นับว่าเป็นเรื่องไม่ธรรมดา เหตุก็เพราะ

    ๑. โดยชื่อของเจดีย์แปลว่า “มหาเจดีย์แห่งการอุทิศชีวิต” ส่วนการที่จะเรียกเจดีย์องค์ไหนว่า “มหาเจดีย์” ได้นั้น มีเหตุผลหลักอย่างน้อย ๓ ประการ คือ ๑) โดยขนาด ๒) โดยคุณค่า ๓) ด้วยบุญ

       พระมหาเจดีย์ทัตตชีโวนี้ โดยขนาด     ก็ไม่ได้ใหญ่โตนัก คือมีความสูงอยู่ที่ ๑๕ เมตร โดยประมาณเท่านั้น แต่หากว่ากันโดยคุณค่าของเจดีย์ที่สร้างไว้เพื่อ ๑) บูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒) ใช้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ๓) ใช้ปักหลักเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา ๔) เพื่อ       ยกย่องบุคคลท่านหนึ่งซึ่งอุทิศชีวิตของตน    เพื่องานพระศาสนา ๕) เพื่อใช้เป็นพุทธสถาน      ในการฝึกฝนอบรมสร้างศาสนทายาทสืบทอด พระศาสนาให้ยืนยาวต่อไปในอนาคต รวมทั้งด้วยบุญมหาศาลที่บรรดากัลยาณมิตรลูกศิษย์ของวัดพระธรรมกายทั่วโลกรวมใจกันสร้างขึ้น เพื่อบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและบูชาธรรมครูบาอาจารย์ ก็คู่ควรที่จะเรียกเจดีย์นี้ว่าเป็น มหาเจดีย์คู่พระพุทธศาสนา อีกองค์หนึ่งได้ 

      ๒. นับตั้งแต่ที่คุณครูไม่ใหญ่ดำริให้มีการสร้างพระมหาเจดีย์นี้ขึ้น การจำลองแบบ ออกแบบ การเตรียมสถานที่ การวางแผนการก่อสร้าง ตลอดไปจนถึงการเตรียมขั้นตอนพิธีกรรมในพิธีโปรยทรายและตอกเสาเข็ม    มหามงคลเป็นปฐมเริ่มบนพื้นที่ก่อสร้างองค์เจดีย์  ใช้เวลาเตรียมการเสร็จสิ้นภายใน ๗ วันเท่านั้น และต้องสร้างให้เสร็จภายใน ๓ เดือน เพื่อให้ทันฉลองวาระที่คุณครูไม่เล็กมีอายุเต็ม ๗๔ ปี ในวันที่ ๒๑ ธันวาคม ที่จะถึงนี้ 

       เหตุที่ต้องเร่งทำให้เสร็จภายในระยะเวลา ๓ เดือนนี้ มีนัยสำคัญแฝงอยู่ คือในยุคนี้อายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์ คือ ๗๕ ปี ดังนั้นต้องปรารภเหตุสร้างบุญใหญ่ให้แก่คุณครูไม่เล็ก  โดยการสร้างเจดีย์เป็นสัญลักษณ์ปักหลักฝึกคนสร้างทายาทเพื่อสืบต่ออายุพระศาสนา ด้วยผลบุญในครั้งนี้ ท่านจะได้แข็งแรง มีอายุขัยยืนยาว สามารถสั่งสอนอบรมคนทำงานให้พระศาสนาต่อไปอีกนาน ๆ

      ๓. ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว คุณครูไม่เล็กมักจะบอกเสมอว่า ด้วยความที่เป็นคนชอบเสาะแสวงหาเหตุผลต่าง ๆ มาประกอบการกระทำของตนอยู่ตลอด รวมไปถึงความห่วงหน้าพะวงหลัง คิดไปข้างหน้าอยู่เป็นประจำด้วยความห่วงใยหมู่คณะ ทำให้ท่านไม่ค่อยปลื้มอะไรง่าย ๆ แม้ในระหว่างพิธีกรรมในงานบุญใหญ่ แต่บุญในครั้งนี้นับตั้งแต่ท่านได้ทราบข่าวว่าคุณครูไม่ใหญ่ปรารภเหตุจะสร้างเจดีย์บูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยใช้ชื่อท่านเป็นชื่อเจดีย์ ท่านก็ยิ้ม แล้วยกมือพนมจรดศีรษะด้วยสีหน้าและแววตาที่ปลาบปลื้มในความเมตตาของครูบาอาจารย์ พร้อมกับเปล่งวาจาออกมาว่า “จะหาครูบาอาจารย์ที่ไหนที่ทำแบบนี้ให้แก่ลูกศิษย์ได้อีก” 

 

      พิธีทอดผ้าป่าสามัคคีปฐมเริ่มตอกเสาเข็มมงคลสถาปนาพระมหาเจดีย์ทัตตชีโว บูชาธรรมหลวงพ่อทัตตชีโววาระอายุวัฒนมงคล อายุ ๗๔ ปีณ ศูนย์อบรมเยาวชนกาญจนบุรีต.เกาะสำโรง อ.เมือง จ.กาญจนบุรี

       ในวันประกอบพิธีโปรยทรายและตอกเสาเข็มมงคล ใบหน้าของท่านก็เจือด้วยรอยยิ้มอยู่ตลอด ท่านบอกว่าที่ปลื้มไม่ใช่เพราะว่ามีคนมาช่วยปลดกังวลให้ แต่เป็นเพราะได้เห็น     ความร่วมแรงร่วมใจกันเตรียมงานของบรรดาลูก ๆ, พิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ สั้นกระชับ รัดกุม, ความกตัญญู, ความเรียบร้อย และความอดทนต่อความยากลำบากของบรรดาลูกศิษย์ที่มาร่วมงานในวันนั้น 

 

พิธีโปรยทรายและตอกเสาเข็มมงคลปฐมเริ่ม สถาปนาพระมหาเจดีย์ทัตตชีโว

    หลังจากเสร็จพิธี ในระหว่างเดินทางกลับ ท่านนั่งหลับตารักษาใจมาตลอดเส้นทาง ตั้งแต่ศูนย์ฝึกอบรมฯ มาจนถึงวัดพระธรรมกาย แล้วมานั่งตรึกนึกถึงบุญที่เกิดขึ้นต่อไปจนถึง    ๑ นาฬิกา ของวันใหม่ เพื่อให้ทุกคนที่มีส่วนร่วมในการสร้างพระมหาเจดีย์องค์นี้ได้บุญกับท่านอย่างเต็มที่ 

    เมื่อถามถึงความรู้สึกหลังจากเสร็จพิธี ท่านตอบว่า “ที่ทุ่มเทฝึกคนมาตลอด ๔๐ กว่าปีที่ผ่านมานั้น ไม่สูญเปล่า”

    ด้วยความระลึกนึกถึงพระคุณของครูบาอาจารย์ที่ให้ความรู้มา ความเมตตาของคุณครูไม่ใหญ่ และความร่วมแรงร่วมใจของ   ลูกศิษย์ ทำให้ท่านหายจากความเป็นคนที่ปลื้มอะไรยากในวันสถาปนาพระมหาเจดีย์นี้เอง

 

แผ่นดินแห่งการเสาะแสวงหา

       คุณครูไม่เล็กเคยบอกว่า “คนเราวัยหนุ่มมองไปข้างหน้า วัยชรามองไปข้างหลัง” พออายุมากขึ้นก็นึกถึงบ้านเกิดและผู้มีพระคุณที่ทำให้มีวันนี้ เลยคิดอยากจะทำอะไรเพื่อตอบแทนแผ่นดินเกิดและอุทิศบุญแก่ทุกคน ที่ช่วยเพาะบ่มความดีให้ โดยเฉพาะครูที่สอนให้ท่านรู้จักการนั่งสมาธิอย่างจริงจังท่านหนึ่ง คือหลวงพ่อบุญธรรมแห่งวัดถ้ำเขาแหลม 

    สถานที่ก่อสร้างพระมหาเจดีย์ทัตตชีโวอยู่ไม่ไกลจากถ้ำที่ท่านเคยไปฝึกสมาธิในสมัยที่ยังศึกษาอยู่ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ท่านเล่าให้ฟังว่า  ในยุคนั้นการเดินทางเป็นไปอย่างยากลำบาก การที่จะไปถ้ำเขาแหลมในฤดูน้ำหลากต้องอาศัยเรือข้ามฟากแม่น้ำแม่กลองจากท่าชุกโดนใกล้กับวัดไชยชุมพชนะสงคราม แล้วเดินเท้าต่อไป ในช่วงฤดูแล้งที่ระดับน้ำไม่ลึกนัก ก็อาศัยเดินลุยสลับกับการว่ายข้ามในช่วงที่ระดับน้ำลึก 

    หลวงพ่อบุญธรรมเคยบอกท่านว่า “เผด็จอย่าเลิกนะ ฝึก (สมาธิ) ต่อไป อีกหน่อยพระพุทธศาสนาไปถึงไหน ชื่อของเธอจะไปถึงนั่น” และหลวงพ่อบุญธรรมนี้เองที่เป็นคนแรกที่สอนให้ท่านทราบว่า “ในกลางท้องของคนเราทุกคนมีพระอยู่” คำพูดนี้เป็นการปูพื้นฐานให้ท่านในเบื้องต้น ก่อนจะมาฝึกสมาธิเพื่อเข้าถึง พระธรรมกายกับคุณครูไม่ใหญ่และคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง      ในภายหลัง

    พวกเราถือว่าเกิดมามีบุญที่ได้มาเจอ ครูอาจารย์ที่ดี ไม่ต้องไปเสาะแสวงหาเหมือนที่คุณครูไม่เล็กเคยทำมา ดังนั้นต้องตระหนักในสิ่งเหล่านี้ให้มาก เจอครูดีแล้วต้องตั้งใจฝึกฝน ตรึกตรองทำตามคำสอนสั่งที่ท่านมอบให้ทุกครั้งที่โอกาสอำนวยต้องหมั่นสั่งสมบุญ    ร่วมกับท่าน ดังที่พวกเราได้รวมใจกันสถาปนาพระมหาเจดีย์ทัตตชีโว มหาเจดีย์แห่งการอุทิศชีวิตเพื่อพระศาสนานี้ ซึ่งนอกจากจะได้บูชาธรรมคุณครูไม่เล็กแล้ว ก็ยังได้ร่วมบุญกับคุณครูไม่ใหญ่อีกด้วย ด้วยผลบุญนี้ ต่อไป      ไม่ว่าต้องเกิดมาอีกกี่ภพกี่ชาติ จะได้คิดได้-ตามติด-ทำทัน ตามคำสอนของครูบาอาจารย์ และจะได้เกิดมาเจอพระพุทธศาสนา วิชชา-ธรรมกาย ไปทุกภพทุกชาติ ตราบกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรม


 

บทสัมภาษณ์

พระครูปลัดสุวัฒนธีรคุณ (ภูเบศ ฌานาภิญโญ)

        ไปกราบท่านทีไร ท่านมักจะอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ ค้นคว้า     พระไตรปิฎก จนเป็นภาพที่คุ้นตา แสดงว่าท่านฝักใฝ่ในความรู้มาก แล้วพอศึกษาหาความรู้เสร็จ ท่านจะให้ความรู้ด้วย ท่านจะสอนเรื่องที่ท่านศึกษาค้นคว้า พิจารณา ไตร่ตรอง และขบจนแตกเรียบร้อยแล้ว ส่วนพวกเราก็เหมือนลูกนกที่อ้าปากคอยให้ท่านคายอาหารที่เคี้ยวแล้วใส่ปาก แล้วก็กลืนลงไปเท่านั้น ง่าย ๆ

       ท่านขยันเทศน์สอนมาก บางครั้งมีญาติโยมมากราบ ท่านก็สอนเรื่องเดิมอีก แต่ฟังแล้ว    ไม่เบื่อ มีความรู้สึกว่าได้ความรู้เพิ่มขึ้น เรื่องเดียวกันแต่ลุ่มลึกมากขึ้น กว้างขวางมากขึ้น ทำให้เราเข้าใจที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ธรรมะใดที่ยังไม่เคยฟัง ฟังแล้วก็จะเกิดปัญญา แม้เคยฟังแล้ว ถ้าฟังซ้ำอีก ปัญญาก็จะแตกฉานยิ่ง ๆ ขึ้นไป เป็นแบบนี้จริง ๆ นี้เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมและประทับใจในตัวครูบาอาจารย์ของเรา และอยากให้พวกเราทุกคนเดินตามรอยท่าน

 

พระมหา ดร.สมชาย ฐานวุฑฺโฒ 

        ในเวลาปกติท่านยกหลวงพ่อธัมมชโยนำหน้า เก็บตัวเองไว้ข้างหลัง แต่ถ้าภัยมา หลวงพ่อทัตตชีโวจะเดินนำหน้าไปก่อน รับศึกก่อนเลย จะแซงหน้านำหลวงพ่อธัมมชโยไปเลย เรียกว่ามีภัยอะไรมาท่านขอรับไว้ก่อน นั่นคือสัญชาตญาณของท่าน 

        เมื่อสักสองปีมานี้ มีอยู่คราวหนึ่งหลวงพ่อธัมมชโยมีงานจะขอให้หลวงพ่อทัตตชีโวช่วย แต่ท่านเกรงใจ ก็เลยให้อุปัฏฐากมากราบเรียนถามว่า “ช่วงนี้หลวงพ่อทัตตะเป็นอย่างไรบ้าง” พอถามเท่านั้นเอง หลวงพ่อทัตตชีโวตอบว่า “สุขภาพดีทั้งกายทั้งใจ แข็งแรง       ทั้งกลางวันกลางคืน” พูดง่าย ๆ คือ พร้อม มีงานมาเท่าไรพร้อมรับทั้งหมด ขอให้บอกมาเถิด แล้วท่านก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ ยามมีภัยมาหรือมีภาระในงานพระศาสนา ท่านยืดอกออกรับแทนทุกอย่าง 

    พวกเราทุกคนมีบุญเหลือเกิน ที่มีครูบาอาจารย์ที่มีคุณธรรมอันเลิศ ไม่ใช่เพียงคำพูดที่     สอนเรา แต่การกระทำที่ท่านแสดงออกให้เราเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันเป็นแบบอย่างที่ดีเยี่ยม ขอให้ดีใจในความเป็นผู้มีบุญของพวกเราเถิด แล้วตั้งใจฝึกตัวเองให้มีคุณธรรมด้วยความเคารพเหมือนท่าน แล้วเราจะมีความก้าวหน้าในการสร้างบารมีแบบไม่มีพลาด ไม่มีถอย ไม่มีเสื่อมเลย 

 

พระครูปลัดทวี พรฺหมฺเทโว

        หลวงพ่อทัตตชีโวอยากเห็นจังหวัดกาญจนบุรีมีศูนย์อบรมที่รองรับลูกหลานในจังหวัดกาญจนบุรี ท่านพูดเสมอว่า ไปมาทั่วโลกแล้ว แต่บ้านท่านยังไม่มีสถานที่อบรมลูกหลานของท่านเลย 

        เมื่อก่อนเรามาสร้างศูนย์กัลยาณมิตรที่บ้านท่าน แต่ขยายไม่ได้ เพราะมีที่ไม่ถึง ๑๐ ไร่ พอมาเจอพื้นที่ตรงนี้ก็เลยชอบ เพราะกว้างขวางและสงบดี คิดว่าน่าจะเป็นแหล่งหล่อหลอมลูกหลานจังหวัดกาญจนบุรีหรือจังหวัดใกล้เคียงได้ดี   แล้วพอหลวงพ่อธัมมชโย จะสร้างมหาเจดีย์ด้วย ก็เหมือนกับ    พระพุทธศาสนาได้ปักหลักลงบนพื้นที่แห่งนี้ และจะเป็นที่รวมชาวพุทธในแถบภาคตะวันตก         แล้วเชื่อมกับนานาประเทศในแถบตะวันตก ก็ถือว่าที่นี่จะเป็นหลักชัยของพระพุทธศาสนาแห่งหนึ่ง 


ดร.กฤษฎา จ่างใจมนต์ 

        ที่ตรงนี้อยู่ทางฝั่งตะวันตกของประเทศ เชื่อมกับเมืองทวายของเมียนมาร์ได้ เราจะสามารถเผยแผ่หลักธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปทาง      ทิศตะวันตกของประเทศได้สะดวก ตรงนี้จึงน่าจะเป็นชัยภูมิที่ดี ก็เลยตั้งใจจะมาทำศูนย์อบรมเยาวชน 

        พอมาทราบว่าหลวงพ่อทัตตชีโวก็ชอบที่ดินผืนนี้เหมือนกัน แล้วท่านก็มาดูหลายรอบแล้ว จึงคิดว่าถ้าเราทำบุญตรงนี้จะได้บุญหลายอย่าง ทั้งบุญจากการสร้างสถานที่ปฏิบัติธรรม บุญจากการบูชาธรรมหลวงพ่อทัตตชีโว ให้ท่านสมปรารถนาในการสร้างศูนย์อบรมเยาวชน เพื่อสร้างคนดีให้แก่จังหวัดกาญจนบุรี ในขณะเดียวกันยังสามารถขยายไปสู่ประเทศ      เพื่อนบ้านได้ด้วย บุญมากมายมหาศาล ผมจึงไม่ได้ตัดสินใจนาน หลังจากนั้นผมยังไม่จุใจ ซื้อที่ดินถวายเพิ่มอีก รวมทั้งหมดถวาย ๓ ครั้ง ก็ปลื้มใจที่ได้บูชาธรรมหลวงพ่อ ตอนนี้    ยิ่งรู้สึกว่า เราโชคดีจริง ๆ เพราะตอนแรกคิดว่าทำแค่ศูนย์อบรมเยาวชนก็อิ่มบุญแล้ว แต่คราวนี้
มีการสร้างเจดีย์อีก ยิ่งได้บุญเยอะเข้าไปใหญ่

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล