ฉบับที่ 95 กันยายน ปี2553

มิติใหม่...แห่งการแผ่ขยายและฟื้นฟูศีลธรรมโลก


เรื่องเด่น

เรื่อง : พระสมศักดิ์ จนฺทสีโล



 

มิติใหม่...

แห่งการแผ่ขยายและฟื้นฟูศีลธรรมโลก




          ความจริงที่กำลังปรากฏในปัจจุบันนี้ก็คือ...วันเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตสู่อนาคต สังคมไทยซึ่งเป็นสังคมเปิด และมีการติดต่อกับต่างประเทศที่กำลังก้าวตามความเจริญทางเทคโนโลยี ก็ย่อมมีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ไม่เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและ สังคมเท่านั้น แม้แต่ทางวัฒนธรรมประเพณีของไทย โดยเฉพาะความยึดมั่นในการเข้าวัดปฏิบัติธรรมเริ่มลดน้อยลงไปอย่างน่าใจหาย

          จากสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นดังกล่าว ได้มีหมู่คณะหลายองค์กรเริ่มมองเห็นปัญหา และต่างหาวิธีการที่จะช่วยกันแก้ไข และในหลากหลายคณะองค์กรดังกล่าวนั้น มูลนิธิธรรมกายและวัดพระธรรมกาย โดยการนำของ พระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย) ได้มีความมุ่งมั่นที่จะร่วมกันทุ่มเททั้งกำลังทรัพย์ กำลังกาย กำลังสติปัญญา ตลอดจนสรรพกำลังทุกรูปแบบที่จะร่วมกันฟื้นฟูให้สิ่งดี ๆ กลับคืนมาสู่สังคมไทย และสังคมโลก โดยได้ริเริ่มกิจกรรมต่าง ๆ นับตั้งแต่ การปลูกฝังและสร้างค่านิยมในการเข้าวัดปฏิบัติธรรม ในวันอาทิตย์ ด้วยการรณรงค์ให้เยาวชนและประชาชน ทั้งหลายไปร่วมประพฤติปฏิบัติธรรมโดยมีคำขวัญว่า “ไปวัดทุกวันอาทิตย์ เพื่อสร้างชีวิตให้มีคุณค่า”






          นอกจากนี้ ยังจัดบรรพชาอุปสมบทหมู่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เป็นประจำตลอดปีจนกระทั่งปัจจุบัน ต่อมา วัดพระธรรมกายได้รับความไว้วางใจจาก พระมหาเถรานุเถระทั่วประเทศ และได้รับ ความร่วมมือจากคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ในการจัดบรรพชาอุปสมบทตามวัดต่าง ๆ ใน ๗๖ จังหวัด ทั่วประเทศไทย และขณะนี้ กำลังดำเนินการโครงการอุปสมบทหมู่เข้าพรรษา ๑๐๐,๐๐๐ รูป ทุกจังหวัดทั่วไทย







          เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง ที่การบวชเข้าพรรษาทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศในปีนี้ มีกุลบุตรผู้มีจิตศรัทธาสมัครเข้ารับการบรรพชาอุปสมบทมากกว่าทุกปี ทำให้ฤดูเข้าพรรษาปีนี้ มีภาพแห่งความปลาบปลื้มปีติหลายเหตุการณ์ นับตั้งแต่การจัดกิจกรรมตัดปอยผม และ แห่นาคธรรมทายาทให้เป็นที่อนุโมทนา แก่ผู้คนในจังหวัดต่าง ๆ และยังมีการบรรพชาพร้อมเพรียงกัน ณ วัดพระธรรมกาย และพิธีอุปสมบท ณ พัทธสีมาของวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ และหลังจากกิจกรรมต่าง ๆ สำเร็จลง ก็เข้าสู่ขั้นตอนการอบรมทั้ง ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ซึ่งนอกจาก จะให้การอบรมด้านหลักธรรม โดยเฉพาะหลักสูตรนักธรรมของการคณะสงฆ์ไทยแล้ว ยังเน้นให้มีการฝึกจิตด้วยการทำสมาธิภาวนา และผลจากการอบรมอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดผลการปฏิบัติที่เป็นเรื่องน่าอนุโมทนาสาธุการ ดังเรื่องราวที่พระธรรม-ทายาทจากศูนย์อบรมต่าง ๆ ได้เล่าประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติธรรมของตน






ผู้มีชีวิตใหม่ในกายเดิม

          จากการปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทำให้พระธรรมทายาทที่เข้าอบรม เริ่มพบกับสิ่งดี ๆ ในชีวิต ดังเช่น พระธรรมทายาทเชาวลิต ชวธมฺโม อายุ ๓๐ ปี ตัวแทนพระธรรมทายาทจากศูนย์อบรม วัดใหม่บางคล้า (เจริญธรรม) จ.ฉะเชิงเทรา







          “แต่ก่อนเคยใช้ชีวิตแบบคนไม่มีหลัก และไม่ว่าจะไขว่คว้าได้อะไรมาก็ไม่เคยพอ ต้องหาใหม่ไปเรื่อย ๆ แถมยังกินเหล้า เข้าสังคม เที่ยวเตร็ดเตร่ไปวัน ๆ แต่พอเข้าอบรมในโครงการนี้ทำให้ได้ชุบชีวิตใหม่ได้มาปรับชีวิตที่เคยเสียศูนย์ให้กลับมามั่นคง ได้พบหลักของชีวิตและรู้แล้วว่า คนเราเกิดมาทำไม หลังจากได้นั่งสมาธิตั้งแต่วันแรกที่เข้าโครงการ จากที่เริ่มนั่งไปฟุ้งไป คิดโน่นคิดนี่ ครั้นได้กำหนดบริกรรมนิมิตในกลางกาย ต่อมาไม่นานก็ได้พบกับจุดเล็ก ๆ อยู่ในท้อง มองไปก็เห็นเหมือนรูในอากาศ เมื่อมองไปนิ่ง ๆ ก็รู้ด้วยใจว่าเป็นองค์พระ ตอนนั้นรู้สึกโล่ง สบาย ไม่ปวด ไม่เมื่อย เหมือนไม่มีตัวตน แขน ขา หายไปไหนก็ไม่รู้ ใจนิ่งมาก สนใจแต่พระ เราเป็นพระ พระเป็นเรา อัศจรรย์ใจมากว่า พระมาอยู่ในตัวได้อย่างไร และตั้งแต่ได้พบกับพระภายใน ก็มีแต่ความสบายใจ ขนาดลืมตาแล้วก็ยังรู้สึกว่าท่านอยู่กับเราตลอดเวลา ทำให้คิดแต่สิ่งที่ดี ๆ อยากทำแต่ความดี เหมือนใจของเรามีหลักยึดที่แท้จริง”




แม้วิธีจะหลากหลาย

แต่ก็ไปได้บนทางเดียวกัน

          การฝึกสมาธิในโครงการนี้ แม้ผู้เข้าอบรมจะเคยฝึกการปฏิบัติมาก่อนหลายรูปแบบและ หลายวิธีการ แต่เมื่อลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังแล้ว พบว่าสามารถสอดคล้องและดำเนินไปได้ อย่างกลมกลืน อย่างเช่นพระธรรมทายาทบุญรักษ์ คุณธีโร อายุ ๓๖ ปี ตัวแทนพระธรรมทายาท จากศูนย์อบรมวัดหน้าเกตุ จ.ปัตตานี เล่าว่า

          “ตอนอายุ ๒๐ ปี เคยฝึกนั่งสมาธิแบบมโนมยิทธิและเพ่งกสิณไฟ และยังสามารถรักษาศีล ๕ ได้บริสุทธิ์ ฝึกนั่งสมาธิอย่างต่อเนื่องได้ถึง ๔ ปี จิตใจสงบเป็นสมาธิมาก แต่พองานมากขึ้นก็เริ่ม ห่างจากการนั่ง จนเวลาผ่านไป ๑๐ กว่าปี จึงได้มาบวชและเริ่มนั่งสมาธิอย่างจริงจังอีกครั้งในโครงการนี้ ในช่วงแรกที่เข้าโครงการ ยังนั่งสมาธิตามแบบเดิมที่เคยฝึกมา คือ กำหนดลมหายใจ ให้ลมไหล เข้าออกตามฐานของกาย และภาวนาพุทโธ ขณะนั่งภาวนาแบบเดิมก็เริ่มคิดว่ามันน่าจะมีอะไรที่ มากกว่าความสงบ จึงเปลี่ยนมาทำตามที่หลวงพ่อสอน คือ ภาวนา “สัมมา อะระหัง” เอาใจมาไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อัศจรรย์มาก เพราะใจนิ่งเร็วขึ้น สงบง่ายขึ้น สามารถเข้าถึงความสบาย ได้อย่างง่าย ๆ ถ้าใจยังไม่สงบ ก็จะพิจารณามูลกรรมฐาน เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ทวนไปทวนมา แล้วจึงภาวนา “สัมมา อะระหัง” ประมาณ ๒-๓ นาที ร่างกายก็เริ่มเบา ใจขยายได้ เมื่อทำใจเบา ๆ ไปเรื่อย ๆ โดยไม่คิดอะไร อยู่ ๆ ก็มีดวงแก้วโปร่งใส ในขณะที่เอาใจจรดอยู่กับดวงแก้ว ก็เห็นพระแก้วใสลอยอยู่สูงมาก ค่อย ๆ เอาจิตไปจับเบา ๆ น้อมท่านมาเบา ๆ มาวางไว้ตรงหน้าตัก แล้วท่านก็เข้ามานั่งสมาธิอยู่ในตัว เป็นพระแก้วใส ...ตอนนี้ไม่ว่าจะนั่ง นอน ยืน หรือเดิน จะพยายามจรดใจนิ่ง ๆ ไว้ที่องค์พระ และเพียงแค่ระลึกถึงท่าน ก็จะเห็นท่านได้”



หนึ่งต่อสิบ

สำเร็จได้ด้วยใจเรา

         สิ่งที่เป็นจุดเด่นของชาวพุทธอย่างหนึ่ง ก็คือ เมื่อพบกับสิ่งที่ดีงามในพระธรรมคำสอนแล้วก็มักอยากจะเผื่อแผ่ และเชิญชวนผู้คนที่รักทั้งหลายให้ได้เข้ามาร่วมปฏิบัติ และสัมผัสกับความดีงามนั้นด้วยกัน ซึ่งเป็นที่หวังว่า หลังจากเสร็จสิ้นโครงการบวชพระเข้าพรรษาปีนี้แล้ว ก็จะมีโครงการบวชเช่นนี้อีกในพรรษาหน้า ซึ่งพระธรรมทายาทได้มีสัญญาใจกับพระเดชพระคุณหลวงพ่อ และพระอาจารย์ประจำโครงการว่า จะไปทำหน้าที่กัลยาณมิตรและเป็นผู้นำบุญเชิญชวนชายไทยผู้โชคดี ให้เข้ามาร่วมบวชในโครงการนี้ อย่างน้อย ๑ : ๑๐ คน






โครงการบวชนี้...

บอกอะไรไว้บางอย่าง

          ขณะที่มีการอบรมและปฏิบัติธรรมของ พระธรรมทายาทตามศูนย์ต่าง ๆ ผู้ที่อยู่นอกศูนย์อบรม ไม่ว่าจะเป็นอุบาสก อุบาสิกา หรือผู้มีบุญ ทั้งหลาย ต่างก็ร่วมมือร่วมใจกันจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม ด้วยความปีติศรัทธาต่อโครงการบวชที่กำลังดำเนินอยู่ บางแห่งก็เชิญชวนกันไปถวายภัตตาหารพระ บางแห่งก็นิมนต์พระไปบิณฑบาต บางแห่งก็ร่วมกันถวายยา ซึ่งกล่าวได้ว่า ขณะนี้ ความสุข ความสงบร่มเย็น กำลังแผ่ขยายและรุกเงียบไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ด้วยกระแสแห่งพระพุทธธรรมอันบริสุทธิ์ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ กำลังบอกว่า สันติสุขของโลก ความสงบของสังคม และความรุ่งเรืองอันเกิดจากการพัฒนาทั้งหลาย หาใช่เกิดจากวิทยาการและความเจริญทางด้านวัตถุอย่างเดียวไม่ แต่กลับมีจุดเริ่มต้นจากความเจริญทางด้านจิตใจ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยศรัทธาอันกอปรด้วยปัญญา ที่นอกจากจะยังประโยชน์แก่ตนเองแล้ว ยังพร้อมที่จะเป็นผู้ให้แก่ชาวโลกที่จะก้าวมาสู่เส้นทางแห่งสันติสุขที่แท้จริงนี้ด้วย





ทาน...ศีล...ภาวนา

คือ ทางมาแห่งบุญ

          เราทั้งหลายย่อมตระหนักดีว่า พระพุทธศาสนาที่ปู่ ย่า ตา ยาย สืบทอดมาจนถึงยุคนี้ กำลังอยู่ในภาวะที่ต้องการการทำนุบำรุงและสนับสนุนให้มีการสืบทอดพระธรรมคำสอนให้เจริญรุ่งเรือง ยั่งยืนนานต่อไป การได้เกิดเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนา พร้อมทั้งมีโอกาสได้ประพฤติปฏิบัติธรรม และมีส่วนในการสืบทอดศาสนธรรมอันล้ำค่าในครั้งนี้ จึงเป็นโชคดีที่เราทั้งหลายผู้มีกุศลศรัทธา จักได้อริยทรัพย์เพื่อสั่งสมบุญบารมี ให้มีชีวิตที่ดีและมีคุณค่าทั้งในภพชาตินี้ ภพชาติเบื้องหน้า ตราบกระทั่งเข้าสู่พระนิพพาน เพราะจากปรากฏการณ์ครั้งสำคัญแห่งพระพุทธศาสนาที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ได้กลายเป็นสิ่งเตือนใจให้พวกเราตระหนักว่า บัดนี้พุทธบุตรผู้เป็นศาสนทายาท แห่งพระบรมศาสดาได้บังเกิดขึ้นแล้ว ปฏิคาหกหรือผู้เป็นเนื้อนาบุญอันอุดมกำลังรอเราทั้งหลายอยู่ เราผู้เป็นทายกจึงควรจะไปร่วมกันตักตวงบุญ จากนาบุญอันพิสุทธิ์เช่นนี้ ด้วยการทำทาน เช่น ตักบาตร ถวายภัตตาหาร ยารักษาโรค ผ้าสบงจีวร ตลอดจนเครื่องอุปโภคบริโภค ที่เหมาะสมแก่สมณบริโภค ซึ่งจะเป็นโชคดีของเราที่จะได้บุญใหญ่กับท่าน ดังที่ในพระไตรปิฎก กล่าวไว้ว่า





          “พระสงฆ์นี้ กว้างขวาง ใหญ่โต หาประมาณมิได้ ดุจมหาสมุทร เป็นผู้ประเสริฐสุด เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าผู้แกล้วกล้าในหมู่นรชน เป็นผู้ประกาศธรรม ยังโลกให้สว่าง ชนเหล่าใดให้ทานอุทิศสงฆ์ ชนเหล่านั้นชื่อว่า ให้ดีแล้ว บูชาดีแล้ว บวงสรวงดีแล้ว ทักษิณา ที่ตั้งไว้แล้วในสงฆ์นั้น มีผลมาก อันพระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ” (อภิ.กถา. ๓๗/๕๘๘)

          ทั้งนี้เพราะพระพุทธศาสนาจะยืนยงคงมั่น ขึ้นอยู่กับพุทธบริษัท ๔ ซึ่งได้แก่พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ได้ทำหน้าที่ของตนอย่างสมบูรณ์ ซึ่งนอกจากจะได้ถวายทานแล้ว แม้หากมีเวลา ก็ควรจะต้องเข้าไปร่วมปฏิบัติธรรม ทั้งการรักษาศีล เช่น ในวันธรรมดาอาจจะถือศีล ๕ ครั้นถึงวันพระอาจจะถือศีล ๘ ให้เป็นวันพิเศษสำหรับการเป็นนักสร้างบารมี ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ใกล้ชิดพระรัตนตรัย ขณะเดียวกัน เราก็จะไม่ลืมที่จะทำสมาธิเจริญภาวนา เพื่อยังใจของเราให้สงบร่มเย็น ดังพระพุทธธรรมคำสอนว่า ละเว้นความชั่ว ทำแต่ความดี และทำใจของตนให้ผ่องใส

          ดังนั้น การจัดกิจกรรมของโครงการบวชพระเข้าพรรษานับแสนรูปครั้งนี้ จึงเป็นมิติใหม่แห่งการเผยแผ่และฟื้นฟูพระพุทธศาสนา เป็นสิ่งแสดงถึงความสามัคคี และความเป็นปึกแผ่นของพุทธบริษัท ๔ ที่จะร่วมมือกันจรรโลงพระพุทธศาสนาให้เจริญก้าวหน้า เพื่อสืบทอดพระพุทธธรรมคำสอนไปสู่อนุชนรุ่นหลัง ให้ได้พบกับแสงสว่างแห่งการดำเนินชีวิตบนเส้นทางอันประเสริฐที่แท้จริง





 
บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล