ทำไมเวลาทำบุญ
ต้องกรวดน้ำ
ทำไมเวลาทำบุญต้องกรวดน้ำ ธรรมเนียมการกรวดน้ำมีที่มาที่ไปอย่างไร ถ้าลืมกรวดน้ำจะมีผลอย่างไร?
ประเพณีกรวดน้ำเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนพระเจ้าพิมพิสาร ผู้สร้างวัดแรกในพระพุทธศาสนา ให้กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติในอดีตชาติ ที่ละโลกแล้ว ไปเกิดเป็นเปรต และมารอรับส่วนบุญอยู่นานเป็นพุทธันดร
แต่เนื่องจากพระเจ้าพิมพิสารระลึกชาติไม่ได้ จึงไม่ทรงทราบว่าญาติของพระองค์ในอดีตชาติ ไปเกิดเป็นเปรต และไม่ทรงทราบว่า เขามารอรับส่วนบุญส่วนกุศลอยู่นานเป็นพุทธันดรแล้ว เพราะฉะนั้นเวลาพระองค์ทำบุญก็เลยไม่ได้อุทิศส่วนกุศลให้ ญาติที่เป็นเปรตก็เลยยังเป็นเปรต ต่อไป
ญาติเหล่านั้นเป็นทุกข์หนัก ก็เลยปรากฏตัวให้เห็นว่า ตัวเองเป็นเปรต ส่งเสียงร้องโหยหวน อยู่ในวัง พระเจ้าพิมพิสารทรงเห็นเข้า ก็รีบเสด็จไปกราบทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ทำไมมีเปรตมาร้องลั่นอยู่เต็มวัง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เลยทรงเล่าเรื่องหนหลังให้ฟังว่า เปรตเหล่านี้คือญาติในอดีตชาติของพระเจ้าพิมพิสาร ในอดีตชาติพระเจ้าพิมพิสารทำบุญทำทาน ตั้งโรงทานเลี้ยงพระ เลี้ยงมหาชน แต่ว่าญาติเหล่านี้ไม่มีกุศลศรัทธา เลยยักยอกเอาของที่จะถวายสงฆ์ไปใช้ไปกินเป็นของตัว ละโลกไปแล้วเลยต้องไปเกิดเป็นเปรต
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำให้พระเจ้าพิมพิสารทำบุญเลี้ยงพระ แล้วกรวดน้ำอุทิศบุญ ส่งให้กับเปรตเหล่านั้น พวกเปรตเหล่านั้นพอได้รับส่วนบุญส่วนกุศลเท่านั้น ก็กลายสภาพไปเป็นเทวดาด้วยอำนาจบุญ
ถ้าทำบุญแล้วไม่อุทิศส่วนกุศล ตัวเองจะได้บุญหรือเปล่า ก็ต้องบอกว่าจะกรวดน้ำหรือไม่กรวดน้ำ อย่างไร ๆ เราก็ได้บุญของเราอยู่แล้ว แต่ถ้ากรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ญาติ ก็จะทำให้เขาพลอยได้รับส่วนบุญส่วนกุศลไปด้วย แล้วก็พลอยเป็นสุขเช่นเดียวกับเปรตญาติของพระเจ้าพิมพิสาร
เวลาเราอุทิศส่วนกุศลด้วยการกรวดน้ำ ให้ทำอุปมาในใจว่า สายน้ำที่รินลงไปนั้นก็เหมือนสายบุญ เมื่อเราอุปมาในใจอย่างนั้นแล้ว บุญเราไม่พร่องไปหมดหรือ ยุคนี้เศรษฐกิจรัดตัว กว่าจะได้เงินมาทำบุญก็ยาก แล้วเที่ยวไปอุทิศให้ใครต่อใครไปทั่ว บุญเราจะไม่หมดหรือ ขอตอบว่าไม่หมด
ทำไมไม่หมด ลองถามตัวเองดูก็ได้ว่า ถ้าเราปลูกกล้วยไม้กระถางหนึ่ง กล้วยไม้นี้พอถึงเวลาก็ออกดอกสวยงาม กลิ่นก็หอม แทนที่เราจะเอาไว้ดมคนเดียว ดูคนเดียว เอาไว้ในห้องนอนของเราเพียงลำพัง เราก็เอาไปตั้งกลางห้องรับแขก แล้วก็ชักชวนพรรคพวก เพื่อนฝูง ญาติสนิทมิตรสหาย มาดูกล้วยไม้สวย ๆ ของเรา แล้วมาช่วยกันดมความหอมนี้
ชวนเขามาตั้ง ๑๐ คน ๒๐ คน พอเขามาแล้ว เขาเห็นความสวยของกล้วยไม้เขาก็ชื่นใจทุกคน พอได้กลิ่นเขาก็หอมด้วยกันทุกคน ถามว่าญาติทั้ง ๑๐ คน ๒๐ คน มาชม มาดม กล้วยไม้ ของเราแล้ว ทำให้กล้วยไม้ของเราลดความสวยลงไปไหม ไม่ลด ลดความหอมลงไปไหม ไม่ลด
บุญที่เราอุทิศให้กับญาติของเราก็ไม่ได้พร่องไปเหมือนกัน พอญาติได้รับบุญที่เราอุทิศส่วนกุศลให้เท่านั้น ชื่นใจขึ้นมาเลย ความทุกข์คลายลงไป พอความทุกข์คลาย ก็นึกถึงความดี นึกถึง บุญในอดีตที่ตัวสร้างไว้ได้ พอนึกได้เท่านั้น บุญเก่ามาบรรจบกับบุญใหม่ที่เราอุทิศส่วนกุศลไปให้ สภาพเปรตหลุดไปเลย เกิดใหม่กลายเป็นเทวดานางฟ้าไปเลย
ถ้าจะว่าไปแล้ว การกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลเป็นเรื่องของคนใจใหญ่ คนมีจิตใจ เมตตากรุณา เพราะฉะนั้นปู่ย่าตาทวดถึงไม่ยอมพลาด ไหน ๆ ก็ได้บุญใหญ่แล้ว ทำไมไม่ทำใจให้ใหญ่เพิ่มขึ้นไปอีก ว่าแล้วก็คว้าขันน้ำกรวดน้ำกันไปเลย
"...ทำบุญทุกครั้ง กรวดน้ำให้ได้ทุกครั้ง ถ้าหาน้ำไม่ได้ ก็ทำใจให้นิ่ง ให้ใส ถ้าทั้งใส ทั้งสว่าง จนกระทั่งเห็นสายบุญ อย่างนั้นไม่ต้องใช้น้ำเลย สายบุญนี้จะตรงดิ่งไปหาผู้ที่เราต้องการให้ถึง อย่างนั้นไม่ต้องใช้น้ำในคนโทแล้ว" น้ำใจที่งาม ๆ ส่งถึงกันเลย เหมือนต่อเทียน ต่อไฟ ถึงเลย ทำไปเถิด ดีจริง ๆ