วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ เศรษฐกิจต้องคู่ไปกับจิตใจ ตอนที่ ๒

พระธรรมเทศนา

 

 

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เคยทรงห้ามให้์รวย

                    ในเรื่องของความรวยกับความยากจน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เคยทรงห้ามลูกของพระองค์รวย
                    
                  ยกตัวอย่าง ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี หรือมหาอุบาสิกาวิสาขาจะรวยเท่าไร พระองค์ไม่เคยทรงห้าม ตรงนี้ต้องจับประเด็นให้ดี พระองค์ไม่เคย ตำหนิความรวย แต่ตรงกันข้ามทรงตำหนิความจนไว้ดังนี้

                     ความจนเป็นทุกข์ของคนในโลกที่ยังครองเรือนอยู่

                     คนจนเข็ญใจยากไร้ย่อมกู้หนี้ แม้การกู้หนี้ก็เป็นทุกข์ในโลก

                     ครั้นกู้หนี้แล้วก็ย่อมต้องใช้ดอกเบี้ย แม้การต้องไปใช้ดอกเบี้ย ก็เป็นทุกข์ในโลก

                     คนจนเข็ญใจยากไร้ ครั้นใช้ดอกเบี้ยแล้ว ไม่ให้ดอกเบี้ยตามกำหนดเวลา พวกเจ้าหนี้ย่อมตามทวงเขา แม้การถูกตามทวงหนี้ก็เป็นทุกข์ในโลก

                     คนจนเข็ญใจยากไร้เมื่อถูกเจ้าหนี้ทวง แล้วยังไม่มีให้ พวกเจ้าหนี้ก็เลยติดตาม แม้การถูกติดตามก็เป็นทุกข์ในโลก

                     คนจนเข็ญใจยากไร้ถูกเจ้าหนี้ติดตามทัน ยังไม่ทันจะให้คืน พวก เจ้าหน้าที่ก็จับเขามาจองจำเสียแล้ว แม้การถูกจองจำก็เป็นทุกข์ในโลก

                     สรุปว่า พระพุทธเจ้าไม่สรรเสริญความยากจนอย่างแน่นอน แล้วยังชี้โทษของความยากจนอีกด้วย เพราะตราบใดที่ยังครองเรือนอยู่ ความยากจนเป็นทุกข์ในโลกแน่นอน เพราะฉะนั้น เวลาพระภิกษุจะอวยพรให้ญาติโยมร่ำรวย จึงไม่ใช่สิ่งที่ผิด เพราะพระพุทธองค์ไม่ทรงห้ามไม่ให้รวย มีแต่ทรงสอนให้รวยทั้งทางโลกและทางธรรมควบคู่กันไปตลอดเวลา

รวยทางโลกแล้วต้องรวยทางธรรม

                    พระพุทธองค์นอกจากไม่ห้ามรวยแล้ว ยัง ทรงสอนให้รวย อย่างถูกหลักวิชชาอีกด้วย คือเมื่อคิดจะสร้างฐานะ ให้ร่ำรวยขึ้นมาแล้ว ก็มีเรื่องที่ต้องมองต่อให้ออกอยู่ ๓ ประเด็น คือ รวยแล้วจะทำอะไร จะรวยด้วยวิธีการอย่างไร และรวยแล้วจะทำอย่างไรต่อไป นั่นเป็นสิ่งที่ต้องคิดให้รอบคอบ และรัดกุม เพราะต้องไม่ลืมว่า ในยุคที่มนุษยโลกไม่รู้จักความยากจน ก็ยังเคยสร้างความเดือดร้อน จนเศรษฐกิจพังลงไปมาแล้ว

                     เราพูดว่า ความยากจนในทางโลกเป็นสิ่งย่ำแย่ แล้วความยากจน ในทางธรรมมีบ้างไหม พระพุทธองค์ก็ตอบไว้ชัดเจนว่า บุคคลผู้ยากจนในทางธรรม มี ๕ ประเภท ดังนี้

                    ๑. บุคคลผู้ไม่มีศรัทธาในกุศลธรรม คือ ผู้ที่ไม่ศรัทธาเรื่องบุญบาป ไม่ศรัทธาในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

                    ๒. บุคลผู้ไม่มีหิริ คือ ไม่ละอายบาป

                    ๓. บุคคลผู้ไม่มีโอตตัปปะ คือ ไม่เกรงกลัวต่อบาป

                    ๔. บุคคลผู้ไม่มีวิริยะ คือ ไม่มีความเพียรในกุศลกรรม

                    ๕. บุคคลผู้ไม่มีปัญญาในกุศลธรรม คือ พร้อมจะทำความชั่วเมื่อไรก็ได้

                    คนเหล่านี้ถือว่าเป็นคนยากจนในพระธรรมวินัย ของพระตถาคตเจ้า เพราะฉะนั้นพวกเราที่มาปฏิบัติธรรมกัน ก็เป็นเครื่องยืนยันว่า เราเป็นผู้มีความเพียร เป็นผู้มีปัญญา จึงมานั่งพิจารณาทบทวนตัวเองว่า จะวางแผนสร้างบุญสร้างกุศลต่อไปอย่างไรตลอดวัน ตลอดเดือน ตลอดปี ตลอดชาติ อย่างนี้เป็นความรวยในทางธรรมของเรา

                     ส่วนลูกหลาน สามี หรือภรรยาที่ยังไม่มาวัด นอกจากไม่มาแล้วยังค่อนขอด อยู่ที่บ้าน ขอให‰รู้ไว้เถิดว่า มนุษย์ยุคต้นกัปก็นั่งค่อนขอดกันอย่างนี้ นี่คือความวิบัติที่กำลังรออยู่ เพราะฉะนั้นต้องรีบแก้ไขตามเขามาวัดปฏิบัติธรรม

                    ทำไมต้องรีบชวนเขามาประพฤติปฏิบัติธรรมที่วัดด้วย เพราะว่าคนในโลกนี้ มีความเข้าใจความหมายของคนดีหลายระดับ คือ

                    กลุ่มที่ ๑ เข้าใจว่า คนดี คือ คนที่ทำความดีแล้ว อย่างนี้ใช้ได้

                    กลุ่มที่ ๒ เข้าใจว่า คนดี คือ คนที่ยังไม่ได้ทำความชั่ว อย่างนี้ตั้งอยู่ประมาท

                    กลุ่มที่ ๓ เข้าใจว่า คนดี คือ แม้ทำความชั่วแล้ว ก็ยังบอกว่าดี ถ้าอย่างนี้แย่ที่สุด ยากจะเยียวยาแก้ไข

                    แม้ตัวเราเองบางครั้งก็มองไม่ออก เมื่อก่อนจะเข้าวัดเผลอไปทำความชั่ว แต่คิดว่า ถึงเราจะชั่ว ก็ชั่วน้อยกว่าคนอื่น เพราะฉะนั้นเราก็คิดว่า ตัวเราดีแล้ว แต่จริงๆ ยังไม่ดี

                    ต่อมาพอเข้าวัดแล้ว ความชั่วสักนิดหนึ่งก็ไม่ทำ แต่ก็ยังไม่ทำดีอะไรกับเขาเลย แล้วหลง ตัวเองว่านั่นดีแล้ว อย่างนี้ก็ยังถือว่าประมาท

                    ต่อมาเข้าวัดเต็มตัวมากขึ้นทำให้เข้าใจว่า คนดี คือ คนที่ทำความดี เราก็ทำดีแล้ว แต่นานๆ จะทำบุญสักที นี่ก็ยังเป็นการทำความดีแบบ กระท่อนกระแท่น

                     กว่าเราจะบ่มอินทรีย์มาถึงวันนี้ คือมีศรัทธา สติ วิริยะ สมาธิ และปัญญาแก่กล้าขนาดที่ว่าทำบุญทุกบุญไม่ขาด บางคนหมดเวลาฝึกตัวเองไปเป็นปี บางคนหมดไปแล้วตั้งหลายๆ ปี บางคนหมดไปเป็นสิบๆ ปี กว่าจะได้อย่างนี้

                     ขอให้รู้ไว้เถิดว่า ถ้าใครได้ซาบซึ้งว่า คนดี คือ คนที่ตั้งใจทุ่มเททำความดี เขามีความเข้าใจมาถึงจุดนี้เมื่อไร ถึงแม้ในครอบครัวเราอาจจะไม่ได้เป็นมหาเศรษฐี เราก็ได้สั่งสมความร่ำรวยในทางธรรมไว้พอสมควรทีเดียว เป็นหลักประกันว่า เกิดกี่ภพ กี่ชาติจะไม่ยากจนอีกแล้ว

                     แต่ถึงกระนั้น รวยแล้วต้องรวยให้ครบ ต้องรวยทั้งทรัพย์สมบัติ รวยทั้งศีลธรรม แล้วนำธรรมะที่อุตส่าห์อบรมมาอย่างดีแล้วนี้ ไปพลิกกลับให้มาเป็นทรัพย์หล่อเลี้ยงชีวิต เป็นทรัพย์สำหรับจะเอามาทำทาน สร้างบุญกุศลให้ยิ่งๆ ขึ้นไปให้ได้ ถ้าอย่างนี้จึงจะได้ชื่อว่า รวยทั้งโลกิยทรัพย์ รวยทั้งอริยทรัพย์ ตรงนี้คือสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงต้องการให้ชาวโลกผู้ครองเรือนฝึกตนเองมาถึงจุดนี้ให้ได้

                     เพราะฉะนั้น ขอให้พวกเราไปสำรวจตรวจสอบตัวเองดูว่า ณ บัดนี้เราอยู่ตรงจุดไหน ถ้ารวยแล้วทั้ง ๒ อย่าง หลวงพ่อขออนุโมทนาด้วย แล้วอย่าลืมชวนคนที่บ้าน ต้องกลับไปทำหน้าที่กัลยาณมิตร ชักชวนเขาให้เข้ามาสู่เส้นทางธรรมตามเราไปด้วย เพื่อให้เขาและเรารวยทรัพย์และรวยศีลธรรมไปด้วยกัน มองภาพเหล่านี้ให้ชัด เราจึงจะมีสิทธิ์รวยเร็ว รวยแรง รวยรวด ทั้งทรัพย์สมบัติและบุญกุศลติดตัวข้ามภพข้ามชาติจนกว่าจะไปถึงที่สุดแห่งธรรม

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล