งานสร้างบารมีไม่ใช่งานที่ทำกันเพียงชาตินี้ หรือชาติหน้าเท่านั้น แต่จะต้องสร้างบารมีกันอีกนับภพนับชาติไม่ถ้วน จนกว่าจะไปถึงที่สุดแห่งธรรม สิ่งที่ต้องตระหนักไว้เสมอก็คือ วันเวลาที่ใช้สร้างบารมีในแต่ละชาตินั้นมีจำกัด และโอกาสสร้างบารมีก็ไม่แน่นอน ภพชาติใดที่บุญจากการทำนุบำรุง พระพุทธศาสนามาส่งผลก่อน ก็มีอายุยืนยาวในการสร้างบารมี แต่ภพชาติใดถูกวิบากกรรมเก่ามาตัดรอน ภพชาตินั้นก็มีอันต้องสร้างบารมีด้วยเวลาที่แสนสั้น แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น สิ่งที่ต้องฝึกให้เป็นความแน่นอนติดตามตัวไป ข้ามภพข้ามชาติก็คือนิสัยทุ่มชีวิตสร้างบารมี ให้ตลอดรอดฝั่ง ที่เรียกกันว่าบารมีนั้น ก็คือนิสัยทำความดีอย่างถูกหลักวิชาโดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ผู้ที่มีนิสัยทุ่มชีวิตสร้างบารมีแท้จริง แล้วก็คือผู้เอาชีวิตเป็นเดิมพัน แก้ไขนิสัยไม่ดีของตน แล้วปลูกฝังนิสัยรักบุญกลัวบาปนั่นเอง หากทำได้เช่นนี้ การเกิดมาเป็นมนุษย์ในแต่ละชาติจึงจะคุ้มแสนคุ้ม
คุณสมบัติพื้นฐานของนักสร้างบารมี
ผู้ที่จะมีนิสัยทุ่มชีวิตสร้างบารมีทั้งสิบได้ตลอดรอดฝั่งนั้น จำเป็นต้องฝึกนิสัยพื้นฐานของนักสร้างบารมีให้หนักแน่น มั่นคงเสียก่อน ซึ่งมีอยู่ ๓ นิสัยด้วยกัน นั่นคือนิสัย เคารพ วินัย อดทน
๑. เคารพ คือการเปิดใจเพื่อค้นหาคุณความดีที่มีอยู่จริงในบุคคล วัตถุ เหตุการณ์ต่างๆ เมื่อพบแล้วก็ยอม ก็รับ ก็นับ และก็ถือปฏิบัติตามคุณความดีนั้นๆ
นิสัยมีความเคารพ คือมีนิสัยรังเกียจการจับผิด ชอบจับจ้องมองดูแต่ความถูก ความดีของทุกคน ทุกสิ่ง และทุกเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง เมื่อพบแล้วก็ยอม-รับ-นับ-ถือ และประพฤติปฏิบัติต่อบุคคล วัตถุและเหตุการณ์นั้นๆ อย่างเหมาะสม จนความถูกต้อง ความดีนั้นๆ เกิดขึ้นในตนด้วย
ความเคารพที่ต้องฝึกอยู่เสมอ
๑.๑ เคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
๑.๒ เคารพพ่อ แม่ ครูอาจารย์
๑.๓ เคารพการศึกษา
๑.๔ เคารพสมาธิ
๑.๕ เคารพความไม่ประมาท
๑.๖ เคารพการปฏิสันถาร
๒. วินัย คือ ระเบียบ ข้อบังคับ ที่ห้าม ที่อนุญาต วางไว้เป็นหลักให้ถือปฏิบัติตาม เพื่อความสงบเรียบร้อยดีงาม ของตนเองและหมู่คณะ
นิสัยมีวินัย คือ มีปกติรักการปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับที่กำหนดไว้ด้วยความเต็มใจ
วินัยที่ต้องฝึกอยู่เสมอ
๒.๑ วินัยว่าด้วยวิธีการแสดงความเคารพ
๒.๒ วินัยว่าด้วยความสะอาด
๒.๓ วินัยว่าด้วยความเป็นระเบียบ
๒.๔ วินัยว่าด้วยความตรงต่อเวลา
๓. อดทน คือ ความยืนหยัดไม่ท้อถอยในการทำความดี ไม่ว่าจะมีอุปสรรคใดๆ มาขัดขวาง
ลักษณะความอดทน มี ๒ ประการ
๑. ถูกบีบคั้นก็ต้องทน ไม่ยอมล้มเลิก
๒. ถูกยั่วยุ เย้ายวน ก็ต้องอดใจ ไม่ลุ่มหลง
นิสัยอดทน คือนิสัยไม่ท้อถอยในการทำคุณงามความดีทุกชนิด จึงทำให้เป็นผู้ไม่เคยล้มเลิก การทำความดีกลางคันทุกกรณี
ความอดทนที่ต้องรีบฝึก
๓.๑ อดทนต่อความลำบากตรากตรำ เช่น ทนต่อแดดลมฝน
๓.๒ อดทนต่อทุกขเวทนา เช่น ทนโรค-ภัย-ไข้-เจ็บ
๓.๓ อดทนต่อความเจ็บใจ เช่น ทนกระทบ-กระทั่ง
๓.๔ อดทนต่อความยั่วยุ-เย้ายวน เช่น ทนกิเลส อบายมุขต่างๆ
นิสัยเคารพ วินัย อดทน ทั้ง ๓ ประการนี้ นอกจากจะเป็นนิสัยพื้นฐานของนักสร้างบารมีแล้ว ยังเป็นนิสัยพื้นฐานของ การปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ อีกด้วย
ผู้ที่จะฝึกนิสัยมีความเคารพ วินัย อดทนได้ดีนั้น คือผู้ที่ใช้วันเวลาในชีวิตของเขา ให้ผ่านไปกับการสร้างบารมี เพราะการที่นิสัยดีๆ จะเกิดขึ้นได้นั้น จะต้องคิดดีบ่อยๆ พูดดีบ่อยๆ ทำดีบ่อยๆ จนติดเป็นพฤติกรรมประจำตัว ที่เป็นไปโดยอัตโนมัติ และแม้บางครั้งจะมีอุปสรรคยากแสนยากขนาดไหน เขาก็จะหาสารพัดหนทางที่จะทำความดีนั้นๆ ให้สำเร็จจงได้ เพราะนั่นคือนิสัยของเขา และก็เป็นสิ่งยืนยันว่า เขาใช้เวลาชีวิตที่มีอยู่ให้ผ่านไปกับการ ฝึกฝนอบรมตนเองอย่างคุ้มค่าทุกนาที ก็เป็นอันหวังได้ว่าเขาจะสร้างบารมีไปได้ตลอดรอดฝั่งนั่นเอง
การฝึกนิสัยมีความเคารพ นิสัยมีวินัย นิสัยมีความอดทนในหมู่คณะของเรานั้น พวกเราต้องฝึกผ่านการทำงานสร้างบารมี ๓ งบใหญ่ ไปตลอดชีวิตจนกว่าจะติดเป็นนิสัย ได้แก่
งานงบที่ ๑ คือ งานฝึกหัดขัดเกลาตนเองให้มีศีลธรรมเพิ่มยิ่งๆ ขึ้นไป
นิสัยที่ติดตัวแต่ละคนมานั้น แบ่งออกเป็น ๔ กลุ่มใหญ่
๑) นิสัยไม่ดี ไม่เรียบร้อย ที่มีอยู่แต่เดิม นิสัยแบบนี้ ต้องกำจัดทิ้งไปให้ได้ เพราะเป็นนิสัยเก่าที่หากไม่แก้ไขแล้ว จะมีแต่ดึงให้เราตกต่ำลงไปเรื่อยๆ ปล่อยไว้มีแต่จะ ทำลายหนทางการสร้างบารมีของตัวเราเอง
๒) นิสัยไม่ดีที่เรายังไม่เคยประพฤติ นิสัยแบบนี้ ถ้าอารมณ์ไม่ดี ก็เกือบไปทำเข้าเหมือนกัน ซึ่งถ้าเผลอไปทำเข้าจริงๆ ก็คงจะไม่งามแน่ๆ เพราะฉะนั้น ต้องหาทางป้องกัน ไม่ให้ตัวเรามีโอกาสพลั้งเผลอผิดพลาดไปทำเข้า ต้องรีบตัดไฟแต่ต้นลม
๓) นิสัยดีๆ ที่รู้อยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้ประพฤติ นิสัยแบบนี้ คือนิสัยดีๆ ที่เรายังไม่มี ต้องรีบขวนขวายประพฤติขึ้นมา ต้องเพาะให้เกิดขึ้นให้ได้ ยิ่งเพิ่มขึ้นมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้บุญบารมีเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
๔) นิสัยดีๆ ที่มีอยู่แต่เดิมแล้ว นิสัยแบบนี้ แม้จะมีอยู่แล้ว ก็อย่าคิดว่ามีมากพอ ต้องขวนขวายประพฤติให้มีมากยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ถอยหลัง และยังทำให้เข้าใกล้ความสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้นด้วย เพราะฉะนั้น การมาวัดของเรา จะเกิดประโยชน์แก่ตนเองมากน้อยแค่ไหน จะสร้างบารมีไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับใคร แต่อยู่ที่การฝึกนิสัย เคารพ วินัย อดทน ผ่านงานงบแรกของตัวเรานี้ให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป
งานงบที่ ๒ คือ งานช่วยกันรักษาองค์กรและหมู่คณะ
องค์กรใดก็ตามที่งานมีการขยายตัวมาก จะถูกงานบังคับให้ต้องปรับตัวและปรับใจให้พร้อมต่อความรับผิดชอบที่เพิ่มมากขึ้นทันที ตรงนี้เองที่ทำให้การฝึกฝนความเคารพ ความมีวินัย ความอดทน ของแต่ละคน เริ่มไม่เท่ากัน
พวกที่ ๑ ปรับตัวไปกับงาน และไม่ทิ้งกิจวัตรการฝึกตัว
พวกที่ ๒ ปรับตัวไปกับงาน แต่ย่อหย่อนกิจวัตรการฝึกตัว
พวกที่ ๓ ไม่ปรับตัวไปกับงาน แต่ไม่ทิ้งกิจวัตรการฝึกตัว
พวกที่ ๔ ไม่ปรับตัวไปกับงาน และย่อหย่อนกิจวัตรการฝึกตัว
ในบรรดาคนทั้งสี่กลุ่มนี้ ผู้ที่จะสร้างบารมีไปได้ตลอดรอดฝั่งนั้น มีเพียงกลุ่มเดียว นั่นคือ ผู้ที่ปรับตัวไปกับงาน และไม่ทิ้งกิจวัตรการฝึกตัว ถ้าใครทำงานให้ลุล่วงไปอย่างดี แต่ไม่แก้ไขนิสัยที่เสียหาย อีกทั้งไม่เพาะนิสัยที่ดีๆ ให้เกิดขึ้นใหม่พร้อมๆ กันไปด้วย เขาก็ได้แต่งาน แต่ไม่ได้บุญบารมีใดๆ แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าทำงานไปด้วย กวดขันแก้ไขนิสัยใจคอไปด้วย รักษาศีลไปด้วย งานก็ได้ นิสัยก็ดี บุญบารมีก็เกิด เมื่อเวลาผ่านไปสังขารของเราเอง ก็จะบังคับให้ตัวเราต้องปรับตัวหางานให้เหมาะสมกับวัยและอายุ คนที่ถูกอายุสังขารบังคับ จึงไม่ได้หมายความว่าจะปรับตัวไปกับงาน ของหมู่คณะไม่ได้ หากเขามีใจที่จะสร้างบารมี ไปให้ได้ตลอดรอดฝั่งจริงๆ เพราะฉะนั้น ในขณะที่พวกเราช่วยกันทำงานสร้างบารมีในแต่ละบทบาทหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นงานเล็กงานน้อย เช่น ปัดกวาดเช็ดถู ซ่อมแซมโต๊ะ เก้าอี้ รวมทั้งงานใหญ่ คือ สร้างโบสถ์ วิหาร งานเผยแผ่วิชชาธรรมกายข้ามทวีปไปทั่วโลก ก็ต้องฝึกคุณธรรมพื้นฐาน คือ เคารพ วินัย อดทน ท่ามกลางการขยายตัวเพิ่มของงานไปด้วย เราถึงจะสามารถสร้างบารมีไปด้วยกัน อย่างตลอดรอดฝั่ง โดยได้ทั้งงานสำเร็จ ได้ทั้งนิสัยดีๆ และได้ทั้งบุญบารมีที่ยิ่งๆ ขึ้นไป
งานงบที่ ๓ คือ งานทำภาวนากลั่นจิตใจให้เข้าถึงพระธรรมกาย
แม้ว่าลูกหลวงพ่อจะทุ่มเทปรับปรุงแก้ไข นิสัยตัวเองมากมายอย่างไรก็ตาม พยายามทำงานรักษาองค์กร ที่หมู่คณะมอบหมาย ให้รับผิดชอบอย่างสุดชีวิตแล้วก็ตาม แต่ถ้าไม่ระวัง โอกาสตกนรกยังมีอยู่นะลูก ทำไมขยันทำงาน ขยันแก้ไขนิสัยตัวเองอย่างนี้ยังมีโอกาสตกนรก? ก็ต้องถามกลับว่า ขณะที่ทำงานยังเคยขัดใจกันบ้างไหม เคยขุ่นข้องหมองใจกันอยู่ไหม เคยหน้าเขียวหน้าเหลืองใส่กันบ้างไหม? ถ้ามี นั่นแหละคือคำตอบ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “เมื่อใจขุ่นมัวเศร้าหมอง ทุคติย่อมเป็นที่ไป” เพราะฉะนั้น ถ้าใครแม้พยายามอบรมบ่มนิสัยตัวเอง พยายามทุ่มชีวิตช่วยงานของหมู่คณะ อย่าว่าแต่ร้อยปีเลย ต่อให้ร้อยชาติด้วย ถ้าเขาไม่ฝึกสมาธิ ใจของเขาก็ยากจะสงบ ยากจะหยุดนิ่งและเข้าถึงพระธรรมกายในตัวได้ แต่แน่นอนว่า ในขณะที่ทำภาวนานั้น ก็ต้องทำภาวนาด้วยความเคารพ คือ ในขณะที่นั่งสมาธิ ก็พยายามปรับกายและปรับใจให้ถูกวิธีการ พยายามประคองใจให้อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อย่างต่อเนื่องจนกว่าจะเป็นสมาธิ ในขณะเดียวกัน ก็ต้องมีวินัยในการทำภาวนา คือ ถึงเวลานั่งสมาธิก็ต้องตัดใจจากเรื่องอื่น มานั่งสมาธิให้ตรงเวลา โดยต้องแบ่งเวลาให้ดีว่า เวลานี้สำหรับการเรียน การงาน การนั่งสมาธิ ฝึกความตรงต่อเวลาในการนั่งสมาธิ อย่างสม่ำเสมอให้เป็นนิสัยรักการฝึกสมาธิ ในขณะเดียวกัน ก็ต้องทำภาวนาด้วยความอดทน คือ มีความอดทนต่อการสละอารมณ์ที่ทำให้ เราชอบใจและไม่ชอบใจ อดทนต่อความปวดเมื่อยของสังขาร อดทนต่อความมืดตื้อมืดมิดที่ทำให้ ผลการปฏิบัติธรรมไม่ก้าวหน้าได้ดั่งใจ อดทนต่อสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อการ ทำใจหยุดใจนิ่งอีกสารพัด อดทนไปจนกว่าจะถึงจุดที่เมื่อใดก็ตาม ที่เราหลับตาลง ก็สามารถหยุดใจนิ่งสนิทเข้าถึง พระธรรมกายได้ทันที
ถ้าพวกเราเข้าถึงพระธรรมกายได้เมื่อไร ก็เป็นอันว่าเราสามารถปิดนรกได้สนิท เปิดสวรรค์ได้กว้าง เห็นทางไปถึงพระนิพพานได้ชัดเจนแล้ว เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ลูกของหลวงพ่อทุกคน ยังรักที่จะสร้างบารมี ไปด้วยกันให้ตลอดรอดฝั่ง ก็ต้องใช้วันเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดในภพชาตินี้ ฝึกคุณธรรมพื้นฐานของนักสร้างบารมี คือ นิสัยมีความเคารพ นิสัยมีวินัย และนิสัยมีความอดทน ผ่านงานทั้งสามงบดังที่ได้กล่าวมาแล้วอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ผังการสร้างบารมีของพวกเรา มีแต่ความสำเร็จอย่างหนาแน่นติดตัวไป คือได้ทั้งความสำเร็จของงาน ได้ทั้งนิสัยทุ่มชีวิตทำความดี ได้ทั้งบุญบารมี และได้ทั้งการเข้าถึงพระธรรมกายติดตัวไป จนกว่าจะปราบมารประหารกิเลส ได้สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ ไปถึงที่สุดแห่งธรรม ตามพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ พระมงคลเทพมุนี พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโย และคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง |