ฉบับที่ ๒๐๐ เดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๒

นาคหลวง ปีพุทธศักราช ๒๕๖๒

กราบมุทิตา
เรื่อง : กองบรรณาธิการ

นาคหลวง
ปีพุทธศักราช ๒๕๖๒

      พระราชพิธีทรงผนวชของพระบรมวงศานุวงศ์และพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุปสมบทนาคหลวงนั้น เป็นสิ่งที่มีมาแต่โบราณกาล เป็นการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในเทศกาลเข้าพรรษาของพระมหากษัตริย์ในฐานะทรงเป็นพุทธมามกะ สำหรับปีนี้ เมื่อวันอังคารที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ เวลา ๑๗.๑๔ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี เสด็จแทนพระองค์ไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุปสมบทนาคหลวง ผู้สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค จำนวน ๕ รูป ดังนี้

 

๑. สามเณรวันมงคล ดีเลิศ วัดโมลีโลกยาราม ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร
๒. สามเณรนิติทัศน์ ศิริวัง วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร
๓. สามเณรภาสกร ชาลาธราวัฒน์ วัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี
๔. สามเณรอาทิตย์ เขียวสองห้อง วัดอุทุมพรทาราม จังหวัดราชบุรี
๕. สามเณรฐิติวัฒน์ วันมหาชัย วัดจองคำ จังหวัดลำปาง

 

    หลังจากพระราชพิธีที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเสร็จสิ้นลงแล้ว วัดพระธรรมกายได้จัดพิธีมุทิตาสักการะ พระมหาภาสกร ธมฺมวทญฺญู เปรียญธรรม ๙ ประโยค พระภิกษุนาคหลวง รูปที่ ๗ ของวัดพระธรรมกาย ณ อุโบสถวัดพระธรรมกาย ในเวลา ๒๐.๐๐ น. ของวันเดียวกัน โดยได้รับความเมตตาจากพระเดชพระคุณพระเทพรัตนสุธี เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานสงฆ์ พร้อมด้วย พระเดชพระคุณพระราชกิตติเมธี รองเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี และเจ้าคณะพระสังฆาธิการ พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ในจังหวัดปทุมธานี มาร่วมเจริญพุทธมนต์ในครั้งนี้ และยังได้รับเกียรติจาก ดร.วิระศักดิ์ ฮาดดา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองสาม มาเป็นประธานฝ่ายฆราวาส นอกจากนี้ภายในงานยังมีคณะสงฆ์ อุบาสก อุบาสิกา และญาติโยมร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก

      ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา วัดพระธรรมกายมีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาของคณะสงฆ์มาอย่างตลอดต่อเนื่อง โดยได้จัดต้ังสำนักเรียนวัดพระธรรมกาย เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๒๘ มีพระภิกษุผู้สอบผ่านบาลีสนามหลวงเป็นเปรียญธรรม ๙ ประโยค รวม ๘๒ รูป และเป็นวัดที่มีเปรียญธรรม ๙ ประโยค มากที่สุดในประเทศไทย

 

บนเส้นทางนาคหลวง

       ใครเล่าจะคิดว่าจากเด็กน้อยธรรมดาคนหนึ่งที่มาวัดตามคุณแม่ในทุก ๆ วันอาทิตย์ จะได้มาใช้ชีวิตในเส้นทางสายพิเศษและได้ยืนอยู่บนจุดอันทรงเกียรติ ที่หลายคนมุ่งมาดปรารถนา แต่น้อยคนนักที่จะก้าวไปถึง

      อาตมา (พระมหาภาสกร ธมฺมวทญฺญู) เติบโตมาในครอบครัวที่มีฐานะปานกลาง ไม่ได้ลำบากยากแค้น เล่าเรียนศึกษาไปตามระบบ โดยที่ในใจนั้นไม่ได้มีเป้าหมายอะไรที่จริงจังในชีวิต บางครั้งก็เล่นเกม ไปเที่ยวห้างสรรพสินค้าหรือเรียนพิเศษ ใช้ชีวิตอย่างปกติตามประสาเด็กในกรุงเทพฯ แต่แล้ววันหนึ่งชีวิตในวัยเด็กของอาตมาก็ค่อย ๆ เปลี่ยนไปทีละน้อย เริ่มจากในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ โยมแม่ของอาตมาได้เข้ามาทำบุญที่วัดพระธรรมกายและชวนอาตมาตามมาด้วย น่าแปลกที่ในขณะนั้นอาตมาซึ่งยังเป็นเด็กกลับชอบบรรยากาศในการสั่งสมบุญของชาววัดพระธรรมกาย จึงเริ่มตามโยมแม่มาวัด จากแค่อาทิตย์ต้นเดือนก็เริ่มขยับมาเป็นทุกวันอาทิตย์

       จนเวลาผ่านไป ๑ ปี อาตมาได้เข้ามาเป็นอาสาสมัคร ได้ต้อนรับหลวงพ่อ ทั้งเช้าและบ่าย ทุก ๆ ครั้งที่ได้ต้อนรับท่าน ท่านจะถามเสมอว่า “ใครจะบวชตลอดชีวิตบ้าง” คำถามนี้เป็นแรงบันดาลใจให้อาตมามีความคิดที่จะบวชเรียน วันเวลาผ่านไปแต่ละปี ทุกครั้งที่ได้ฟังคำถามของท่าน เป้าหมายที่จะบวชเรียนนั้นชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดเมื่ออาตมาเรียนจบชั้น ป.๖ จึงตัดสินใจที่จะบวชเรียนที่วัดพระธรรมกาย

       เมื่อได้มาเป็นสามเณรวัดพระธรรมกาย ได้มาฝึกฝนอบรมตนเองใต้ร่มบารมีธรรมของหลวงพ่อ สามเณรทุก ๆ รูปจะได้รับการปลูกฝังเป้าหมายในการศึกษาว่าต้องจบเปรียญธรรม ๙ ประโยค หรือเป็นนาคหลวงให้ได้ หรือแม้ในเวลาที่ได้พบหลวงพ่อ ท่านก็มักจะบอกกับลูกเณรว่า “๓ ป. (ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ) นะลูกนะ” ทำให้อาตมามีฉันทะในการศึกษา มีเป้าหมายอยากจะคว้าประโยค ๙ มาให้ได้ แต่ก็ไม่คิดถึงขั้นเป็นนาคหลวงแม้อายุจะทันก็ตาม


       หลังจากที่สอบไล่ได้นักธรรมตรีแล้ว อาตมาก็เริ่มท่องบาลีไวยากรณ์ที่หนาเกือบ ๓๐๐ หน้า และเรียนบาลี หัดแปล หัดเดินประโยค และตั้งใจดูหนังสืออย่างตลอดต่อเนื่อง จนเมื่ออาตมาสอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค และได้เข้ารับพระของขวัญอันเป็นเครื่องมุทิตาจากหลวงพ่อ ท่านก็ถามว่า “ทันนาคหลวงไหมจ๊ะ” อาตมาตอบท่านว่า “ทันครับ” ท่านตอบกลับมาว่า “เอาให้ได้นะลูกนะ”

       นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา เป้าหมายที่จะเป็นนาคหลวงจึงแจ่มชัด เป็นหลักชัยในการพากเพียรเล่าเรียนพระบาลี เมื่อเหนื่อยหรือท้อ ก็จะมีคำพูดนี้เป็นดุจยาชูกำลังให้กลับมามีแรงอีกครั้ง

      ตลอดระยะเวลาในการศึกษานั้น อาตมาใช้ทั้งปัญญา ความเพียร และกำลังบุญ ทั้ง ๓ อย่างไม่ยิ่งไม่หย่อนกว่ากัน จนเวลาผ่านมาเรื่อย ๆ รู้ตัวอีกทีก็เรียนประโยค ๙ แล้ว เป้าหมายที่ตั้งไว้นั้นอยู่แค่เอื้อม แต่บันไดขั้นสุดท้ายนั้นนับว่าโหดเอาการ ต้องใช้ปัญญาและไหวพริบในการแต่งประโยคภาษาไทยเป็นบาลี ในด้านความเพียรในการดูหนังสือนั้น ก็ต้องมากกว่าปกติ โดยเฉพาะช่วงพรรษาที่ต้องเดินทางไปเรียนที่โรงเรียนคณะสงฆ์ส่วนกลาง แล้วก็ต้องกลับมาแปลหนังสือตามเป้าที่ตั้งไว้ในแต่ละวัน บุญก็ต้องหมั่นสั่งสม สวดมนต์ทำวัตร หรือหาบุญพิเศษทำ แล้วก็อธิษฐานตอกย้ำเป้าหมายทุกครั้งทั้งก่อนสอบและหลังสอบ


       ในวันประกาศผลสอบ เมื่อเสียงกรรมการประกาศชื่อ “สามเณรภาสกร ชาลาธราวัฒน์ วัดพระธรรมกาย” ดังขึ้น อาตมารู้สึกปลื้มปีติ ไม่ใช่แค่เพราะตัวเองสอบผ่านหรือจะได้ปลดกังวลทางการศึกษา (บาลีว่า คันถปลิโพธ) เสียที แต่สิ่งที่ปลื้มใจกว่านั้นก็คือ การได้นำชัยชนะ เกียรติยศ มาสู่หลวงพ่อและวัดพระธรรมกาย โดยเฉพาะในห้วงเวลานี้ คนทั้งหลายจะได้รู้ว่าวัดของเรานั้นมิได้สอนผิดแต่อย่างใด

        ในวันนี้แม้เป้าหมายแห่งการศึกษาบาลีมาถึงจุดสิ้นสุด อาตมาได้จบประโยค ๙ ตามที่วาดฝันไว้ และได้รับพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ให้อุปสมบทเป็นนาคหลวงแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นเหมือนการเริ่มเดินทางไปสู่เส้นทางสายใหม่ที่กว้างไกลกว่าเดิม ต้องใช้ทั้งกำลังสติปัญญาและความสามารถที่มีตอบแทนพระพุทธศาสนา หลวงพ่อ วัดพระธรรมกาย ที่ให้ร่มเงามาตลอด ๙ ปี ในชีวิตสมณะ แม้อาตมาจะเป็นเพียงแค่พระภิกษุธรรมดารูปหนึ่ง แต่อาตมาก็หวังใจว่า กำลังความรู้ความสามารถของอาตมานั้น จะยังพระพุทธศาสนาให้วัฒนาสถาพรคู่โลกต่อไปตราบนานเท่านาน 

 

พระมหาภาสกร ธมฺมวทญฺญู ป.ธ.๙

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล