ฉบับที่ ๒๐ ประจำเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๗

หลวงพ่อตอบปัญหา สมาธิช่วยให้การเรียนของลูกดีขึ้นจริงหรือ ? โดย : พระภาวนาวิริยคุณ

 



สมาธิช่วยให้การเรียนของลูกดีขึ้นจริงหรือ ?



               หลวงพ่อเจ้าคะ การที่ดิฉันให้ลูกฝึกนั่งสมาธิ จะช่วยให้การเรียนของลูกดีขึ้นหรือไม่เจ้าคะ ?

 



              ลูกเอ๋ย การที่ฝึกให้ลูกของเราทำสมาธิ ตั้งแต่เล็กๆ นั้นดีแล้ว เพราะไม่ใช่ดีแต่เฉพาะในเรื่องการเรียนของเด็กเท่านั้น แต่ยังดีในเรื่องอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย

             ขั้นที่ ๑ การจะฝึกเด็กให้ทำสมาธิ เราต้องเข้าใจหลักการฝึกสมาธิที่ถูกต้องก่อน เช่น จะฝึกกำหนดเป็นลมหายใจเข้าออก หรือฝึกกำหนดเป็นองค์พระ ดวงแก้ว ขึ้นมาในใจ แต่ละวิธีก็มีเทคนิคเฉพาะของเขา เราต้องรู้ให้ชัดเจน

             ขั้นที่ ๒ ต้องฝึกสมาธิให้ตรงเวลาเป็นประจำ เช่น ฝึกตอนเช้ามืด หรือก่อนนอน เป็นต้น เมื่อถึงเวลาฝึกก็ต้องฝึกกัน

             ขั้นที่ ๓ แม้การทำอะไรอย่างอื่นที่ไม่ใช่ตอนทำสมาธิต้องให้เขารู้จักประคับประคองใจให้เป็นสมาธิไปด้วย

             นี่คือขั้นตอนของการฝึกสมาธิตั้งแต่เล็ก

             เมื่อลูกของเราถูกสอนให้ฝึกสมาธิเป็น ตั้งแต่เล็ก สิ่งที่เราจะได้ขั้นต้นคือ ได้ความตรงเวลาของลูกเรา ซึ่งดูเผินๆ ก็ไม่อัศจรรย์แต่อย่างใด แต่จริงๆ แล้วอัศจรรย์ เพราะเรากำลังฝึกลูกให้ตัดสินแล้วก็ตัดใจเป็น เด็กทุกคนในโลกมักจะ ติดเล่นสนุกสนาน เมื่อติดเล่นแล้วก็จะไม่ตรงเวลา แต่เมื่อเราให้เด็กมาติดตรงการฝึกสมาธิ แล้วต้องตรงเวลา เพราะฉะนั้นไม่ว่าเขาจะเล่นสนุกอย่างไรก็ตาม พอถึงเวลาฝึกสมาธิต้องให้เขามาฝึกทันที เลยกลายเป็นว่า ในขณะที่ฝึกสมาธินั้น ก็เป็นการฝึกตัดใจเรื่องสนุกที่เขาเล่นไปด้วย

 

 

             ความสามารถในการตัดใจของคนเรา เป็นสิ่งที่จำเป็นขั้นพื้นฐานของชีวิตทีเดียว เพราะว่า ต่อไปข้างหน้า เมื่อเด็กโตขึ้นจะเป็นคนที่นอกจากตัดสินเรื่องราวต่างๆ ได้ว่า ดี ชั่ว ผิด ถูก แล้วยังตัดใจได้อีกด้วยว่า เมื่อรู้ว่าผิดก็ตัดใจทิ้งจากสิ่งนั้นไปเลย เมื่อรู้ว่าถูก ก็ทุ่มเทจิตใจลงไปทำความดีอย่างนั้นเลย

             ไม่เฉพาะแต่การตัดใจจากเรื่องเล่นหรือเรื่องสัพเพเหระเท่านั้น แต่ลูกจะตัดใจทิ้งเรื่องราว ที่ไม่ควรคิดออกจากใจไปด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อถึงเวลาลูกไปเรียนหนังสือ เรื่องรกใจต่าง ๆ เขาก็ตัดทิ้งจากใจได้ การเรียนของลูกจะต้องดีขึ้นเป็นธรรมดา

             ตรงนี้หลวงพ่ออยากจะให้ข้อคิดไว้ว่า การที่ลูกจะตัดสินตัดใจได้ดีขึ้น หรือสามารถอ่านหนังสือ ทำการบ้านได้ต่อเนื่องดีขึ้น ห้ามเอาลูกไปเปรียบเทียบกับคนอื่น แต่ให้เปรียบเทียบกับตัวของเขาเอง

             อย่าไปตั้งความหวังว่า เมื่อลูกของเราลงมือฝึกสมาธิแล้ว คงจะเรียนได้ที่ ๑ ในห้อง อย่างนี้คิดผิด เพราะไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ซึ่งคนอื่นเขาอาจจะฝึกสมาธิติดตัวข้ามภพข้ามชาติมามาก แม้ชาตินี้เขาไม่ได้ฝึกก็ตาม แต่ใจของเขาก็เป็นสมาธิมากกว่าลูกของเรามาตั้งแต่เล็กแล้ว ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจให้ดี อย่าตั้งความหวังผิดๆ เดี๋ยวจะผิดหวัง

             เมื่อเราฝึกลูกให้ทำสมาธิจนคุ้นเคย สิ่งที่เราพอหวังได้ทีเดียวว่า อย่างไรก็ตามลูกของเราก็เรียนดีขึ้น เป็นคนดีขึ้น มีจิตใจสงบเยือกเย็นขึ้น ความอดทนของเขาจะเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะอดทนต่อการกระทบกระทั่ง ต่อการยั่วเย้า เย้ายวนต่าง ๆ อดทนที่จะทำการบ้าน อ่านหนังสือค้นคว้าตำรับตำราได้นานๆ ซึ่งจากความอดทนตรงนี้แล้วจะกลายเป็นความขยัน ความน่ารัก กลายเป็นความดีอีกต่างๆ นานาเกิดขึ้นกับลูกของเรา อย่างนี้หวังไม่ผิด แล้วเราก็ไม่ต้องผิดหวัง

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล