ฉบับที่ ๑๖ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗

หลวงพ่อตอบปัญหา "ทำอย่างไร...จึงจะใช้เงินเป็น" โดย พระภาวนาวิริยคุณ

 



               หลายๆ คน ทั้งๆ ที่เงินเดือนก็สูง รายได้ก็มาก แต่พอสิ้นเดือนทีไร กลับไม่พอใช้สักที จากสถิติพบว่า สาเหตุเกิดจากการใช้เงินไม่ถูกวิธี ทำอย่างไรจึงจะใช้เงินเป็น?

 



               สิ่งแรกที่เราต้องรู้ก็คือ ความสุขของคนเรานั้น มีอะไรบ้าง พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสรุปไว้ให้ ๔ อย่าง คือ

               ๑. สุขจากการมีทรัพย์
               ๒. สุขจากการใช้ทรัพย์
               ๓. สุขจากการไม่มีหนี้
               ๔. สุขจากการทำงานไม่มีโทษ
คือไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดประเพณี ไม่ผิดศีลธรรม คือเป็นความสุขที่แก่น เป็นรากฐานของข้ออื่นๆ เพราะถ้าติดคุก หรือมีคดีความเสียแล้ว ถึงมีเงินเท่าไร ก็หาความสุขไม่ได้

               การที่จะให้ได้รับความสุขครบถ้วน อย่างนี้ ต้องรู้จักวิธีแบ่งรายได้ออกเป็น ๕ งบด้วยกัน แต่ละงบอาจจะมากบ้าง น้อยบ้าง ก็ตามแต่สมควร คือ
              
               ๑. ใช้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว ถือเป็นงบที่สำคัญที่สุด จะขาดตกบกพร่องไม่ได้ ต้องไม่ให้เดือดร้อนกันทุกฝ่าย เพราะจะทำให้เสียความมั่นคงในครอบครัว
              
               ๒. ใช้เลี้ยงมิตรสหายและผู้ร่วมงาน ถือเป็นการผูกสัมพันธไมตรีกัน จะได้มีความรักใคร่นับถือเกรงใจกัน งานที่ร่วมกันทำจะได้ราบรื่น ไม่สะดุดหรือติดขัด เมื่อถึงคราวจำเป็นจะต้องเอ่ยปากไหว้วานใครให้ช่วย ก็จะได้รับความร่วมมือโดยง่าย ทั้งยังเป็นที่รักที่เกรงใจของคนหมู่มาก แต่ก็ต้องระวังการใช้เงินงบนี้ ให้เป็นครั้งเป็นคราว ไม่ให้เกินตัว เดี๋ยวจะเป็นการก่อหนี้ก่อสินเพิ่มขึ้น
 
               ๓. ใช้ป้องกันรักษาสวัสดิภาพของร่างกาย เพื่อให้ปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ เมื่อถึงคราวเจ็บไข้ได้ป่วย หรือคราวจำเป็นฉุกเฉิน เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ จะได้มีจับจ่ายใช้สอยได้ทันท่วงที ในทางปฏิบัติเราควรเก็บงบนี้ไว้ในธนาคารจำนวนหนึ่งให้ได้ แม้ว่าตอนนี้เราอาจจะมีฐานะยากจนเพียงไรก็ตาม

               ๔. ใช้บำรุงบูชาบุคคลที่ควรบูชา ตั้งแต่บำรุงพ่อแม่ บำรุงญาติ ต้อนรับแขก ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับ เสียภาษีให้รัฐ แม้ที่สุดบางคนเข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรม จะทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เทวดา หรือที่เรียกว่า เทวดาพลี ก็ควรจำกัดอยู่ในงบนี้

               ๕. ใช้บำรุงพระพุทธศาสนา วิสัยทัศน์ของคนมีปัญญานั้น เมื่อได้อาศัยประโยชน์จากพระพุทธศาสนา คือได้ความสุขกาย สุขใจด้วยอำนาจแห่งพุทธธรรมแล้ว เขาย่อมบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ตอบแทนบ้าง ด้วยการทำบุญ ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เต็มกำลังศรัทธา เพื่อให้บุญกุศลติดตัวไปข้ามภพข้ามชาติ งบนี้สำคัญมากถือเป็นเสบียงบุญ ติดตัวไปตลอดเวลาที่ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร

               คนเราเมื่อรู้จักใช้ทรัพย์ ซึ่งได้มาด้วยหยาดเหงื่อแรงงาน ไปทำประโยชน์ให้เต็มที่อย่างนี้แล้ว แม้จะหมดเปลืองอย่างไรก็ไม่ควรเสียดาย เพราะคุ้มแสนคุ้มแล้ว

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล