{mosimg_replace:source=:target=: }
{mosimg_replace:source=:target=: }
|
บทความบุญ
เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวณฺฐิโต ป.ธ.๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ.๙ |
ไม่มีความดีใดที่จะดูเกินเลยจนผิดธรรมชาติมนุษย์ เพราะตราบใดที่ยังไม่หลุดพ้นจากกิเลส ก็ต้อง ทุ่มเททำดีเรื่อยไป ให้หมั่นทำดีเข้าไว้ ไม่ต้องกลัวใคร เขาว่า..ดีเกินไป..เหมือนการก่อเจดีย์..จะได้ชื่อว่าสร้าง เสร็จเมื่อต่อเติมไปถึงยอดปลาย นักไต่เขาพยายามฝ่าอุปสรรคไต่ระดับที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อปักธงชัยบนยอดเขา แล้วเอาความภาคภูมิใจมาเป็นรางวัล นักสร้างบารมีก็เช่นกัน จะต้องมุ่งไปสู่ยอดสูงสุดแห่ง ความดี คือการได้บรรลุมรรคผลนิพพาน
ในขณะเดียวกัน.. คนๆ หนึ่งเมื่อคิดจะสร้างความดี จำเป็นต้องมีคนนำทาง ผู้นำมีความสำคัญ มาก ถ้านำไปถูกทาง ทุกชีวิตก็จะถึงจุดหมายได้อย่าง ปลอดภัย โลกจึงขาดผู้นำบุญไม่ได้ เพราะผู้นำบุญคือแสงสว่างที่จะส่องนำทางมหาชน ให้หลุดพ้นจากมุมมืด ไปสู่ความสว่างไสวในชีวิต เหมือนตัวอย่างดังต่อไปนี้
กาลครั้งหนึ่ง...พระบรมศาสดาได้เสด็จไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จำนวนมาก แล้ว ทรงพักการเดินทาง โดยทรงแวะเข้าไปยังป่าไม้สาละ แห่งหนึ่ง เมื่อเสด็จไปถึงก็ทรงแย้มพระโอษฐ์ขึ้น พระอานนท์ที่ตามเสด็จไปด้วยจึงทูลถามถึง สาเหตุที่ทรงแย้มพระโอษฐ์นั้น
พระบรมศาสดาจึงได้ตรัสเล่าย้อนกลับไปใน สมัยพุทธันดรที่แล้ว ซึ่งเป็นยุคของพระกัสสปสัมมา สัมพุทธเจ้าว่า ณ ที่ตรงนี้เคยเป็นเมืองใหญ่เจริญมั่งคั่ง และมีผู้คนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ได้มีอุบาสกผู้หนึ่ง ชื่อว่า "ภเวสีอุบาสก" เขาเป็นผู้นำหมู่คณะ ชวนคนทำความดี ซึ่งมีบริวาร ๕๐๐ คน แม้เขาจะนับถือพระรัตนตรัยเลื่อมใสพระพุทธศาสนาดีอยู่แล้ว แต่ก็ รู้สึกอยู่ลึกๆ ว่า ยังมีสิ่งที่ต้องกวดขันฝึกฝนตัวเองให้ยิ่งขึ้นไปอีก
ลงมือรักษาศีล
เขาได้ฉุกคิดขึ้นว่า "แม้เราจะเป็นถึงผู้นำของ คนเหล่านี้ก็จริง แต่เราก็รักษาศีลยังไม่บริบูรณ์ดีเลย จึงทำให้ พวกพ้องของเราพากันนิ่งนอนใจไม่รักษาศีล อย่างเต็มที่ ในเมื่อเราเป็นถึงผู้นำจึงต้องรักษาศีล ให้บริสุทธิ์มากกว่าผู้อื่น" เขาจึงได้ไปปวารณากับพวกบริวารว่า "ตั้งแต่วันนี้ไป ขอให้ท่านจำไว้ให้ดีว่า ข้าพเจ้าจะตั้งใจรักษาศีลให้ครบบริบูรณ์ตลอดไป" อุบาสกบริวารจึงสาธุการในปณิธานของเขา เมื่อเวลาผ่านไปหลายวัน เหล่าบริวารต่างก็ย้อนกลับ มาคิดถึงตนเองว่า "ผู้นำของพวกเรา ท่านปรารถนา จะรักษาศีลตลอดชีวิต ในเมื่อเราได้ผู้นำที่ดีแล้ว ทำไมพวกเราจะรักษาศีลให้บริบูรณ์ อย่างหัวหน้าบ้างไม่ได้ล่ะ" ต่างก็เกิดแรงบันดาลใจและพร้อมใจกันปวารณากับภเวสีอุบาสกว่า "ขอท่านโปรดจำไว้เถิดว่า พวกข้าพเจ้าตั้งใจจะรักษาศีลให้บริบูรณ์ เช่นเดียวกับท่าน" จากนั้นต่างก็พากันตั้งใจรักษาศีลให้บริบูรณ์กันเป็นอย่างดี
ประพฤติพรหมจรรย์
ฝ่ายภเวสีอุบาสกก็ได้คิดว่า "ทั้งเราและอุบาสกเหล่านี้ต่างก็เป็นผู้รักษาศีลได้ อย่างดีเยี่ยมกันแล้ว ตอนนี้ก็ถือได้ว่ามีธรรมเสมอกัน ดังนั้นเราจะต้องเพิ่ม ระดับความดีให้ยิ่งกว่านี้ขึ้นไป" เขาจึงบอกบริวาร ว่า "ต่อนี้ไปตัวเราแม้เป็นเพียงฆราวาส แต่ก็จะขอประพฤติพรหมจรรย์เยี่ยงนักบวช และจะเว้นให้ไกล จากกามคุณแบบชาวบ้าน" แล้วเขาก็ทำได้จริงอย่างที่ตั้งใจไว้ ส่วนบริวารเมื่อเห็นผู้นำเป็นต้นแบบที่ดีแล้ว ต่างก็คิดกันว่า "ในเมื่อหัวหน้าพวกเราทำได้แล้ว ทำไมพวกเราจะทำไม่ได้" ว่าแล้วก็ชักชวนกันประพฤติพรหมจรรย์ แม้จะเป็นสิ่งที่ยากขึ้นกว่ารักษาศีล แต่ในที่สุดพวกเขาก็ทำได้สำเร็จ
จำกัดปริมาณอาหาร
เมื่อภเวสีอุบาสกเห็นว่าทุกคนทำได้จริงแล้ว ก็คิดที่จะหาทางทำความดีให้ยิ่งไปกว่านี้อีก จึงบอก บริวารว่า "ต่อนี้ไปเราจะรับประทานอาหารก่อนเที่ยงเท่านั้น จะไม่รับประทานในยามวิกาลตลอดไป" ฝ่ายบริวารเมื่อทราบเรื่องเข้า ก็ไม่ยอมแพ้ผู้นำของตน จึงปวารณาทำอย่างนั้นบ้าง แม้กระทั่งชาวเมืองได้ยิน การทำความดีชนิดไม่ยั้งหยุด ของภเวสีอุบาสกและบริวาร ต่างก็อนุโมทนาและเกิดแรงบันดาลใจในการทำความดียิ่งๆ ขึ้นไปตามลำดับเหมือนกัน
ออกบวชเป็นบรรพชิต
และแล้วการทำความดีที่ยิ่งยวดขึ้นไปของภเวสีอุบาสกก็เกิดขึ้น โดยเขาคิดว่า "ความดีที่จะยิ่งไป กว่านี้เห็นจะมีแต่การออกบวชเท่านั้น" เขาจึงไป เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทูลขอบวชว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอให้พระองค์ประทานการบวชแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด" เมื่อเขาได้รับอนุญาตให้บวชแล้ว ก็ไม่ประมาทในการบำเพ็ญสมณธรรม ทำความเพียร อย่างถูกหลักวิชชา ไม่นานนักก็บรรลุเป็นพระอรหันต์
ซึ่งข่าวนี้ก็ได้แพร่สะพัดไปถึงอุบาสกบริวารอย่างรวดเร็ว พวกเขาจึงได้ปรึกษาหารือกันว่า "ตอนนี้ พระภเวสีผู้นำของพวกเรา ได้ครองผ้ากาสาวพัสตร์บวชเป็นบรรพชิตแล้ว ทำไมพวกเราจะบวชเป็นบรรพชิตอย่างท่านไม่ได้เล่า" จากนั้นก็พากันเดินทาง ไปทูลขอบวชกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเช่นกัน
เมื่อภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปนั้นได้อุปสมบทเรียบร้อยแล้ว ก็ดำเนินรอยตามพระภเวสีทันที โดยต่างชวนกัน แสวงหาที่วิเวก แล้วบำเพ็ญสมณธรรมอย่างเต็มที่ ในที่สุดทั้งหมดต่างก็สมหวัง ได้บรรลุเป็นอรหันต์ตามท่านพระภเวสีผู้นำของพวกตน
เมื่อพระบรมศาสดาตรัสเล่าเรื่องนี้จบลง ก็ทรง สรุปให้พระอานนท์ฟังว่า "ภิกษุ ๕๐๐ รูป ซึ่งมีพระภเวสีเป็นผู้นำ ต่างก็พยายามเพิ่มระดับทำความดี บำเพ็ญธรรมให้สูงขึ้นไป จึงสามารถทำพระนิพพาน ให้แจ้งได้ เพราะฉะนั้น อานนท์ เธอกับพวกภิกษุก็จงพากเพียรบำเพ็ญธรรมให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ก็จะได้ถึงธรรมชั้นสูงสุด คือ พระนิพพานได้เช่นกัน"
ท่านสาธุชนทั้งหลาย... ดวงตะวันเป็นที่สุดของ สิ่งที่ให้แสงสว่าง มหาสมุทรกว้างใหญ่ไพศาลที่สุดในบรรดาห้วงมหานที ที่สุดของการทำความดี คือการได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ความดี..เป็นสิ่งที่ควร เพิ่มเติมให้เข้มข้นยิ่งขึ้นไป โดยคิด พูด และทำแต่สิ่งดีๆ เริ่มจากขั้นง่ายๆ ไปสู่ยาก และทำให้มากๆ เข้าไว้ ต้องไม่ขยักความดี ความสามารถมีเท่าไรต้องทุ่มเทให้เต็มที่ จึงจะเกิดพลังใจชั้นดี ที่จะทำลายกิเลสร้ายซึ่งสิงสู่ อยู่ในใจมายาวนานให้อันตรธานไปได้
ขณะเดียวกัน...ปัจจุบันนี้ โลกกำลังขาดแคลน ผู้นำที่เก่งและดี ซึ่งผู้นำที่เก่งในโลกมีมาก แต่ที่จะเก่งและดีไปพร้อมกันนั้นมีน้อย ผู้นำจะต้องทำสิ่งดีๆ ให้ผู้ตามเห็น หรือผู้ใหญ่ก็ต้องทำความดีให้เด็กเห็น เป็นแบบอย่าง เพราะคำสอนแม้ร้อยพันคำ... สู้ทำดีให้ดูเพียงครั้งเดียวไม่ได้ หรือการกระทำย่อมดังกว่า คำพูด และถ้าจะให้ได้ผลที่ดียิ่งขึ้นไป เราจะต้องทำให้ดู.. อยู่ให้เห็น..เป็นเยี่ยงอย่างสม่ำเสมอ
ความดีนั้นแม้ยังมิได้พูดชักชวนใครก็ตาม แต่กระแสแห่งการทำดีก็จะส่งผลต่อคนรอบข้าง ถึงเวลา แล้วที่คนรุ่นใหม่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่.. ต้องมาจับมือกันทำความดี.. จะไม่ทำดีกันตามลำพัง ต้องกล้าที่จะก้าวก่อนใคร แล้วมาเป็นแนวหน้าฟื้นฟูศีลธรรมโลก ชวนผองชนทำความดี ดุจดาวจรัสแสงส่องนำทางให้แก่นักเดินทาง เพื่อสร้างคนดีมากมายให้เกิดขึ้นจริงทันตาเห็นในยุคของพวกเรา... ยุคฟื้นฟู ศีลธรรมโลก.. |
|
|
|
|