พระธรรมเทศนา
ตอนที่ ๕
พระธรรมเทศนา "สรีรัฏฐธัมมสูตร-ธรรมประจำสรีระ"
ข้อที่ ๙ ความสำรวมในอาชีพ
ความสำรวมในศีลหรือความสำรวมกายกับวาจานี้เอง ต่อมาได้กลายมาเป็นความสำรวมในอาชีพของเรา ซึ่งส่งผลมาถึงความทุกข์และความสุขในการดำรงชีวิตของเราเป็นอย่างมากอีกด้วย ดังได้กล่าวแล้วว่า การบรรเทาทุกข์ประจำสรีระนั้น เราจำเป็นต้องได้ ปัจจัย ๔ มาเติมธาตุ ๔ ให้กับร่างกาย เราได้อาหารมาเติมธาตุดิน เราได้น้ำมาเติมธาตุน้ำ เราได้เครื่องนุ่งห่มมาเติมธาตุไฟ เราได้ที่อยู่อาศัยมาเติมอากาศบริสุทธิ์และช่วยป้องกันภัยธรรมชาติ เราได้ยารักษาโรคมาบำบัดและบำรุงธาตุ ๔ ให้ร่างกายมีภูมิต้านทานสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ ที่รุมเล่นงานในคราวเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นต้น
แต่เนื่องจากปัจจัย ๔ เหล่านี้ เราต้องไปประกอบอาชีพต่าง ๆ เพื่อให้ได้ปัจจัย ๔ มาเติมธาตุ ๔ ให้ตัวเรา และโดยที่อุปกรณ์สำคัญที่ใช้ในการแสวงหาปัจจัย ๔ ก็คือ "กาย" กับ "วาจา" ของแต่ละคน กายกับวาจาที่ใช้รักษาศีลและกายกับวาจาที่ใช้ประกอบอาชีพ ก็คือกายกับวาจาของคน ๆ เดียวกัน
ดังนั้น "ความสำรวมในอาชีพ" จึงหมายถึง การเลี้ยงชีพด้วยการไม่ฆ่า ไม่ลัก ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดเท็จ ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ โดยสรุปก็คือ "การเลี้ยงชีพโดยไม่ทำผิดศีล" นั่นเอง
สิ่งที่ต้องระมัดระวังให้ดี ก็คือ หากเราแสวงหาปัจจัย ๔ มาด้วยความไม่สำรวม ในศีล ปัจจัย ๔ ที่ได้มาก็ไม่บริสุทธิ์ เพราะได้มาด้วยพฤติกรรมที่ไม่บริสุทธิ์ อาชีพที่ทำนั้นก็เป็นอาชีพที่ไม่บริสุทธิ์ ธาตุ ๔ ที่เติมเข้าไปก็เป็นธาตุไม่บริสุทธิ์ตามไปด้วย ทำให้อัตราการตายของเซลล์ในร่างกายเพิ่มขึ้นตามไปอีกด้วย ทุกข์โทษต่าง ๆ ก็จะเกิดขึ้นกับชีวิตตามมาอีกมากมาย ด้วยเหตุนี้ ความเข้าใจถูกในเรื่องความสำรวมในอาชีพนั้น จึงมีความ สำคัญต่อชีวิตของคนเราอย่างมาก เพราะทำให้เราสามารถแยกแยะได้ว่า
ประการที่ ๑ การดำรงชีพของมนุษย์กับสัตว์มีความแตกต่างกันอย่างไร
ประการที่ ๒ กรรมดี-กรรมชั่วที่เกิดขึ้นจากการประกอบอาชีพมีความแตกต่างกันอย่างไร
ประการที่ ๓ สัมมาอาชีพกับมิจฉาอาชีพมีความแตกต่างกันอย่างไร
ผลจากการที่เราสามารถแยกแยะ ๓ เรื่องนี้ได้ก็คือ ทำให้เราสามารถแยกแยะตัดสินได้ ว่า อะไรถูก-ผิด ดี-ชั่ว บุญ-บาป ควรทำ-ไม่ควรทำ ทำให้สามารถลดปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ ที่เกิดจาก "ปัญหาการดำรงชีพ" และ "ปัญหาการอยู่ร่วมกัน" ลงไปได้อย่างมาก
๙.๑ การดำรงชีพของมนุษย์กับสัตว์มีความแตกต่างกันอย่างไร
มนุษย์กับสัตว์นั้น ต่างก็ยังมีธาตุในตัวที่ไม่บริสุทธิ์ จึงต้องเติมธาตุ ๔ ให้กับร่างกายของตัวเองเช่นเดียวกัน แต่การเติมธาตุ ๔ ของมนุษย์กับสัตว์มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
สัตว์เติมธาตุ ๔ ด้วยวิธีการที่ตรงไปตรงมา ไม่สลับซับซ้อน ขณะที่มนุษย์ต้องทำงาน หลายขั้นตอน จึงจะได้ปัจจัย ๔ มาเติมธาตุ ๔ ให้ตนเอง การเติมธาตุ ๔ ของมนุษย์ จึงมีความสลับซับซ้อนกว่าสัตว์มากมายนัก
ยกตัวอย่างเช่น
การเติมธาตุน้ำ เมื่อสัตว์กระหายน้ำ ก็จะเดินตรงไปที่แหล่งน้ำ แล้วดื่มน้ำดับกระหาย สัตว์เติมธาตุน้ำเข้าไปอย่างตรงไปตรงมาแบบนี้ ขณะที่มนุษย์มีเครื่องดื่มทั้งดีและทั้งเลวสารพัดชนิด บางคนกระหายน้ำแทนที่จะหาน้ำดื่ม กลับไปดื่มเหล้า บางคนดื่มทั้งเหล้า ดื่มทั้งเบียร์ บางคนดื่มไวน์ที่ราคาสุดแสนแพง ขวดละเป็นแสน ๆ ก็มี มนุษย์เติมธาตุน้ำด้วยความสลับซับซ้อนแบบนี้
การเติมธาตุลม สัตว์สูดหายใจเอาอากาศบริสุทธิ์เข้าไปให้เต็มปอด แล้วก็หายใจ เอาอากาศเสียออกมา ตรงไปตรงมาแบบนี้ ขณะที่มนุษย์มีน้ำหอมสารพัดกลิ่น มีทั้ง กลิ่นกุหลาบ กลิ่นส้ม กลิ่นมะลิ บางครั้งก็มีเครื่องปรับอากาศ เป่าอากาศเย็น ๆ ไว้ในห้อง อีกด้วย มนุษย์เติมธาตุลม ด้วยความสลับซับซ้อนแบบนี้
การเติมธาตุดิน สัตว์กินพืชก็ไปหาหญ้ากิน ส่วนสัตว์กินเนื้อก็ไปตะปบเหยื่อกิน แต่มนุษย์ไม่ใช่อย่างนั้น เพื่อที่จะให้ได้อาหารมาสักมื้อหนึ่ง จะต้องไปไถพื้นดิน ไปหว่านพืช ไปพรวนดิน ไปปลูกพืช ไปรดน้ำ ไปใส่ปุ๋ย ไปไล่แมลง ไปเก็บเกี่ยว ไปทำการค้าการขาย ทำการตลาดกันอีกสารพัด จึงจะได้วัตถุดิบมาทำอาหาร ซึ่งต้องผ่านการปรุงอีกหลาย ขั้นตอน จึงจะได้อาหารมากินสักมื้อหนึ่ง มนุษย์เติมธาตุดินด้วยความสลับซับซ้อนแบบนี้
การเติมธาตุไฟ สัตว์ไปนอนผึ่งแดดให้ตัวอุ่นสักพักหนึ่ง มันก็หายหนาวแล้ว แต่มนุษย์ไม่ใช่แบบนั้น ต้องไปหาเครื่องนุ่งห่มมาสวมใส่กันหนาว แต่ขั้นตอนการผลิตที่กว่าจะได้เครื่องนุ่งห่มมาสักชิ้นนั้น มีความสลับซับซ้อนอีกหลายขั้นตอน เริ่มตั้งแต่พวกหนึ่งต้องปลูก ฝ้าย ปลูกป่าน เพื่อเอามาปั่นเป็นเส้นด้ายไว้ใช้ทอผ้า พวกหนึ่งไปล่าสัตว์มาถลกหนังบ้าง ตัดขนบ้าง เพื่อทำเป็นเสื้อผ้า กว่าจะได้เสื้อผ้ามาเติมธาตุไฟให้ร่างกายเกิดไออุ่นไว้ป้องกัน ความหนาว ก็ต้องผ่านขั้นตอนซับซ้อนแบบนี้
จากตัวอย่างที่ยกมานี้ ย่อมชี้ให้เราเห็นว่า การเติมธาตุ ๔ ของมนุษย์นั้น มีหลายขั้นตอน เริ่มจากการหาปัจจัย ๔ เป็นตัวบังคับให้ต้องทำงานอาชีพ เมื่อทำงานอาชีพจึงได้เงินมา เมื่อได้เงินมาแล้ว จึงนำเงินนั้นไปซื้อปัจจัย ๔ มาใช้เติมธาตุ ๔ ให้กับร่างกาย
ตรงนี้เอง ที่มนุษย์หลุดประเด็นสำคัญกันทั้งโลก เพราะเมื่อถามว่า "เราทำงานไปทำไม" คนส่วนมากก็มักจะตอบว่า ทำงานเพื่อหาเงิน น้อยคนนักที่จะตอบว่า เพื่อเติม ธาตุ ๔ ให้กับร่างกาย ผลที่ตามมาก็คือ เราจะแยกระหว่างกรรมดีกับกรรมชั่วไม่ออก ต่อจากนั้นเราก็จะแยกงานดีกับงานชั่วไม่ออกตามมาอีกด้วย
๙.๒ กรรมดี-กรรมชั่วที่เกิดขึ้น จากการประกอบอาชีพ มีความแตกต่างกันอย่างไร
แท้ที่จริงแล้ว ในขณะที่เรากำลังทำงานอาชีพอยู่นั้น เราได้ถูกบังคับให้ "ทำกรรม" ไปด้วย
คำว่า "กรรม" เป็นคำกลาง ๆ มีทั้ง "กรรมดี" และ "กรรมชั่ว"
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบว่า การดำเนินชีวิตของทุกคนในโลกนี้ล้วนตกอยู่ภายใต้ กฎแห่งกรรม ด้วยกันหมดทั้งสิ้น ดังธรรมภาษิตที่ปรากฏในจูฬนันทิยชาดก ว่า
คนทำกรรมใดไว้ ย่อมเห็นกรรมนั้นในตน
คนทำกรรมดี ย่อมได้รับผลดี
คนทำกรรมชั่ว ย่อมได้รับผลชั่ว
คนหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น
จากความจริงในเรื่องกฎแห่งกรรมนี้เอง ทำให้เราได้ทราบว่า ในการทำงานอาชีพนั้น ถ้าหากเราเลือกอาชีพถูก ก็เท่ากับว่าเรากำลังทำกรรมดี หรือเรากำลัง ทำอาชีพที่เป็น กรรมดี เงินทองที่ได้รับตอบแทนมานั้น ก็เป็นเงินที่มาจากการทำกรรมดี แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราเลือกอาชีพผิด ก็เท่ากับว่าเรากำลัง "ทำอาชีพที่เป็นกรรมชั่ว" ในขณะที่เรา ทำงานอยู่นั้น ก็กลายเป็นว่ากำลังก่อกรรมชั่วอยู่ด้วย
บางคนอาจจะแย้งว่า การประกอบอาชีพไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องกรรมดี-กรรมชั่ว เพราะไม่ว่าจะทำอาชีพดีหรืออาชีพเลว ก็ได้เงินเหมือนกันหมด จึงไม่จำเป็นต้องสนใจว่า อาชีพนั้นเป็นสัมมาอาชีพหรือมิจฉาอาชีพ แต่ถ้าได้ไตร่ตรองให้ลึกซึ้งแล้ว ก็จะพบว่า เงินที่ได้รับจากสัมมาอาชีพกับมิจฉาอาชีพนั้น ไม่ว่าจะกี่ร้อย กี่พัน กี่ล้านก็ตาม สิ่งที่ได้รับกลับมานั้น แตกต่างกันยิ่งกว่าฟ้ากับดินหลายประการ กล่าวคือ
๑ "ความสะอาด" กับ ความสกปรก ของเงินที่ได้รับกับความแปรเปลี่ยนของธาตุในตัว ก็แตกต่างกัน
๒ อัตราการตายการเกิดของเซลล์ ในขณะที่ประกอบอาชีพดีกับอาชีพชั่ว ก็แตกต่าง กัน
๓ "สุขภาพกาย" กับ สุขภาพจิต อันเนื่องมาจากการใช้ชีวิตในแต่ละวัน ก็ แตกต่างกัน
๔ "ความสุข" กับ ความทุกข์ ในการแสวงหา การเก็บรักษา การใช้เงินก้อนนั้นเลี้ยงชีวิต ก็แตกต่างกัน
๕ "นิสัยดี" กับ "นิสัยเลว" ที่ติดตัวไปตลอดชีวิต ก็แตกต่างกัน
๖ "บุญ" กับ "บาป" ที่ติดตัวไปข้ามภพข้ามชาติ ก็แตกต่างกัน
๗ "มิตร" กับ "ศัตรู" ที่เกิดจากอาชีพดีกับอาชีพชั่ว ก็แตกต่างกัน
๘ "ความรุ่งเรือง" กับ "ความตกต่ำ" ในชีวิตที่ได้รับในชาตินี้และในชาติหน้า ก็แตกต่างกัน
คนเรานั้นเมื่อทำอาชีพชั่ว ก็เท่ากับทำกรรมชั่วไปด้วย ธาตุในตัวก็สกปรกเพิ่มขึ้น เซลล์ในตัวก็ตายเพิ่มขึ้น สุขภาพกายก็โทรม สุขภาพใจก็เสื่อม ทั้งกายและใจก็มีแต่ทุกข์สถานเดียว นิสัยเลวก็เพิ่มขึ้น นิสัยดีก็ลดลง หรืออาจหมดไป แบกบาปเพิ่มขึ้น บุญลดลง ไม่มีมิตรดี มีศัตรูเพิ่มขึ้น ชีวิตในชาตินี้ตกต่ำยังไม่พอ ชีวิตในชาติต่อไปยังจะตกต่ำยิ่งกว่า อาจ ตกต่ำถึงขั้นตกนรก พ้นจากนรกก็ไปเกิดเป็นเปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน นี่คือ "เส้นทางชั่ว" ที่ "ผู้ประกอบอาชีพที่เป็นกรรมชั่ว" จะต้องได้รับ "ผลวิบากของกรรมชั่ว" อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงเลย
ในทางตรงกันข้าม "ผู้ประกอบอาชีพที่เป็นกรรมดี" ย่อมเดินอยู่บน "เส้นทางแห่งความดี" ย่อมจะได้รับ "ผลวิบากของกรรมดี" อย่างแน่นอน เพราะเมื่อเรามองว่า ทำงานเพื่อหาเงินมาเติมธาตุ ๔ ให้ตัวเรา ความสำรวมในอาชีพก็จะเกิดขึ้น ความรู้ประมาณในการหา การเก็บ การใช้ให้พอดีกับร่างกายก็จะตามมา ความทุกข์ย่อมลดลง จิตใจย่อมบริสุทธิ์สะอาด อัตราการตายของเซลล์ย่อมน้อยลง มีสุขภาพกายดี มีสุขภาพจิตเยี่ยม ได้นิสัยดี ๆ ได้มิตรเพิ่มขึ้น ได้บุญเพิ่มขึ้น ได้ความเจริญรุ่งเรืองในชาตินี้ ซึ่งจะต่อเนื่องไปถึงชาติหน้าอีกด้วย
ดังนั้น การพิจารณาความเจริญก้าวหน้าในชีวิตของคนเรา จึงดูแต่จำนวนเงินหรือ ผลประโยชน์ที่ได้รับมาไม่ได้ จะต้องคำนึงถึงเส้นทางของความดีกับเส้นทางของความชั่วด้วย
เพราะผลบั้นปลายที่ได้รับจากกรรมชั่วนั้นร้ายแรงเกินกว่าที่เราคาดคิดมากมายนัก เมื่อ ถึงคราวละโลก เงินทองนั้นไม่ว่าหามาได้มากเท่าใด ก็ต้องทิ้งไว้เบื้องหลังทั้งหมด มีแต่บาปกรรมเท่านั้นที่ติดตัวเราไปตลอด ทำให้ชีวิตต้องพบกับความยากจน ความเจ็บป่วย ความโง่เขลาตามติดไปอีกหลายภพหลายชาติ และยังต้องไปตกนรกหมกไหม้จนไม่ได้ผุด ได้เกิดกลับมาเป็นมนุษย์อีกด้วย
๙.๓ เส้นทางของสัมมาอาชีพกับมิจฉาอาชีพมีความแตกต่างกันอย่างไร
เมื่อเราแยกแยะความแตกต่างระหว่างกรรมดีกับกรรมชั่วจากการประกอบอาชีพได้แล้ว เราก็จะพบว่า ด้วยหลัก กฎแห่งกรรม นี้เอง ช่วยให้สามารถแบ่งอาชีพของคนเราได้เป็น ๒ ประเภท คือ
๑ สัมมาอาชีพ คือ ผู้เลี้ยงชีพด้วยการสร้างกรรมดี
๒ มิจฉาอาชีพ คือ ผู้เลี้ยงชีพด้วยการสร้างกรรมชั่ว
คนทั้งสองประเภทนี้ ถ้าดูอย่างผิวเผินอาจเห็นว่าเดินอยู่บนเส้นทางคนละเส้น ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างเดิน ไม่มีวันที่จะมาบรรจบร่วมทางกันได้
แต่ความจริงแล้ว คนทั้งสองประเภทนี้เดินอยู่บนเส้นทางเดียวกัน เพราะไม่ว่าคนดีหรือคนชั่วประกอบอาชีพ ก็ทำกรรมอยู่บนเส้นทางเดียวกัน นั่นคือ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ แต่สิ่งที่แตกต่างกัน ก็คือ อยู่ใน ทิศทางที่ตรงกันข้าม บนเส้นทางเดียวกัน
ดังนั้น ทางดีกับทางชั่ว จึงมิได้อยู่กันคนละเส้นทาง แต่อยู่บนเส้นทาง กฎแห่งกรรม เดียวกัน ทว่าเดินสวนทางกันคนละเป้าหมาย คนละทิศทาง คนละแรงผลักดัน ผลบั้นปลาย จึงออกมาแตกต่างกัน
ตัวอย่างเช่น คนสองคน คนหนึ่งชั่ว คนหนึ่งดี คนชั่วเลี้ยงชีพด้วยการทุจริตหลอกลวง ส่วนคนดีเลี้ยงชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ทั้งสองคนนี้ทำงานหาทรัพย์มาได้เหมือนกัน แต่การกระทำในขณะที่กำลังประกอบอาชีพย่อมต่างกันอย่างแน่นอน
คนที่เลี้ยงชีพด้วยการทุจริต ก่อนจะหลอกลวงผู้อื่นได้นั้น จะต้องโกหกตัวเองอย่างน้อยที่สุดสามครั้ง ครั้งแรกคือสร้างเรื่องโกหก ครั้งที่สองคือโกหกสมความตั้งใจ ครั้งที่สามคือตามจำเรื่องที่เคยโกหกไว้ให้ขึ้นใจ หลังจากนั้นเป็นต้นไป สิ่งที่เขาหวาดระแวงที่สุดก็คือ การ ถูกจับโกหกได้ ดังนั้น เพื่อปกปิดไม่ให้ความจริงเปิดเผยออกมา เขาก็ต้องทำชั่วเพิ่มขึ้น ซ้ำแล้วซ้ำอีก เขาก็ต้องตามโกหกเรื่องนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีกไปตลอดชีวิต
สิ่งที่น่าคิดก็คือ คนที่วันหนึ่ง ๆ ต้องตามจำเรื่องโกหกหลาย ๆ เรื่องไปจนตลอดชีวิต จะมีความสุขได้อย่างไร เพราะไม่ว่าไปทำงานการใด ก็ต้องคอยหวาดระแวงว่า ความเท็จ ที่ปกปิดไว้จะถูกเปิดโปงอยู่ตลอดเวลา เมื่อต้องหวาดระแวงแบบนี้อยู่ทุกวัน สุขภาพกาย ก็โทรม สุขภาพจิตก็ย่ำแย่ ผลสุดท้ายก็กลายเป็นคนที่สับสนระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องที่ตนโกหกไว้ ต้องกลายเป็นคนป่วยด้วยโรคประสาทหลอนบ้าง โรคความจำเสื่อมบ้าง ซึ่งเป็น ผลกรรมที่เกิดจากการหลอกลวงผู้อื่น แต่ต้องโกหกตัวเองตลอดชีวิตนั่นเอง
เมื่อเรามีความเข้าใจมาถึงตรงนี้ ก็จะเห็นภาพรวมของเส้นทางชีวิตแล้วว่า มนุษย์เริ่ม หลุดออกจากเส้นทางแห่งการทำกรรมดีเข้าสู่เส้นทางแห่งการทำกรรมชั่วตั้งแต่ไม่เฉลียวใจ คิดว่า เป้าหมายแท้จริงของการทำงาน ก็คือการเติมธาตุ ๔ ให้กับร่างกาย แต่เพราะเราไม่เฉลียวใจนี่เอง ปัญหาที่ตามมาก็คือ ไม่สามารถแยกแยะตัดสินว่าอะไรถูก-ผิด อะไร ดี-ชั่ว อะไรบุญ-บาป อะไรควรทำ-ไม่ควรทำ ได้ตรงตามความเป็นจริง ทำให้ก่อปัญหา ต่าง ๆ ขึ้นตามมาโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผลสุดท้ายก็คือ ได้ความทุกข์จากการดำเนินชีวิตไปในเส้นทางของกรรมชั่วอย่างถลำลึกโดยไม่รู้ตัว ชีวิตจึงต้องพบกับความตกต่ำทุกข์ยาก อีกมากมายนับไม่ถ้วน แต่สิ่งที่เลวร้ายกว่านั้น ก็คือ จิตใจจะถูกพอกพูน ห่อหุ้ม แช่อิ่ม หมักดอง ด้วย "อาสวกิเลส" ให้แน่นหนามากขึ้นไปอีก ทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารอย่างทุกข์ทรมานแสนสาหัสต่อไปอีกอย่างไม่มีวันจบสิ้น
(อ่านต่อฉบับหน้า)