ฉบับที่ ๑๖๗ เดือนกันยายน ๒๕๕๙

หลวงพ่อตอบปัญหา : การสวดมนต์ให้พรของพระสงฆ์มีส่วน ช่วยสืบทอดพระพุทธศาสนาอย่างไร ?

หลวงพ่อตอบปัญหา
เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว

การสวดมนต์ให้พรของพระสงฆ์มีส่วน
ช่วยสืบทอดพระพุทธศาสนาอย่างไร ?

อยู่ในบุญ , วารสารอยู่ในบุญ , แม็กกาซีน , หนังสือธรรมะ , วัดพระธรรมกาย , คำสอนวัดพระธรรมกาย , อานิสงส์แห่งบุญ , ทบทวนบุญ , พระพุทธศาสนา , หลวงพ่อตอบปัญหา , พระราชภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทัตตชีโว)

ANSWER คำตอบ

    ชีวิตประกอบด้วยกายและใจ กายต้องสืบต่อด้วยอาหารอยู่ทุกวัน ใจก็สืบต่อด้วยการหล่อเลี้ยงด้วยธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกวันเช่นกัน ซึ่งพุทธบริษัท ๔ ต่างช่วยกันสืบต่อสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาอยู่ทุกวันด้วยข้าวปลาอาหาร

   เมื่อญาติโยมอุบาสก-อุบาสิกามาถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุ-สามเณรแล้ว พระภิกษุ-สามเณรจะได้สวดมนต์ให้พร

    การสวดมนต์ คือ การรักษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาไว้ ผู้ที่จะสวดจึงต้องทำความเข้าใจให้ถูกว่า มนต์ที่สวดไปนั้นแปลว่าอะไร จึงจะเกิดความซาบซึ้งในเนื้อหา และจะได้สวดมนต์อย่างเต็มเสียงด้วยความปลื้มใจว่า เรากำลังกล่าวถ้อยคำแห่งธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นการแสดงความเคารพต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่อพระธรรม และต่อพระสงฆ์ ด้วยวาจาอันบริสุทธิ์อย่างเต็มที่

    ถ้าผู้สวดมีใจสงบ ขณะที่กำลังสวดมนต์ก็นำใจไปตั้งอยู่ที่ศูนย์กลางกาย ทำใจนิ่ง ๆ อย่างนั้นใจผู้ฟังจะนิ่งตาม สงบตาม แม้ไม่เคยทำสมาธิ ใจก็จะสงบตามไปด้วย ความสงบใจขณะฟังเสียงให้พรนี้เอง จะทำให้ใจของญาติโยมจรดเข้าศูนย์กลางกายได้ง่ายตามเสียงสวดของพระ แม้ไม่ทราบคำแปล แต่ว่าเป็นเสียงที่เปล่งออกจากศูนย์กลางกาย ที่ทำให้ใจสงบ โยมก็ปลื้มใจ บุญก็เกิดขึ้นโดยง่ายอีกเหมือนกันทั้งที่ไม่ทราบคำแปล

     เรื่องนี้เคยมีตัวอย่างจริงเกิดขึ้นมาแล้วในต่างประเทศ เหมือนที่เราติดตามช่อง DMC แล้วก็มีจดหมายที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยของเรานำมาอ่านให้ฟังว่ามีชาวต่างชาติหลาย ๆ คน ที่ไม่รู้ภาษาไทย แต่ก็ชอบมานั่งฟัง DMC ทั้งที่ไม่รู้ภาษาไทยสักคำเดียว เขาบอกว่าฟังเสียงหลวงพ่อแล้วสบายใจ

  ถามว่าฟังภาษาไทยไม่ออกแล้วทำไมสบายใจ ก็เพราะเสียงของพระเดชพระคุณหลวงพ่อเปล่งออกมาจากศูนย์กลางกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะที่ท่านนำนั่งสมาธิ ท่านพูดในขณะกำลังนั่งหลับตาทำสมาธิ เสียงของท่านจึงออกมาจากศูนย์กลางกายที่ดิ่งลงไป ฉะนั้นผู้ฟังจะฟังออกหรือไม่ออก จะเข้าใจหรือไม่เข้าใจความหมายก็จะรู้สึกชื่นใจ เพราะว่ามีแรงดึงดูดชนิดหนึ่งออกมาจากในตัวเขา เป็นแรงดึงดูดให้ใจของเขาจรดที่ศูนย์กลางกายได้ง่าย

    จากหลักการเดียวกันนี้เอง เมื่อพระสงฆ์สวดมนต์ให้พร เสียงนั้นจึงเป็นเสียงสวดที่ออกมาจากศูนย์กลางกาย เลยน้อมนำให้ใจของผู้ฟังเข้ามาอยู่ในศูนย์กลางกายได้ง่ายโดยไม่รู้ตัว แล้วก็ทำให้เป็นสมาธิได้ง่าย

  แต่ละครั้งที่พระภิกษุให้พร ท่านกำลังกล่าวคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระภิกษุในฐานะที่เป็นลูกของพระพุทธองค์จึงต้องให้ความเคารพต่อสมเด็จพ่อ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และสิ่งที่จะสวดที่จะกล่าวออกมานั้นเป็นธรรมะที่กลั่นออกมาจากใจของพระองค์แล้ว พระองค์ทรงเห็นธรรมภายในที่ปราบกิเลสแลวก็ทรงใช้วาจาบริสุทธิ์เปล่งถึงธรรมบริสุทธิ์นั้น กล่าวถึงอานุภาพของธรรมภายในออกมาให้ชาวโลกฟัง

   พระองค์ทรงเป็นผู้เคารพในธรรม การกล่าววาจาแสดงธรรมของพระองค์จึงทรงเปล่งพระสุรเสียงออกมาจากใจที่เปี่ยมด้วยความเคารพในธรรมอย่างมหาศาล

   พระองค์ทรงเคารพในธรรมขนาดไหนทรงอุปมาไว้ว่า ราชสีห์จะตะปบช้างมาเป็นอาหารก็ตะปบด้วยความระมัดระวัง ต้องไม่พลาด ไม่ยอมให้ช้างหลุดไป ถ้าหลุดไปก็เสียศักดิ์ศรีของราชสีห์เลยทีเดียว เป็นที่เยาะเย้ยของสิงโต ของเสือทั้งหลาย เป็นที่เยาะเย้ยของสัตว์ที่กินเนื้อทั้งหลาย

    ราชสีห์แม้จะตะปบกระต่ายสักตัวหนึ่งมากินก็ต้องทำด้วยความระมัดระวัง กระต่ายตัวเล็ก ๆ มันจะมีเรี่ยวแรงอะไรมาต่อสู้กับราชสีห์ แต่กระต่ายเป็นสัตว์ที่ว่องไว ถ้าราชสีห์ตะปบกระต่ายแล้วหลุดไปได้ อย่าว่าแต่พวกเสือ พวกสิงโต จะหัวเราะเยาะเย้ยเอาเลย แม้แต่สุนัขหรือแมวก็หัวเราะกันฟันหัก โธ่เอ๊ย นี้หรือราชสีห์ที่ใคร ๆ กลัวนักกลัวหนา ขนาดกระต่ายตัวเล็ก ๆ ยังไม่มีปัญญาตะปบได้

   เพราะฉะนั้น ไม่ว่าราชสีห์จะตะปบช้างตะปบกระต่าย ต้องใช้ความระมัดระวังเท่ากันฉันใด พระองค์เองก็เหมือนกัน เวลาจะทรงเทศน์ให้ใครฟังก็ต้องทำด้วยความระมัดระวังไม่ว่าจะทรงเทศน์ให้พระราชามหากษัตริย์ฟัง ให้นักปราชญ์บัณฑิตฟัง หรือแม้แต่ให้เด็กน้อยฟัง พระองค์ก็ทรงเทศน์ด้วยความระมัดระวัง ไม่ต่างกับราชสีห์ที่ระมัดระวังทั้งในเวลาตะปบช้างและตะปบกระต่ายเท่า ๆ กัน

    อุปมานี้แสดงว่า พระองค์ทรงให้ความเคารพในธรรมอย่างมาก ในเมื่อพระองค์ทรงเป็นผู้ตรัสรู้ธรรมเองยังทรงให้ความเคารพในธรรมปานนั้น พระภิกษุผู้เป็นลูกของพระองค์เป็นผู้สวดสาธยายธรรมของพระองค์ จึงสวดแบบมักง่ายไม่ได้ มิฉะนั้นจะไม่สมกับเป็นลูกของพระองค์

    ในพระพุทธศาสนานี้ พระภิกษุฉันข้าวจากศรัทธาที่เกิดจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สบง จีวร ผ้าผ่อนทั้งหลายที่นุ่งที่ห่ม แท้ที่จริงก็ได้มาจากความศรัทธาที่ประชาชนมีต่อพระองค์เขาจึงถวายผ้าไตรให้ ถวายข้าวปลาอาหารให้ถวายกุฏิศาลาให้เป็นที่อยู่อาศัย ถึงคราวป่วยคราวไข้ก็ถวายหยูกยามาแก้ไขกันไป ญาติโยมถวายให้พระภิกษุเพราะความเคารพศรัทธาในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มิฉะนั้นเขาไม่มีทางให้อย่างเด็ดขาด

   พระภิกษุอาศัยข้าวปลาอาหารจากญาติโยม และญาติโยมที่มาถวายก็มีทั้งคนจนคนรวย คนรวยมีเหลือกินเหลือใช้ แต่ข้าวปลาอาหารแต่ละช้อน แต่ละทัพพี ที่คนจนตักมาถวาย มันเหมือนบีบออกมาจากปากตัวเอง ออกมาจากปากลูกปากหลานของเขาเลย เพราะฉะนั้นพระจึงต้องเคารพในไทยธรรม เคารพในจิตใจที่เลื่อมใสต่อพระรัตนตรัยของญาติโยมให้ดี

    เหตุนี้ แม้จะสวดมนต์บทไหนก็ตามจะให้พรบทไหนก็ตาม พระจึงต้องระมัดระวังจะได้ไม่ฉันข้าวแล้วเป็นหนี้โยม ต้องให้ความเคารพต่อพระรัตนตรัย และให้ความเคารพต่อความเลื่อมใสศรัทธาที่โยมมีต่อพระรัตนตรัยด้วย

   เพราะฉะนั้น เวลาจะสวดมนต์จะให้พรแต่ละที พระจะต้องเตรียมความพร้อมให้ดีเตรียมความพร้อมให้พร้อมทั้งกาย วาจา ใจที่แสดงออกถึงความเคารพในธรรมอย่างชัดเจน

     พระท่านเตรียมพร้อมทั้งกาย วาจา ใจกันอย่างไร ก็ตั้งแต่เมื่อจะมารับถวายภัตตาหารจากญาติโยม จะมาฉันก็นุ่งห่มให้เรียบร้อยครองผ้าสบง จีวร สังฆาฏิ พาดให้เรียบร้อยเป็นการให้ความเคารพในศรัทธาของญาติโยมเคารพในไทยธรรมของญาติโยมที่ตั้งใจนำมาสั่งสมบุญ แล้วก็เป็นการตอบรับความเลื่อมใสศรัทธาที่ท่านมีต่อพระรัตนตรัยด้วย และต่อพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายด้วย

  การมาฉันของพระก็เลยต้องนุ่งห่มให้เรียบร้อย เป็นการแสดงความเคารพต่อความศรัทธา ต่อจิตใจของญาติโยม ต่อพระรัตนตรัยด้วย

   เคารพด้วยกายโดยขบฉันด้วยความเรียบร้อย ไม่มูมมาม มีมารยาท ไม่ตามใจปากตามใจท้องจนเกินไป รักษามารยาทในการขบฉันนี้เป็นความเคารพในธรรมที่พระมีด้วยกาย

   เคารพโดยวาจาด้วยการให้พรเป็นภาษาไทย ภาษาบาลี เพื่อรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีในพระพุทธศาสนาเอาไว้

    ขณะสวดให้พรก็ต้องให้ด้วยความระมัดระวัง สวดถูกอักขระ ไม่ว่าจะเป็นสระเสียงสั้นเสียงยาว คำเป็นคำตาย คำสังโยคไม่สังโยค ก็สวดด้วยความระมัดระวัง เพราะเป็นการแสดงความเคารพด้วยวาจา อักขระชัดเจน ร ล ควบกล้ำชัดเจน จังหวะจะโคนก็จะต้องชัดเจน แล้วก็ต้องสวดเต็มเสียงด้วยสวดแบบเต็มใจสวด เปล่งออกมาจากศูนย์กลางกาย เป็นการแสดงความเคารพต่อพระรัตนตรัยเคารพในศรัทธา ในไทยธรรม ที่โยมถวายดีแล้วด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจของท่าน ขณะที่ให้พร ท่านก็ตั้งใจอย่างดี ท่านรู้ว่าเรี่ยวแรงที่เกิดจากข้าวปลาอาหารของญาติโยมวันนี้ ท่านจะเอาไปใช้ในการศึกษาธรรมะบ้าง เอาไปใช้ในงานเกี่ยวกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาบ้างเอาไปใช้เป็นเรี่ยวแรงในการรักษาวัดบ้างเรี่ยวแรงที่เกิดขึ้นเพื่อเป็นบุญเป็นกุศลทั้งสิ้นเป็นบุญเป็นกุศลมากเท่าไรก็เป็นอายุของพระศาสนาด้วย เป็นความปลื้มอกปลื้มใจของพระด้วย เป็นการสั่งสมบุญบารมีของท่านด้วย

   เมื่อยังเป็นพระภิกษุธรรมดา เป็นสามเณรธรรมดา ยังไม่ได้บรรลุธรรมกัน ต้องทำอย่างไรจะให้ญาติโยมที่อุตส่าห์มาจัดภัตตาหารถวายได้บุญเยอะ ๆ พระท่านจึงรำลึกถึงพระพุทธพระธรรม พระสงฆ์ อาราธนาบารมีธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ของพระอรหันต์ ที่ปรากฏอยู่ด้วยธรรมกายในอายตนนิพพาน บารมีธรรมของพระเดชพระคุณหลวงปู่ ของคุณครูไม่ใหญ่ของคุณยายอาจารย์ฯ เพราะถึงแม้ท่านยังไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า แต่ท่านก็เข้าถึงธรรมภายในจึงสอนวิชชาธรรมกายให้แก่เรา พระภิกษุก็อาราธนาบารมีธรรมของตัวท่าน ซึ่งแม้ยังอ่อนอยู่ แต่ท่านก็ตั้งใจสร้างให้แก่กล้า รวม ๆ กันเข้าแล้วให้บารมีธรรมเหล่านั้นย้อนมาคุ้มครองโยมที่อุตส่าห์เสียสละเดินทางมาถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย บางท่านก็นาน ๆ มาครั้ง บางท่านก็มาทุกวัน ซึ่งไม่ว่ามาทุกวันหรือนาน ๆ ครั้งก็ตาม บุญที่ทำล้วนมีผลใหญ่ทั้งนั้น

    ญาติโยมทั้งหลายเหล่านั้นเห็นคุณความดีของพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายว่าตั้งใจจริงในการฝึกตัวตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเช้าขึ้นมา แม้จะอยู่ไกลจากวัดก็มีความตั้งใจเตรียมตัวมาอย่างดี มาสั่งสมบุญตั้งแต่เช้า มาตักบาตร มาถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ก่อน เมื่อพระและโยมต่างเคารพในธรรมของกันและกันอย่างนี้ โลกจึงจะอยู่ได้อย่างสงบร่มเย็น

   เมื่อพระให้พรออกมาจากศูนย์กลางกายญาติโยมได้สดับฟัง ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้จักศูนย์กลางกายหรอกว่าเป็นอย่างไร แต่ฟังแล้วชื่นใจ ปลื้มใจยังตราตรึงอยู่ในใจ ความปลื้มใจ ความชื่นใจนี้แม้วันหลังตามระลึกนึกถึงคราใดใจใสใจปลื้มบุญก็ตามส่งผล ตรงนี้เกิดประโยชน์ทั้งโยมเกิดประโยชน์ทั้งพระ โยมก็ปลื้มใจที่ได้ฟังพระก็ปลื้มใจว่าทำหน้าที่ของพระได้บริบูรณ์พระพุทธศาสนาก็มีอายุยืนยาวโดยศรัทธาของชาวพุทธที่มีความเคารพในธรรมทั้งกาย วาจาใจ อยู่ทุกอิริยาบถ

    พุทธบริษัททั้ง ๔ จึงสามารถช่วยกันทำหน้าที่สืบทอดอายุพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวออกไปในแต่ละวัน ๆ อย่างนี้ สั่งสมบุญให้แก่ตนเองและหมู่คณะกันทุกวันอย่างนี้ ประเพณีการทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหาร และพระภิกษุสงฆ์สวดมนต์ให้พร จึงเป็นประเพณีสืบทอดกันมาเป็นมรดกแก่ลูกหลานชาวพุทธต่อไป โดยอาศัยอำนาจแห่งความเคารพในธรรมด้วยกาย วาจา ใจ ของพุทธบริษัท ๔นั่นเอง

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล