ปกิณกธรรม
เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ. ๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ. ๙
วิสาขา ยอดอุปัฏฐายิกา
มหาอุบาสิกาแก้ว
วิสาขาเป็นธิดาของธนัญชัยเศรษฐีกับนางสุมนาเทวี อาศัยอยู่ในภัททิยนคร แคว้นอังคะ ตอนที่นางวิสาขามีอายุได้ ๗ ขวบ นางได้สร้าง วีรกรรมที่เด็กหญิงทั่วไปทำได้ยาก คือ นางได้พาบริวาร ๕๐๐ คน ไปต้อนรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เสด็จมาที่ภัททิยนคร ครั้นได้ฟังธรรมแล้ว ทั้งหมด ก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน
วิสาขา วัยรุ่น ไม่วุ่นวาย
ต่อมา นางย้ายเมืองไปอยู่ที่แคว้นโกศล เมื่อ โตเป็นสาว นางเป็นหญิงที่พร้อมด้วยลักษณะเบญจกัลยาณี คือ มีความงาม ๕ อย่าง ได้แก่ ผมงาม ริมฝีปากงาม ฟันงาม ผิวงาม วัยงาม มิคารเศรษฐีได้ส่งทูตมาขอนางแต่งงานกับลูกชาย ชื่อปุณณวัฒนกุมาร พวกพราหมณ์สังเกตเห็นหญิงสาวคนอื่น ๆ ต่างวิ่งเข้าไปในศาลาเพื่อหลบฝน แต่วิสาขากลับเดิน ด้วยอาการปกติ จึงถามดูว่า ทำไมไม่รีบวิ่งหลบฝนวิสาขากล่าวด้วยน้ำเสียงที่ไพเราะว่า ไม่รีบร้อน เพราะมีเหตุ ๒ ประการ คือ
ประการแรก มีชนอยู่ ๔ จำพวก เมื่อวิ่งแล้ว ไม่งาม คือ
๑. พระราชาเมื่อทรงเครื่องประดับแล้ววิ่งย่อม ไม่งาม
๒. ช้างมงคลที่ประดับตกแต่งแล้ววิ่งย่อมไม่งาม
๓. บรรพชิตเมื่อวิ่งย่อมไม่งาม ย่อมถูกติเตียนว่า ทำไมจึงทำกิริยาเหมือนคฤหัสถ์
๔. สตรีเมื่อวิ่งย่อมไม่งาม ย่อมถูกติเตียนว่า ทำไมหญิงคนนี้จึงวิ่งเหมือนผู้ชาย
ประการที่ ๒ พ่อแม่เลี้ยงดูลูกสาวมาอย่าง ทะนุถนอม เพื่อจะให้แต่งงานในตระกูลดี ๆ ถ้าดิฉันวิ่งไปเหยียบชายผ้านุ่งแล้วลื่นล้ม ก็จะทำให้ท่านทั้งสองต้องเดือดร้อน ส่วนเครื่องประดับแม้เปียกฝนแล้วก็แห้งได้ เหตุนี้ดิฉันจึงไม่วิ่ง
พราหมณ์เห็นฟันของนางมีลักษณะเรียบสนิท จึงกลับไปเล่าเรื่องทั้งหมดให้ท่านเศรษฐีฟัง มิคาร-เศรษฐีจึงยกขันหมากไปสู่ขอนางทันที ฝ่ายพ่อของวิสาขาได้สำรวจทรัพย์สินของฝ่ายชาย ครั้นทราบว่า มีแค่ ๔๐ โกฏิ จึงคิดในใจว่า โอ้! สมบัติมีแค่ หยิบมือเดียว แต่ก็ไม่เป็นไร ขอให้เขาดูแลลูกสาวเรา ให้ดีก็แล้วกัน ในวันแต่งงาน พ่อของวิสาขาตั้งใจว่า จะมอบเครื่องประดับที่สวยงามที่สุดและมีมูลค่า แพงที่สุดในโลกให้ลูกสาว นั่นก็คือ เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ มูลค่า ๙ โกฏิ เครื่องประดับ มหาลดาปสาธน์นี้ เกิดจากผลบุญเมื่อครั้งอดีตชาติ ที่นางได้จัดเตรียมผ้าไตรจีวรถวายแด่ภิกษุ ๒๐,๐๐๐ รูป โดยมีพระกัสสปพุทธเจ้าเป็นประธาน
ลูกสะใภ้ยอดกัลยาณมิตร
เมื่อวิสาขาได้แต่งเข้าไปอยู่ในบ้านของมิคารเศรษฐีแล้ว มีอยู่วันหนึ่งเศรษฐีได้เชิญนักบวชชีเปลือย ๕๐๐ คน มารับประทานอาหาร เมื่อวิสาขาได้ยินว่ามีพระอรหันต์มาเป็นเนื้อนาบุญ จึงออกมาต้อนรับแต่เมื่อได้เห็นชีเปลือย เธอก็ตกตะลึง บอกพ่อสามีว่า พวกเปลือยกายเหล่านี้ไม่มีความละอาย ไม่ใช่พระอรหันต์หรอก ว่าแล้วก็เดินจากไป ส่วนพวก ชีเปลือยไม่พอใจวิสาขามาก จึงบอกให้เศรษฐีขับไล่ นางออกไปจากคฤหาสน์ เศรษฐีคิดว่า นางมาจากตระกูลใหญ่ จะไล่ออกไปดื้อ ๆ คงไม่ได้ จึงกล่าวว่า พวกท่านอย่าไปถือสาเด็กเลย ขอเชิญบริโภค อาหารต่อไปเถิด วันหนึ่ง วิสาขาได้นิมนต์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้มาฉันภัตตาหารที่บ้าน เมื่อพระพุทธองค์ฉันเสร็จแล้ว ทรงเทศน์ให้วิสาขาและบริวารฟัง ส่วนท่านเศรษฐีนั่งอยู่หลังม่านไม่กล้าออกมา เพราะนักบวชชีเปลือยห้ามเอาไว้ พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมที่ลุ่มลึกไปตามลำดับ ทำให้ท่านเศรษฐีแม้นั่งอยู่ หลังม่านก็ดื่มด่ำในรสพระธรรม จนได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ตั้งแต่นั้นมา ท่านเศรษฐีจึงหันมานับถือพระพุทธศาสนาจนตลอดชีวิต
วิสาขา สวยไม่สร่าง
นางวิสาขาเป็นผู้มีความงามตลอดทุกวัย แม้อายุมากถึง ๑๒๐ ปี ก็งามราวกับสาววัยรุ่น แม้อายุ มากผมก็ยังดกดำโดยไม่ต้องย้อม ด้วยอานุภาพแห่งบุญที่นางสั่งสมมา คือบุญที่ได้ถวายมหาสังฆทาน แด่พระภิกษุสงฆ์เรือนหมื่นอย่างต่อเนื่อง เมื่อนางวิสาขาเดินมาพร้อมกับลูก หลาน เหลน หน้าตาจะคล้าย ๆ กัน เหมือนวัยเดียวกัน ชนผู้มาใหม่ที่ไม่เคยเห็นนางวิสาขาต่างพากันสงสัยว่า คนไหนคือ นางวิสาขา ผู้ที่รู้จักนางวิสาขาจึงบอกว่า ผู้ที่สง่างาม ที่สุดนั่นแหละ คือ นางวิสาขา แม้ลูก หลาน เหลน จะมีลักษณะคล้าย ๆ นาง แต่ไม่ได้เหมือนกันทุกอย่าง เพราะทำบุญมาไม่เหมือนกัน
นอกจากนางวิสาขาจะมีความงามเป็นเลิศแล้ว นางยังมีกำลังเท่ากับช้าง ๕ เชือกอีกด้วย พระราชาอยากจะทดลองว่า นางจะมีแรงมากอย่างนั้นจริงหรือ ไม่ จึงได้ส่งช้างตกมันดุเชือกหนึ่งออกมาในขณะที่ นางกำลังกลับมาจากการฟังธรรม หญิงบริวารทั้ง ๕๐๐ คนของนางวิสาขา เห็นช้างแล้วต่างก็พากันวิ่งหนี แต่บางคนก็ไม่วิ่งหนีเพราะรักนางวิสาขา นางวิสาขารู้ว่า ถ้าเราจับช้างอย่างเต็มกำลังของเรา ช้างก็จะตาย เราก็จะบาป พระราชาก็จะเสียช้าง เราก็เสียศีลเพราะไปทำให้ช้างตาย นางมีอาการเป็นปกติ ราบเรียบแบบคนมีบุญ รู้พละกำลังของตัว เห็นช้างเหมือนเห็นตั๊กแตน ด้วยความเมตตาไม่อยากให้ช้างตาย นางวิสาขาเผชิญหน้ากับช้าง พร้อมกับส่งยิ้มแผ่เมตตา แต่ช้างไม่สนใจเพราะกำลังตกมัน ช้างวิ่งมาอย่างเร็วแรง เธอก็ใช้นิ้วจับไปที่งวงของช้างแล้วก็ผลักไปเบา ๆ ด้วยลีลาที่นุ่มนวล ช้างก็ไถลลื่นไปกับพื้น เสียการทรงตัว เกิดอาการงงงวยว่า มนุษย์ท่านนี้เป็นใคร ทำไมถึงมีกำลังมากเหลือเกิน ตั้งแต่เราเกิดมาไม่เคยเป็นอย่างนี้เลย ช้างตกตะลึง ถึงกับหายตกมันทันที หันหลังกลับเข้าโรงช้างด้วยอาการงุนงงและเชื่องยิ่งนัก
สร้างบุพพาราม อัครสถานแห่งบุญ
ต่อมานางวิสาขามีความปรารถนาจะสร้างวัด จึงขายเครื่องประดับซึ่งมีมูลค่า ๙ โกฏิ นางใช้ทรัพย์ในการซื้อที่ดิน ๙ โกฏิ ใช้เป็นค่าก่อสร้าง ๙ โกฏิ และทำการฉลองวิหารอีก ๙ โกฎิ รวมเป็น ๒๗ โกฏิ อาคารที่นางสร้างนั้น มี ๑,๐๐๐ ห้อง มี ๒ ชั้น ชั้นล่าง ๕๐๐ ห้อง ชั้นบน ๕๐๐ ห้อง นางประดับประดาตกแต่งวิหารบุพพารามจนวิจิตรงดงาม
กิจวัตรของยอดมหาอุบาสิกาแก้ว
กิจวัตรประจำวันที่วิสาขามหาอุบาสิกาแก้วทำ เป็นประจำจนตลอดชีวิต คือ
๑. ถวายผ้าอาบน้ำฝน ทุกปี
๒. ถวายภัตตาหารแด่พระที่เดินทางมาจากที่อื่นเป็นประจำ
๓. ถวายภัตตาหารแด่พระที่เตรียมจะเดินทาง ไปที่อื่นเป็นประจำ
๔. ถวายภัตตาหารแด่พระผู้อาพาธเป็นประจำ
๕. ถวายภัตตาหารแด่พระผู้เฝ้าไข้เป็นประจำ
๖. ถวายเภสัชสำหรับพระผู้อาพาธเป็นประจำ
๗. ถวายข้าวยาคูแด่พระภิกษุสงฆ์เป็นประจำ
๘. ถวายผ้าอาบน้ำฝนแด่ภิกษุณีเป็นประจำ
วิสาขา ญาติพระศาสนา
วิสาขานอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นยอดอุปัฏฐายิกา ที่ไม่มีใครทำได้ดีกว่าแล้ว นางยังเป็นต้นบุญต้นแบบ ในการชักชวนลูกหลานไปฟังธรรมที่วัดไม่เคยขาด นางไม่เคยไปวัดมือเปล่า ตอนเช้านางจะถวายข้าวต้ม ช่วงเพลก็ถวายภัตตาหารเพล ช่วงบ่ายถวายน้ำ ปานะ นางชักชวนญาติมิตรทั้งชายและหญิงไปบวช มากมายและอนุญาตให้ลูกชายบวชตลอดชีวิต บุตรชายของนางเมื่อบวชแล้วก็ตั้งใจปฏิบัติธรรมจนกระทั่ง ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ทำให้นางได้ชื่อว่าเป็นญาติพระศาสนาเต็มตัว เมื่อละโลกแล้ว นางได้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานนรดี เป็นเทพธิดาผู้มีรัศมีกายสว่างไสว
ทั้งหมดนี้ คือประวัติย่อ ๆ ของอุบาสิกาที่ประสบความสำเร็จในชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรม ทั้งในโลกมนุษย์และเทวโลก เป็นมหาอุบาสิกาที่เหล่า อุบาสิกาแก้วยุคนี้ควรศึกษาและเอาเป็นแบบอย่างใน การสร้างบารมีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพราะยุคนี้ คือยุคที่ เหล่าอุบาสิกาแก้วจะรวมพลังกันฟื้นฟูศีลธรรมโลก จะเป็นประดุจช้างเท้าหลังที่ทรงพลังในการขับเคลื่อน พระพุทธศาสนาให้เป็นศาสนาสากล และนำทุกคนมาเข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน ให้ผองชนทั่วหล้ารู้จัก หลักในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ปลอดภัย และมีชัยชนะไปทุกภพทุกชาติ