วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ พิธีมุทิตาสักการะเปรียญธรรม ๙ประโยค ๒ ทศวรรษแห่งความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่

บทความพิเศษ
เรื่อง : ธีรนาถ


         "บาลี"
คือสุดยอดภาษา ที่เก็บรักษาพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้คงอยู่คู่โลก มาจนถึงปัจจุบันด้วยเหตุนี้ ภาษาบาลีจึงเป็นประดุจขุมทรัพย์ทางปัญญาอันหาค่ามิได้ เพราะบุคคลใดก็ตามที่ได้ มีโอกาสศึกษาภาษาบาลี เท่ากับว่าได้กุญแจ
ที่จะไขไปสู่ความรู้อันบริสุทธิ์ของพระพุทธองค์ซึ่งจะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ และพบสุขอันเกษมศานต์ ตั้งแต่ปัจจุบันชาติ ตราบวันเข้าสู่
พระนิพพาน

        ด้วยเหตุนี้ วัดพระธรรมกาย และมูลนิธิธรรมกาย โดยพระราชภาวนาวิสุทธิ์ จึงได้จัดให้มีพิธีมุทิตาสักการะพระภิกษุสามเณรผู้สอบ
ได้เปรียญธรรม ๙ ประโยคเป็นประจำทุกปี และจัดอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา ๒๐ ปีแล้ว เพราะเล็งเห็นว่า การศึกษาภาษาบาลี
ของการคณะสงฆ์ไทย จะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา รวมถึงการเผยแผ่หลักธรรมคำสอน ให้กว้างไกล
ไปทั่วโลก อีกทั้งเพื่อเป็นการยกย่องและให้กำลังใจแก่พระภิกษุสามเณรผู้สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทำ
ได้โดยยากยิ่ง

        พระราชภาวนาวิสุทธิ์ให้ความเห็นว่า การศึกษาบาลี หรือการศึกษาปริยัติธรรมของการ คณะสงฆ์ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก บัณฑิตใหม่
่ผู้สอบได้ เปรียญธรรม ๙ ประโยค เปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเป็นผู้ทรงจำ พระธรรมวินัย ดังนั้น เพื่อเป็นการสืบอายุ พระศาสนาต่อไป สิ่งที่สำคัญนอกจากปริยัติ ปฏิบัติ ปฎิเวธ แล้ว จะต้องมีการเทศนา คือ มหาเปรียญทุกรูปจะ
ต้องนำความรู้ในพระธรรมวินัย มาสั่งสอนตนเอง และสั่งสอนพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ซึ่งโดยภาพรวมแล้ว การศึกษาพระปริยัติธรรม มีความสำคัญมาก สมควรที่ทุกฝ่ายจะต้องให้ความสำคัญ และส่งเสริมให้มีความเจริญก้าวหน้า ยิ่งๆ ขึ้นไป

จากจุดเล็กๆ สู่ก้าวที่ยิ่งใหญ่

         สำหรับพิธีมุทิตาสักการะพระภิกษุสามเณรผู้สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๓๑ ณ
สำนักงานกัลยาณมิตรบางเขน ซึ่งในปีดังกล่าว เป็นปีมหามงคล เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้า
อยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติยาวนานกว่าพระมหากษัตริย์ พระองค์ใดในพระบรมราชจักรีวงศ์ ในครั้งนั้นมีพระภิกษุ
สามเณรสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยคจำนวน ๒๒ รูป เป็นพระภิกษุ ๑๗ รูป สามเณร ๕ รูปโดยได้รับความเมตตาจากสมเด็จ
พระธีรญาณมุนี กรรมการมหาเถรสมาคม และเจ้าคณะภาค ๑เดินทางมาเป็นประธานสงฆ์ โดยมีพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวิมลฉัตร
เป็นประธานฝ่ายคฤหัสถ์

         ตลอด ๒๐ ปีที่ผ่านมา พระราชภาวนาวิสุทธิ์ ได้ให้การสนับสนุนการจัดพิธีมุทิตาสักการะ เปรียญธรรม ๙ ประโยค อย่างเต็มที่
เต็มกำลัง ไม่ว่าจะเป็นการจัดหากองทุนการศึกษา ปัจจัยไทยธรรม ของที่ระลึกต่างๆ รวมถึงการจัดเตรียมอาคารสถานที่ เพื่อต้อนรับ
เจ้าคณะพระสังฆาธิการและคณะสงฆ์ ตลอดจนสาธุชนที่มารวมงาน ยิ่งกาลเวลาผ่านไป การจัดงานก็เริ่มที่จะยิ่งใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมเริ่มต้นที่สำนักงานกัลยาณมิตรบางเขนต่อมาในปี ๒๕๓๓ ได้ย้ายมาจัดที่สภาธรรมกายสากล (หลังคาจาก) วัดพระธรรมกาย
ซึ่งมีพื้นที่กว้างขวาง สามารถต้อนรับคณะสงฆ์และสาธุชนที่มาร่วมงานได้นับหมื่นคน และสุดท้ายก็ได้ขยับขยายมาจัดงานที่
สภาธรรมกายสากลหลังปัจจุบันซึ่งสามารถรองรับคณะสงฆ์และสาธุชนได้เป็นหลักแสน ส่งผลให้พิธีมุทิตาเปรียญธรรม ๙ ประโยค ได้รับการยกระดับให้กลายเป็นพิธีในระดับโลก ตามดำริของพระราชภาวนาวิสุทธิ์ที่ได้เคยกล่าวไว้เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๔๐ ว่า

        "สำหรับพิธีมุทิตาสักการะเปรียญธรรม ๙ ประโยค หลวงพ่อมีความเห็นว่า น่าจะจัดเป็นพิธีระดับชาติหรือระดับโลกเลยทีเดียว
ถ้าจะให้ดีต้องมีการนิมนต์ตัวแทนสงฆ์วัดละ ๑ รูป เป็นอย่างน้อย และผู้แทนจากศูนย์ภาคีในต่างประเทศด้วย โดยให้มีการ
ถ่ายทอดเผยแพร่ภาพและเสียงตามสื่อต่างๆ ไปทั่วประเทศและทั่วโลก ถ้าทำได้อย่างนี้ หลวงพ่อ มั่นใจว่าพุทธศาสนิกชน และชาวโลกจะตื่นตัวและเห็นความสำคัญของพระพุทธศาสนา สามารถนำไปประพฤติปฏิบัติจนเห็นผล เมื่อนั้นความสงบ
และสันติสุขด้วยอำนาจแห่งพุทธธรรม ก็จะบังเกิดขึ้นแก่ชาวโลกอย่างแน่นอน"

       ปัจจุบันเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ตลอดระยะเวลา ๒ ทศวรรษที่ผ่านมาพระราชภาวนาวิสุทธิ์ได้ทุ่มเท ความสามารถอย่างสุดกำลัง
เพื่อทำให้พิธีมุทิตาสักการะนี้ กลายเป็นพิธีในระดับโลกอย่างแท้จริงโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมาได้มีการถ่ายทอดสด
พิธีกรรมนี้ผ่านช่อง DMC ไปทั่วโลก ส่งผลให้ชาวโลกได้มีโอกาสเห็นภาพแห่งมหาสมาคม ที่แน่นขนัดไปด้วยสาธุชนชุดขาวนับแสนคน
ที่พร้อมใจกันประนมมือเปล่งเสียงสาธุการแด่ พระมหาเปรียญธรรม ๙ ประโยค ทำให้ทุกรูปต่างก็รู้สึกปีติ ภาคภูมิใจ ที่ได้รับการยกย่อง
อย่างยิ่งใหญ่ สมกับความวิริยอุตสาหะที่ได้ทุ่มเทให้กับการศึกษาพระบาลีตลอดมา นอกจากนี้ คณะสงฆ์ที่มาร่วมงานรวมทั้งที่รับชมการ
ถ่ายทอดสดตามวัดต่างๆ ทั่วประเทศอีกหลายแสนรูป ก็จะเกิดแรงบันดาลใจและมีความฝันที่จะก้าวขึ้นมาคว้าธงชัยแห่งความสำเร็จ
คือการสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค ให้เหมือนกับนักศึกษาพระบาลีรุ่นพี่ในสักวันหนึ่ง

        สำหรับผลการสอบปีนี้ได้มีการสร้างสถิติขึ้นใหม่ในวงการศึกษาบาลี นั่นคือ มีผู้สอบได้ชั้นประโยค ๙ได้มากที่สุดเป็นประวัติการณ์
ทั้งของบาลีสนามหลวงและบาลีศึกษา โดยมีพระภิกษุสามเณรสอบได้ชั้น ป.ธ. ๙ ถึง ๙๐ รูป (สถิติสูงสุดก่อนหน้านี้ในปีพ.ศ. ๒๕๔๘ สอบได้ ๖๗ รูป)เช่นเดียวกับทางด้านบาลีศึกษามีผู้สอบได้ถึง ๓ ท่าน ซึ่งนับว่ามากที่สุดเพราะในอดีตที่ผ่านมายังไม่เคยมีปีใด มีผู้สอบชั้น บ.ศ. ๙ ได้เกินกว่า ๒ ท่านเลย

         ส่วนวัดที่สอบทุกประโยครวมกันได้มากที่สุด คือ วัดโสธรวราราม จำนวน ๑๖๓ รูป และวัดที่สอบได้เปรียญเอกมากที่สุด คือ
วัดพระธรรมกาย จำนวน ๒๒ รูป

เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ

        
นอกเหนือจากความสำเร็จในการจัดพิธีมุทิตาสักการะเปรียญธรรม ๙ ประโยค ตามที่กล่าวมาแล้วนั้นในส่วนของสำนักเรียนวัด
พระธรรมกายเอง ก็ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการสอบบาลี สนามหลวงจนได้รับการยอมรับจากการคณะสงฆ์ไทยในรอบหลายปี
ที่ผ่านมา ซึ่งความสำเร็จทั้งหลาย ทั้งปวง ล้วนเกิดจากการนโยบายในการวางรากฐาน การศึกษาของพระราชภาวนาวิสุทธิ์
ซึ่งท่านได้ให้แนวทางที่น่าสนใจอย่างยิ่งเอาไว้ว่า

        "ในการส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรมนั้น ประการแรก ต้องสนับสนุนในเรื่องของปัจจัย ๔ อันควรแก่สมณบริโภค
รวมถึงตำรับตำรา อุปกรณ์การเรียนการสอนต้องพร้อม เพื่อจะได้ไม่เป็นเครื่องกังวลแก่นักเรียน ประการต่อมาที่ขาดไม่ได้ก็คือ
การปลูกฝังเป้าหมาย ปณิธาน และอุดมการณ์ ของการบวช เพื่อให้ทุกรูปเป็นนักบวชที่สมบูรณ์พร้อมตามพุทธประสงค์ ต้องชี้ให้เห็นว่า
นักบวชเป็นผู้มีบุญ มิใช่ผู้ด้อยโอกาส และหนทางในการบวชเรียนเป็น "ทางลัด" ในการมุ่งสู่พระนิพพาน มิใช่ "ทางอ้อม" เหมือนดังที่ผู้ไม่รู้เข้าใจกัน"

        ดังนั้น หากทุกสำนักเรียนช่วยกันปลูกฝังอุดมการณ์ในการบวช ควบคู่ไปกับการสอน พระปริยัติธรรม ตลอดจนดูแลเอาใจใส่
พระเณรให้มีศีลาจารวัตรที่งดงาม มีความรักในเพศบรรพชิต และรักที่จะศึกษาพระบาลีอย่างจริงจัง หากทำได้เช่นนี้ ความสำเร็จ
ของสำนักเรียนทั้งหลายย่อมอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม และยังเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของวงการคณะสงฆ์ ที่จะได้เพชรเม็ดงาม เม็ดแล้วเม็ดเล่า มาประดับเชิดชูพระพุทธศาสนาให้สูงเด่น สามารถเป็นที่พึ่งและที่ระลึกแก่มนุษย์และเทวดาทั้งหลายไปตลอดกาลนาน

 
บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ 58 สิงหาคม ปี 2550

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล