ฉบับที่ 46 สิงหาคม ปี 2549

บินข้ามฟ้าเพื่อมา..บวช บรรพชาสามเณรนานาชาติ

 
 
บทความพิเศษ : โดยมาตา

             เวลา เป็นสิ่งที่มีค่าอย่างยิ่ง แต่มนุษย์เราให้คุณค่าของเวลาไม่เท่ากัน และใช้เวลาให้หมดไปกับเรื่องราวที่แตกต่างกัน บางคนใช้เวลาอย่างฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่าย แต่บางคนก็ถนอมเวลาอันมีค่าไว้สำหรับทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น เพราะตระหนักถึงความสำคัญของเวลาว่า หากปล่อยให้ผ่านเลยไป ก็ไม่อาจเรียกคืนกลับมาได้ เปรียบเสมือนใบไม้แห้งที่ปลิวหลุดจากขั้วไปแล้ว ย่อมไม่อาจหวนคืนมาดังเดิม

              ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี้ มีกุลบุตรจำนวน ๕๗ คน ตั้งแต่อายุ ๗ ปี ถึง ๖๒ ปี จาก ๑๖ ประเทศ เดินทางไกลข้ามน้ำข้ามทะเลมาด้วยใจมุ่งมั่น เพื่อเปลี่ยนเวลาอันมีค่าของตนให้เป็นอริยทรัพย์ ด้วยการบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ สามเณรที่วัดพระธรรมกาย

              ไม่น่าเชื่อว่า หนึ่งในจำนวนนี้ มีสุภาพบุรุษตัวน้อยๆ อายุเพียง ๑๓ ปี คนหนึ่ง ชื่อ รัชนนท์ โพธิ์นาน (ปาล์มมี) เก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋า ออกเดินทางมาจากประเทศเบลเยี่ยมตามลำพัง เพราะอยากมาบวชเณร!!

              "ผมอยากบวชให้แม่" เขากล่าว "หลวงพ่อท่านให้โอกาส เราก็ถือโอกาสมาบวช ให้แม่ให้พ่อ...แม่ ก็อยากให้มาอบรมตัว เพราะว่ากำลังจะขึ้น ม. ๑ เผื่อจะได้ปรับตัวให้ดีหน่อย เวลาจะไปคบกับเพื่อนใหม่ๆ แม่อยากให้ปาล์มมีเป็นเด็กดี และเข้าใจเรื่องพระพุทธศาสนามากขึ้น"

              สาเหตุที่ตัดสินใจมาบวชที่วัดพระธรรมกายนั้น เขาบอกด้วยความเชื่อมั่นว่า "มาที่นี่ได้อบรมเยอะกว่า...ถ้าอยากเป็นสามเณรที่ดี ที่เก่ง ก็ต้องมาที่นี่..."

              เมื่อมาถึงวัด ปาล์มมีได้พบกับเพื่อนๆ ร่วมโครงการอีก ๑๒ คน ที่เดินทางมาจากประเทศ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ดูไบ ศรีลังกา และแคนาดา เพื่อนบางคนพูดภาษาไทยได้เพราะมีแม่เป็นคนไทย แต่บางคนก็พูดไม่ได้เลย เหตุผลที่พวกเขาเลือกมาบวชที่วัดพระธรรมกายมีหลายประการ เช่น อยากมาเห็นพระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยใกล้ๆ อยากบวชแก้วิบากกรรม รื้อผังจน อยากเอาบุญให้พ่อแม่ อยากศึกษาวิธีการนั่งสมาธิให้มากขึ้น ฯลฯ


              การบรรพชาอุปสมบทพระภิกษุสามเณรนานาชาติในปีนี้มีทั้งหมด ๓ รุ่น คือ รุ่นสามเณรนานาชาติ ๑๓ รูป รุ่นพระนานาชาติ ๔๔ รูป สองรุ่นนี้เดินทางมาจากต่างประเทศ มีทั้งคนไทย ลูกครึ่ง และชาวต่างชาติ อีกรุ่นหนึ่งเป็นสามเณรจากโรงเรียนนานาชาติ ๑๕ รูป

              ก่อนบรรพชา เด็กๆ ทุกคนจะต้องรักษา ศีล ๘ สวมชุดขาวและปลงผม ฝึกตัวอยู่ ๙ วันเพื่อเตรียมพร้อมที่จะเป็นสามเณรที่ดี มีจริยวัตรที่ งดงาม

              ปาล์มมีกับเพื่อนๆ เล่าว่า รุ่นของพวกเขามีกิจวัตรประจำวันดังนี้คือ

              "ตื่นตี ๕ นั่งสมาธิ ๒ นาที (ทำการบ้านของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ) ดื่มน้ำ ๑ กระบอก เก็บที่นอน แล้วไปล้างหน้า แปรงฟัน ตี ๕ ครึ่ง นั่งสมาธิ สวดมนต์ทำวัตรเช้า ฟังธรรม ๕-๑๐ นาที พักนิดหน่อย แล้วก็ทานข้าวเช้า ล้างจาน ๙ โมงฟังเทศน์ นั่งสมาธิ ๑๑ โมงทานข้าว ล้างจาน ช่วงบ่ายฟังธรรม นั่งสมาธิ ๔ โมงครึ่งซักผ้า ทำความสะอาด ทานปานะ ๑ ทุ่มฟังธรรม นั่งสมาธิ ดู DMC ประมาณ ๓ ทุ่มครึ่งก็จะออกไปแปรงฟัน เข้าห้องน้ำ ๔ ทุ่มสวดมนต์ก่อนนอน นั่งสมาธิ แผ่เมตตา แล้วก็ปิดไฟนอน"

              ในโครงการ ปาล์มมีและเพื่อนๆ ต้องฝึกทำอะไรหลายๆ อย่าง เช่น ซักผ้า ขัดวิมาน กวาดถูพื้น ล้างจาน หลายๆ คนไม่เคยทำงานพวกนี้มาก่อน แต่พวกเขาก็สนุก เพราะได้ทำร่วมกับเพื่อนๆ เป็นทีม เมื่อพูดถึงเรื่องการขัดวิมาน โชติกะเพื่อนร่วมรุ่นของปาล์มมีทำท่าหมุนมือไปมาให้ดูว่า "นี่แหละ...มือโปรขัดห้องน้ำ!"

              ปาล์มมีเล่าว่า "อยู่ที่นี่ต้องมีความอดทนสูง ต้องฟังพระพี่เลี้ยง พระอาจารย์ ทำตามใจตัวเองไม่ได้" นอกจากนี้เขาบอกว่ายังต้องอดทนกับความซนของเพื่อนร่วมรุ่นด้วย เช่น

              "บางคนแกล้งเจ็บขา ทำขากะเผลก จะได้ไม่ต้องทำงาน แต่พอเห็นกระรอกก็เผลอกระโดดขึ้นมา แล้วร้องว่า "เฮ้ย ดูสิ" ลืมเจ็บขาแล้ว เดินได้แล้ว"

              "เวลาพระพี่เลี้ยงให้เดิน ๑ แถวก็กลายเป็น ๓ แถว ให้เดิน ๒ แถวก็กลายเป็น ๕ แถว"

              ถึงแม้หลายๆ คนจะซนมาก อยู่นิ่งไม่ได้นาน แต่พวกเขาก็มีผลการปฏิบัติธรรมที่ดีขึ้นกันทุกคน เห็นดวงแก้ว เห็นองค์พระ มีความสุข และรักการนั่งสมาธิมากขึ้น นั่งได้นานขึ้น จากเดิม ๑๕ นาที ระยะหลังๆ นั่งได้นานถึง ๔๕ นาที

              วันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ปาล์มมีกับเพื่อนๆ ตื่นเต้นเป็นพิเศษ เพราะวันนี้พวกเขาจะได้ครองผ้ากาสาวพัสตร์ จะได้เอาบุญให้กับ โยมพ่อโยมแม่มากๆ สำหรับสามเณรปาล์มมี แม้โยมแม่โยมพ่อของท่านไม่ได้มาร่วมงานบวชครั้งนี้ แต่ท่านก็บอกว่า "จะเอาบุญไปฝากพ่อแม่ให้เยอะๆ"

              ช่วงที่เป็นสามเณร พวกท่านมีโอกาสออกบิณฑบาตด้วย ซึ่งให้ความรู้สึกที่แตกต่างไปจากที่เคยเอาของมาใส่บาตรพระ แต่ตอนนี้ได้มาบิณฑบาตเอง สามเณรเจมส์ (จากดูไบ) บอกว่า "คนที่มาใส่บาตรจะได้บุญกับสามเณรมาก เพราะสามเณรนั่งสมาธิเยอะ"

              สำหรับรุ่นโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งมีอายุเฉลี่ยมากกว่ารุ่นนี้ ก็มีกิจวัตรกิจกรรมที่คล้ายคลึงกัน แต่ปัญหาเรื่องความซนแบบเด็กๆ มีน้อยลง รุ่นนี้ ได้บวชนานกว่า อีกทั้งยังได้ไปปฏิบัติธรรมที่ สวนพนาวัฒน์ จ. เชียงใหม่ อีกด้วย สำหรับเรื่องการนั่งสมาธิ รุ่นนี้ก็มีผลการปฏิบัติธรรมที่ดีเช่นกัน

              เมื่อสิ้นสุดโครงการ สามเณรทุกรูปก็ต้อง ลาสิกขา และแยกย้ายกันไปตามวิถีทางของตน แต่ปาล์มมีและเพื่อนๆ รวมทั้งสามเณรจาก รุ่นโรงเรียนนานาชาติอีกหลายคนยืนยันว่า ถ้า พระเดชพระคุณหลวงพ่ออนุญาตให้มีโครงการ นี้อีก พวกเขาจะกลับมาบวช เพราะสิ่งที่ได้รับจากการบวชครั้งนี้เกินความคาดคิดของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการฝึกความอดทน ฝึกวินัย ฝึกมารยาท หรือฝึกการอยู่ร่วมกันเป็นทีม ที่สำคัญได้ฝึก นั่งสมาธิมากขึ้น เห็นคุณค่าของสมาธิมากขึ้น ว่ามีอานิสงส์ทำให้มีความสุข และทำให้ใจเย็นลงมาก แม้สิ้นสุดโครงการแล้วพวกเขาก็จะนำประสบการณ์ หลายๆ อย่างที่ได้รับจากการบวชครั้งนี้ไปใช้ ในการดำเนินชีวิต ดังที่ปาล์มมีพูดทิ้งท้ายไว้ว่า "จะเอาสมาธิไปใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะหลังจากนั่งสมาธิ อารมณ์จะดี ทุกอย่างจะดีขึ้น"

              ปิดเทอมปีนี้เป็นช่วงเวลาที่วิเศษที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของผู้เข้าอบรมสามเณรนานาชาติทั้งสองรุ่น เพราะทั้งพระอาจารย์ พระพี่เลี้ยง และตัวพวกเขาเองต่างก็ยอมรับว่า การบวชครั้งนี้พวกเขามีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีโอกาสรู้จักเพื่อนดีๆ อีกหลายคน ซึ่งการมาใช้ชีวิตร่วมกันในครั้งนี้ทำให้เกิดมิตรภาพอันอบอุ่น ปรารถนาที่จะสร้างบารมีเป็นทีมเดียวกันต่อไป

              พวกเขากลับบ้านไปโดยมีสัญญาสุภาพบุรุษ ๓ ข้อใส่ซองปิดผนึกไปมอบเป็นของขวัญให้แม่กับพ่อ สัญญานี้เป็นสัญญาว่าจะทำความดี ๓ อย่างเพื่อพ่อแม่ ถึงแม้เราจะไม่ทราบว่าในซองนั้นมีสัญญาอะไรบ้าง แต่เชื่อว่าต้องเป็นสุดยอดของสิ่งดีๆ ที่ลูกกลั่นกรองมาจากใจรักอันบริสุทธิ์เพื่อแม่และพ่อ

              ขอเป็นกำลังใจให้พวกเขาทำได้ดังที่สัญญาไว้ตลอดไป...


              พระธรรมทายาทนานาชาติรุ่นนี้บวชเมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ทั้งรุ่นมีพระภิกษุ ๔๔ รูป จาก ๑๑ ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมัน สวิตเซอร์แลนด์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ บาห์เรน เนปาล สาธารณรัฐประชาชนจีน และไต้หวัน

              พระภิกษุนานาชาติเคยรู้จักวัดพระธรรมกาย และรู้จัก พระเดชพระคุณหลวงพ่อมาบ้างแล้ว หลายรูปเคยดู DMC เคยไปนั่งสมาธิที่ศูนย์สาขา บางรูปมีเพื่อนฝูง ญาติมิตร แนะนำให้รู้จักวัด หรือมีภรรยาเป็นคนไทย หลายๆ รูปเคยนั่งสมาธิมาก่อนแล้ว และพบกับความสุขภายใน จึงปรารถนาที่จะเรียนรู้และเข้าใจเรื่องสมาธิให้มากขึ้น

              ทุกรูปมีหน้าที่การงานและภารกิจมากมายอยู่ในแดนไกล แต่สิ่งเหล่านี้ไม่เป็นอุปสรรค ต่อความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และความรักในการนั่งสมาธิ พวกท่านจึงบินตรงมาบวชที่วัดพระธรรมกาย

              กว่าแต่ละท่านจะได้สถานภาพพระภิกษุมาไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะนอกจากจะต้องฝึกตัวอย่างหนักประมาณ ๑๒ วัน เพื่อให้พร้อมที่จะเป็น พระภิกษุแล้ว ท่านยังต้องปรับตัวอีกหลายอย่าง ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ ผู้คน อาหาร ภาษา วัฒนธรรมและอื่นๆ แม้กระทั่งการนั่งกับพื้น และการคุกเข่าซึ่งเป็นเรื่องปกติของคนไทย ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยากสำหรับท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ไม่ใช่คนเอเชีย

              อย่างไรก็ตาม ภาพที่สาธุชนได้พบเห็นในวันบวช ก็คือ สมณะที่สงบ สง่างาม น่าเลื่อมใส ใครได้พบได้เห็นก็เกิดความศรัทธา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อท่านให้พรเป็นภาษาบาลี แม้สำเนียงจะไม่คุ้นหู แต่ก็ทรงอานุภาพสะกดผู้ฟังให้เกิดความปีติจนกระทั่งขนลุกชูชัน

              พระภิกษุรุ่นนี้มีโอกาสไปปฏิบัติธรรมที่ "สุขสันโดษ" จ. เชียงใหม่ ท่านมีความสุขในการนั่งสมาธิมาก มีความรู้สึกผ่อนคลาย โล่ง โปร่ง เบาสบาย สว่าง สงบ และมีประสบการณ์ภายในที่ดีขึ้นมาก

              การเดินทางมาบวชครั้งนี้ แต่ละรูปใช้เวลาทุกอนุวินาทีในชีวิตสมณะอย่างคุ้มค่า สมกับที่สละเวลาและภารกิจการงานมาบวชเพื่อมอบสิ่งดีๆ ให้เป็นรางวัลกับชีวิต

              ..ชีวิตของมนุษย์เปรียบเสมือนการเดินทางไกล แม้เราแต่ละคนอาจมีต้นทุน และปัจจัยในการเดินทางไม่เท่ากัน แต่ถ้าทุกวันเวลาที่ผ่านไป เราเลือกเก็บเกี่ยวแต่สิ่งดีๆ เราก็จะเป็นคนหนึ่ง ที่สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขตลอด เส้นทาง ทั้งในชาตินี้และในภพชาติเบื้องหน้า...

พระ Hoppensack David
ฉายา อาสโภ ประเทศ สวิตเซอร์แลนด์

อาตมาเคยไปปฏิบัติธรรม ที่บ้านกัลยาณมิตร ที่เมืองซูริคเป็นประจำ ประทับใจหลวงพ่อ ที่สอนให้คนทั้งโลก ทำความดี จึงตัดสินใจ มาบวชเพราะอยากศึกษา และเดินตามเส้นทาง คำสอนของหลวงพ่อ อยากเข้าถึงความสุขภายใน
พระ Karma Sherpa
ฉายา สุนนฺโท ประเทศ เนปาล

ประทับใจในมโนปณิธานของหลวงพ่อ และระบบ การจัดการที่ดีของวัดที่มีความเป็นสากล ที่สำคัญ คือ มีการนั่งสมาธิซึ่งเป็นจุดเด่นสำคัญ ที่ทำให้ตัดสินใจมาบวช
พระ Juerg Walter Leaderach
ฉายา โกวิโท ประเทศ สวิตเซอร์แลนด์

มาบวชครั้งนี้ได้เห็นภาพที่ชัดเจนของพระพุทธศาสนา ได้เข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรม ไม่เคยคิดว่าจะต้องฝึกฝน ตนเองอย่างยากลำบากขนาดนี้ แม้อาตมาจะเคยฝึกทหาร มาก่อนก็ตาม ประทับใจหลวงพ่อในทุกๆ เรื่อง โดยเฉพาะคำสอนที่สามารถ ตอบคำถามทุกเรื่องที่อาตมาประสบในชีวิตได
พระ Nicholas Edward Pascoe
ฉายา วิชิโต ประเทศ อังกฤษ  
    
การบวชเป็นโอกาสดี ที่จะได้ตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ ได้ฝึกตัวเองโดยเฉพาะเรื่องความอดทน อาตมาอยากพบกับความสุข ที่แท้จริง ก่อนบวชเคยคิดว่า พระคงมีความเป็นอยู่แบบง่ายๆ นั่งสมาธิอย่างเดียว ช่วงเย็นได้พักดูทีวีและมีเวลาว่างบ้าง แต่เมื่อบวชแล้วต้องฝึก เข้มงวดตลอดเวลายิ่งกว่าทหาร เพราะทหารยังมีเวลาหยุด 
พระ Neil (River) Alexander Thomson
ฉายา ภทฺทโก ประเทศ อังกฤษ 

เริ่มฝึกสมาธิมาตั้งแต่อายุ ๑๘ ปี แสวงหาวิธีการ และลองปฏิบัติมาแล้วหลายที่ จนถึงขั้นเป็นครูสอนสมาธิ และโยคะ เมื่อทดลองฝึกสมาธิกับ พระอาจารย์จากวัดพระธรรมกายแล้ว ก็รู้สึกว่า วิธีนี้ช่างเป็นวิธีที่ง่ายมาก และได้ผลดีด้วย จึงอยากให้โอกาสตัวเองได้ศึกษา และเรียนรู้ให้ถ่องแท้ทั้งคำสอน และวิธีปฏิบัติ เพื่อให้เข้าถึงความสุขภายใน

พระ Stanley Nelson Crosby
ฉายา สุทฺธาโภ ประเทศ บาห์เรน

คิดว่าจะได้มีโอกาสศึกษาวิธีการนั่งสมาธิ อยากค้นหาความสุขภายใน และอยากเข้าใจความเป็นมาเป็นไป ของชีวิตและเบื้องหลังความตาย โครงการนี้สอนเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องภาษา อาตมาตื้นตันใจในพิธีกรรมงานบวช ปลื้มปีติที่ได้ผ่านพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ อาตมาตัดสินใจรักษาศีล ๕ อย่างมั่นคงตลอดชีวิต ในอนาคตถ้ามีโอกาสก็อยากบวชตลอดชีวิต
พระเหอ เจีย หย่ง
ฉายา สุมโน ประเทศไต้หวัน

อาตมาอยากปฏิบัติธรรม ให้ลึกซึ้งกว่าเมื่อตอนเป็นฆราวาส ที่สำคัญที่สุดอยากพบ พระเดชพระคุณหลวงพ่อ จึงตั้งใจเดินทางมาบวชที่วัดพระธรรมกาย เมื่อบวชแล้วก็รู้สึกว่าพระเป็นผู้ยิ่งใหญ่ และการบวชเป็นเรื่องหนึ่งที่ลูกผู้ชายต้องทำ อยากกลับมาบวชสร้างบารมีไปตลอดชีวิต
พระ โจว คุน
ฉายา คุณธีโร ประเทศจีน

ประทับใจพระพุทธศาสนา ในเมืองไทยมาก คนที่นี่มีความเคารพ เลื่อมใส ศรัทธา ต่อพระรัตนตรัย ซึ่งภาพเช่นนี้หาไม่ได้ในประเทศจีน เมื่อก่อนคิดว่า ชีวิตนักบวชคงไม่ลำบาก แต่เมื่อมาบวชแล้ว จึงรู้ว่า การเป็นนักบวชนี้ไม่ง่ายเลย จึงทำให้เปลี่ยนแปลง ความรู้สึกที่มีต่อนักบวช ถ้าจัดการภารกิจทางโลกเรียบร้อยแล้ว ก็จะกลับมาบวชอีกครั้ง
 
   
บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล