ฉบับที่ ๒๐๓ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๒

หลวงพ่อตอบปัญหา : ผู้ใฝ่รู้และใคร่ในการศึกษา ฝึกฝนอบรมตนเองให้เป็นคนเก่งและดี ควรมีคุณสมบัติและคุณลักษณะอย่างไร ?

หลวงพ่อตอบปัญหา
เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว

 

หลวงพ่อตอบปัญหา

ถาม : ผู้ใฝ่รู้และใคร่ในการศึกษา ฝึกฝนอบรมตนเองให้เป็นคนเก่งและดี ควรมีคุณสมบัติและคุณลักษณะอย่างไร ?

ตอบ : ในสมัยพุทธกาลพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกย่องพระราหุลว่าเป็นเอตทัคคะคือเป็นผู้เลิศในด้านผู้ใคร่ในการศึกษา พระราหุลเป็นโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะและพระนางยโสธราเป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าสุทโธทนะกษัตริย์ผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อพระกุมารราหุล มีอายุ ๗ ปี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จโปรดพระญาติ ณ กรุงกบิลพัสดุ์ และมีพระดำรัสให้พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรจัดการบรรพชาให้แก่ราหุลกุมาร และสามเณรราหุลได้ชื่อว่าเป็นสามเณรองค์แรกในพระพุทธศาสนา

        เมื่อสามเณรราหุลบวชแล้วก็ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ยิ่งกว่านั้นยังเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย พระภิกษุจะว่ากล่าวตักเตือนอย่างใด สามเณรราหุลก็ไม่เถียง ไม่โต้แย้ง เพราะท่านถือว่าถ้าใครมาว่ากล่าวตักเตือนเหมือนมาชี้ขุมทรัพย์ให้ เพราะตามธรรมดาคนเรามองข้อบกพร่องของตัวเองไม่ออก มองยากและกว่าจะเห็นก็นาน ฉะนั้นใครว่ากล่าวอะไรมาท่านก็คอยรับฟัง อะไรที่เป็นประโยชน์ก็เอาไปปฏิบัติตาม ท่านมีนิสัยอย่างนี้

     จนวันหนึ่งมีพระวินัยบัญญัติขึ้นมาไม่ให้พระภิกษุจำวัดร่วมกับผู้ที่ไม่ใช่พระภิกษุด้วยกันพระภิกษุทั้งหลายจึงไม่อาจให้สามเณรราหุลนอนในที่อยู่ของตน สามเณรรับทราบว่า วินัยก็เป็นวินัย ไม่คิดโต้แย้ง ไม่คิดจะไปรบกวนให้ใครเดือดร้อน เมื่อไม่มีที่จะนอน ก็ไม่ตื่นตกใจหาทางพึ่งตนเอง ที่ลำพังไม่มีใครอยู่ควรจะเป็นที่ใดหนอ ในที่สุดท่านจึงเข้าไปนอนในเวจกุฎีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยพิจารณาแล้วว่าเวจกุฎีเป็นที่สะอาด ประพรมด้วยธูปหอมมีพวงของหอมและพวงดอกไม้ห้อย สว่างด้วยแสงประทีปตลอดคืนยันรุ่ง เป็นที่ที่ไม่เบียดเสียดกับผู้อื่น

     ใกล้รุ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมา หมายจะเข้าไปเวจกุฎี สามเณรราหุลได้ยินเสียงกระแอมของพระองค์จึงออกมาถวายบังคม เมื่อพระพุทธองค์ตรัสถามจึงกราบทูลให้ทรงทราบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเกิดธรรมสังเวชว่า นี่ขณะที่พระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ สามเณรราหุลยังไม่มีใครดูแล ดีที่รู้จักช่วยตัวเองได้ ต่อไปภายหน้าเมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว มีสามเณรเข้ามาบวชกันมาก ๆ จะมีใครดูแล พระองค์ทรงเกิดธรรมสังเวช จึงทรงเรียกประชุมสงฆ์และทรงบัญญัติพระวินัยเพิ่มเติมจากที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว โดยมีพุทธานุญาตว่า ให้ภิกษุนอนร่วมชายคาหรือที่มุงบังเดียวกับอนุปสัมบันหรือผู้ยังไม่ได้เป็นพระภิกษุติดต่อกันได้ไม่เกิน ๓ คืน เพื่อให้มีเวลาในการหาหรือจัดเตรียมที่อยู่ให้อนุปสัมบัน แล้วจึงแยกกันนอนพระภิกษุที่มาประชุมกันต่างสรรเสริญสามเณรราหุลว่า แม้เป็นเด็กแต่ทำได้ดีชนิดที่ถ้าเป็นพระภิกษุเองประสบเหตุเดียวกันนี้ ก็ไม่แน่ว่าจะทำได้ดีอย่างสามเณรราหุลหรือไม่ เป็นเหตุให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสชาดกเล่าเรื่องท่านราหุลในอดีตชาติว่า อย่าว่าแค่เป็นสามเณรแล้วใจเพชรเลย แม้ภพชาติในอดีตเคยเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานก็มีนิสัยใจเพชร ใฝ่การศึกษาไม่ว่ายากสอนยาก ไม่ดื้อมาตั้งแต่เป็นสัตว์เดรัจฉาน แล้วทรงเล่า “ติปัลลัตถมิคชาดก” ให้ฟัง

      ในอดีตกาล ที่ป่าใหญ่แห่งหนึ่งอยู่ใกล้กับนครราชคฤห์ มีกวางฝูงใหญ่อาศัยอยู่ในป่ามีพญากวางเป็นจ่าฝูงควบคุมให้ลูกฝูงอยู่หากินในที่นั้นด้วยความสงบ นางกวางผู้เป็นน้องสาวได้พาลูกชายมาฝากให้พญากวางผู้เป็นพี่ชายช่วยสอนวิชามายาของกวาง เพื่อให้ลูกเรียนรู้วิธีรักษาตัวรอด พญากวางก็รับเอาไว้และตั้งใจสอน กวางหลานชายก็ตั้งใจเรียนตั้งใจฝึก ลำบากยากเข็ญอย่างไรก็ไม่เคยบ่นไม่เคยท้อ ไม่นานก็เรียนจบ ความจริงพญากวางตั้งใจสอนกวางทุกตัว แต่กวางตัวอื่น ๆ ไม่ค่อยทนต่อการเรียนการฝึก มักจะมีข้ออ้างไปต่าง ๆ นานา ทำให้ไม่ค่อยมาเรียน จึงหากวางที่เรียนได้น้อยมาก อยู่มาวันหนึ่งกวางน้อยไปติดบ่วงของนายพรานที่มาวางดักไว้ จึงได้ใช้สรรพมายาของกวางที่ร่ำเรียนฝึกฝนมา ทำแกล้งตายจนมีแมลงวันมาตอมและอีกาบินมาใกล้ นายพรานหลงเชื่อสนิทใจว่าตายแล้ว จึงแก้เชือกออกเพื่อเตรียมแล่เนื้อ กวางได้จังหวะก็รีบหนีหายเข้าป่าลึก กลับไปหาแม่กวางโดยปลอดภัย

      เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสจบจึงทรงประชุมชาดกว่า หลานกวางนั้นได้มาเป็นพระราหุลส่วนแม่กวางได้มาเป็นพระอุบลวรรณาเถรี ส่วนพญากวางนั้นเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เอง

      เราจะเห็นว่าท่านราหุลนั้น ตั้งแต่เป็นกวางก็ตั้งใจเล่าเรียน ฉลาดเฉลียวมาแต่นั้น เมื่อมาเกิดเป็นคน นิสัยดี ๆ ก็ติดตามมาด้วย

    ดังนั้น เมื่อมาพูดถึงประเด็นที่ว่า ผู้ใฝ่รู้ใฝ่การศึกษาจะหาต้นแบบว่าควรมีลักษณะอย่างไรก็ควรที่จะนำเอาบุคคลในอดีตที่ท่านฝึกตัวเองมาได้แล้วตั้งแต่ ๗ ขวบ และฝึกตัวเองมาแล้วตั้งแต่สมัยเป็นสัตว์เดรัจฉาน มาเป็นแบบอย่างแนวทางที่จะฝึกตัวเองตามท่าน

     วันนี้ หลวงพ่อจะขอสรุปคุณสมบัติหรือคุณลักษณะของผู้ใฝ่รู้ใฝ่การศึกษา โดยยึดพระราหุลเป็นต้นแบบให้ดังต่อไปนี้

๑. ฝึกตัวเองให้เป็นคนกระหายความรู้ มีฉันทะที่จะศึกษา

๒. ฝึกความอ่อนน้อมถ่อมตนให้ดี ถ้าขาดคุณธรรมความอ่อนน้อมถ่อมตน ก็ไม่มีใครเขาอยากสอนอยากให้ความรู้ ถ้าเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน ครูบาอาจารย์ท่านมีวิชาเท่าไร ก็อยากจะสอนให้หมด

๓. ฝึกตรงต่อเวลา ถึงเวลาเรียนเป็นเรียน ไม่มีข้ออ้างข้อแม้ที่จะไม่เรียน

๔. ฝึกเป็นคนว่าง่ายสอนง่าย ไม่ใช่คนชอบเถียง

๕. ฝึกเป็นคนรักวินัย ถึงเวลาจะต้องทำอะไร ก็ทำตามนั้น

๖. ฝึกเป็นคนตระหนักในความเคารพ ไปถึงไหนก็พยายามจับว่าใครมีอะไรดีอยู่ในตัวแล้วถ่ายทอดเอาความดีนั้นมาใส่ในตัวเรา เราจะได้เต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้และคุณธรรม

๗. ฝึกเป็นคนไม่ดูดาย มีความขวนขวายอยู่ตลอดเวลา ไปถึงไหนก็พร้อมที่จะยื่นมือเข้าไปช่วยในกิจการที่ควรทำ พร้อมที่จะทำงานอะไรก็ตามที่ไม่มีโทษ เช่น พระราหุลท่านไปถึงไหนเมื่อพระภิกษุทำอะไร ท่านก็เข้าไปช่วยหยิบช่วยจับ ช่วยเป็นมือเป็นเท้าให้ พอพระภิกษุว่างท่านมีความรู้อะไรก็สอนให้ เมื่อพระภิกษุท่านเต็มใจสอนให้ ความรู้ก็เต็มตัวพระราหุลนั่นแหละ

๘. ฝึกเป็นคนพึ่งตัวเอง ช่วยตัวเองได้ เช่น พระราหุล ๗ ขวบ ไม่พึ่งใครหาที่นอนให้ แล้วเห็นว่าเวจกุฎีเป็นที่สะอาดพอที่จะนอนได้ ก็อาศัยเวจกุฎีนั้นไปก่อน หาทางแก้ไขให้ผ่านไปได้นี้คือผู้มีนิสัยช่วยตัวเองได้

๙. ฝึกอดทน เกิดเป็นคนต้องทั้งอดและทนจึงจะเอาดีได้ พระราหุล อยู่ในวังมาตลอดชีวิตถึงเวลาจำเป็นก็ยังอดทนได้

๑๐. หมั่นฝึกตัวเองให้มีสติ มีอะไรเกิดขึ้นไม่ตื่นตระหนก ตั้งสติ ใช้ดวงปัญญาหาทางแก้ไข เหมือนพระราหุล เหมือนกวางน้อยติดบ่วงก็ไม่ตื่นตระหนก กวางที่ตื่นตระหนกเมื่อโดนบ่วงรัดยิ่งดิ้นมันยิ่งรัดคอตาย แต่กวางน้อยมีสติรู้ตัวทัน ดึงวิชาที่เรียนรู้และฝึกไว้แล้วมาแก้ไขเอาตัวรอดได้

๑๑. สิ่งสำคัญที่สุด จะเล่าเรียนเขียนอ่านอะไรก็ตาม ความรู้นั้นต้องเรียนจนสามารถนำไปใช้ช่วยชีวิตเราได้จริง ๆ

      สุดท้ายขอฝากเป็นข้อคิดว่า แม้ผู้เรียนจะมีความตั้งใจใฝ่รู้จริงเพียงใดก็ตาม แต่จะประสบความสำเร็จได้ ก็ต้องได้ครูอาจารย์ที่ดี มีความรู้จริงในเรื่องนั้น ๆ และท่านเต็มใจถ่ายทอดวิชาความรู้ให้อย่างถูกต้องและครบถ้วน ชนิดไม่หวงวิชาด้วย

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล