พระธรรมเทศนา
ตอนที่ ๗
พระธรรมเทศนา
"สรีรัฏฐธัมมสูตรธรรมประจำสรีระ"
๓.๒ วิธีบรรเทาทุกข์เบื้องต้นในชีวิตประจำวัน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบดีว่า ปัญหาทุกข์ทั้ง ๓ ประเภทนั้น ตัวการใหญ่ก็คือ กิเลส แต่การที่จะปราบกิเลสให้สิ้นฤทธิ์เด็ดขาดได้นั้น จำเป็นต้องอาศัย "ความสงบภายใน" และ "ความสงบภายนอก" ควบคู่กันไป
ด้วยเหตุนี้ การทำงานตลอดชีวิตของพระพุทธองค์นั้น จึงมีแนวคิดในการทำงาน ๒ อย่างควบคู่กันไปเสมอ นั่นคือ
๑. ไม่ปล่อยให้ศีลธรรมโดดเดี่ยวจากสังคม
๒. ไม่ปล่อยให้สังคมโดดเดี่ยวจากศีลธรรม
คำว่า ไม่ปล่อยให้ศีลธรรมโดดเดี่ยวจากสังคม ก็คือ อย่ายอมแพ้ความทุกข์ โดยการฝึกฝนอบรมตนเองให้เป็นคนดี แม้คนอื่นจะยอมแพ้เลิกราไปแล้ว แต่เราก็ยังไม่ยอมแพ้ แม้ต้องตายอีกกี่ครั้งก็ไม่ยอมแพ้ เพื่อไม่ให้คนดีหมดไปจากสังคม อย่างน้อยก็เหลือเรา คนหนึ่งที่ยังตั้งใจกำจัดทุกข์จากการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย โดยไม่มีย่อท้อ โดยมุ่ง การทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ด้วยตนเองเป็นสำคัญ เพราะยิ่งทำมากเท่าใด ใจยิ่งบริสุทธิ์จากกิเลสมากเท่านั้น
ด้วยแนวคิดนี้ พระองค์จึงได้ตั้งจิตอธิษฐานในชาติแรกว่า สักวันหนึ่งในภายภาคหน้า เราจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ได้
ส่วนคำว่า ไม่ปล่อยให้สังคมโดดเดี่ยวจากศีลธรรม ก็คือ อย่าทำความดีแบบเอา ตัวรอดเพียงลำพัง ต้องชักชวนให้ผู้อื่นทำความดีด้วย ยิ่งชวนคนมาทำความดีร่วมกันได้มากเท่าไร ยิ่งได้สิ่งแวดล้อมที่เหมาะแก่การทำความดีมากเท่านั้น
ด้วยแนวคิดนี้ พระองค์จึงได้ฝึกความเป็นครู ผ่านการทำงานชักชวนคนทำความดี โดยเริ่มต้นจากการชักชวนคนรอบ ๆ ตัว ทั้งที่เป็นบรรพชิตและคฤหัสถ์ให้มาร่วมกันสู้กับความทุกข์ต่าง ๆ นานาในชีวิต สู้กับการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย ด้วยมุ่งเน้นที่การสร้างความดีแบบเป็นทีม คือทำทานเป็นทีม รักษาศีลเป็นทีม เจริญภาวนาเป็นทีม เพื่อให้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การทำความดี ละเว้นความชั่ว และกลั่นใจให้ผ่องใสอย่าง ต่อเนื่องตลอดชีวิต
๓.๓ วิธีการต่อสู้กับความทุกข์อย่างเป็นทีม ๓ ขั้นตอน
จากมโนปณิธานที่เป็นจุดเริ่มต้นในชาติแรก สู่แนวคิดการทำงานที่ไม่ยอมแพ้กับ ความทุกข์ ไม่ทอดทิ้งสังคม สู่วิธีการต่อสู้กับความทุกข์ทั้ง ๓ ประเภท อย่างเป็นทีม โดยแบ่งการทำงานเป็น "๓ ขั้นตอน" คือ
๑. ปรับปรุงความคิดของตนให้เป็นสัมมาทิฐิเบื้องต้น ๑๐ ประการ
๒. ปลูกฝังความรู้พื้นฐานเพื่อเตรียมรับมือกับความทุกข์ทั้ง ๓ ประเภท ให้แก่คนรุ่นหลัง
๓. ชักชวนหมู่ญาติสนิทมิตรสหายให้ปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ พร้อมด้วยการทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาร่วมกันอยู่เป็นประจำ
ด้วยวิธีการทั้ง ๓ ขั้นตอนนี้ ทำให้พระพุทธองค์ทรงสามารถรับมือกับปัญหาทุกข์จาก การดำรงชีพ ปัญหาทุกข์จากการอยู่ร่วมกัน และปัญหาทุกข์จากอำนาจกิเลสอย่างเป็นทีมได้ จึงทรงสามารถรื้อขนสรรพสัตว์ไปสู่นิพพาน ได้ด้วยการกำจัดกิเลสที่เกิดจากภายในและที่แล่น มาจากสิ่งแวดล้อมภายนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด โดยนอกจากไม่ก่อ ความทุกข์ให้กับตัวเองและส่วนรวมเพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังบรรเทาทุกข์ให้ลดลงด้วย โลกจึงเย็น ลงด้วยศีลธรรม
สำหรับรายละเอียดแต่ละขั้นตอนนั้น มีดังนี้
๓.๔ ขั้นตอนที่ ๑ ปรับปรุงความคิดของตนให้เป็นสัมมาทิฐิเบื้องต้น ๑๐ ประการ
สัมมาทิฐิ แปลว่า ความเข้าใจถูก
สัมมาทิฐิเบื้องต้น หมายถึง ความเข้าใจถูกในเรื่องโลกและชีวิตอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง เพื่อความอยู่เป็นสุขในชาตินี้ เพื่อความอยู่เป็นสุขในชาติหน้า และเพื่อความสิ้นทุกข์อย่างถาวร
สัมมาทิฐิเบื้องต้นมีทั้งหมด ๑๐ ประการ แต่ละข้อเป็นพื้นฐานที่ก่อให้เกิดความเข้าใจ ถูกในการกำจัดทุกข์ทั้ง ๓ ประเภท อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง เพราะการแก้ปัญหาใด ๆ ก็ตาม ถ้าแก้ไขได้ถูกทาง ปัญหาก็จะลดลง แต่ถ้าแก้ไขผิดทาง ปัญหาก็จะบานปลาย ต่อไปจนเกิดความเดือดร้อนวุ่นวายไม่รู้จบ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้ระยะเวลาตั้งแต่ชาติแรก ที่ตั้งมโนปณิธานจนกระทั่ง ถึงชาติสุดท้ายที่กำจัดทุกข์ทั้งสามได้หมดสิ้น ซึ่งใช้ระยะเวลาในการศึกษาค้นคว้ายาวนานถึง ๒๐ อสงไขยแสนมหากัป จึงทรงรู้หนทางที่ถูกต้องในการแก้ปัญหาตั้งแต่ก้าวแรกจนกระทั่ง ก้าวสุดท้าย
สัมมาทิฐิเบื้องต้น ๑๐ ประการนี้ แท้จริงก็คือก้าวแรกของการแก้ปัญหาทุกข์ทั้ง ๓ ประเภท อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง เพราะมีแต่หนทางนี้เท่านั้นที่แก้ปัญหาได้ ผิดจาก นี้ไม่ใช่หนทาง ผิดจากนี้มีแต่หลงทาง มีแต่เพิ่มปัญหา มีแต่พาชีวิตให้ดำดิ่งสู่ความมืดมนและหายนะตลอดกาล
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง และเป็นอันดับแรกในการแก้ปัญหาทุกปัญหา ทรงอุปมาไว้ในปุพพังคมสูตร มีสาระว่า1
"เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน เป็นบุพนิมิตฉันใด
สัมมาทิฐิก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิตแห่งกุศลกรรมทั้งหลายฉันนั้น"
นั่นก็หมายความว่า สัมมาทิฐิเบื้องต้น ๑๐ ประการ คือรุ่งอรุณแห่งความดีทั้งปวง ไม่มีความดีใด ๆ ที่จะทำให้โลกนี้สว่างขึ้นได้ นอกจากสัมมาทิฐิที่เกิดขึ้นในจิตใจของ ปวงชน และในทางตรงกันข้าม โลกนี้จะมืดมิดลงทันที ถ้าจิตใจของปวงชนปราศจากสัมมาทิฐิเบื้องต้น ๑๐ ประการนี้
ดังนั้น ไม่ว่าใครจะเกิดเป็นชนชาติใด อาศัยอยู่ในประเทศไหน จะพูดจาภาษาใด หาก ต้องการจะกำจัดทุกข์ให้ถูกวิธี ก็ต้องเริ่มต้นที่แสงเงินแสงทองของความดี คือสัมมาทิฐิเบื้องต้น ๑๐ ประการนี้ก่อน เป็นอันดับแรกเหมือนกันหมด
สัมมาทิฐิเบื้องต้น ๑๐ ประการ อาจแบ่งออกได้เป็น ๓ กลุ่ม ดังนี้ คือ
๑. ความเข้าใจถูก เพื่อความอยู่เป็นสุขในชาตินี้ ได้แก่ สัมมาทิฐิข้อ ๑-๔
๒. ความเข้าใจถูก เพื่อความอยู่เป็นสุขในชาติหน้า ได้แก่ สัมมาทิฐิ ข้อ ๕-๙
๓. ความเข้าใจถูกว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์มีจริง ได้แก่ สัมมาทิฐิ ข้อ ๑๐
๑. ความเข้าใจถูก เพื่อความอยู่เป็นสุขในชาตินี้
๑.๑ การแบ่งปัน เป็นความดีจริง ควรทำ
๑.๒ การสงเคราะห์ เป็นความดีจริง ควรทำ
๑.๓ การยกย่องคนดี เป็นความดีจริง ควรทำ
๑.๔ การให้ผลของวิบากกรรมดีและกรรมชั่วมีจริง
ความเข้าใจถูกทั้ง ๔ ข้อนี้ จะช่วยแก้ปัญหาทุกข์จากการดำรงชีพ และปัญหาทุกข์จากการอยู่ร่วมกันได้อย่างมาก ทั้งนี้เพราะว่า
การแบ่งปันทำให้คนเราใกล้ชิดสนิทสนมกัน สมัครสมานสามัคคีกลมเกลียวกัน ไว้วางใจ ผูกพัน รักกันเหมือนพี่น้อง ทำให้เกิดเครือญาติขึ้นในสังคม ต่างฝ่ายต่างยินดีช่วยเหลือ ซึ่งกันและกัน ซึ่งจะสามารถป้องกันภาวะขาดแคลนสิ่งของเครื่องใช้เพราะการกักตุน เป็น การช่วยลดปัญหาความเห็นแก่ตัวให้น้อยลง และเพิ่มพูนความมีน้ำใจของผู้คนในสังคมให้มากขึ้น
การสงเคราะห์ทำให้ผู้คนที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก หรือคนที่สิ้นเนื้อประดาตัว มีต้นทุน มีโอกาส และมีเวลาได้ลืมตาอ้าปากสร้างตัวสร้างฐานะขึ้นมาใหม่ โดยไม่ต้องหันเหชีวิตไปเป็นโจรผู้ร้ายหรือทำการค้าขายสิ่งผิดกฎหมาย เป็นการช่วยลดปัญหามิจฉาชีพในสังคม ให้น้อยลง และเพิ่มพูนเครือข่ายคนดีในสังคมให้มากขึ้น
การยกย่องคนดีทำให้คนดีมีกำลังใจที่จะสร้างผลงานดี ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่สังคมอย่างต่อเนื่อง ไม่หวาดเกรงว่าจะมีคนมาใส่ร้ายป้ายสี หรือหาทางทำลายผลประโยชน์ด้วย วิธีการต่าง ๆ เพราะความอิจฉาริษยา การยกย่องคนดีเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและคุณภาพการศึกษาให้กับสังคม ตลอดจนการมีสวัสดิการชีวิตที่ดี และมีความฉับไวในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดหมาย ยิ่งมีคนดีมากเท่าใด ก็จะยิ่งทำให้สังคมมีความเข้มแข็งและเจริญก้าวหน้ามากขึ้นเท่านั้น
ที่สำคัญที่สุดก็คือ การแบ่งปัน การสงเคราะห์ การยกย่องคนดี เป็นความดีที่กระทำ แล้วไม่สูญเปล่าอย่างแน่นอน ทั้งนี้เพราะว่า โลกนี้มีกฎแห่งกรรมอยู่จริง
กฎประจำโลกนั้น แบ่งได้เป็น ๒ ประเภท
ประเภทแรก คือ กฎที่มนุษย์ตั้งขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงได้ ได้แก่ กฎหมาย กฎจารีตประเพณี
ประเภทที่สอง คือ กฎธรรมชาติ มีหลักเกณฑ์ตายตัว ได้แก่ กฎแห่งกรรม และ กฎไตรลักษณ์
กฎประเภทแรกอาจปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือแก้ไขได้ตามความต้องการของมนุษย์ ในแต่ละยุคสมัย ซึ่งยังหาความแน่นอนไม่ได้ อาจเปลี่ยนกลับไปกลับมาได้ ขึ้นอยู่กับ ความคิดเห็นของมนุษย์ในยุคนั้น ๆ
แต่กฎประเภทที่สองนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตามความต้องการของมนุษย์คนใดทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎแห่งกรรมนั้น เป็นกฎเหล็ก ที่มีเงื่อนไขระบุไว้ชัดเจนว่า บุคคลทำกรรมใดไว้ ไม่ว่าดีหรือชั่วก็ตาม ตนจะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น บุคคลอื่นไม่สามารถรับผลกรรมแทนได้ ไม่ว่าเขาจะเป็นพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด หรือญาติพี่น้องร่วมสายโลหิตของตนก็ตาม
ด้วยเงื่อนไขของกฎแห่งกรรมนี้เอง การทำความดีทั้งหลายไม่ว่ามากหรือน้อย ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ไม่ว่าทำคนเดียวหรือทำเป็นกลุ่ม ไม่ว่าจะมีใครรู้หรือไม่มีใครรู้ก็ตาม ผลของ กรรมดีนั้นไม่มีทางสูญเปล่า จะต้องตามมาส่งผลอย่างแน่นอน
ส่วนการทำความชั่วก็เช่นกัน ไม่ว่ามากหรือน้อย ผลของกรรมชั่วก็จะไม่สูญเปล่า จะต้องตามมาส่งผลอย่างแน่นอน ไม่ว่าผู้ทำความชั่วนั้น จะหนีไปบนฟ้า หนีไปในทะเล หนี ไปในอวกาศ หนีไปใต้พิภพ ผลของกรรมชั่วนั้นจะต้องตามไปส่งผลอย่างแน่นอน
แต่สิ่งที่เรามักสงสัยที่ทำให้เกิดความลังเลใจว่า กฎแห่งกรรมมีจริงหรือไม่ ก็เป็นเพราะจังหวะเวลาในการส่งผลของกรรมในอดีต ไม่สอดคล้องกับการกระทำกรรมในปัจจุบัน เช่น ในขณะที่บางคนกำลังทำความดีอยู่ แต่กรรมชั่วในอดีตตามมาส่งผลก่อน ทำให้ต้องพบอุปสรรคความยากลำบากต่าง ๆ ในขณะที่กำลังตั้งใจทำความดี จึงทำให้บางคนเข้าใจผิดว่า ทำดีได้ชั่ว แล้วก็พาลเลิกทำความดีไป ในขณะเดียวกัน บางคนกำลังทำความชั่วอยู่ แต่กรรมดีในอดีตตามมาส่งผลพอดี ทำให้ทุกอย่างราบรื่นไม่มีอุปสรรคปัญหาใด ๆ จึงทำให้เข้าใจผิดไปว่า ทำชั่วได้ดี จังหวะเวลาในการส่งผลของกรรมในอดีตนี้เอง ที่ทำให้คนเราสับสนและเข้าใจผิด จนขาดความเชื่อมั่นในเรื่องทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
แต่ถ้าเราศึกษาต่อไปก็จะพบว่า แม้ว่าบางครั้งจังหวะเวลาการส่งผลกรรมในอดีต จะไม่สอดคล้องกับการกระทำกรรมในปัจจุบัน แต่ความดีกับความชั่วที่ทำไว้นั้น ไม่ได้ สาบสูญไปไหน แต่จะไปรวมส่งผลเป็นภาพกรรมนิมิตก่อนตาย ฉายให้เราดูอยู่คนเดียว
ถ้าทำกรรมชั่วไว้มาก ภาพกรรมนิมิตนั้นก็จะฉายให้เราเห็นแต่ความชั่วที่ตัวทำ ส่งผล ให้ใจเศร้าหมองก่อนตาย มิใช่เพียงเท่านั้น ภาพกรรมนิมิตนั้นยังชักนำให้ดวงวิญญาณของเราไปเกิดในอบายภูมิอันทุกข์ทรมานนานแสนนานอีกด้วย แต่ถ้าทำกรรมดีไว้มาก ภาพกรรมนิมิตที่ฉายให้เห็นก่อนตาย ก็จะฉายแต่ภาพการทำความดีของเรา ซึ่งจะส่งผลให้ ใจผ่องใสด้วยความปลื้มปีติ ยิ่งกว่านั้นยังจะนำให้ไปเกิดในเทวโลกตามระดับความดีที่เรา ทำไว้
แท้ที่จริงนั้น ในทันทีที่เราสร้างกรรม ไม่ว่ากรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม กรรมนั้นได้ถูกบันทึกไว้ในใจเรียบร้อยแล้ว เหลือแต่จังหวะเวลาที่จะส่งผลช้าหรือเร็วเท่านั้น ถ้าเป็นกรรมดีก็จะส่งผลให้เป็นความสุข ถ้าเป็นกรรมชั่วก็จะส่งผลเป็นความทุกข์ กรรมที่ทำไว้จึงไม่มีทางสูญหายไปไหนอย่างแน่นอน
ด้วยเหตุนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสเตือนว่า ตราบใดที่ผลวิบากกรรมชั่วยังไม่ส่งผล คนพาลย่อมสำคัญว่าการทำบาปมีรสหอมหวานเหมือนน้ำผึ้ง แต่เมื่อใดวิบากกรรมชั่วส่งผล คนพาลจึงได้รู้ว่า การทำความชั่วให้ผลเป็นทุกข์อย่างยิ่ง2
ดังนั้น พระองค์จึงทรงสอนให้เรามีความสำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมในอาชีพ และ สำรวมใจ เพื่อจะได้ไม่ต้องประสบความทุกข์ยากจากการดำเนินชีวิตที่ผิดพลาดในอนาคต เพราะความไม่รู้ว่ากฎแห่งกรรมมีอยู่จริง ขณะเดียวกันก็ทรงสอนให้รู้จักใช้ชีวิตให้มีความสุข อยู่ในปัจจุบันชาติด้วยการแบ่งปัน สงเคราะห์ และยกย่องคนดี อันจะเป็นการช่วยลดปัญหาทุกข์จากการดำรงชีพและปัญหาทุกข์จากการอยู่ร่วมกันอย่างได้ผลที่รวดเร็วและ ยั่งยืนในระยะยาวนั่นเอง นี้คือความสำคัญของสัมมาทิฐิ ๔ ข้อแรก ที่เป็นแสงเงินแสงทองของชีวิตที่จะพบความสุขความเจริญในปัจจุบัน
____________________________________________________________________________________________________
(อ่านต่อฉบับหน้า)