ฉบับที่ ๑๕๔ เดือนสิงหาคม ๒๕๕๘

ตำรับยอดเลขา จากคัมภีร์ “จรรยาบ่าว” วิธีฝึกผู้นำในยุค ร.ศ. ๑๓๑ ตอนที่ ๒๐ จรรยาข้อที่ ๓๕

ตำ?รับยอดเลขา
เรื่อง : พระราชภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทัตตชีโว)

 

ตำรับยอดเลขา
จากคัมภีร์ “จรรยาบ่าว”
วิธีฝึกผู้นำในยุค ร.ศ. ๑๓๑

 

 

ตอนที่ ๒๐
จรรยาข้อที่ ๓๕

 

“ตำรับยอดเลขา” นำมาจากหนังสือ “จรรยาบ่าว” ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ ๗๕ ปีที่แล้ว โดยไม่ได้ระบุชื่อผู้เขียน เมื่อหลวงพ่อทัตตชีโวอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ท่านอยากให้ญาติโยมรู้เรื่องราวดี ๆ จึงเมตตานำมาเทศน์ให้ฟังเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ต่อมาพิมพ์รวมเล่มและตั้งชื่อใหม่ว่า “ตำรับยอดเลขา”โดยลำดับเนื้อความตามต้นฉบับเดิม และคัดลอกของเก่าไว้ให้ดูด้วย เพื่อรักษาศัพท์บางคำไว้ และเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้เขียน

 

๓๕
อย่าเป็นผู้มีความประมาท

 

เมื่อทำผิดพลาดแล้ว
ต้องรู้จักปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น
อย่าทำให้ผู้บังคับบัญชาหรือครูบาอาจารย์
ต้องหวานอมขมกลืนทนใช้เรา
เพราะยังหาใครมาแทนไม่ได้
มิฉะนั้นต่อไปภายหน้า
ท่านพบคนดีกว่าเรา ก็จะไม่ต้องการเราอีกต่อไป
เพราะเราได้ทำให้ท่านหนักใจมาตลอดการทำงาน
โดยไม่สำนึกรู้ตัว

 

๓๕. อย่าเป็นผู้มีความประมาท

 

   อย่าไว้ตัวว่าเข้าที่ไหนก็ได้ อยู่ที่ไหนก็ได้นั้นเลย แต่คำที่ว่าเข้าที่ไหนก็ได้นั้นจริงอยู่บ้าง เพราะเหตุใด ก็เพราะที่ว่าคนมีความสามารถแห่งการงานได้ดีมีน้อย ไม่สู้พอทันกับความเจริญแห่งสมัย เมื่อมีอย่างไร ท่านก็ใช้ขัดงานไปพลางก่อน เมื่อมีที่ดีกว่ามาอีกท่านก็ถ่ายถอนเปลี่ยนแปลงไป ใช่ท่านจะไม่รู้เท่าแห่งกาละเทศะเมื่อไรท่านเป็นนาย ท่านต้องรู้ได้ดี ๆ ว่า ใครมีความสามารถอย่างไร

 

   ความประพฤติชั่วดีอย่างไร มีเสียหายมาแล้วอย่างไร ท่านย่อมจะรู้สึก และบางทีท่านรับคนที่มีมลทินมัวหมองไว้บ้าง ก็บางทีท่านเห็นจะว่าเป็นแต่การเล็กน้อย ซึ่งไม่ปรากฏเปิดเผย ฤๅอย่างไม่ถึงอทินนาทาน ซึ่งเป็นการควรจะรังเกียจ แต่ถึงกระนั้นก็ดี เมื่อท่านได้พบหน้าเข้าครั้งใดแล้ว ก็อาจนึกถึงการที่มีมลทินได้เสมอ ๆ คงจะไม่เผลอไว้วางใจได้เป็นอันดี

 

   เพราะฉะนี้ พี่ทิตเอ๋ย อย่าถือว่าทำชั่วแล้วเป็นแล้วไป ฤๅนานไปก็ละลายหายมลทินเองนั้นเลย ให้เพื่อนฝูงคิดเสียว่าทำดีก็คงได้รับผลของความดีไม่เร็วก็ช้า ทำชั่วก็คงต้องรับผลของชั่วไม่เร็วก็ช้าเหมือนกันเสียอย่างนี้เถิด ที่จะตรงกันข้ามดำเป็นขาว ทำดีได้ชั่ว ทำชั่วได้ดีไม่มีเสียเลย ฤๅถ้าจะมีจะเป็นบ้าง กันก็แปลไม่ออกว่าจะเป็นด้วยอะไร ถึงจะพยายามลองแปลดูก็คงไม่เพราะ อย่าแปลเสียเลยดีกว่า เพราะไม่ควรจะถือมาเป็นหนทางปฏิบัติ

 

   จุดมุ่งหมายข้อนี้ได้เตือนเราว่า บางครั้งที่เราทำงานบกพร่อง ขาดความรับผิดชอบต่องานหรือบางครั้งถึงกับทำความชั่ว ก็ไม่เห็นเจ้านายว่ากล่าวแต่อย่างใด อย่าได้คิดว่าเจ้านายเขาไม่รู้หรือจับผิดเราไม่ได้ แต่ที่เขาไม่เอาเรื่องเรา เพราะเขายังหาคนที่ดีมาชดเชยแทนเราไม่ได้ เขาจึงจำเป็นต้องกัดฟันทนใช้เราไป วันใดวันหนึ่งเขาได้คนดีกว่าเรา วันนั้นเขาก็ไม่ต้องการเราอีกต่อไปเพราะฉะนั้น อย่าได้ประมาทหลงตัวเอง ใครที่ทำความผิดไว้ ไม่ว่ากับผู้บังคับบัญชาหรือครูอาจารย์ก็ดี ทำให้ท่านต้องหวานอมขมกลืนทนใช้เราไป เพราะยังหาใครมาแทนไม่ได้ ก็ขอให้เลิกเสียกลับมาแก้ไขตัวเอง มิฉะนั้นวันใดท่านได้พบคนที่ดีกว่าเรา ท่านก็ไม่ต้องการเราอีกต่อไป แต่ถ้าหากว่าเราผิดพลาดแล้วรู้จักแก้ไขจนกระทั่งดีขึ้นมาต่อ ไปภายหน้า แม้ท่านจะไปพบคนที่ดีเท่าเราหรือดีกว่า ท่านก็คงต้องยึดเราไว้ เพราะตอนนี้เราเป็นคนดีดังที่ท่านต้องการแล้ว

 

บทส่งท้าย

 

   จรรยาทั้ง ๓๕ ข้อ ก็จบลงแต่เพียงเท่านี้ เป็นหลักโดยสังเขปในการฝึกคนเพื่อให้ได้คนรู้ใจฝึกตัวเองให้เป็นคนที่รู้ใจเจ้านาย รวมทั้งฝึกตัวเองเพื่อจะเป็นเจ้านายในภายหน้า ซึ่งที่จริงแล้วยังมีรายละเอียดในเรื่องอื่นอีก ต้นเค้าเดิมจรรยาบ่าวทั้ง ๓๕ ข้อ เป็นเรื่องที่เขียนขึ้นเมื่อ ร.ศ. ๑๓๑ท่านผู้เขียนจบลงด้วยโคลงสี่สุภาพและร่ายซึ่งมีความหมายดังนี้ว่า

 

   เป็นคนควรจักรู้        รักษา ตัวพ่อ
เป็นยิ่งยอดวิทยา        เยี่ยมแท้
แต่การที่จักพา           ตนรอด นี้ฤๅ
มีเลศหลายหลากแม้   สรุปได้คติสาม

 

   (ร่าย) จักขยายความตามอรรถ เรื่องปฏิบัติทางชอบ กอบกิจเพื่อพาตน ลุลาภผลยศศักดิ์ เป็นเอกอรรคอุดม ทางปฐมคือสุจริตพร้อมกายจิตร์วจีทวาร มีประมาณสิบบท จงจำจดข้อความกายกรรมสามสิ่งอ้าง หนึ่งเว้นล้างชีวิต สัตว์ทุกชนิดทุกพรรค์ การโจรกรรม์ที่สอง ห้ามโลภปองลักทรัพย์ ทุกสิ่งสรรพสารพรรณกามฉันท์คำรบสาม ห้ามล่วงลามประเวณี กรรมส่วนวจีสี่ประการห้ามคำพาลผรุศวาท ปรามาศหยาบคาย อีกอุบายลวงล่อ ส่อให้เกิดกาลี แตกสามัคคีญาติมิตร์ กับคำประดิษฐ์เสกสรร ให้ขบขันเฮฮาโดยวาจาตลกคนอง และคำปองกล่าวเท็จ ศิริเสร็จสี่ประการ ส่วนมโนทวารมีสาม หนึ่งห้ามความเพ่งเล็ง เก็งให้สัตว์พินาศ โดยขาดจิตร์เมตตา โทปทาคือความ ผูกเวรตามล้างผลาญ ให้สัตว์พานทุกข์ภัย โดยน้ำใจพยาบาท ที่สามพลาดความคิด กลับเห็นผิดเป็นชอบแผกระบอบแบบบท พุทธพจน์ทรงภาสิต เป็นทิฏฐิมิจฉา ครบอัตรากรรมบถ กุศลทศประการ ทางทุติย์สาส์นศาสดา ตรัสโฆษนาความสัตย์ ว่าเป็นสวัสดิ์ล้ำเลิศ ประเสริฐยิ่งณโลกัย วาจาใดอันกล่าวความเป็นจริงตามเหตุรหัส เป็นคำสัตย์มั่นคง จะยืนยงยิ่งฟ้า ยิ่งหล้ายิ่งปถพี มิรู้มีกลับกลาย ทางตติย์ยังขยายกตัญญู เป็นเครื่องชูช่วยตน โดยยุบลแบ่งปัน มีสามมรรคาคง หนึ่งจำนงจิตร์ภักดิ์ จงรักษ์ชนร่วมชาติ ใครพลั้งพลาดช่วยผดุง เร่งบำรุงความสามัคคี อย่าให้มีฉันทา ผูกเวราอาฆาฏ นี่เป็นบาทบทปฐม สองอุดมจิตร์แผ้ว เว้นสอดแคล้วกินแหนง หมดความระแวงสงสัย ในพระไตรสรณคมซึ่งบรมศาสดา โปรดกรุณาสั่งสอน ให้สัตว์จรเจริญมรรค สมควรจักกระตัญญู เชิดชูและอุปถัมภ์ แนะนำผดุง ช่วยบำรุงศีลทาน อายุกาลแห่งสาสนา จึงจะถาวรดำรง ยืนยงชั่วกาลนาน ที่สามการรู้สึก รฦกถึงผู้มีพระคุณ ซึ่งการุณกอบเกื้อ โดยความเอื้ออุปการอาตม์มีปิตุมาตุ์เป็นอาทิ ประยูรญาติวงษา อันเสนหาอีกมิตร์สหายทวยเทพนิกายทั่วสากล ตามยุบลแบบฉบับ อีกควรนับกระตัญญูต่อพระครูอุปัชฌาจารย์ ขัติยมหาศาลและมูลนาย ควรถวายความนอบน้อม พร้อมทั้งกายวาจาจิตร์ โดยสุจริตตลอดกาล ความสำราญเจริญศรี จะเกิดมีแก่ตน โพยภัยผลความพิบัติ จะขจัดจากอาตม์ โดยอำนาจสัตย์สุจริต บริสุทธิ์จิตรกายวาจา อีกเดชาแห่งกระตัญญูจะเชิดชูชื่อเสียง สนั่นเพียงฟ้าคนอง เอนกชนปองสมัคสมาน ไมตรีการเจริญผล เป็นมงคลชั่วฟ้า ตลอดโลกจักอ้า โอษฐ์ซ้องสรรเสริญพ่อเอย

 

สรุป

 

ท่านผู้เขียนสรุปไว้ในโคลงสี่สุภาพและร่ายว่า หนทางปฏิบัติที่จะให้ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ต้องมีคติ ๓ ข้อดังนี้ คือ

 

๑. ต้องมีกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ อันประกอบด้วยความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ
๒. ต้องเป็นคนมีความซื่อสัตย์
๓. ต้องเป็นคนมีความกตัญญูกตเวที

 

คติข้อที่ ๑ กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ

 

กายกรรม ๓ คือ ความบริสุทธิ์ทางกาย ๓ ประการ ได้แก่
๑. เว้นจากการฆ่าสัตว์ทุกชนิด
๒. เว้นจากการลักทรัพย์
๓. เว้นจากการประพฤติผิดทางกาม

 

วจีกรรม ๔ คือ ความบริสุทธิ์ทางวาจา ๔ ประการ ได้แก่

๑. เว้นพูดคำหยาบ
๒. เว้นพูดปด
๓. เว้นพูดส่อเสียด
๔. เว้นพูดเพ้อเจ้อ

 

มโนกรรม ๓ คือ ความบริสุทธิ์ทางจิตใจ ๓ ประการ ได้แก่

๑. ไม่คิดร้ายต่อมนุษย์และสัตว์อื่น ไม่โลภอยากได้ของเขา
๒. ไม่คิดผูกเวรอาฆาตสัตว์ด้วยจิตใจพยาบาท
๓. ไม่คิดมิจฉาทิฐิ เห็นผิดเป็นชอบ

 

คติข้อที่ ๒ มีความซื่อสัตย์

เมื่อจะพูด พูดแต่ความจริง ไม่มีกลับไปกลับมา

 

คติข้อที่ ๓ มีความกตัญญูกตเวที คือ

๑. กตัญญูต่อชนร่วมชาติ มีน้ำใจเอื้อเฟื้อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สามัคคีต่อกัน ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง

๒. กตัญญูต่อพระรัตนตรัย ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่ามีพระคุณอเนกอนันต์เพียงใด เราจะตอบแทนคุณพระรัตนตรัยได้โดยการหมั่นให้ทาน ตั้งใจรักษาศีล และเจริญภาวนา เพื่อเป็นการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาให้เจริญสืบต่อไป

๓. กตัญญูต่อผู้มีพระคุณทุกท่าน นับตั้งแต่บิดา มารดา พระมหากษัตริย์และราชวงศ์ ครูบาอาจารย์ ญาติมิตร ผู้บังคับบัญชา รวมทั้งเทพยดาทั้งหลาย

 

   ผู้ใดมีความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ ทั้งยังมีความซื่อสัตย์และกตัญญูพร้อมบริบูรณ์เช่นนี้ จึงจะเป็นบ่าวหรือลูกน้องที่ดีได้ เมื่อถึงคราวจะเป็นเจ้านายก็เป็นเจ้านายที่ดี ถึงคราวที่จะมีลูกน้องก็จะได้ลูกน้องที่ดี รู้ใจ มิใช่เพียงเท่านี้ บุคคลที่มีความดีพร้อมดังกล่าว เมื่อจะมีคู่ครอง ก็จะได้คู่ครองที่รู้ใจ มีเพื่อนฝูง ก็ได้เพื่อนที่รู้ใจ มีลูกจะได้ลูกที่รู้ใจ เมื่อบุคคลรอบข้างล้วนแต่เป็นคนที่รู้ใจเรียกว่ามีสิ่งแวดล้อมที่ดีเป็นปฏิรูปเทส จะทำการงานใด ๆ ก็ประสบแต่ความสำเร็จตลอดไป

 

   จรรยาของผู้ที่มีหน้าที่รับใช้ใกล้ชิดเจ้านายทั้ง ๓๕ ข้อ ก็จบลงเพียงเท่านี้ ใครอยากเป็นยอดเลขาฯ เป็นคนสนิท สมุนเอก สมุนคู่ใจ อันจะเป็นบันไดสู่ความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงานอย่างมั่นคงแน่นอน หลวงพ่อว่าจรรยา ๓๕ ข้อนี้แหละ ใครทำตามได้ นอกจากจะสามารถไต่เต้าไปสู่ตำแหน่งหน้าที่การงานอันสูงส่งแล้ว ยังเป็นที่รักของทุกคนอีกด้วย

 

   ในที่สุดแห่งการบรรยายธรรมครั้งนี้ ขออำนาจบารมีธรรมทั้งหลาย จงประมวลรวมเข้าด้วยกันเป็นตบะ เป็นเดชะ เป็นพลวปัจจัยส่งเสริมดลบันดาล อภิบาลคุ้มครอง ปกป้องรักษา ให้ท่านผู้เป็นเจ้าของเรื่อง และทุกท่านที่มีส่วนแห่งการนำเรื่องนี้มาเทศน์ให้ฟัง พร้อมทั้งพวกเราทั้งหลายในที่นี้มีความสุขความเจริญ สามารถนำจรรยาทั้ง ๓๕ ประการ ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดีและสามารถปรับปรุงตนให้สมกับเป็นบ่าวรับใช้พระรัตนตรัยไปทุกภพทุกชาติ ตราบเท่าเข้าสู่พระนิพพานเทอญฯ

 

 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล