ในระบบสุริยจักรวาล โลก นับเป็นดาวสีน้ำเงินดวงเดียวที่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ ย้อนไปเมื่อหลายพันล้านปีที่ก่อน นักวิทยาศาตร์ได้ค้นพบถึงที่มาจุดกำเนิดโลกว่า เริ่มจากการรวมตัวของกลุ่มก๊าชชนิดต่างๆ ในอวกาศ ที่ค่อยๆ จับกันหนาแน่นจนเปลี่ยนสถานะ ก่อให้เกิดธรรมชาติและบรรยากาศโลกที่มีการปรับตัวให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสมด้วยวิวัฒนาการอันยาวนาน
...และโลกใบนี้ ยังคงสถานภาพดวงดาวสีครามที่คงความงดงาม มีความอุดมสมบูรณ์ในตัวเอง
ตราบเท่าที่สิ่งมีชีวิตภายในโลก ยังมองเห็นคุณค่าและหวงแหนรักษาธรรมชาติไว้...
ในภาวะปัจจุบัน ความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโลก ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายมากขึ้น จำนวนที่ผลิตได้มีไม่เพียงพอตอบสนองความต้องการอันไร้ขีดจำกัดของมนุษย์ ก่อให้เกิดมลพิษจากสารเคมี ส่งผลให้สภาพแวดล้อมเสียสมดุลตามมา นับวันยิ่งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น กลายเป็นมหันตภัยสะสมอันน่าสะพรึงกลัว
หลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ชาวโลกและชาวอเมริกันคงไม่ลืมวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๑๓ เมื่อประชาชนกว่า ๒๐ ล้านคนทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา ต่างร่วมกันรณรงค์ครั้งประวัติศาสตร์ เพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการขึ้นพูดสุนทรพจน์ของบุคคลสำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น นักวิทยาศาสตร์ นักการเมือง นักสิ่งแวดล้อม พ่อค้าประชาชน และสื่อมวลชน ต่างรวมพลังออกมาเคลื่อนไหวอย่างจริงจัง
มีการปิดถนนสายสำคัญในมหานครนิวยอร์ค ไม่ให้รถยนต์ผ่านเข้าออก เพื่อลดมลพิษในอากาศ แม้กระทั่งการประชุมรัฐสภาแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ยังต้องเลื่อนกำหนดออกไป ๑ วัน เพราะสมาชิกวุฒิสภากว่า ๕๐๐ คน เข้ามามีส่วนร่วมในเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วย นอกจากนี้ยังได้ร่วมแสดงประชามติ ให้วันที่ ๒๒ เมษายน ของทุกปี เป็นวันคุ้มครองโลก หรือ Earth Day
ซึ่งถือเป็นความสำเร็จของพลังมหาชน ที่ก่อให้เกิดกระแสคลื่นความดีที่ไม่เคยมีมาก่อน ส่งผลสะท้อนเตือนชาวโลกให้ตระหนักถึงคุณค่าของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโลก ซึ่งเกิดจากน้ำมือของมนุษย์
เพราะหากพิจารณาให้ดีแล้ว นับเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของมวลมนุษยชาติ ในการทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสังคมโลกทั้งทางตรงและทางอ้อม บุคคลหนึ่งซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้กำหนดวันคุ้มครองโลกขึ้น คือ นายเกย์ลอร์ด เนลสัน อดีตวุฒิสมาชิกรัฐสภาแห่งชาติ ผู้เคยใช้ชีวิตในวัยเด็กท่ามกลางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดี จนเกิดความผูกพันและเห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านี้ เขาเป็นคนแรกที่ได้ยื่นเรื่องเสนอต่อ ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี และประชาสัมพันธ์ไปยังชาวอเมริกันให้มองเห็นโทษภัยของการทำลายสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยมลพิษที่กำลังคุกคามชีวิต
ปรากฎว่าแนวความคิดนี้ได้รับการตอบสนองอย่างดีจากประชาชนทั่วไป จากกลุ่มเล็กๆ เริ่มขยายเป็นวงกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งเกิดการชุมนุมครั้งใหญ่ทั่วประเทศ ของประชาชนกว่า ๒๐ ล้านคน
จากเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ในวันนั้น ทำให้ตลอดช่วง ๒๐ ปี ที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาได้ดำเนินการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง มีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ว่ามิใช่หน้าที่ของประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เป็นงานที่คนทั่วโลกต้องช่วยกัน เพื่อรักษาโลกอันเป็นสมบัติกลางของทุกคนไว้ ให้มีความน่าอยู่เท่าเทียมกัน โดยผู้นำประเทศคนต่อมาที่ให้ความสนับสนุนในเรื่องนี้ คือ ประธานาธิบดีจอร์จ บุช แห่งสหรัฐอเมริกา ได้รื้อฟื้นให้ความสำคัญแก่วันที่ ๒๒ เมษายน ก่อให้เกิดกระแสรณรงค์อย่างกว้างขวางอีกครั้ง เมื่อ ปี พ.ศ.๒๕๓๓
กระทั่งปัจจุบัน เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน เวียนมาครบรอบคราใด เราจะเห็นภาพพลังแห่งความรักและความห่วงใยอย่างมหาศาลที่มวลมนุษยชาติมีต่อผืนโลก เมื่อคนหลายเชื้อชาติ หลายภาษา ต่างแสดงออกถึงวิถีทางแห่งสันติสุขในรูปแบบต่างๆ ตามแนวความคิดของตน
อย่างไรก็ตาม แม้นานาประเทศได้ทุ่มเทงบประมาณเป็นจำนวนมหาศาล พยายามหาวิธีการที่จะปกป้องและคุ้มครองโลกให้ได้ผลสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นการขจัดมลพิษ การปลูกต้นไม้ และการประหยัดพลังงาน แต่ดูเหมือนว่าความพยายามนั้นจะได้ผลเพียงน้อยนิด เพราะการทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังคงขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีทีท่าว่าจะลดน้อยลงเลย จนน่าวิตกว่าความเจริญทางเทคโนโลยี กับความห่วงใยในเรื่องสิ่งแวดล้อม ช่างเป็นอัตราส่วนที่แปรเปลี่ยนผกผันอย่างเห็นได้ชัด
...ในที่สุด วันนี้ทุกคนเริ่มมีข้อสงสัยเหมือนๆ กัน นำมาซึ่งข้อถกเถียงในการประชุมนานาชาติที่ยังหาบทสรุปไม่ได้ว่า ว่าแล้วอะไรเล่า ? ที่สามารถคุ้มครองโลกได้อย่างแท้จริง ...
ทางเลือกใหม่...ธรรมะคุ้มครองโลก
ความจริงแล้ว มนุษย์เป็นสิ่งแวดล้อมหนึ่งที่สำคัญยิ่งของโลก และสมควรจะได้รับการคุ้มครองเป็นอย่างยิ่งด้วยเช่นกัน เพราะโลกจะดีหรือร้าย ล้วนเกิดจากน้ำมือมนุษย์เป็นตัวแปรสำคัญ
และเป็นที่น่ายินดีว่าในปัจจุบัน เกิดกระแสทางเลือกใหม่ซึ่งผู้นำที่มีชื่อเสียงระดับโลก ได้หันมาให้ความสนใจกันมากขึ้น และเห็นว่าสามารถแก้ไขปัญหาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ นั่นคือ การปลูกฝังความกล้าทางจริยธรรม ลงใจจิตใจมนุษย์ ให้คนเราเห็นคุณค่าของชีวิต เลือกจะก้าวเดินสู่ความเจริญด้วยรากฐานคุณธรรม มากกว่าความก้าวล้ำทางวัตถุและเทคโนโลยี
ความกล้าทางจริยธรรมกระทำได้ด้วยการฝึกฝนใจให้มี หิริ และ โอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัว และความละอายต่อบาป ซึ่งนับเป็นหมวดธรรมะคุ้มครองโลกอย่างแท้จริง
ดังจะเห็นได้ว่าโลกทุกวันนี้ คือ ตัวอย่างยุคมืดแห่งจิตใจ ที่ผู้คนกำลังประสบอยู่ จนหลายฝ่ายต้องหันหน้ามาร่วมมือกัน ทบทวนแก้ไขและปรับปรุงสภาพการณ์ที่กำลังจะเลวร้ายให้บรรเทาเบาบางลง
ทำให้นึกถึงพระพุทธพจน์บทหนึ่ง ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้นานกว่า ๒,๕๐๐ ปี มาแล้ว
" ...ใจเป็นผู้นำทุกสิ่งทุกอย่าง ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ทุกสิ่งทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยใจ
ถ้าคนเรามีใจบริสุทธิ์ การพูด การกระทำ ก็พลอยบริสุทธิ์ไปด้วย"
ทั้งนี้ ใจจะบริสุทธิ์ได้ต้องมีมาตรฐานอย่างน้อยคือ ศีล ๕ บ่งบอกถึงความปกติของมนุษย์ ไม่คิดฆ่าหรือเบียดเบียนชีวิตอื่น เมื่อใจบริสุทธิ์เพิ่มขึ้นจะทำให้เรามี หิริ โอตตัปปะ มีความเกรงกลัวและละอายต่อบาปไปโดยปริยาย ก่อให้เกิดคำพูดและการกระทำด้วยน้ำจิตคิดเมตตา สันติสุขจึงบังเกิดตามมา แต่เป็นธรรมดาว่าใจนี้มีปกติขึ้นลงไม่คงที่ การที่เราจะรักษาความดีให้มั่นคงได้ ไม่มีอะไรเทียบเท่า การทำสมาธิ พุทธวิธีการสร้างพลังใจที่ได้ผลอย่างยอดเยี่ยม...
ใจคุ้มครองโลกและจักรวาลได้
บรรดาสรรพสิ่งล้วนมีพลังคลื่นเสียง มีความถี่ที่แตกต่างกันออกไป และคลื่นแต่ละชนิดทำงานภายใต้กฎเกณฑ์ธรรมชาติ นักปราชญ์ผู้รู้ทั้งหลายในสมัยโบราณ ต่างค้นหาศาสตร์แห่งเสียงมาควบคุมคลื่นของสรรพสิ่งในจักรวาล โดยการปรับคลื่นจากภายในตนเอง ด้วยการทำสมาธิ ทำให้คลื่นใจมีจังหวะสม่ำเสมอ ละเอียดอ่อนมั่นคง ไหลเป็นเส้นตรงสอดคล้องกับคลื่นของจักรวาล
ความละเอียดอ่อนของใจ ที่สอดคล้องกับจังหวะของธรรมชาติในยามเช้าตรู่ ดังเช่น ความพลิ้วไหวของต้นไม้และสายน้ำ ย่อมทำให้มนุษย์บังเกิดความรักอันเป็นสากลต่อทุกสรรพสิ่ง หรือบทเพลงที่บรรเลงในยามเย็น ใกล้ค่ำสนธยา ย่อมทำให้คนบังเกิดความเมตตากรุณา ดื่มด่ำในคุณงามความดี
นี่คือตัวอย่างพลังแห่งคลื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คลื่นใจที่ละเอียดอ่อนประณีต ไหลนิ่งดิ่งเป็นเส้นตรงยิ่งมากเท่าไหร่ ย่อมเกิดความสอดคล้องกับคลื่นจักรวาลมากเท่านั้น ส่งผลให้สามารถพัฒนาจิตสำนึกของบุคคลให้มีความดีสูงส่ง มีอานุภาพมาก สามารถแผ่พลังบริสุทธิ์โอบอุ้มคุ้มครองโลกและจักรวาลได้
เพราะทุกสรรพสิ่งในโลกล้วนมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ส่งผ่านพลังถึงกันได้ไม่ว่าอยู่แห่งใด
สมดังคำกล่าวที่ว่า เด็ดดอกไม้...สะเทือนถึงดวงดาว
คำขานรับจากองค์การพุทธศาสนา
สำหรับในประเทศไทย ได้นำแนวความคิด ธรรมะคุ้มครองโลก นำเสนอต่อการประชุมนานาชาติเป็นครั้งแรก ในการประชุมองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) ครั้งที่ ๑๙ ระหว่างวันที่ ๒๒-๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๗ โดยผู้แทนมูลนิธิธรรมกาย ได้นำเสนอต่อที่ประชุม ขอให้วันที่ ๒๒ เมษายน ซึ่งเป็นวันคุ้มครองโลกสากล หรือ EART DAY นั้น ให้เป็นวันธรรมะคุ้มครองโลก อีกวันหนึ่ง เชิญชวนให้ชาวพุทธทั่วโลกจัดกิจกรรมทางพุทธศาสนา โดยเฉพาะการเจริญสมาธิภาวนา เพื่อทำใจให้บริสุทธิ์เป็นการคุ้มครองโลกอย่างถาวร โดยใช้คำขวัญที่ว่า " Clean the World Clean the Mind" ซึ่งผู้แทนชาวพุทธจากทั่วโลก ได้อภิปรายประเด็นนี้อย่างกว้างขวาง ในที่สุดได้พร้อมใจกันลงมติเอกฉันท์ ให้วันที่ ๒๒ เมษายน ของทุกปี เป็นวันธรรมะคุ้มครองโลก
ดังนั้น ในวันคุ้มครองโลก ๒๒ เมษายน ๒๕๔๙ ได้กิจกรรมวันบุญใหญ่ครั้งสำคัญ ถึง ๓ งาน คือ พิธีกลั่นมหารัตนวิหารคด พิธีถวายไทยธรรมแด่พุทธบุตร ๑๐,๐๐๐ วัด ทั่วประเทศ ยาว ๑ โยชน์ ณ มหารัตนวิหารคด และพิธีหล่อพระธรรมกายประจำตัว ๑๐๐,๐๐๐ องค์ ประดิษฐาน ณ มหาธรรมกายเจดีย์ จึงขอเชิญทุกท่านมาร่วมกันเจริญสมาธิภาวนา ทำใจให้หยุด ให้นิ่ง ส่งกระแสคลื่นเมตตาธรรมเชื่อมโยงถึงกัน วันนั้นจะเป็นวันที่พวกเราร่วมกันสถาปนากายมหาบุรุษ ต้นแบบกายมนุษย์ที่สมบูรณ์ในท่านั่งขัดสมาธิ สัญลักษณ์แห่งพุทธวิธีนำธรรมะคุ้มครองโลก เพื่อสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง.