วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ พระเวสสันดร นักให้บันลือโลก

เรื่องน่ารู้
เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ. / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ. ๙


       นี่คือสุดยอดวีรกรรมในการบริจาคทานของพระเวสสันดรโพธิสัตว์ ที่ทรงยอมสละทุกสิ่งเพื่อ ความสุขของผู้อื่น สิ่งใดที่มนุษย์ทั่วไปรักใคร่หวงแหน ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์ อวัยวะ บุตร ภรรยา และชีวิต ท่านก็ทรงตัดใจสละได้สำเร็จ

ทรงเกิดมาเพื่อเป็นผู้ให
        พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อครั้งเสวยพระชาติสุดท้ายเป็นพระเวสสันดร
ทรงบำเพ็ญมหาทานบารมี อย่างอุกฤษฏ์ ทรงให้ได้ทุกสิ่งทุกอย่างแม้กระทั่งชีวิต พระองค์เอง ทรงรู้จักการให้ตั้งแต่เกิด เมื่อคลอดออก จากพระครรภ์ของพระมารดา ก็ทรงเหยียดพระหัตถ์ ออกพูดกับพระมารดาว่า "แม่จ๋า มีอะไรบ้างที่ลูกจะนำมาให้ทานได้" เมื่อพระมารดาทรงมอบถุงทรัพย์ให้ ก็ทรงประทานแก่แม่นม ๖๐ คน นับเป็นทาน
ครั้งแรกตั้งแต่แรกเกิด

         ครั้นทรงมีพระชนมายุได้ ๔-๕ ชันษา ได้ประทานเครื่องประดับที่มีค่าถึง ๑๐๐,๐๐๐ กหาปณะ แก่เหล่าแม่นม เหล่านั้นของพระองค์อีก

           ครั้นทรงเจริญวัยจนพระชนมายุได้ ๘ ชันษา มีอยู่วันหนึ่ง ขณะบรรทมเพียงลำพัง ได้ทรงดำริขึ้นว่า "เราได้แต่ให้วัตถุสิ่งของซึ่ง ถือว่าเป็นเพียงทานภายนอกร่างกาย เรามีความรู้สึกว่ายังไม่อิ่มใจในการให้ทาน
เราอยากจะเอาร่างกายของเรานี้แหละบริจาคเป็นทานบ้าง ถ้าเผื่อว่าจะมีใครๆ มาขอหัวใจหรือลูกนัยน์ตา เรายินดีจะควักออกให้ทันทีเลย หรือแม้กระทั่งใครๆ จะขอให้เป็นทาสรับใช้ เราก็จะ ประกาศตนเป็นทาสตามรับใช้เขาไปทุกหนทุกแห่ง"

          ทันใดนั้น มหาปฐพีซึ่งเสมือนรับรู้ความเป็นยอดนักบริจาค ถึงกับบังเกิดเสียงสะเทือนเลื่อนลั่นลึกลง ไปสุดก้นมหาสมุทร แม้ภูเขาพระสุเมรุก็ได้โน้มลงมาหันยอดไปยังพระนครเชตุดร ซึ่งเป็นที่ประทับของพระราชกุมาร
นอกจากนี้ มหาปฐพียังได้มี การหวั่นไหวสดุดีอีกหลายครั้ง ตั้งแต่การประทาน ช้างมงคลให้แก่ชาวกาลิงคะ ครั้งที่สร้างมหาทาน ๗ ชนิดๆ ละ ๗๐๐ ก่อนเสด็จเข้าสู่ป่าและในครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ การบริจาคโอรส ธิดา และ พระชายา

ปัญจมหาบริจาค สิ่งที่ให้ได้ยากที่สุด
       ถือเป็นประเพณีของพระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ไม่เฉพาะแต่พระเวสสันดร
ต้องได้บำเพ็ญมหาบริจาค ๕ อย่าง อันได้แก่ ๑. ทรัพย์ ๒. อวัยวะ ๓. ชีวิต ๔. บุตรผู้เป็นที่รัก ๕. ภรรยาผู้เป็นที่รัก ถือว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ยากยิ่งเพราะเป็นวิสัยของนิยตโพธิสัตว์เท่านั้นที่จะทำได้ ถือเป็นด่านทดสอบที่สำคัญในการ วัดกำลังใจก่อนที่จะตรัสรู้ การจะบรรลุเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า นอกจากสละสิ่งที่มีค่าแล้วยังต้องสละสิ่งที่เป็นที่รักด้วย หากพระองค์ไม่ยอมเสียสละจนถึงที่สุดแล้ว ก็จะไม่สามารถ"รื้อผัง แห่งความผูกพัน"ไปได้ เพราะการไปสู่ทางสายกลางนั้น จะต้องไม่ติดข้องในอะไรเลย

          เมื่อพราหมณ์ชูชกทูลขอกัณหาชาลีลูกรัก ทั้งสอง และพระอินทร์แปลงกายมาทูลขอพระชายา พระเวสสันดรก็ได้ประทานไปตามคำขอทั้งสิ้น และหากถูกทูลขอชีวิตของพระองค์แล้ว พระองค์ต้องบริจาคชีวิตตน เป็นทานอย่างแน่นอน เนื่องจาก ทรงเล็งเห็นอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ จึงทรงบริจาคผู้ที่พระองค์รักมากที่สุดยิ่งกว่าลมหายใจของตนเอง
ซึ่งทำไปก็มิใช่เพราะความเกลียดชังหรือความลำบาก ในการเลี้ยงดู แต่ทรงทำด้วยพระทัยที่สะอาดบริสุทธิ์ เพื่อแลกเดิมพันกับสิ่งๆ เดียวเท่านั้น นั่นก็คือ พระสัพพัญญุตญาณในหลายพระชาติเมื่อครั้งทรงบริจาคมหาทาน ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์ อวัยวะหรือชีวิต ก็จะทรงอธิษฐานตั้งจิตมั่นไปที่พุทธภูมิเพียงอย่างเดียวโดยไม่หลุดจากปณิธานเลย

วิสัยพระบรมโพธิสัตว์

        พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ทรงเห็นทุกข์ด้วยปัญญา ทนสร้างบารมีเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ ด้วยมหากรุณา อยากให้สรรพสัตว์หลุดพ้นจากทุกข์ ทั้งปวง ทรงยอมลำบากกว่าใครๆ เพื่อประโยชน์ใหญ่ ของสรรพสัตว์เพียงอย่างเดียว การบริจาคปัญจมหา บริจาค จึงนับว่าเป็นที่สุดแห่งการเสียสละในมุมมองของคนธรรมดาทั่วไปมักเอาตนเข้า ไปตัดสินความคิดของพระโพธิสัตว์ สิ่งที่เราคิดว่าพระองค์ไม่น่าทำนั้นเป็นเรื่องที่เราตัดสินไปเอง อาศัย ดวงปัญญาอันนิดน้อยเหมือนแสงหิ่งห้อยย่อมตามไม่ทันดวงปัญญาของพระโพธิสัตว์ซึ่งสว่างไสวเหมือน แสงตะวัน คนทั่วไปมองไม่เห็นกองเพลิงที่ลุกโชติช่วง บนภูเขาในเวลากลางคืน แต่พระโพธิสัตว์สามารถ เห็นกองเพลิงกองนั้น ได้ประดุจอยู่ตรงหน้า ท่านทรง ไปถึงจุดที่บารมีเต็มเปี่ยม ด้วยมองว่าเป็นการตัดกังวลเครื่องเหนี่ยวรั้ง จึงจะเอาตัวรอดหลุดพ้นจากทุกข์ได้ และยังสามารถที่จะกลับมาช่วยครอบครัวและชาวโลกให้พ้นตาม ดังในชาติสุดท้ายที่เป็น เจ้าชายสิทธัตถะ ก็ยังต้องสละตัดใจจากครอบครัวออกบวชแสวงหาพระนิพพาน ดุจดั่งในสมรภูมิสงคราม ถ้ารบชนะประเทศก็จะชนะไปด้วย พาให้ครอบครัวตนและผู้คนอื่นๆ ปลอดภัยตาม ทหารทางโลกตัดใจทิ้งครอบครัวเพื่อไปรบกับ อริราชศัตรู ส่วนเจ้าชายสิทธัตถะตัดใจจากครอบครัว เพื่อไปรบกับกิเลสซึ่งเป็นศัตรูที่แท้จริง แม้รู้ว่าจะได้รับความลำบากทุกย่างก้าว พระองค์ก็ยอมที่จะเลือกเป็นนักบวชมากกว่าเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เพราะทรงตระหนักว่านี่คือหนทางสู่สันติสุขภายในอย่างแท้จริง และเป็นทางสู่ความสุขอันเป็นอมตะ

วิสัยนักสร้างบารมี ผู้เป็นยุวโพธิสัตว

        จะเห็นได้ว่า พระบรมโพธิสัตว์ของเราทรงคำนึงถึงประโยชน์ใหญ่ของมนุษยชาติเป็นหลัก มิได้เห็น แก่ประโยชน์ส่วนตนเลย หากศึกษาแต่เพียงผิวเผิน ก็เหมือนดูละครไม่จบ อาจจะทำให้เข้าใจผิดว่าพระองค์เห็นแก่ตัวที่ทรงทอดทิ้งบุตรและภรรยา
แต่ความเป็นจริงพระองค์กำลังออกไปทำหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น คือ หน้าที่เป็นพ่อของโลกและจักรวาล คือ การเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

       คำสอน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ที่เราได้ศึกษากันนั้น ก็เกิดมาจากการเสียสละ "กองเลือดเนื้อและอวัยวะขนาดมหึมาท่วมท้นจักรวาล" ของพระองค์ ทั้งสิ้น ที่บริจาคไปกลั่นแลกเอาบารมี เพื่อมาเป็น ที่พึ่งให้แก่สรรพสัตว์แม้เรายังไม่อาจทำได้อย่างพระบรมโพธิสัตว์ แต่เราก็สามารถทำได้ในแบบฉบับอย่างยุวโพธิสัตว์
โดยเมื่อลืมตาตื่นในทุกวัน ให้หมั่นระลึกว่า ทำอย่างไร เราถึงจะสร้างมหาทานบารมีดั่งพระเวสสันดร ต้องขยายหัวใจของนักเสียสละว่า ทำอย่างไรจะให้ชีวิตอันน้อยนิดของเรานี้เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลกมากที่สุด ที่สำคัญเราต้องทำกันไปเป็นทีม ไม่มีใครล้ำหน้า ไม่มีใครน้อยหน้า แต่จะไปพร้อมหน้า สักวันหนึ่งทั่วทั้งภพสามและหมื่น โลกธาตุแสนโกฏิจักรวาล จะต้องแซ่ซ้องโมทนาหมู่คณะของเราว่า เป็นหมู่คณะนักสร้างบารมีที่เป็นยอดนักให้ผู้ยิ่งใหญ่ อย่างแท้จริง

 
บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ 68 มิถุนายน ปี 2551

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล