ฉบับที่ ๑๕๐ เดือนเมษายน ๒๕๕๘

พระมหากษัตริย์ไทย กับพระไตรปิฎก ตอน ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

บทความน่าอ่าน     
เรื่อง : Tipitaka (DTP)


พระมหากษัตริย์ไทย
กับพระไตรปิฎก

ตอน ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

 


ตั้งใจจะอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนา
จะป้องกันขอบขัณฑสีมา
รักษาประชาชนและมนตรี

 

ปฐมบรมราชโองการแสดงพระราชปณิธานของ
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช 

 


    ราชอาณาจักรรัตนโกสินทร์สถาปนาขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี รัชกาลที่ ๑ ทรงย้ายราชธานีจากฝั่งกรุงธนบุรีมาฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา  และพระราชทานนามราชธานีแห่งใหม่ว่า “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ฯ” แผ่นดินไทยขณะนั้นเพิ่งผ่านความคุกรุ่นของสงครามเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่า หรือแม้ในรัชสมัยพระองค์เองก็ยังปรากฏมีศึกสงครามอย่างต่อเนื่อง บ้านเมืองถูกข้าศึกทำลายย่อยยับ จิตใจของผู้คนในชาติบอบช้ำ     จากการสูญเสีย พระองค์จึงทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะปกป้องเอกราชของ        บ้านเมือง ควบคู่ไปกับการเร่งฟื้นฟูขวัญและกำลังใจของพสกนิกรในชาติ ด้วยการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้กลับมายิ่งใหญ่ไพศาลเฉกเช่นอดีตราชธานีให้จงได้

 


    ในด้านศาสนสถาน มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามขึ้นในเขตพระบรมมหาราชวัง เจริญรอยตามพระราชประเพณีสร้างพระอารามหลวงในเขตพระบรมมหาราชวังตามแบบกรุงศรีอยุธยา พร้อมทั้งสร้างหอพระไตรปิฎก พระราชทานนามว่า หอพระมณเฑียรธรรม ไว้เป็นสถานที่เก็บคัมภีร์พระไตรปิฎกของหลวง 

 

หอพระมณเฑียรธรรมเป็นหอสมุดพระพุทธศาสนาของหลวงหลังแรก แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 

 

    ในด้านพระธรรม มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สานต่องานรวบรวมคัดลอกคัมภีร์พระไตรปิฎกที่
พระเจ้าตากสินมหาราชทรงริเริ่มไว้แต่ครั้งกรุงธนบุรี แต่สิ้นรัชกาลก่อนที่คัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับหอหลวงจะเสร็จสมบูรณ์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงมาดำเนินการต่อ พระองค์มีพระราชวินิจฉัยว่า ข้อความในพระไตรปิฎกฉบับหลวงยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่มาก เนื่องจากคัดลอกจากต้นฉบับจากหัวเมืองน้อยใหญ่ที่ไม่ครบถ้วน พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทจึงทรงอาราธนาสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) และพระราชาคณะฐานานุกรมเปรียญจำนวน ๑๐๐ รูป มาสอบถาม ครั้นทรงสดับว่า พระไตรปิฎกที่มีอยู่ผิดเพี้ยนจริง และฝ่ายคณะสงฆ์ก็ประสงค์จะทำนุบำรุงให้สมบูรณ์ถูกต้อง แต่มีกำลังไม่พอจะกระทำให้สำเร็จได้ จึงทรงอาราธนาให้คณะสงฆ์จัดทำสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้น นับเป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๒ ของราชอาณาจักรไทย โดยมีพระสงฆ์ ๒๑๘ รูป ราชบัณฑิตยาจารย์ ๓๒ ท่าน มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน ทำการสังคายนา ณ วัดนิพพานาราม (วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร)
โดยนำคัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับหอหลวงมาตรวจสอบ ใช้เวลา ๕ เดือน จึงเสร็จสมบูรณ์

 

 

    ในบันทึกพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์   รัชกาลที่ ๑ บันทึกไว้ว่า ตลอดระยะเวลา ๕ เดือน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและพระอนุชาเสด็จไปพระอารามทุกวัน วันละ ๒ ครั้ง เวลาเช้าทรงประเคนสำรับอาหาร ส่วนเวลาเย็นทรงถวายน้ำอัฐบาน (น้ำผลไม้คั้น) และธูปเทียนทุกวัน แสดงให้เห็นพระอุตสาหะและพระราชจริยวัตรอันงดงาม ที่พระองค์ทรงทุ่มเทในฐานะที่เป็นองค์ศาสนูปถัมภกเพื่อสนับสนุนให้การกระทำสังคายนาครั้งนี้เสร็จสมบูรณ์ให้จงได้ เพื่อยังคำสอนอันบริสุทธิ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้คืนกลับมาสู่แผ่นดินไทย ดังพระราชดำรัสว่า…

 


“ ครั้งนี้ ขออาราธนาพระผู้เป็นเจ้าทั้งปวง จงมีอุตสาหะในฝ่ายพระพุทธจักรให้พระไตรปิฎกบริบูรณ์เกิดขึ้นจงได้ ฝ่ายข้างอาณาจักรที่จะเป็นศาสนูปถัมภกนั้น เป็นพนักงานโยม โยมจะสู้เสียสละชีวิตบูชาพระรัตนตรัย สุดแต่จะให้ปริยัติสมบูรณ์เป็นมูลที่ตั้งพระพุทธศาสนาจงได้ ”

 

    ครั้นเมื่อการสังคายนาเสร็จสมบูรณ์เมื่อกลางเดือน ๕ ปีระกา พ.ศ. ๒๓๓๒ ทรงสละพระราชทรัพย์จ้างช่างจารจารึกลงในใบลานด้วยอักษรขอม ปิดทองแท่งทับทั้งใบปกหน้าหลังและกรอบทั้งสิ้น ห่อด้วย   ผ้ายก เชือกรัดถักด้วยไหมแพรเบญจพรรณ มีฉลากงาแกะเขียนอักษรด้วยหมึก และฉลากทอเป็นตัวอักษร บอกชื่อพระคัมภีร์ทุกคัมภีร์ เรียกคัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับหลวงนี้ว่า ฉบับทองทึบ และเรียกฉบับหอหลวงว่า ฉบับสังคายนา หรือที่นิยมเรียกว่า ฉบับครูเดิม      ต่อมาพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลอื่นก็มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระไตรปิฎกฉบับทองทึบขึ้นอีก จึงเรียกฉบับเดิมที่สร้างสมัยรัชกาลที่ ๑ ว่า ฉบับทองใหญ่ ประดิษฐานในตู้ประดับมุก รักษาไว้ที่หอพระมณเฑียรธรรม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

 

คัมภีร์ใบลานฉบับทองใหญ่ ไม้ประกับทองทึบ
ฉลากทอ

 

ตู้พระไตรปิฎกประดับมุก สมัยรัชกาลที่ ๑

 

     ต่อมายังทรงสร้างพระไตรปิฎกขึ้นอีก ๒ ชุด เพื่อใช้ในการสอบพระปริยัติธรรมในกรมราชบัณฑิต เรียกว่า ฉบับรองทรงและฉบับทองชุบ นอกจากนี้เพื่อให้พระภิกษุสามเณรทั่วแว่นแคว้นมีพระไตรปิฎกฉบับถูกต้องสมบูรณ์ไว้เล่าเรียนศึกษา พระองค์จึงทรงสร้างพระไตรปิฎกพระราชทานทุกพระอารามหลวง และพระราชทานอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์สามารถยืมพระไตรปิฎกฉบับหลวงไปคัดลอกเองได้

 

คัมภีร์ใบลานฉบับรองทรง     คัมภีร์ใบลานฉบับทองชุบ

 

    นอกเหนือจากหน้าที่ปกป้องบ้านเมืองจากศัตรูผู้รุกรานในฐานะกษัตริย์ชาตินักรบ          พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงมีพระราชจริยวัตรที่งดงามเป็นต้นแบบแก่ พระมหากษัตริย์พระองค์อื่น ๆ ในรัชกาลต่อมา ทั้งงานสืบสานราชประเพณีด้านสถาปัตยกรรมทางศาสนา งานรวบรวมคัมภีร์พระไตรปิฎกต่อจากบูรพกษัตริย์ จารจารึกจัดเก็บอย่างประณีตงดงามทรงคุณค่า และงานสนันสนุนส่งเสริมพระภิกษุสามเณรให้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย     ส่งผลให้พระพุทธศาสนากลับมารุ่งเรืองทัดเทียมอาณาจักรไทยโบราณในกาลก่อน ยังขวัญและกำลังใจ   ให้เกิดแก่อาณาประชาราษฎร์ นับว่าพระองค์ทรงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่ควรแก่ การเคารพยกย่อง สมกับที่ปวงชนชาวไทยเฉลิมพระนามพระองค์ว่า “มหาราช”  

 

 

ก่องแก้ว วีระประจักษ์ และวิรัตน์ อุนนาทรวรางกูร. คัมภีร์ใบลานฉบับหลวงในสมัยรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : 
กรมศิลปากร, ๒๕๔๖.
ดินาร์ บุญธรรม. พระมหากษัตริย์ไทยกับพระพุทธศาสนา. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๕๕.
แน่งน้อย ศักดิ์ศรี, หม่อมราชวงศ์. สถาปัตยกรรมพระบรมมหาราชวัง. กรุงเทพฯ : สำนักราชเลขาธิการ, ๒๕๓๑.

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล