ฉบับที่ ๑๘๙ เดือนกันยายน ๒๕๖๑

หลวงพ่อตอบปัญหา : ข้อควรระวังในการทำงานเป็นทีมคืออะไร ?

หลวงพ่อตอบปัญหา
เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว

 

หลวงพ่อตอบปัญหา

           คำถาม : ข้อควรระวังในการทำงานเป็นทีมคืออะไร ?

        หลวงพ่อทัตตชีโว : การที่องค์กรใด ๆ ในโลกนี้จะทำงานให้ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ขององค์กรที่ตั้งไว้ ต่างต้องอาศัยการทำงานร่วมกันเป็นทีม องค์กรที่สมาชิกในทีมทำงานร่วมกันได้ดี ดำเนินงานอย่างสร้างสรรค์ สมาชิกในทีมมีขวัญและกำลังใจดี องค์กรนั้นไม่ว่าจะเป็นองค์กรเพื่อการศึกษา เพื่อเยาวชน เพื่อศาสนา เพื่อสังคม เพื่อเศรษฐกิจหรือด้านใด ๆ ก็ตาม ก็จะมีความเจริญและดำรงอยู่ได้นาน ประเทศใดที่มีองค์กรเหล่านี้มาก ก็จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนทำความเจริญให้แก่ประเทศชาติบ้านเมืองได้มาก

          การทำงานร่วมกันเป็นทีมทำให้เกิดศักยภาพ เพราะเป็นการรวมกำลังคน กำลังความคิดสติปัญญา และทรัพยากรต่าง ๆ มาทำงานร่วมกัน ภายใต้ระบบการทำงานที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ การทำงานเป็นทีมมีหัวใจสำคัญ คือ การประชุมปรึกษาหารือ ช่วยกันคิด และผลักดันสิ่งที่คิดนั้นออกไปสู่การทำงานจริง เมื่อปฏิบัติงานไปแล้ว ก็ร่วมกันประเมินผลและปรับปรุงแก้ไขความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการทำงาน เพื่อให้เกิดการแก้ไขขจัดปัญหาอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นในการทำงานครั้งต่อ ๆ ไป

          การประชุมปรึกษาหารือกันจึงต้องการสมาชิกในทีมที่มีจิตสำนึกและความรู้สึกเป็นเจ้าของทีม  ใส่ใจที่จะติดตามพัฒนางานและกล้าแสดงความคิดเห็นต่อการทำงานของทีม มีใจกว้างรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เมื่อมีการขัดแย้งในเรื่องความคิดเห็น ก็รับมือได้ในทางที่สร้างสรรค์และพยุงทีมให้ดำเนินงานต่อไปได้

          ยังมีสิ่งสำคัญที่เป็นข้อควรระวังในการทำงานเป็นทีม ซึ่งมีผลต่อความก้าวหน้าของทีมอย่างมาก  หรือในทางตรงกันข้ามก็อาจทำให้ประสิทธิภาพของทีมหยุดชะงักได้ นั่นคือเรื่องคำพูดของเพื่อนร่วมทีมเกี่ยวกับการติหรือตำหนิผู้อื่น

            ขอฝากให้คิดกันสักนิดถึงความแตกต่างระหว่าง “ติเพื่อก่อ” กับ “ติเตียน” คำเหล่านี้ล้วนเป็นสำนวนไทยที่เราได้ยินกันมานานแล้ว

           คำว่า “ติ” หรือตำหนิ ใช้เมื่อเป็นการว่ากล่าวชี้ข้อบกพร่องของสมาชิกในทีม เมื่อเห็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นแล้วต้องกล้าติ ชี้บอกข้อบกพร่อง เพื่อให้มีการแก้ไขปรับปรุง แต่การตินี้จำเป็นต้องศึกษาให้ดี ถ้าไม่ศึกษาและทำให้ถูกต้องแล้ว จะกลายเป็น “ติเตียน” ซึ่งมีผลร้ายเกิดขึ้น

         ผลร้ายลักษณะที่ ๑ คือ จะทำให้มีเรื่องให้ติหรือวิจารณ์อยู่ร่ำไป ติไม่เป็น ก็จะติเสียจนเตียนคือติจนเขาไม่เหลือความดีให้นึกถึง ติจนกระทั่งแม้เขาเคยทำคุณความดีไว้ไม่น้อย แต่เวลาติจะยกเอาแต่ความผิดพลาดขึ้นมาติ ความดีไม่ยกขึ้นมา นี้คืออันตรายจากการติไม่เป็น ร้ายยิ่งกว่านั้นคือติดนิสัยช่างติ ติจนเลยเถิดไปถึงผู้มีพระคุณ ครูบาอาจารย์ คุณพ่อ คุณแม่ พระอุปัชฌาย์ ติจนกระทั่งในโลกนี้ไม่มีใครดี นอกจากตัวคนติ

           ผลร้ายลักษณะที่ ๒ คือ ติแล้วไม่บอกทางแก้ไขให้ด้วย นี้เป็นการติเพื่อทำลาย

           ส่วนการติเพื่อสร้างสรรค์นั้นมีสำนวนเรียกว่า “ติเพื่อก่อ” ติเพื่อก่อนั้นมีวิธีการติ ดังนี้

           ๑. ชมก่อนติ ต้องยอมรับในความดีที่คนอื่นเขาทำ ที่คนอื่นเขามีก่อน เพื่อให้เกิดการยอมรับและไว้ใจต่อกัน ว่าต่างฝ่ายต่างมีความปรารถนาดีต่อกันจริง ๆ

           ๒. ติโดยแสดงข้อที่ผิดพลาดหรือข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข โดยมีเจตนาจะช่วยแก้ไข และเสนอวิธีแก้ไขในเรื่องนั้น ๆ ในความคิดเห็นของตนว่าควรจะทำอย่างไร

           ๓. ในการเสนอวิธีการแก้ไขข้อบกพร่อง ความผิดพลาดต่าง ๆ นั้น ก็เป็นไปได้ที่จะมีคนอื่นเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ผู้ที่ติก่อนควรเปิดใจยอมรับให้ผู้อื่นติตนเองด้วย แม้ว่าเรื่องที่ตินั้นยังเป็นเพียงข้อเสนอ ยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติก็ตาม

           ๔. รับฟังข้อเสนอแนะของผู้ที่ติคนต่อไป หากข้อเสนอแนะใหม่เป็นสิ่งที่ดี ก็เปิดใจยอมรับแล้วมาช่วยกันลงมือทำให้เป็นจริงขึ้นมา

         หากองค์กรใดก็ตามมีทีมงานที่ร่วมกันคิดเพื่อสร้างสรรค์ และเปิดใจยอมรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกันเช่นนี้ การติก็จะเป็นเครื่องมือที่นำมาใช้พัฒนาปรับปรุงการทำงานเป็นทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ องค์กรนั้นก็จะมีแต่ความมั่นคงและเจริญรุดหน้า สมาชิกในทีมงานก็มีขวัญและกำลังใจที่ดี แต่ละคนจะมีความกล้าที่จะแนะนำซึ่งกันและกัน ทำให้แต่ละคนต่างมีความเจริญก้าวหน้าและเป็นทีมที่น่าสนใจ มีแรงดึงดูดให้สมาชิกใหม่อยากมาร่วมทีมมากขึ้น การดำเนินการใด ๆ ของทีมนั้น ก็จะประสบกับความสำเร็จได้โดยง่าย ยิ่งเป็นองค์กรเพื่อสาธารณกุศลก็จะยิ่งเป็นคุณแก่ประเทศชาติบ้านเมืองยิ่งขึ้น

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล