ขุมทรัพย์จากคุณยาย
คุณหญิงประหยัด แพทยพงศาวิสุทธาธิบดี
บริจาคที่ดินผืนแรกจำนวน ๑๙๖ ไร่ เพื่อสร้างวัดพระธรรมกาย
ผู้เป็นศูนย์รวมใจ
จากหนังสือเกิดด้วยสองมือยาย โดยพระรังสฤษดิ์ อิทฺธิจินฺตโก
คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง เป็นตัวอย่างนักสร้างบารมีที่เลิศ และเป็นมหาปูชนียาจารย์ที่ทรงคุณค่าแห่งยุค งานที่ได้รับมอบหมายจากพระเดชพระคุณ หลวงปู่วัดปากน้ำ ทั้งขณะที่หลวงปู่ยังมีชีวิตอยู่ และที่ได้ฝากฝังไว้ก่อนท่านจะละโลก ก็ทำได้สำเร็จสมบูรณ์ไม่มีที่ติ สมกับที่หลวงปู่วัดปากน้ำชมไว้ว่า "ลูกจันทร์นี้เป็นหนึ่งไม่มีสอง"
ในช่วงใกล้วาระที่หลวงปู่วัดปากน้ำจะละโลก ท่านได้ฝากงานสำคัญไว้กับคุณยาย ๕ อย่าง คือ
๑. ให้คุณยายไปตามนักสร้างบารมีอีกทีมหนึ่งมาเกิด
๒. ให้รออยู่ที่วัดปากน้ำก่อน จนกว่าทีมนักสร้างบารมีชุดนี้จะมาถึง
๓. ให้ถ่ายทอดวิชชาธรรมกายให้กับชุดนี้
๔. ให้รวมหมู่คณะสร้างวัด และสอนธรรมปฏิบัติเรื่อยไป อย่าหยุด เพราะคนที่มี อินทรีย์แก่กล้าพอจะเข้าถึงธรรมกายยังมีอยู่
๕. งานสุดท้าย ก็คือ ให้ขยายวิชชาธรรมกายไปทั่วโลก
ทั้งหมดนี้ คุณยายก็ทำได้อย่างสมบูรณ์ก่อนถึงวาระที่ท่านละโลกไป ทำได้ครบทุกเรื่อง แม้งานสุดท้าย ดูเหมือนว่ายังทำไม่เสร็จ แต่ท่านก็ได้กำหนดแผนการต่าง ๆ ไว้ให้อย่างสมบูรณ์ ไม่มีอะไรน่าห่วงอีก
หลังจากที่พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำละสังขารไปแล้ว กลุ่มอุบาสิกาที่ร่วมกันทำวิชชาในสมัยนั้น ซึ่งมีหลายท่าน ก็อยากได้บุญพิเศษ แต่ละท่านก็ออกไปสร้างวัด สร้างสำนักของตัวเอง และอาราธนาพระภิกษุที่สนใจการประพฤติปฏิบัติธรรม รวมทั้งอุบาสก อุบาสิกา ไปสร้างวัดในท้องที่ต่างจังหวัดอยู่หลายวัด
มีคุณยายทองสุข แล้วก็มีอีกหลาย ๆ ท่าน และมีพระอีกหลาย ๆ รูป ที่อยู่ในทีมทำวิชชาสมัยนั้น แต่ละท่านเมื่อไปเยี่ยมวัดของตนเอง ก็กลับมาเล่าสู่กันฟัง มาเล่าให้คุณยายฟังบ้าง เล่าให้ท่านโน้นท่านนี้ฟังบ้าง ว่าวัดโน้นวัดนี้มีพระกี่รูป มีเนื้อที่กี่ไร่ มีสาธุชนผู้สนใจมาประพฤติปฏิบัติธรรมกันกี่คน ท่านฟังแล้วก็นึกอนุโมทนา
แต่ในใจลึก ๆ คุณยายนึกว่า สักวันหนึ่ง เมื่อทีมงานของเรามาพร้อม เราจะสร้าง วัดให้ใหญ่ ให้สวยที่สุด สร้างวัดให้เป็นวัด สร้างพระให้เป็นพระ เอาคนมานั่งธรรมะ ปฏิบัติธรรมเยอะ ๆ เราจะทำให้ดีที่สุด แล้วก็เอาส่วนละเอียดไปถวายพระสัมมาสัม-พุทธเจ้าในอายตนนิพพาน เพื่อเอาบุญละเอียดยิ่ง ๆ ขึ้นไป นี้เป็นความปรารถนาของคุณยายมานานแสนนาน แต่ในช่วงที่คุณยายรอทีมงานอยู่ที่วัดปากน้ำ ท่านก็สอนธรรมะ ไปด้วยตามคำสั่งของหลวงปู่วัดปากน้ำ สอนให้ประพฤติปฏิบัติธรรมไป ช่วงแรกก็อยู่ในอาคารทำวิชชาหลังเดิมของวัดปากน้ำ แต่หลังจากคุณยายทองสุขท่านละสังขารไป คุณยายก็สอนธรรมะที่บ้านคุณยายทองสุขเรื่อยมา ซึ่งหลวงพ่อธัมมชโยมักจะเรียกบ้านหลังนั้นว่า บ้านกัลยาณมิตรหมายเลข ๑
ต่อมา เมื่อคุณยายได้พบกับหลวงพ่อธัมมชโย ซึ่งขณะนั้นท่านยังเป็นฆราวาส เป็นนักเรียน นักศึกษา คุณยายได้สอนธรรมะจนกระทั่งหลวงพ่อธัมมชโยแตกฉานในวิชชาธรรมกาย จึงได้ไปชวนพี่ ๆ น้อง ๆ ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มา มีหลวงพ่อ ทัตตชีโวแล้วก็มีทีมงานอีกหลาย ๆ ท่าน เพื่อที่จะมารวมกลุ่มปฏิบัติธรรมกัน และมาช่วยกันสร้างบ้านธรรมประสิทธิ์ที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ซึ่งหลวงพ่อธัมมชโยมักจะเรียกว่า บ้านกัลยาณมิตรหมายเลข ๒
ครั้นกลุ่มปฏิบัติธรรมใหญ่ขึ้น มีจำนวนหลายสิบ จนกระทั่งเป็นร้อย และหลาย ๆ ร้อยคน พื้นที่ปฏิบัติธรรมที่นั่น คือที่บ้านธรรมประสิทธิ์ก็เริ่มจะแคบลง เวลารวมกลุ่มปฏิบัติธรรมในวันอาทิตย์แต่ละครั้ง โดยเฉพาะในวันอาทิตย์ต้นเดือนคนก็มากจนกระทั่ง ล้นออกมาทางเดินหน้าบ้านและนอกรั้วบ้าน
คุณยายก็มาพิจารณาว่า กลุ่มของเราเริ่มใหญ่แล้ว ถึงเวลาสมควรที่จะขยับขยาย พื้นที่ไปสร้างวัดได้แล้ว ก็เริ่มมีความคิดที่จะหาพื้นที่สร้างวัดตามที่หลวงพ่อวัดปากน้ำเคยชี้ช่องทางเอาไว้ ก็ได้ป้าหวิน (อุบาสิกาถวิล วัติรางกูล ปัจจุบันถึงแก่กรรมแล้ว) เป็นผู้นำบุญไปบอกบุญกับคุณหญิงประหยัด แพทยพงศาวิสุทธาธิบดี ซึ่งเป็นแม่ของอาจารย์วรณี สุนทรเวช เราก็เลยได้ที่ดิน ๑๙๖ ไร่ มาสร้างวัดพระธรรมกายกันที่คลองสาม ปทุมธานีนี้แหละ
คุณยายทุ่มสุดชีวิตที่จะสร้างวัดใหม่ด้วยเงินทุน ๓,๒๐๐ บาท ที่มีอยู่ทั้งหมด ในขณะนั้น สร้างวัดไป สอนธรรมะไป ชักชวนคนทำบุญไป คุณยายสอนธรรมะอยู่ที่บ้านธรรมประสิทธิ์จนกระทั่งวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๘ ท่านก็ย้ายจากวัดปากน้ำ มาอยู่ที่คลองหลวง วัดพระธรรมกาย ซึ่งสมัยนั้นใช้ชื่อว่า ศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรม
ส่วนอาตมาเองเข้าวัดมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ยังโชคดีที่เป็นปีสุดท้ายก่อนที่คุณยาย จะย้ายมาจากบ้านธรรมประสิทธิ์ จึงมีโอกาสได้ไปร่วมปฏิบัติธรรมกับคุณยาย ที่บ้านธรรมประสิทธิ์ในช่วงปีสุดท้ายอยู่หลายครั้ง ยังทันได้เห็นวัตรปฏิบัติของคุณยายอย่างใกล้ชิดที่วัดปากน้ำ เห็นกิจกรรมที่ท่านทำในแต่ละวัน จนกระทั่งได้เห็นถึงวิธีทำความสะอาดที่ดีเยี่ยมของท่าน
คุณยายอาจารย์ มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง
ในการสร้างวัด นโยบายหลักของคุณยายคือ ต้องมี ๑. ความสะอาด ๒. ความมี ระเบียบ ๓. การสอนธรรมะภาคปฏิบัติ ตามวิธีการของหลวงปู่วัดปากน้ำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ญาติโยมทั้งหลายที่มาวัดก็จะชื่นชมกันในเรื่องของความสะอาด ความมีระเบียบ และการปฏิบัติธรรม ซึ่งตรงตามนโยบายทุกประการ
คุณยายมักจะบอกบ่อย ๆ ว่า "ถ้าเราทำวัดให้สะอาดแล้ว คนเห็นก็จะสบายใจ คนที่จิตใจยุ่งเหยิง พอมาเห็นความมีระเบียบ ใจเขาก็จะมีระเบียบตาม ซึ่งจะเป็น ต้นทางในการเข้าถึงธรรม" แม้พวกเราอุบาสก อุบาสิกา ที่ช่วยกันทำความสะอาด ท่านก็จะสอนว่า "เวลาทำความสะอาดวัด ใจเราจะสะอาดตาม วิมานเราก็จะสะอาดไปด้วย เมื่อใจเราสะอาด เวลาเราหลับตา จะนั่งธรรมะ (ท่านใช้คำว่า) ใจมันดิ่งเข้ากลางคล่องดี" เพราะฉะนั้นคุณยายจึงชอบมากในเรื่องการทำความสะอาดเสนาสนสงฆ์
หลังจากที่คุณยายมาอยู่ที่วัดพระธรรมกายแล้ว วันอาทิตย์จะเป็นวันบุญที่ญาติโยม มาวัดกันมาก คุณยายจึงวางนโยบายเอาไว้ว่า เช้าวันอาทิตย์ก่อนที่สาธุชนจะมา ทุกอย่าง ต้องสะอาดเรียบร้อย ใครจะเตรียมงาน แผนกไหนจะเตรียมงานอย่างไร เท่าไร ก็ทำไปเถิด แต่ว่าไม่ใช่เตรียมไปจนกระทั่งไม่มีจุดสิ้นสุด ท่านขีดเส้นใต้เอาไว้ว่า เช้ามืด วันอาทิตย์ต้องเรียบร้อยพร้อมใช้งาน
เพราะฉะนั้น ทุกคนก็ต้องทำอย่างมีแผน ทุกแผนกถึงเช้ามืดวันอาทิตย์ต้องสะอาดสมบูรณ์ แล้วก็เรียบร้อย แล้วท่านยังสั่งอีกว่า เมื่อเรียบร้อยแล้ว ไม่ใช่หยุดอยู่เท่านั้นนะ ทุกคนต้องมาช่วยกันยืนยิ้มหรือนั่งยิ้มต้อนรับแขกด้วย แล้วหลังเสร็จงานบุญตอนเย็น ให้ช่วยกันเก็บงานให้เรียบร้อย อย่าให้ข้ามวัน
ผู้ที่เป็นหัวหน้างาน ไม่ว่าจะเป็นอุบาสกผู้ใหญ่หรือพระผู้ใหญ่ในวัดที่รอง ๆ ลงมา ท่านก็มักจะบอกเสมอว่า "พอจะถึงวันอาทิตย์หรือว่าก่อนจะถึงวันอาทิตย์ ให้มาช่วยกันตรวจตราดูว่ามีอะไรที่ยังบกพร่อง ถูกหลงลืม หรือยังไม่ได้ทำ ต้องรีบแก้ไขเสียให้ทัน อย่ามัวนั่งจมอยู่แต่ในห้อง มาช่วยกันดู ช่วยกันทำ อย่าปล่อยให้ลูกน้องทำงานอยู่ฝ่ายเดียว หรืออย่ารอให้หลวงพ่อธัมมะต้องมาสั่ง ให้รีบขวนขวายดูแลกันเสียก่อนให้สำเร็จ"
เพราะฉะนั้น กว่าจะเตรียมงานบุญใหญ่หรืองานวันอาทิตย์เสร็จแต่ละครั้งได้ เจ้าหน้าที่แต่ละท่านแต่ละแผนกต้องบอกว่าเหนื่อยทีเดียวคุณโยม แต่ทุกคนก็หวังจะเอาบุญที่จะให้ญาติโยม ผู้ที่มาวัดนั้นได้รับความสะดวกในการประพฤติปฏิบัติธรรม
แล้วยุคนั้น (ช่วง พ.ศ. ๒๕๑๗-๒๕๒๘) เมื่อเราเริ่มสร้างวัดใหม่ ๆ ในวัดของเราก็แปลก ภัยธรรมชาติมักจะเกิดวันเสาร์หรือก่อนงานบุญ ๑ วันเสมอ ราวกับตั้งใจมาเพิ่มขันติบารมีให้ เดี๋ยวฝนตกบ้าง เดี๋ยวไฟฟ้าดับ ลมพายุมา ต้นไม้โค่น เต็นท์โค่นล้มกระจุยกระจาย ท่อประปาแตก ทำให้เราต้องรีบแก้ไข รีบซ่อม รีบจัดการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ก่อนที่จะถึงวันอาทิตย์ อย่าให้ญาติโยมมาเห็นสภาพที่ไม่น่าดู
ยิ่งถ้าสมัยก่อนอยู่ที่ ๑๙๖ ไร่ เราต้องเช่าเต็นท์มากางเสริม ถ้าฝนตกน้ำนองละก็ หลวงพ่อทัตตชีโว หลวงพี่ฐิตสุทโธ ก็ต้องรีบนำทีมเรียกเด็กวัดอุบาสกทุกคนถือจอบถือเสียมคนละอัน ไปขุดร่องดินปล่อยน้ำไหลออกไป อย่าให้เจิ่งนอง บางจุดต้องเอาหิน เกล็ดหรือทรายมาโรยเสริม เพราะรุ่งขึ้นญาติโยมมาต้องใช้พื้นที่ตรงสนามดิน สนามหญ้า เป็นพื้นที่นั่งธรรมะ ถ้าพื้นที่แฉะก็จะนั่งไม่ได้ เดี๋ยวเสื้อผ้าเขาจะเปรอะเลอะเทอะ นี่แหละ คือการเตรียมงานของเราในสมัยนั้น ต้องเตรียมพื้นที่ให้พร้อม สำหรับญาติโยมมานั่งปฏิบัติธรรม ทุกอย่างต้องเสร็จก่อนญาติโยมมาถึงในตอนเช้า ซึ่งบ่อยครั้งก็เสร็จกันแบบ เฉียดฉิวเลยทีเดียว
ยังดีที่สมัยนี้ เรามีสภาธรรมกายสากลหลังใหม่และก็หลังใหญ่ ปัญหาเรื่องนี้ก็น้อยลง สามารถสร้างบุญบารมีจากพื้นที่นี้ได้อีกเยอะ คุณยายเองท่านก็เข้าใจดีว่า ลูกศิษย์ลูกหา เด็กวัดในสมัยนั้นเหนื่อยกันจริง ๆ ในการเตรียมงานวันอาทิตย์ เพราะฉะนั้น เย็น วันอาทิตย์เมื่อเสร็จจากงาน แขกเริ่มทยอยกลับ คุณยายไม่ได้อยู่กุฏิเปล่า ๆ นะ ท่านจะเดินออกมาตรวจว่า งานอะไรยังเก็บไม่เรียบร้อย แล้วก็คอยสั่งงานให้กำลังใจ เด็ก ๆ และเจ้าหน้าที่ที่ยังไม่ได้กลับบ้าน รอเก็บงานอยู่
ท่านจะมาพูดให้กำลังใจ "เออ! อย่างนี้สิดีไอ้หลานกู ทำงานแล้วก็ต้องเก็บงาน เก็บบุญไปให้หมด อย่าให้มีซากของเหลือให้หลวงพี่หลวงพ่อท่านต้องมาเก็บงานตามหลัง พวกเราก็จะได้บุญที่สมบูรณ์บริบูรณ์ แล้วก็สอนเทคนิคการทำงาน ทำอย่างนี้สิไอ้หลาน ทำอย่างนี้สิคุณ ทำอย่างนี้มันจะเสร็จ ทำอย่างนี้มันจะง่ายเรียบร้อย ซักผ้าขี้ริ้วอย่างนั้น แล้วตากให้ขนาดมันเรียงลำดับเข้าแถวกันอย่างนี้ ของทั้งหลายจัดเรียงกันอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วจะทั้งสะอาด ทั้งเรียบร้อย จะหยิบก็ง่าย หายก็รู้ ดูก็งามตา"
"พวกเราถ้าอยากเป็นอย่างยาย ต้องขยัน อย่าเป็นคน ขี้เกียจ พยายามอบรมตัวเองอยู่เรื่อย ๆ
พยายามสอนตัวเอง แล้วก็พยายามใกล้ชิดครูบาอาจารย..."
คุณยายมาให้ทั้งความรู้ ให้ทั้งธรรมะ แล้วก็มาให้ทั้งบุญกับเจ้าหน้าที่ทุกคน ความเป็นอยู่ของพวกเราสมัยนั้นจึงอบอุ่น และตอนท้ายก่อนที่จะส่งเด็ก ๆ กลับบ้าน คุณยายก็ยังไม่ลืมที่จะชวนทิ้งท้ายไปว่า "เสาร์อาทิตย์หน้ามาเอาบุญกับยายอีกนะไอ้หลานนะ" ซึ่งเป็นคำพูดที่เจ้าหน้าที่ทุกคนในสมัยนั้นได้ยินจนชินหู ตอนที่จะลาคุณยายกลับบ้านในเย็นวันอาทิตย์
ทำให้พวกเราในยุคนั้นเป็นคนที่ค่อนข้างจะติดวัดทีเดียว เราอยากได้บุญ อยากได้ธรรมะ แล้วก็อยากได้สมบัติไปในภพเบื้องหน้า ฟังดูเหมือนการเตรียมงานแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดา แต่ว่าถ้าทุกท่านลองค่อย ๆ พิจารณาสักนิดหนึ่งว่า เราต้องทำกิจกรรมนี้ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน แล้วก็ทุกปี ซึ่งอย่างน้อยปีละ ๕๒ ครั้ง ไม่รวมงาน บุญใหญ่ งานบุญพิเศษ มันจะไม่เหมือนกับวัดอื่น วัดอื่น ๆ เขามีงานกันก็ปีละครั้ง สองครั้ง แต่เราเป็นวัดที่กำลังก่อสร้าง แล้วก็เป็นวัดที่มุ่งเน้นเรื่องการสอนปฏิบัติภาวนา เราจึงต้องทำกิจกรรมบุญบ่อย ๆ ทุกสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง
เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องไม่ง่ายเลยที่จะทำให้เจ้าหน้าที่เหล่านั้นเกิดความต่อเนื่องในการมาวัด มีศรัทธาที่จะมาช่วยงาน ต้องมีคนที่มีกำลังใจอันสูงส่งทีเดียว จึงจะสามารถ ผูกใจเด็ก ๆ เหล่านั้นเอาไว้ได้ ซึ่งในสมัยนั้นก็มีอุบาสกอยู่น้อย หรืออาสาสมัครก็มีอยู่น้อย และแต่ละคนที่มาช่วยงานนั้นก็มาจากหลาย ๆ ที่ มีพื้นเพความรู้มาไม่เท่ากัน มีประสบการณ์ มีสติปัญญามาไม่เท่ากัน บางคนก็ได้หน้าลืมหลัง ได้หลังลืมหน้า ทำให้ในยุคนั้นมีเรื่องให้คุณยายต้องอบรมได้เกือบทุกวัน คุณยายก็ไม่เบื่อที่จะอบรมให้กำลังใจอุบาสกและเจ้าหน้าที่อาสาสมัครทั้งหลาย
คุณยายมักจะบอกเสมอ ๆ ว่า "ยายจะพูดบ่อย ๆ บ่นบ่อย ๆ อย่าเพิ่งเบื่อยาย ก็แล้วกัน" คุณยายไม่เบื่อที่จะสอนพวกเรา แต่ท่านกลับมาถามพวกเราว่า "พวกเราเบื่อที่จะฟังยายสอนหรือยัง" เราทุกคนต่างก็ยกมือพนมกัน อยากได้ยินคุณยายสอนเรื่อย ๆ อยากได้ธรรมะอย่างคุณยาย อยากฝึกตัวเองได้อย่างคุณยาย คุณยายบอก "เออ! ดีแล้ว เพราะฉะนั้นต้องอดทนนะ อดทนให้ได้อย่างยาย ขยันให้ได้อย่างยายนะไอ้หลาน"
คุณยายเคยบอกอาตมาว่า "อุบาสกชุดแรก ๆ นี้ ยายจะต้องเข้มงวดเป็นพิเศษ ต้องอบรมหนักหน่อย เพราะว่าต่อไปชุดนี้จะต้องบวช จะได้เป็นพระที่ดี ไปอบรมสั่งสอน คนอื่นรุ่นต่อไปให้ดีได้" ทำให้อาตมานึกถึงพุทธพจน์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับ พระอานนท์ว่า อานนท์ เราจักไม่พยายามกระทำกับพวกเธออย่างทะนุถนอม เหมือนพวกช่างหม้อทำกับดินปั้นหม้อที่ยังเปียกยังดิบอยู่ อานนท์ เราจักขนาบแล้วขนาบอีกไม่มี หยุด เราจะชี้โทษแล้วชี้โทษอีกไม่มีหยุด ผู้ใดมีมรรคผลเป็นแก่นสาร ผู้นั้นจะทนอยู่ได้ นี้แหละในยุคสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ท่านก็ทรงสอนอย่างนี้
ในช่วงที่คุณยายอายุประมาณ ๗๐ ปีเศษ ท่านยังแข็งแรง การทำงานทุกอย่างท่านจะเข้มงวดเรื่องระเบียบวินัย แม้ท่านเข้มงวดมาก แต่ลูกหลานก็ชอบที่จะเข้าใกล้ท่าน เพื่อจะได้ฟังธรรมะ ได้ไปช่วยคุณยายทำภารกิจต่าง ๆ ทำความสะอาดเสนาสนะ หรือไปช่วยปลูกต้นไม้ อยากได้ฟังธรรมะดี ๆ จากคุณยาย
คุณยายก็มักจะสอนว่า "พวกเราถ้าอยากเป็นอย่างยาย ต้องขยัน อย่าเป็นคน ขี้เกียจ พยายามอบรมตัวเองอยู่เรื่อย ๆ พยายามสอนตัวเอง แล้วก็พยายามใกล้ชิดครูบาอาจารย์ อย่าเป็นคนห่างครูบาอาจารย์ เราใกล้ชิดเพื่อจะรับใช้ท่าน ฟังธรรมตามที่ท่านพูด และก็ไตร่ตรองตาม เอามาปรับปรุงแก้ไขตัวเองเหมือนยาย ยายพยายาม อยู่ทำวิชชากับหลวงพ่อวัดปากน้ำและกับยายทองสุข ยายไม่ค่อยขอลาไปทำธุระที่ ไหน ๆ เหมือนคนทำวิชชาคนอื่น ๆ ยายจึงรองรับวิชชาของหลวงพ่อวัดปากน้ำไว้ได้มาก จนหลวงพ่อชมยายว่า ลูกจันทร์เป็นหนึ่งไม่มีสอง"