วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ พระธรรมเทศนา : ทุกคนคืออายุพระพุทธศาสนา

พระธรรมเทศนา

คนไทยโชคดีที่เกิดมาในดินแดนที่มีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ
จึงได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องบุญ และได้ทำบุญตั้งแต่วันเกิด วันแก่ วันเจ็บ
หรือแม้กระทั่งวันตาย ก็ยังได้สร้างบุญงวดสุดท้ายของชีวิต

      ใครก็ตามที่ได้ศึกษาพระธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งแล้ว เขาย่อมประจักษ์ชัดแก่ใจของตนเองว่า"บุญ" คือ
ผลของกรรมดีที่อยู่เบื้องหลังแห่งความสำเร็จทุกประการในโลกนี้ บุญเป็นที่มาของมนุษยสมบัติ ทิพยสมบัติ นิพพานสมบัติ
ในการสร้างบารมีไปทุกภพทุกชาติแม้แต่การตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เกิดขึ้นเพราะการสั่งสมบุญมานับภพนับชาติไม่
ถ้วนจนกระทั่งบุญเต็มเปี่ยม

      คนไทยโชคดีที่เกิดมาในดินแดนที่มีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ จึงได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องบุญ และได้ทำบุญตั้งแต่วันเกิด วันแก่ วันเจ็บ หรือแม้กระทั่งวันตาย ก็ยังได้สร้างบุญงวดสุดท้ายของชีวิต

         แต่จะมีใครคิดบ้างว่า ความโชคดีมหาศาลของคนไทยในวันนี้ ล้วนเกิดจากภูมิปัญญาเห็นการณ์ไกลของปู่ย่าตาทวด ที่เป็นห่วงลูกหลานเหลน โหลน ว่าจะไม่มีโอกาสได้สร้างบุญ เกรงว่าจะเกิดฟรี ตายฟรี มีอบายภูมิเป็นที่ไปอย่างน่าเสียดาย

         ในฐานะที่พวกเราเป็นคนรุ่นปัจจุบัน มีโอกาสรู้จักบุญและสร้างบุญด้วยตนเองแล้ว ก็ต้องดำเนินรอยตาม
ปู่ย่าตาทวดด้วยการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาไว้เป็นมรดกธรรม เพื่อให้ลูกหลานในภายหน้าได้มีพระพุทธศาสนาไว้สร้างบุญ

       เพราะฉะนั้น ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่นี้ หลวงพ่อขอยกเอาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ตรัสกับพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป
ก่อนจะแยกย้ายกันออกไปประกาศพระศาสนามาให้พวกเราใช้เป็นแม่บทในการตรวจสอบความเป็นอายุพระพุทธศาสนา ของตัวเองให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

๑. อะนูปะวาโท ไม่ว่าร้ายใคร

         พวกเราต้องสำรวจดูว่า ตลอด ๑ ปีที่ผ่านมา ได้เอาปากไปเป็นหอก เป็นดาบ ไปเชือด ไปเฉือน ไปทิ่ม
ไปแทง ไปทำให้ใครเดือดเนื้อร้อนใจบ้างหรือไม่

          ถ้าพบว่าเราเคยมีเรื่องขุ่นเคืองกับใคร รีบไปขอโทษเขาเสีย จะได้เป็นการอโหสิกรรม อย่าให้ต้องคาราคาซังข้ามปี
หรือว่าข้ามภพข้ามชาติไปเลย

         ยิ่งกว่านั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงสอนไว้อีกว่า คนเราถ้าจะให้มีวาจาสิทธิ์ ต้องเป็นคนที่ทำอย่างไรพูดอย่างนั้น พูดอย่างไรทำอย่างนั้น พวกเราต้องสำรวจตัวเองดูว่า ๑ ปีที่ผ่านมา เราได้ฝึกวาจาศักดิ์สิทธิ์ให้แก่คำพูดของตัวเองหรือไม่

๒. อะนูปะฆาโต ไม่ทำร้ายใคร

         ปัจจุบันพวกเราเข้าวัดกันแล้ว คงไม่ทำร้ายใครหรอก แต่ว่าในอดีตที่ผ่านมา ก่อนจะเข้าวัด ไปสำรวจดูให้ดีว่า
ตนเองเคยไปทำร้ายอะไรใครเอาไว้บ้างหรือไม่ ไม่ว่าจะทำร้ายร่างกาย ทำร้ายทรัพย์สิน ทำลายเกียรติยศ ทำลายชื่อเสียงก็ตาม

          แม้ที่สุดสำรวจดูว่าเราเคยเบี้ยวหนี้เบี้ยวสินใครไว้ ก็รีบเอาไปคืนเขาให้หมด แต่ว่าถ้าตอนนี้ ยังไม่มีเงินจริงๆ
ก็ไปให้เขาเห็นหน้าสักหน่อย แล้วขอผ่อนผันให้เขารู้ว่า เราไม่ได้เบี้ยวนะ แต่ว่าตอนนี้ ยังไม่มีเงินที่จะคืนให้จริงๆ

๓. ปาฏิโมกเข จ สังวโร
         ความสำรวมในศีลและมารยาท

         ตรงนี้หลวงพ่ออยากจะชี้ให้ดูง่าย ๆ มิฉะนั้น พวกเราจะไม่เข้าใจถึงความสำคัญของเรื่องมารยาท

          ยกตัวอย่าง บางคนเวลาทำงาน ใครๆ ก็อยากจะร่วมงานด้วย เพราะรู้ว่าเขาเป็นคนทำงานเก่ง แต่พอทำงานเสร็จ เวลาจะกินข้าวร่วมกัน กลับไม่มีใครอยากกินด้วยบอกว่ากินข้าวกับตาคนนี้ ไม่อร่อยเลย เพราะแกเคี้ยวเสียงดังจั๊บๆ มีความรู้สึก เหมือนอย่างกับหลุดเข้าไปในคอกหมูอย่างนั้นแหละ

         คนที่กินข้าวเสียงดังจั๊บๆ นี้ ถึงแม้จะไม่ ผิดศีล แต่ว่าก็ไม่มีใครอยากกินข้าวด้วยหรอก และตัวเขาเองก็เก็บเอาไปน้อยใจ ว่าถูกคนอื่นเอาเปรียบ มองคนอื่นเป็นคนเห็นแก่ได้ เวลาทำงานก็ขอให้มาช่วยทำ แต่พอถึงเวลากินไม่เคยมีใครเชิญเขาไปกิน
ด้วยเลยทำให้คราวหน้าไม่อยากทำงานร่วมกันอีก

            คนเราที่มีเรื่องกระทบกระทั่งกัน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนในที่ทำงาน หรือแม้แต่สามีภรรยา พี่ๆ น้องๆ ก็เหมือนกัน สาเหตุมักไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่กลับเป็นเรื่องของการเสียมารยาทเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ไปสำรวจตรวจสอบ
เรื่องกิริยามารยาทของตัวเราเองให้ดี

         ส่วนการตรวจสอบเรื่องศีลนั้น โดยพื้นฐานใครรักษาศีลในระดับใด ก็สำรวจตรวจสอบให้ดี ตั้งแต่ศีล ๕, ศีล ๘, ศีล ๑๐, ศีล ๒๒๗ เพราะศีลคือหลักประกันว่าเราจะไม่ตกนรกและได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก

๔. มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง
          รู้จักประมาณในการบริโภค

         เรื่องการใช้จ่ายก็เหมือนกัน ถ้าเกินกำลังทรัพย์ เกินฐานะ ก็จะทำให้เป็นหนี้เป็นสินได้ พวกเราไปสำรวจตรวจสอบให้ดีว่า เรากินไม่เป็น กินล้างกินผลาญจนกระทั่งทำให้สุขภาพเสียหรือไม่

                 โดยเฉพาะผู้ที่เตรียมเหล้าเอาไว้เพื่อดื่มฉลอง ในช่วงปีใหม่ หรือใครที่เคยดื่มเหล้าอยู่เป็นประจำ
ก็หักดิบตัดใจเลิกเสียเถอะ เพราะว่าเหล้าเป็นของที่ไม่ควรกิน กินแล้วมันจะผลาญทั้งทรัพย์ ผลาญทั้งความเป็นคนของ
เราให้หมดไปด้วย

๕. ปัญตัญจะ สะยะนาสะนัง นอนนั่งให้เป็น

               ปู่ย่าตายายของเราท่านนอนเป็น คือท่านจะนอนแต่หัวค่ำ แล้วตื่นตอนเช้ามืด ก่อนนอนก็จะไหว้พระ สวดมนต์ เพื่อให้ใจสงบนั่งสมาธิต่อ อีกหน่อย แล้วสำรวจตรวจสอบตัวเอง อย่างที่กล่าวมาตั้งแต่ต้น เสร็จเรียบร้อยถึงจะเข้านอน

            พอถึงวันโกน วันพระ พ่อบ้านจะแยกไปนอน ในห้องพระ เพื่อสำรวจตรวจสอบเรื่องมารยาทบ้าง ศีลบ้าง บุญบาปที่ตัวเองทำมาบ้าง

           ฝ่ายภรรยานอนอยู่กับลูกๆ ก็จะอบรม ลูกหลานให้เป็นคนดี สอนให้กราบพระ ให้สวดมนต์ ให้ทำภาวนา

            เพราะฉะนั้น ต้องนั่งนอนกันให้เป็น ยิ่งเวลา เข้าไปในที่สมาคม เมื่อใดควรนั่ง เมื่อใดควรยืน หรือควรนั่งก่อน นั่งหลัง ไปศึกษาให้ดี เพราะว่าแค่นั่งไม่เป็น บางทีอาจกลายเป็นการฉีกหน้าคนอื่นก็มี กลายเป็นการลดเกียรติคนอื่นก็มี หรือกลายเป็น การลดเกียรติของตัวเองก็มี


๖. อธิจิตเต จะ อาโยโค ฝึกสมาธิไม่เลิกรา

      วัตถุประสงค์ของการฝึกสมาธินั้นมีหลายอย่าง ในเบื้องต้นฝึกเพื่อให้
ใจสงบ จะได้สำรวจตรวจสอบตัวเองได้ว่า พฤติกรรมของเรา
ตั้งแต่ต้นปีไปกระทบกระทั่งบุคคลในทิศ ๖ อย่างไรบ้าง เช่น บิดามารดา ครูอาจารย์ คู่ครอง เพื่อนฝูง เป็นต้นแล้วรีบไปขอขมาลา
โทษเสีย บาปนั้นจะได้สิ้นสุดลงเพียงแค่นี้

ถ้าหากพบว่าเราวางตัวได้ดีกับท่านเหล่านั้นมาตลอด ก็จะได้ชื่นอกชื่นใจ แสดงว่า ๑ ปีที่ผ่านมา เราไม่แก่เปล่าเลย เพราะว่าการแก่ของคนเรามีอยู่ ๒ ประเภท คือ

๑. แก่แดดแก่ลม แก่แล้วบุญบารมีไม่ได้งอกเงย ความดีอะไรก็ไม่ได้ทำ

๒. แก่บุญแก่บารมี คนที่จะแก่บุญแก่บารมีได้นั้น ทาน ศีล ภาวนาต้องทำให้ครบต่อเนื่องและสม่ำเสมอ แล้วการกระทบกระทั่งกับบุคคลต่างๆ อย่างที่ว่ามาแล้วต้องไม่มี หรือถ้ามีก็มีน้อย

          เพราะฉะนั้น เมื่อพวกเราปฏิบัติครบทั้ง ๖ ประการนี้แล้ว ย่อมได้ชื่อว่า เป็นผู้สืบทอดอายุพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวไปนาน
แสนนาน และเป็นการทำตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต การดำเนินชีวิต
ตลอดทั้งปีของเราย่อมได้บุญมาก และเป็นเหตุให้เราได้ทั้งมนุษย์สมบัติ ทิพย์สมบัติ นิพพานสมบัติ ในการสร้างบารมี
ที่ดีเยี่ยมไปทุกภพทุกชาติ ตราบกระทั่งไปถึงที่สุดแห่งธรรม

 
บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ 63 มกราคม ปี 2551

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล