วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ทำไมเราต้องศึกษา เรื่องกฏแห่งกรรม ?

 

ทำไมเราต้องศึกษา เรื่องกฏแห่งกรรม ?

 

 

           เรื่องสำคัญอยู่ที่ว่า ทันทีที่เราเกิดมา ก็มีกฎธรรมชาติกฎหนึ่งคือกฎแห่งกรรมครอบเราไว้ แล้ว มีผลต่อชีวิตของเราโดยตรง แม้เราจะไม่รู้ก็ตาม แต่ถ้าไปทำผิดเข้าก็ติดคุกเลย เป็นคุกของภพสาม คุกที่เรามองไม่เห็น และเขาไม่เรียกว่าคุก เขาเรียกว่า นรก บางทีก็ไม่ใช่นรก สัตว์ทั้งหลายที่เราเห็น เช่น หมู หมา กา ไก่ แท้ที่จริงคืออดีตคน แต่ว่ารูปร่างมันต้องเปลี่ยนไปตามแรงกรรมที่เป็น บาปบีบคั้น มันเป็นคุกที่สวมเข้าไปติดเป็นเนื้อเป็นหนังเดียวกับตัวของมันเลย

            แม้ที่สุดโลกที่เราอยู่นี้จริง ๆ ก็คือคุก ลองหาทางออกไปสิ ออกไม่ได้ ขนาดขึ้นอวกาศ จะไปดวงจันทร์ ดวงดาวอะไรต่อมิอะไร เสร็จแล้วก็กลับมาติดคุกตามเดิม แล้วก็ตายในคุกนี้แหละ

            พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นว่า โลกที่เป็นคุกอย่างนี้มีอยู่เยอะ มีอนันต์ (infinity) คือนับไม่ไหว ใช้คำว่าอนันตจักรวาลทีเดียว และการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในคุกอย่างนี้ ก็เกิดขึ้นเป็นเวลา นานจนนับเวลาไม่ไหว

            พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงปรารภว่า การเวียนว่ายตายเกิดนี้ ไม่ว่าจะเวียนว่ายตายเกิดอยู่ ในโลกนี้ก็ตาม โลกอื่น ๆ จักรวาลอื่น ๆ ก็ตาม มันไม่มีเบื้องต้น ไม่มีท่ามกลาง ไม่มีเบื้องปลาย คือไม่รู้เริ่มขึ้นเมื่อไร ซึ่งกฎแห่งกรรมก็มีขึ้นพร้อม ๆ กับการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏนี้

            ในขณะที่มีกฎเหล็กครอบเราอยู่นี้ เราจะทำอย่างไรกับตัวของเรา ที่พอจะช่วยให้เราเป็นทุกข์น้อยลง นี่คือเหตุผลว่าทำไมจึงต้องมาทำความเข้าใจคำว่า "กรรม" ให้ดี

            กรณีศึกษา (case study) ที่พระเดชพระคุณคุณครูไม่ใหญ่นำมาเล่าให้ฟังทุกคืน ก็เป็นการ นำเรื่องราวเกี่ยวกับกฎแห่งกรรมมาเล่าให้เราฟังในแง่มุมต่าง ๆ เพื่อเป็นข้อคิดเตือนใจให้เราระวังให้ดี เดี๋ยวจะไปทำผิดกฎอะไรเข้า ประเด็นอยู่ตรงนี้

            คำว่า กรรม แปลว่า การกระทำ มีความหมายรวม ๆ อยู่ ๓ ประการ คือ

            ๑. การกระทำที่มีเจตนาหรือตั้งใจ ถ้าไม่ตั้งใจไม่เป็นกรรม เช่น คนที่นอนละเมอ อาจจะด่าใครก็ตาม ไม่เป็นกรรม คนไข้ดิ้นไปมาเพราะความเจ็บปวด แล้วขาแข้งไปฟาดใครเข้า ไม่เป็นกรรม เพราะว่าไม่ได้มีเจตนา

            ๒. การกระทำนั้นเป็นการกระทำของคนที่ยังไม่หมดกิเลส พระอรหันต์ทั้งหลายท่านหมดกิเลส ท่านหมดกรรม การกระทำอยู่เหนือกฎแห่งกรรมไปเรียบร้อย

            ๓. การกระทำนั้นยังติดตามให้ผล ไม่ว่ากรรมนั้นจะดีหรือชั่วก็ตาม มันยังตามให้ผลอยู่

            มนุษย์และสัตว์โลกทั้งหลายทำกรรมได้ ๓ ทาง ได้แก่

            ๑. ทำกรรมทางกาย เรียกว่า กายกรรม เอากายส่วนไหนทำก็จัดเป็นกายกรรมหมด เอากำปั้นไปต่อยก็เป็นกายกรรม เอาหัวไปโขกใครเข้าก็เป็นกายกรรม เอาสีข้างไปกระแทกใครเข้าก็เป็นกายกรรม ยกมือไหว้ ก้มลงกราบ ก็เป็นกายกรรม

            ๒. ทำกรรมทางคำพูด เรียกว่า วจีกรรม

            ๓. ทำกรรมทางใจหรือคิด เรียกว่า มโนกรรม

            ประเภทของกรรมที่สำคัญต่อชีวิต มี ๒ ส่วน คือ กุศลกรรม กับ อกุศลกรรม

            กุศลกรรมแปลว่ากรรมดี บางทีใช้คำว่า สุจริตกรรม บางทีก็ใช้คำว่า บุญกรรม เพราะเมื่อเวลาทำกรรมแล้วมันมีผลเป็นบุญ ก็เลยเรียกว่า บุญกรรม หรือบางทีก็เรียกว่าทำความดี ทั้งหมดนี้ คือกรรมดี

            ในทางตรงกันข้าม อกุศลกรรมแปลว่ากรรมชั่ว บางทีก็เรียกว่า ทุจริตกรรม หรือเรียกอีกอย่าง ว่า บาปกรรม ทั้งหมดนี้เป็นอกุศลกรรมทั้งสิ้น

            การตัดสินประเภทของกรรมมีหลักกว้าง ๆ คือ

            ๑. ดูที่ผลของกรรม

            ๒. ดูที่เหตุของกรรม

            ตัดสินโดยผล พิจารณาว่าถ้าทำไปแล้ว ผลจะเป็นอย่างไร

            "ทำกรรมใดแล้ว ผู้ทำไม่ต้องเดือดร้อนใจในภายหลัง กรรมนั้นถือว่าเป็นกรรมดี"

            ยกตัวอย่าง นั่งสมาธิเป็นกรรมดี นั่งเข้าไปเถิด ไม่เดือดร้อนใจอะไร ขยันเรียนหนังสือ ขยันไป เถิดเป็นกรรมดี เพราะไม่ต้องร้อนใจในภายหลัง แล้วยังฉลาดอีกด้วย ตั้งใจไปตักบาตรเป็นกรรมดี ตั้งใจรักษาศีลเป็นกรรมดี ตั้งใจทำภาวนาเป็นกรรมดี

            "เมื่อทำกรรมใดแล้ว ผู้ทำต้องเดือดร้อนใจในภายหลัง กรรมนั้นถือว่าเป็นกรรมชั่ว"

            นินทาชาวบ้าน ระวังนะเดี๋ยวมีกำปั้นลอยมาถอนฟันให้ฟรี นั่นไม่ใช่กรรมดีเสียแล้ว อย่าทำ

            ตามหลักในข้อนี้ แสดงว่ากรรมนั้นเวลาทำต้องใช้เวลาพอสมควรจึงจะออกผลขึ้นมา จึงต้อง ติดตามไปดู อาจจะมีบ้างที่ทำกรรมแล้วผลออกทันที แต่ว่าบางอย่างไม่ชัด ถ้าใช้เวลาสักหน่อยจะชัด

            อุปมาเหมือนกับการนำผลไม้มาปลูก เอาเม็ดมะม่วง เม็ดน้อยหน่า เมล็ดถั่ว เมล็ดงา เอาไป เพาะ เอาไปปลูก กว่าจะเป็นต้นขึ้นมาก็ต้องใช้เวลา ปลูกมะม่วงกว่าจะได้กินลูก ถ้าเพาะจากเมล็ดต้องใช้เวลา ๓ ปี ๕ ปี ถ้าตอนอาจจะปีเดียว หรือตอนมาจากกิ่งโตแล้วก็ใช้เวลาไม่กี่เดือนจะได้กินลูก แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องใช้เวลา

            ทำอะไรแล้วกว่าจะรู้ว่าสิ่งนั้นดีหรือไม่ดี ต้องใช้เวลาหน่อย แล้วมันจะออกผล คำถามคือ ถ้าไปรอตอนออกผล ถ้าผลไม่ดีเราก็แย่นะสิ ใช่แล้ว ถ้าเช่นนั้นจะทำอย่างไร ก็ต้องคิดก่อน พิจารณา ก่อนว่า ถ้าทำอย่างนี้ลงไปแล้ว ผลสุดท้ายจะเป็นอย่างไร ให้มองไกล ๆ ให้คิดยาว ๆ

            ตัดสินโดยเหตุ อะไรก็ตาม ถ้าทำเพราะความโลภ ทำเพราะความโกรธ ทำเพราะความโง่ สิ่งนั้นเป็นกรรมชั่ว ถามใจตัวเองก็รู้ได้เลยว่าที่ทำนั้นทำไปเพราะรัก เพราะโกรธ เพราะชัง เพราะเห็นแก่ตัว ถ้าทำเพราะโลภ โกรธ หลง สิ่งเหล่านี้เป็นกรรมชั่ว แต่ถ้าทำด้วยความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง สิ่งนั้นเป็นกรรมดี

            หลักการเริ่มต้นทำความดี

            รถยนต์ถ้ากำลังถอยหลังอยู่ แล้วเราต้องการให้มันเดินหน้าต้องทำอย่างไร จะเข้าเกียร์เดินหน้าเลยได้ไหม ทำไม่ได้ รถกำลังถอยหลังอยู่ ถ้าจะเดินหน้าเราต้องเข้าเกียร์ว่างก่อน ให้มันหยุดสนิท แล้วจึงจะเข้าเกียร์เดินหน้า

            ธรรมดาคนเรามีเชื้อโลภ เชื้อโกรธ เชื้อหลงอยู่ในใจ มีตั้งแต่เกิด แนวโน้มที่จะคิดไม่ดี พูดไม่ดี ทำไม่ดีเลยมีอยู่ แม้พอรู้ตัวแล้วว่า เราต้องทำดีแล้วนะ ต้องทำบุญแล้วนะ ตั้งใจเดินทางไปวัด ขณะกำลังเดินทางไปวัด ยังมีโอกาสที่บาปเกิดได้ ยังมีโอกาสคิดไม่ดีในระหว่างทาง พูดไม่ดีในระหว่างทาง ทำไม่ดีระหว่างทาง พอถึงวัดแล้ว ก็ยังมีโอกาสที่ความโลภ ความโกรธ ความหลง จะมาเกิดขึ้นกับเรา คิดจะมาเอาบุญยังมาสร้างบาปได้เลย

            แล้วจะทำอย่างไรกันดี? เมื่อจะลงมือสร้างบุญ ก็ต้องเข้าเกียร์ว่างก่อน เข้าเกียร์ว่างทำอย่างไร พระเดชพระคุณหลวงพ่อคุณครูไม่ใหญ่ท่านบอกอยู่ทุกคืนในโรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยาว่า ให้นั่งทำใจนิ่ง ๆ นุ่ม ๆ เบา ๆ สบาย ๆ ตรงนั้นแหละคือเกียร์ว่าง

            ก่อนที่จะทำกรรมดีทุกครั้งมันเริ่มต้นจากตรงว่าง ๆ คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ เมื่อมัน โล่ง ๆ ว่าง ๆ แล้วจึงทำดีได้ ถ้ากำลังโลภอยู่จะไปทำความดีอย่างไร กำลังโกรธอยู่ทำความดีไม่ได้ กำลังอิจฉาตาร้อนให้ทำความดีทำไม่ได้

            ตอนที่ใจนิ่ง ๆ นุ่ม ๆ เบา ๆ สบาย ๆ กำลังเข้าเกียร์ว่างอยู่ ยังไม่เกิดบุญ ต้องรอให้เข้าเกียร์ว่างเข้าที่ก่อน แต่ถ้านั่งปุ๊บจ้องเลย จะเอาให้ได้ เกียร์ว่างยังไม่ได้เข้าเลย ก็เลยมืดต่อไป เพราะเราไม่ยอมเข้าเกียร์ว่าง

            แต่ถ้าเข้าเกียร์ว่าง นิ่ง ๆ นุ่ม ๆ เบา ๆ สบาย ๆ ให้นาน ๆ หน่อย จนกระทั่งมันลงตัวของมัน จากนั้นความดีจึงจะเริ่มไหลเข้ามา นั่งสมาธิแล้วจะได้บุญ หลังจากที่นิ่ง ๆ นุ่ม ๆ เบา ๆ สบาย ๆ แล้วสว่างขึ้นมา บุญมาตรงนั้นแล้ว

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ 120 ตุลาคม ปี2555

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล