วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ อาสาฬหบูชา วันแสดงปฐมเทศนา

บทความบุญ
เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวรณฺณฐิโต ป.ธ.๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ. ๙


      เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ อนุตตรสัมโพธิญาณ ทรงแสดงปฐมเทศนาชื่อ ธรรมจักกัปปวัตตนสูตร ทำหน้าที่ครูของโลกเป็น ครั้งแรก ด้วยการเสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี ในวันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ พระธรรมเทศนาบทนี้ได้ชี้ชัด ลงไปในสมาธิที่ถูกต้อง หรือ สัมมาสมาธิ ถือเป็นแม่บทแห่งเทศนาทั้งปวง ส่วนเทศนาบทอื่นที่เกิดขึ้น หลังจากนี้ เป็นบทขยายให้ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรมีความแจ่มแจ้งยิ่งๆ ขึ้นไปนั่นเอง

เนื้อความของธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนั้นพระองค์ทรงสอนให้ละหนทางสุดโต่ง ๒ ทาง คือ

๑. กามสุขัลลิกานุโยค เป็นการเข้าไปพัวพัน หมกมุ่นในเบญจกามคุณ
ใจจรดไปในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ยินดีในลาภสักการะชื่อเสียงเกียรติยศ เป็นต้น

๒. อัตตกิลมถานุโยค การทรมานกายให้ลำบาก นักบวชบางพวกทำตนให้เจ็บปวดถึงที่สุด
คิดหวังเองว่าจะไม่ให้กิเลสกล้ากำเริบ หรือบ้างก็ทรมานตนเพื่อหวังให้เทพเจ้าเห็นใจ และจะประทาน การหลุดพ้นมาให้ได้ จึงคิดค้นวิธีทรมานต่างๆ นานา
ที่มีความเป็นกับความตายเท่ากัน และหารู้ไม่ว่า ทางสุดโต่งทั้ง ๒ ทางนี้ คือกับดักแห่งสังสารวัฏที่ขัดขวางทางไปพระนิพพาน

พระมหาบุรุษ : ผู้เป็นยอดของนักบำเพ็ญตบะ

      พระพุทธองค์ทรงผ่านวิธีทั้งสองอย่างมาแล้ว ทรงเคยพรั่งพร้อมด้วยสุขที่ยิ่งกว่าชาวโลกทั่วไป เพราะเป็นถึงองค์รัชทายาท
แต่ก็สละโลกียสุข เหล่านั้น เพื่อแสวงหาทางสู่ความหลุดพ้น เมื่อกล่าวถึงการบำเพ็ญตนให้ลำบาก พระพุทธองค์ตรัสว่า "สมณพราหมณ์ที่มีมาในอดีตหรืออนาคต ซึ่งเสวยทุกขเวทนาสูงสุดยิ่งไปกว่านี้ไม่มีอีกแล้วแต่เราก็มิได้บรรลุญาณทัสนะ อันวิเศษด้วยทุกรกิริยา อันเผ็ดร้อนนี้ไปเลย" ทรงถือได้ว่าเป็นที่สุดของนักพรตบำเพ็ญตบะเพราะไม่มีใครกล้าปฏิบัติได้ยิ่งไปกว่านี้

ในครั้งเริ่มแรก ทรงลดตนลงมาใช้ชีวิตคลุกเคล้าเกลือกกลั้วอยู่ตามแหล่งฝุ่นดินทราย กลางวันตากแดดกลางแจ้ง กลางคืนตากน้ำค้างเสวยน้อยจนซูบผอม นอนบนหนาม แบกทรายหนัก ย่างกาย ด้วยไฟ เป็นต้น และต่อมาก็บำเพ็ญวัตรแบบอุกฤษฏ์ ทำซ้ำไปซ้ำมาตลอดเวลารวมกันอยู่หลายปี ซึ่งมี ๓ขั้นตอนเป็นลำดับดังต่อไปนี้

๑. กัดฟันแน่น ลิ้นกดเพดาน จนส่งผลให้ พระวรกายเกิดความเร่าร้อนไปทั่ว เกิดความรู้สึกราวกับว่าถูกคนมาบีบศีรษะและคอไว้แน่น เหงื่อไหลโซมทั่วกายไม่หยุด

๒. กลั้นลมหายใจทั้งทางจมูก ปาก และหู ทำให้ลมเข้าไปดังอู้อยู่ในสมอง เจ็บเหมือนถูกเหล็ก ทิ่มสมอง และเกิดลมเสียดแทงท้องเหมือนถูกมีดกรีดท้องกายเร่าร้อนดุจอยู่ในถ่านเพลิง

๓. ตัดการบริโภคอาหาร ส่งผลให้พระวรกายปรากฏเป็นขอดเกลียว ผิวหนังเหี่ยวแห้ง เบ้าตาลึก หนังท้องติดหนังกระดูกสันหลัง ผิวพรรณหมองคล้ำ ไร้เรี่ยวแรงพร้อมจะซวนล้ม จากนั้นได้ทรงเลิกทรมานตน แล้วกลับมาเสวย พระกระยาหารให้แข็งแรงเช่นเดิม ก่อนที่จะตรัสรู้เพียงครึ่งเดือนหรือ ๑๕วันเท่านั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรุปโทษการปฏิบัติพวกนี้ว่าเป็นของต่ำทราม ที่ปุถุชนมีกิเลสยังติดข้อง ไม่สามารถห่างไกลกิเลส ทั้งไม่มีประโยชน์แม้แต่น้อย

มัชฌิมาปฏิปทา สายกลางทางไปของพระอริยเจ้า

        ต่อจากนั้นจึงตรัสว่า มีอยู่หนทางเดียวเท่านั้น ที่จะทำให้หลุดพ้นได้ คือ มัชฌิมาปฏิปทา หรือ ทางสายกลาง เนื่องจากทรงเห็นว่าปัญจวัคคีย์ชำนาญเรื่องศีลและสมาธิในระดับหนึ่ง ขาดแต่เพียง ความเห็นที่ถูกต้อง จึงตรัสสอนให้ดำเนินกาย วาจา ใจ ให้ไปในแนวแห่งอริยมรรคมีองค์ ๘ ที่สนับสนุน สมาธิให้ถูกส่วนมากขึ้น คำว่า ทางสายกลางนั้น หมายถึงหลักปฏิบัติที่เป็นกลางๆ ไม่ตึงและไม่หย่อน เกินไป ซึ่งในชีวิตประจำวัน ต้องปฏิบัติตามหลักดังต่อไปนี้

สัมมาทิฐิ เข้าใจถูก คือ มีความเข้าใจถูกในหลักธรรม เช่น เรื่องกฎแห่งกรรม

สัมมาสังกัปปะ มีความคิดดีคิดจะออกจากกาม ไม่คิดพยาบาทหรือเบียดเบียน

สัมมาวาจา เจรจาชอบ เว้นจากวจีทุจริต ๔ ได้แก่ พูดปด ส่อเสียด คำหยาบ เพ้อเจ้อ

สัมมากัมมันตะ มีการกระทำที่ถูกต้อง เว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม

สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพถูกทำนองคลองธรรม ไม่ลวงโลกเลี้ยงชีวิต

สัมมาวายามะ พยายามชอบ เพียรที่จะแก้ไขนิสัยตน ละชั่ว ทำดี ตามรักษาความดีที่ได้ทำ

สัมมาสติ มีสติดี ไม่ประมาทเผลอไผล เก็บใจมาอยู่กับตัวได้

สัมมาสมาธิ ใจตั้งมั่นในตำแหน่งที่ถูกต้อง ปักดิ่งลงไปในสติ หากสติสมบูรณ์ สมาธิจึงจะเกิดขึ้น

ทางสายกลางภายใน

        หลวงปู่วัดปากน้ำกล่าวเอาไว้ว่า ทางที่เรียกว่า สายกลางนั้นน่ะต้องเอาใจจรดเข้าไปในกลางกายของเรานี่แหละ ซึ่งมีอยู่เพียงทางเดียวเท่านั้น คือ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เมื่อเราเอาใจหยุดนิ่ง ไปตรงนั้นได้ถูกส่วน มรรคมีองค์ ๘ ประชุมกันถูกส่วนเป็นดวงปฐมมรรค ใสบริสุทธิ์เท่าฟองไข่แดงของไก่ ทีนี้พอหยุดนิ่งเข้ากลางดวงปฐมมรรค
จะไป พบดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ดวงศีลนี้ก็คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว ส่วนสัมมาวายาโม สัมมาสติสัมมาสมาธิ เป็นดวงสมาธิ สำหรับสัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปโป เป็นดวงปัญญา เมื่ออริยมรรคมี องค์ ๘ ครบบริบูรณ์ จะทำให้เข้าถึงกายในกาย ไปตามลำดับจนได้เข้าถึงธรรมกาย ท่านก็อาศัย ธรรมจักษุและญาณทัสนะของธรรมกายตรวจดูเบญจขันธ์ทั้ง ๕ ว่าตกอยู่ในไตรลักษณ์ คือ เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างไรบ้าง อีกทั้งพิจารณา อริยสัจสี่ เห็นความทุกข์ตั้งแต่กายมนุษย์ ทิพย์ พรหม ที่เกิด แก่ เจ็บ ตาย และเป็นทุกข์อย่างไรก็รู้หมด

        สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์เรียกว่า สมุทัย มีอะไร บ้างตั้งแต่กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ทรงเห็นแจ้งหมด เมื่อเห็นจึงรู้ เมื่อรู้จึงหาทางที่จะสลัดให้หลุดจากตัณหาเหล่านั้น ด้วยการหยุดใจ เรียกว่า นิโรธ ดังนั้น หยุดจึงเป็นตัวสำเร็จ จากนั้นจึงดำเนินตามอริยมรรคมีองค์ ๘ เรื่อยไป

        เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงอย่างนี้ พระอัญญา โกณฑัญญะท่านก็พิจารณาเห็นตามว่า "ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงก็มีความดับไปเป็นธรรมดา" ได้ตรัสรู้อริยสัจ ๔ สำเร็จ
เป็นพระโสดาบัน พระพุทธองค์ทรงเปล่งอุทานว่า "อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอ" นอกจากนี้ยังมีพรหมอีก ๑๘ โกฏิ บรรลุโสดาบันเช่นกัน จากนั้นทั่วทั้งหมื่นโลกธาตุ ก็สะท้านสะเทือนเลื่อนลั่น เสียงสาธุการดังกระฉ่อน ไปถึงชั้นพรหมเลยทีเดียวว่า "สมกับเป็นพระธรรมจักร ที่ยอดเยี่ยมจริงๆ ไม่ว่าใครๆ
จะเป็นสมณพราหมณ์ มารหรือพรหมก็ตาม ไม่อาจคัดค้านปฏิเสธได้เลย" การเข้าถึงธรรมของพระอัญญาโกณฑัญญะ นับเป็นการบังเกิดขึ้นครบองค์ ๓ ของพระพุทธศาสนา คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์วันอาสาฬหบูชา จึงถือว่า เป็นวันประกาศแก่นธรรม หรือธรรมนูญของพุทธศาสนา ที่ขับเคลื่อนกงล้อแห่งธรรมด้วยอริยมรรค

          นี้คือการประกาศความยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์ที่ทรงเป็นบรมครู ผู้สามารถสอนปุถุชนจนกลายมาเป็นพระอริยเจ้า ..ทรงสอนวิธีการปิดอบาย ไปสวรรค์ และบรรลุมรรคผลนิพพาน ..สอนให้นักเรียนเป็น ผู้รู้แจ้ง และหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ สมแล้วที่ทรงได้รับการเฉลิมพระนามว่า สตฺถา เทวมนุสฺสานํ ทรงเป็นครูทั้งของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย เป็นศาสดาเอกของโลกที่โลกจะไม่มีวันลืมตลอดไป

         วันอาสาฬหบูชา จึงเป็นวันครูของโลก ที่พวกเราเหล่าพุทธบริษัททั่วโลกจะมาพร้อมใจกันสั่งสมบุญกุศล ทำทาน รักษาศีลและเจริญภาวนาเพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชากันทุกคน

 
บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล