วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ เส้นทางสู่พระโพธิญาณ

ปกิณกธรรม

เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ. ๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ.๙ / ภาพประกอบ : กองพุทธศิลป์

 



 

เส้นทางสู่พระโพธิญาณ

       เหล่าเทวดาในหมื่นโลกธาตุได้กล่าวสาธุการ แด่สุเมธดาบสโพธิสัตว์ว่า "พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายพึงบำเพ็ญบารมี ๑๐ ทัศ ให้เต็มเปี่ยมฉันใด ข้าแต่ท่านมหาวีระ ขอท่านจงบำเพ็ญบารมี ๑๐ ทัศ ให้เต็มเปี่ยมฉันนั้นเถิด"

         บารมีคืออะไร... ใครบ้างที่ต้องสร้างบารมี... ทำไมต้องสร้างบารมี... สร้างบารมีแล้วจะได้อะไร...

         บารมี หมายถึง ความเต็มเปี่ยม สูงสุดหรือสมบูรณ์ที่สุด ความสมบูรณ์ของชีวิตนั้นจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยการสั่งสมบุญกุศล บุญที่เราทำทีละเล็ก ทีละน้อยเมื่อกลั่นตัวมากเข้าจากดวงบุญก็กลายเป็นดวงบารมี ซึ่งจะต้องทุ่มเทสุดฤทธิ์สุดเดช ชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพันจึงจะกลายเป็นบารมี คนที่มีบารมี หมายถึงคนที่เข้าถึงความสมบูรณ์ของชีวิตทั้งรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ลาภ ยศ สรรเสริญ และมรรคผลนิพพาน

        การสร้างบารมีเป็นหน้าที่หลักของมนุษย์ทุกคน ซึ่งเป้าหมายหลักก็เพื่อหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ ถ้ามีบารมีมากก็สามารถเป็นที่พึ่งให้กับสรรพสัตว์ ได้อีกด้วย บารมีหลัก ๆ ที่พระโพธิสัตว์ประพฤติปฏิบัติกันมาคือ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี และอุเบกขาบารมี

 


 

          พระโพธิสัตว์เจ้านั้นท่านมีความคิดที่ยิ่งใหญ่เหนือมนุษย์ธรรมดา ยอมทำตนเป็นดุจสะพานให้คนอื่นข้าม ยอมทนทุกข์เพื่อความสุขของคนอื่น ท่านได้สละเลือดเป็นทานมากกว่าน้ำในมหาสมุทร สละ เนื้อมากกว่าแผ่นดินบนพื้นชมพูทวีป ควักลูกนัยน์ตา เป็นทานมากกว่าดวงดาวบนท้องฟ้า และตัดศีรษะเป็นทานมากกว่าผลมะพร้าวในชมพูทวีป ด้วยความ มีวิสัยทัศน์อันกว้างไกลว่า ตนเองได้เวียนตายเวียนเกิดอย่างนี้มานับภพนับชาติไม่ถ้วนแล้ว ถ้าทุกข์กาย ก็เหมือนยอมผ่าตัดเพื่อให้หายจากโรค ถ้าตายก็เป็น เพียงการเปลี่ยนภพภูมิใหม่ที่ดีกว่าเดิม การได้โอกาส สร้างบารมีนั้นนับเป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่ง เมื่อโอกาสดี มาถึงตัวแล้ว ท่านจึงไม่พลาดที่จะสร้างบารมีให้ ยิ่ง ๆ ขึ้นไป บารมีเปรียบเสมือนธรรมาวุธอันวิเศษที่สนับสนุนให้ก้าวขึ้นสู่ความเต็มเปี่ยมของชีวิต คือ หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ หากสร้างบารมีแบบพระบรมโพธิสัตว์ จะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหมือนท่านสุเมธดาบส ผู้ที่หากฟังธรรมจากพระทีปังกรพุทธเจ้า เพียงพระคาถา ๑ บท ก็จะได้บรรลุ เป็นพระอรหันต์ แต่เพราะจิตปรารถนาพุทธภูมิ อยากช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นจากทุกข์ จึงไม่ได้ฟังธรรม แต่เฟ้นหาพุทธการกธรรม ซึ่งเป็นธรรมที่จะทำให้เป็นพระพุทธเจ้า และมุ่งหน้าสร้างบารมี ชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพันเรื่อยมา ซึ่งท่านมีประวัติความเป็นมาที่ยิ่งใหญ่มาก

 


 

          สมัยนั้นสุเมธดาบสเกิดเป็นลูกชายคนเดียวของพราหมณ์ เรียนจบไตรเพทมีปัญญามาก เนื่องจากบิดามารดาเสียชีวิตตั้งแต่ท่านยังเป็นหนุ่ม ผู้จัดการกองมรดกจึงนำบัญชีทรัพย์สินมาให้ท่านดู และเปิดห้องหลายห้องที่เต็มไปด้วยรัตนะต่าง ๆ มีทอง เงิน แก้วมณี แก้วมุกดามากมาย อีกทั้งชี้แจงว่า ทรัพย์ทั้งหมดเหล่านี้เป็นของที่สืบทอดกันมา ๗ ชั่วอายุขัยของบรรพบุรุษ ขอให้ท่านเป็นผู้สืบทอด มรดกคนต่อไป

          เมื่อท่านเห็นสมบัติเหล่านั้นแล้ว แทนที่จะตื่นเต้นดีใจที่จะได้ใช้สมบัติเหล่านั้นอย่างฟุ่มเฟือย ท่านกลับสั่งสอนตนเองได้ว่าการเกิดใหม่บ่อย ๆ เป็นทุกข์การแตกดับแห่งสรีระในสถานที่เกิดแล้วเกิดเล่าเป็นทุกข์ เกิดมาก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายเหมือนชาวโลกทั่วไปควรแสวงหาทางที่ไม่ต้องมีการเกิด การตายท่านอุปมาไว้ว่า "เมื่อความเกิดมีอยู่ ความไม่เกิดก็ต้องมี เมื่อความร้อนมีอยู่ ความเย็นอันระงับ ความร้อนยังมีได้สถานที่ระงับกองไฟคือกิเลสก็ต้องมีแน่นอน  เมื่อภพมีอยู่ ภาวะที่ไม่ใช่ภพก็น่าจะมี คนบางคนเอาสมบัติมากมายเดินทางไปกับหมู่โจร เขาจำเป็นที่จะต้องละทิ้งพวกโจรไป เพราะกลัวสูญเสียทรัพย์ และเลือกเส้นทางที่เกษมปลอดภัยฉันใด กายอันเน่าเปื่อยนี้ก็ฉันนั้น เปรียบเสมือนโจรปล้นทรัพย์ ถ้าเรายึดมั่นถือมั่นในกายนี้ ทรัพย์คืออริยมรรคและกุศลธรรมของเราก็จักสูญไป เพราะฉะนั้นจึงควรละทิ้งกายนี้ แล้วเข้าสู่นิพพานอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ"

          จากนั้นท่านคิดต่อไปอีกว่า "บิดามารดารวบรวมกองทรัพย์ใหญ่นี้ไว้ เมื่อไปปรโลกแม้แต่กหาปณะเดียวก็เอาไปไม่ได้ ส่วนเราควรเปลี่ยนทรัพย์หยาบ ๆ นี้ให้เป็นอริยทรัพย์ที่จะติดตามตัวเราไปข้ามภพข้ามชาติ" ท่านให้ตีกลองร้องป่าวไปทั่วเมืองว่า "ใครอยากได้ทรัพย์สมบัติอะไร ก็ให้มาขนไปได้เลย" จากนั้นท่านก็เริ่มบริจาคมหาทานบารมี ใช้เวลาแจกจ่ายทรัพย์อยู่ ๗ วัน จึงได้ออกจากปราสาทไปบวชเป็นฤๅษีอยู่ตามลำพัง เนื่องจากท่านมีความตั้งใจมาก เพียง ๗ วันเท่านั้น ก็สามารถ ทำอภิญญาสมาบัติให้บังเกิดขึ้น สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ เป็นมหาฤๅษีที่มีตบะกล้ามาก ท่านหมั่นเจริญเมตตาไปยังสรรพสัตว์ทุกหมู่เหล่า เสวยสุขอยู่ในฌานสมาบัติเป็นเวลายาวนาน

 


 

          เมื่อท่านออกจากป่าและพบเห็นมหาชนทั้งหลายกำลังสร้างถนนหนทาง เพื่อใช้เป็นที่เสด็จไปของพระทีปังกรพุทธเจ้า ท่านรู้สึกปีติยินดียิ่ง และอยากได้บุญใหญ่ในครั้งนั้นด้วย จึงขอร่วมทำถนนด้วยเรี่ยวแรงของตนเอง ทั้งที่หากใช้ฤทธิ์ที่มีอยู่ จะเนรมิตถนนให้ดีเลิศแค่ไหนก็ได้ ท่านกลับนอนทอดร่างเป็นสะพานให้พระพุทธเจ้าได้เสด็จข้ามไป ซึ่งในวันนั้นสุเมธดาบสได้รับพุทธพยากรณ์ว่า อีก ๔ อสงไขยแสนมหากัป จะได้เป็นพระพุทธเจ้าพระนาม ว่า สมณโคดม เมื่อได้ฟังดังนั้น ท่านมีความปีติ  เบิกบานประหนึ่งว่า จะได้เป็นพระพุทธเจ้าในวัน รุ่งขึ้นทีเดียว

          นี่คือประวัติย่อๆ ของท่านสุเมธดาบสโพธิสัตว์ ผู้เห็นทุกข์เห็นโทษของการเกิดและการอยู่ครองเรือนว่า เป็นการต่อสังสารวัฏให้ยาวไกลออกไปอีก จนไม่สามารถมองเห็นฝั่งแห่งพระนิพพาน จึงออกบวช และสั่งสมบารมีเรื่อยมาเพื่อทำทศบารมีให้เต็มเปี่ยม ถึงขนาดมีอุปมาว่า "ธรรมดาของพระโพธิสัตว์เจ้า  แม้รู้ว่าจักรวาลทั้งหลายเต็มไปด้วยถ่านเพลิงซึ่งปราศจากเปลว เกลื่อนกล่นด้วยหอกและหลาว  ที่มีหนามแหลมเต็มไปหมด หากสามารถก้าวข้ามได้ จะได้ตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ตัดสินใจที่จะทอดเท้าก้าวข้ามไป เพื่อให้ได้มาซึ่งสัพพัญญุตญาณอันประเสริฐ"

          เพื่อเป็นการเจริญพุทธานุสติ สรรเสริญพระคุณอันไม่มีประมาณ และรำลึกถึงวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของพระบรมโพธิสัตว์ว่า กว่าจะนำหมู่สัตว์ข้ามพ้นสังสารวัฏไปได้  ต้องฝ่าฟันปัญหาและอุปสรรค อะไรบ้าง เดือนหน้าผู้เขียนจะขอน้อมนำประวัติ การสร้างบารมีของท่านจากพระไตรปิฎกมาถ่ายทอด  ให้สาธุชนผู้รักการสร้างบารมีทั้งหลายได้ศึกษากัน โดยหวังว่าจะก่อให้เกิดพลังใจในการสร้างบารมี เกิด พลังศรัทธาที่เปี่ยมล้นต่อพระบรมศาสดาว่ากว่าจะผ่านด่านพุทธการกธรรมมาได้นั้น เป็นสิ่งที่ต้องเอาชีวิตเข้าแลกทั้งสิ้น เมื่อตระหนักในพุทธคุณแล้วจะได้กราบนอบน้อมด้วยจิตเลื่อมใส และยิ่งถ้าปรารถนา จะสร้างบารมีไปสู่ที่สุดแห่งธรรมตามมหาปูชนียาจารย์ ต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพันอย่างไรบ้าง โปรดติดตามอ่านได้ในเดือนต่อไป..

พุทฺธา อจินฺติยา         พุทฺธธมฺมา อจินฺติยา

อจินฺติเยสุ ปสนฺนานํ       วิปาโก โหตฺยจินฺติโย

          พระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นอจินไตย พระธรรม ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นอจินไตย เมื่อบุคคลเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า และพระธรรมอันเป็นอจินไตย ย่อมมีวิบากเป็นอจินไตย

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล