วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ กฐินทาน ฤดูกาลแห่งการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา

เรื่องเด่น
เรื่อง : พระมหาเสถียร  สุวรณฺณฐิโต ป.ธ. ๙

 

 

  กฐินทาน มิใช่เป็นเพียงประเพณีนิยม แต่เป็นกรณียกิจสำคัญที่ต้องทำให้สำเร็จลุล่วงตามพุทธประสงค์และถือเป้นทานอันประเสริฐที่ช่วยจรรโลงพระพุทธศาสนา

      การทำบุญทอดกฐินนี้ ถือว่าเป็นการให้โอกาส พระภิกษุสงฆ์ผู้อยู่จำพรรษาครบถ้วนไตรมาสแล้วได้ปฏิบัติสมณธรรม
อย่างมีความสุข ถือเป็นการให้กำลังท่านก็ว่าได้ เราถวายผ้าไตรซึ่งเป็นธงชัยของพระอรหันต์ จะทำให้ผิวพรรณวรรณะผ่องใส มีเสื้อผ้า อาภรณ์สวมใส่ เมื่อปรารถนาจะอุปสมบท ก็จะมีผู้สนับสนุนการบวช และภพชาติสุดท้ายจะได้บวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทาคือมีเครื่องอัฏฐบริขารเกิดขึ้นด้วยบุญฤทธิ์ ผ้าไตรจีวรจะเลื่อนลอยมาจาก ท้องนภากาศ แล้วสวมกายของผู้มีบุญท่านนั้นผมบนศีรษะและหนวดเคราจะหายไปอย่างอัศจรรย์ เป็นประดุจพระเถระมีพรรษา ๖๐ ทันที

         แต่หากวัดใดไม่มีโยมมาทอดกฐินเลย ก็จะเกิด อาการ"กฐินตกค้าง"เมื่อพระสงฆ์ไม่ได้กรานกฐิน ท่านก็ต้องลำบากในการบำเพ็ญสมณกิจหลายอย่าง เช่น หมดโอกาสได้อานิสงส์กฐิน ๕ ประการ แม้โยม เองก็คลาดจากบุญอย่างน่าเสียดาย เพราะฉะนั้น ท่านสาธุชนควรจะได้ศึกษาความสำคัญและบุญที่เกิดจากการทอดกฐินกัน เพื่อจะได้เกิดกำลังใจในการทำบุญทอดกฐินให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

       กฐิน๑ แปลว่า ไม้สะดึง คือกรอบไม้ที่ภิกษุใช้ขึงผ้าเพื่อเย็บจีวร เหตุที่นำชื่อนี้มาเรียกเป็นชื่อผ้า เพราะในสมัยพุทธกาลพระภิกษุต้องเย็บจีวรใช้เอง ไม่มีจีวรสำเร็จรูปขายตามท้องตลาดเหมือนในปัจจุบัน ภิกษุสงฆ์เมื่อจะเปลี่ยนจีวรใหม่จึงต้องลงมือเย็บจีวรด้วยตัวเอง แต่เนื่องจากพระไม่ค่อยชำนาญในการเย็บจีวร จึงต้องอาศัยไม้สะดึงเข้าช่วย ในการกะ เย็บ ตัดเป็นต้น

        ส่วนการทำจีวรใช้เองของพระนั้น ทำกันปีละครั้ง คือ ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงกลางเดือน ๑๒ รวมเวลา ๒๙ วัน เรียกว่า จีวรกาล ต่อมา ทรงอนุญาตให้พระสงฆ์รับผ้าที่ชาวบ้านถวายเป็นกรณีพิเศษในโอกาสนั้นได้ ผ้าที่ถวายในเขตจีวรกาล จึงเรียกว่า ผ้ากฐิน แม้ปัจจุบันจะเป็นผ้าสำเร็จรูป ไม่ต้องใช้ไม้สะดึงเหมือนสมัยก่อน ก็ยังนิยมเรียกว่า ผ้ากฐินกันอยู่ เพื่อรักษาเรื่องราว
ดั้งเดิมเอาไว้

"ทอด" กับ"ถวาย" ต่างกันอย่างไร

       คำว่า"ทอด" ที่ใช้แทนคำว่า"ถวาย" นั้น เป็นกิริยาที่มอบผ้าชนิดนี้ให้พระสงฆ์ คือผ้าอื่นๆ นิยมน้อมส่งให้กับมือพระโดยประเคนถวายเลย ส่วนผ้ากฐินนี้ ไม่นิยมถวายกับมือพระ เพราะถือว่าเป็นสังฆทาน ไม่เจาะจงผู้รับ เพียงแต่น้อมเข้าไป วางทอดไว้ต่อหน้าพระสงฆ์ก็พอ แล้วทอดธุระให้ พระสงฆ์จัดการตามพระวินัยกันเอง ด้วยเหตุนี้ การถวายผ้ากฐินจึงใช้คำว่า"ทอดกฐิน" มาแต่สมัยพุทธกาล

ประวัติการทอดกฐิน

 

         ในสมัยหนึ่ง เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดพระเชตวัน เมืองสาวัตถี ตอนนั้นมี พระพุทธานุญาตให้พระภิกษุอยู่จำพรรษากันแล้ว ต่อมามีพระภิกษุชาวเมืองปาฐา ๓๐ รูปเดินทางไกล มาเพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธองค์แต่พอมาถึงเมืองสาเกต ซึ่งอยู่ห่างเมืองสาวัตถี ๖ โยชน์ ก็พอดีถึงวันเข้าพรรษา เสียก่อน จึงจำเป็นต้องเข้าจำพรรษาณ เมืองสาเกต พอออกพรรษาจึงรีบเดินทางไปเข้าเฝ้าพระศาสดา แต่เพราะฤดูฝนยังไม่สิ้น การเดินทางจึงลำบากมาก หนทางมีน้ำเจิ่งนองทำให้ภิกษุเหล่านั้นเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ด้วยจีวรที่เปรอะเปื้อนและขาดชำรุดในระหว่างเดินทาง พระบรมศาสดาทอดพระเนตรเห็น จึงมีพระบรมพุทธานุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษา ได้รับผ้ากฐินที่ชาวบ้านจัดมาถวายเพื่อเปลี่ยนจีวรได้ ตั้งแต่นั้นมา จึงมีประเพณีการทำจีวรและการถวายจีวรกฐินกันขึ้น

 

 

เครื่องกฐิน

       ในการทอดกฐิน สิ่งที่จำเป็นที่สุดก็คือผ้ากฐิน ผ้ากฐินนั้นมีเพียงผืนเดียวเท่านั้น จะเป็นผ้าสำเร็จรูป ผืนใดผืนหนึ่งในไตรจีวร คือเป็นสังฆาฏิ จีวร หรือ สบงก็ได้ ผ้านอกจากนั้นจัดเป็น"บริวารกฐิน" การถวายผ้ากฐินทั้งไตรก็เป็นผ้ากฐินเพียงผืนเดียว แล้วแต่ภิกษุผู้ครองกฐินจะกำหนดว่าเป็นผืนใด ส่วนมากก็ใช้สังฆาฏิเป็นผ้ากฐิน ส่วนที่เหลือก็เป็นบริวารกฐินไป เช่น เสื่อ หมอน มุ้ง ผ้าห่ม ร่ม รองเท้า ยารักษาโรค เป็นต้น แต่กฐินในปัจจุบันมุ่งหมายกันที่ปัจจัยสำหรับทำนุบำรุงวัด

ประเภทกฐิน

๑. กฐินต้น คือ กฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชศรัทธาสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเอง ตามวัดที่ทรงพอพระราชหฤทัย เรียกชื่อเต็มว่า พระกฐินต้น

๒. กฐินหลวง คือ กฐินที่ทอดตามพระอาราม หลวงทั่วพระราชอาณาจักร ซึ่งมีทั้งแบบเสด็จพระราชดำเนินเอง เรียกว่า พระกฐินพระราชดำเนิน หากทรงพระราชทานแก่เจ้าขุนมูลนายพระองค์ ใดพระองค์หนึ่งแทน เรียกว่า พระกฐินหลวงพระราชทาน หากเป็นพระกฐินที่พระราชทานแก่กระทรวง ทบวง กรมหรือหน่วยราชการไปทอด ตามพระอารามหลวงที่เหลือ เรียกว่า พระกฐินพระราชทาน

๓. กฐินราษฎร์ คือกฐินที่ราษฎรจัดทอดกันเองตามวัดราษฎร์ต่างๆ จัดเป็นส่วนบุคคลก็มี เรียกว่า กฐินจองจัดเป็นการคณะร่วมกันทอดก็มี เรียกว่า กฐินสามัคคี

การจองกฐิน

        การจองกฐิน คือ การที่มีผู้ศรัทธาตกลงใจจะทอดกฐินวัดใดก็ไปแจ้งให้เจ้าอาวาสวัดนั้นทราบ แล้วเขียนประกาศแจ้งกำหนดวัน เวลาและเดือน ที่จะนำมาทอดติดไว้ที่กุฏิเจ้าอาวาส หรือที่ศาลาการเปรียญ เป็นต้นโดยประกาศไว้แต่เนิ่นๆส่วนมากเริ่มเข้าพรรษาแล้ว การจองกฐินก็เพื่อประโยชน์ให้พระสงฆ์และทายกทายิกาของวัดนั้นได้ทราบล่วงหน้า คนอื่นจะได้ไม่มาจองซ้ำ ตามธรรมเนียมมีอยู่ว่า วัดหนึ่งพระจะรับกฐินได้เพียงหนเดียว และรับเฉพาะของท่านที่จองไว้ก่อนเท่านั้น และการจองกฐินนี้จองได้เฉพาะวัดราษฎร์เท่านั้นสำหรับวัดหลวงนั้นไม่มีการจองกฐินเพราะเป็น ของหลวงใครจะขอพระราชทานมาทอดต้องขอพระบรมราชานุญาตก่อน

 

 

ความพิเศษของกฐิน

        การทอดกฐินนี้ จัดเป็นการทำบุญที่แปลกกว่าการทำบุญประเภทอื่นหลายอย่าง จึงถือกันว่าเป็นบุญพิเศษมีอานิสงส์มากเพราะทำได้ยาก ความพิเศษของกฐิน คือ

๑. จำกัดกาลเวลา คือ ต้องถวายภายในเวลาจำกัด ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงกลางเดือน ๑๒ รวมเวลา ๒๙ วันเท่านั้นจึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กาลทาน

๒. จำกัดชนิดทาน คือ ต้องถวายเป็นสังฆทานเท่านั้น ผู้ถวายจะเจาะจงถวายแก่รูปนั้นรูปนี้แบบปาฏิบุคลิกทานเหมือนการถวายของอย่างอื่นไม่ได้

๓. จำกัดคราว คือแต่ละวัดจะรับกฐินได้เพียงปีละ ๑ ครั้งเท่านั้น

๔. จำกัดผู้รับ คือ พระผู้จะลงรับกฐินได้จะต้องจำพรรษาอยู่ที่วัดนั้นครบไตรมาสไม่ขาดพรรษา และต้องมีจำนวนตั้งแต่ ๕ รูปขึ้นไป ทั้งต้องลงรับพร้อมกันทั้งหมดด้วย

๕. จำกัดงาน คือ พระผู้รับกฐิน เมื่อรับผ้ากฐินมาจากเจ้าภาพแล้ว จะต้องทำการกรานกฐินให้แล้ว เสร็จภายในวันนั้นจะเลื่อนไปเป็นวันรุ่งขึ้นหรือวันอื่นๆ ไม่ได้

๖. จำกัดของถวาย คือ ของถวายต้องเป็นผ้าผืนใดผืนหนึ่งในจำนวนไตรจีวรเท่านั้น นอกนั้นจัดเป็นบริวารกฐินทั้งหมด

๗. กฐินทาน เป็นพุทธประสงค์โดยตรง ส่วนทานอย่างอื่น จะทรงอนุญาตก็ต่อเมื่อมีคนมาทูลขอ เช่น การถวายผ้าอาบน้ำฝน

๘.ทานอย่างอื่นได้อานิสงส์เฉพาะผู้ถวายแต่กฐินได้อานิสงส์ทั้งทายกผู้ถวายและปฏิคาหกคือพระภิกษุผู้รับถวายและอนุโมทนากฐินนั้น

อานิสงส์จากการทอดกฐิน

      ฝ่ายทายก ชื่อว่าได้ถวายกาลทานแก่พระสงฆ์ ย่อมได้อานิสงส์ผลบุญเป็นอันมากจากการถวายสังฆทานเฉพาะกาล
ฝ่ายสงฆ์ พระภิกษุผู้ได้กรานกฐินและอนุโมทนาแล้ว ย่อมได้รับอานิสงส์ตามพระวินัย ๕ ประการ คือ

๑. เที่ยวไปโดยไม่ต้องบอกลา

๒. เที่ยวจาริกไปโดยไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ

๓. ฉันอาหารคณโภชน์ได้

๔. เก็บอดิเรกจีวรได้ตามปรารถนา

๕. จีวรอันเกิดในวัดนั้น เป็นของผู้อยู่จำพรรษา ครบถ้วนไตรมาส โดยได้โอกาสขยายเขตจีวรกาลออกไปอีก จนถึงกลางเดือน ๔

      ท่านสาธุชนทั้งหลาย อานิสงส์การทอดกฐินมีมากมาย แม้ผู้ชำนาญฤทธิ์มีทิพยจักษุ สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ทั้งในที่มืดและที่ไกล แต่ไม่อาจ มองเห็นปลายสุดของอานิสงส์ผลบุญกฐินนี้ได้เลย เพราะเป็นบุญอสงไขยอัปปมาณังคำนวณมิได้ นับไม่ได้ ประมาณมิได้เพราะฉะนั้น ครั้นเมื่อถึงฤดูกาลทานนี้แล้ว พุทธศาสนิกชนจึงไม่ควรที่จะรีรอช้ามีแต่จะต้องทำ เพิ่มขึ้นทับทวีให้ยิ่งกว่าที่ผ่านมา เพื่อเป็นเสบียงบุญ ติดตัว ต่อบุญต่อสมบัติให้สะดวกง่ายดายยิ่งๆ ขึ้นไป ในหนทางการสร้างบารมีที่เราจะต้องไปให้ถึงที่สุดแห่งธรรม

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ 61 พฤศจิกายน ปี 2550

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล