พระธรรมเทศนา
ความรู้ประมาณ
รากฐานความมั่นคงของพระพุทธศาสนา ตอนที่ ๗
๒.๔ คุณสมบัติของบุคคลที่เหมาะแก่การบรรลุธรรม
เมื่อพระภิกษุนักเผยแผ่ผู้ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ๗ ประการ เกิดขึ้นจำนวนมากแล้ว ก็มีงานที่พระองค์ต้องทรงให้คำแนะนำสั่งสอนตามมาอีก ๒ ประการ คือ งานฝึกอบรมคน และสถานที่ฝึกอบรมคน
งานทั้ง ๒ ประการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสอนพระภิกษุให้ทราบถึงวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ที่จะทำให้มีผู้บรรลุธรรมเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็มีรากฐานมั่นคงแข็งแรงยิ่งขึ้นด้วย ทำนองเดียวกับที่พระองค์ได้ทรงทำมาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งพระองค์ทรงบุกเบิกงานเผยแผ่ตามลำพังพระองค์เดียว พระพุทธศาสนาก็สามารถแผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวางทั่วทุกแว่นแคว้นในระยะเวลาอันรวดเร็วเพียงไม่กี่สิบปี
เนื่องจากการที่ใครจะบรรลุธรรมได้ช้าหรือเร็วนั้น ขึ้นอยู่กับพื้นฐานการฝึกอบรมตน แต่ดั้งเดิมมาก่อนบวชเป็นสำคัญ ดังนั้น ผู้ที่มีต้นทุนเดิมดีอยู่แล้ว ย่อมง่ายต่อการฝึกอบรม ให้บรรลุธรรม แต่ถ้าหากต้นทุนเดิมไม่ดีพอ ก็ต้องพยายามเคี่ยวเข็ญอบรมตนให้ได้ต้นทุนใหม่ที่เหมาะแก่การกำจัดกิเลส นั่นคือ บุคคลนั้นต้องได้รับการฝึกฝนอบรมให้มีคุณสมบัติ ของบุคคลที่เหมาะแก่การบรรลุธรรม ๕ ประการ ดังนี้
๑ เป็นผู้มีศรัทธาเชื่อมั่นในการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
๒ เป็นผู้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว
๓ เป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา มีความซื่อสัตย์ต่อผู้อื่น
๔ เป็นผู้ที่ปรารภความเพียรอย่างต่อเนื่องเป็นกิจวัตร
๕ เป็นผู้มีปัญญาเห็นการเกิดและการดับอันเป็นอริยะ (สัมมสนญาณ)
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับรองว่า บุคคลที่มีคุณสมบัติครบทั้ง ๕ ประการนี้ หากได้ปฏิบัติธรรมอยู่ในสถานที่เหมาะแก่การบรรลุธรรม ย่อมจะสามารถบรรลุธรรมได้ในเวลาไม่นานนัก หรือหากได้รับการอบรมสั่งสอนจากพระองค์เองโดยตรงก็จะบรรลุธรรมได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ดังที่ตรัสรับรอง ว่า หากสอนในยามเช้า ก็จะเป็นพระอรหันต์ในยามเย็น3
๒.๕ คุณสมบัติของวัดที่เหมาะแก่การบรรลุธรรม
เนื่องจากในช่วงเวลา ๒๕ ปี ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับจำพรรษาอยู่ ณ วัดพระ-เชตวันและวัดบุพพารามโดยตลอดนั้น วัดทั้งสองแห่งนี้จึงเนืองแน่นด้วยพระภิกษุที่เดินทาง มาจากทุกทิศ เพื่อเข้าเฝ้ากราบทูลถามปัญหาต่าง ๆ จากพระพุทธองค์ ขณะเดียวกัน ทุก ๆ วันก็มีชาวเมืองเดินทางมาฟังธรรมเป็นจำนวนแสน ๆ ยิ่งในวันที่มีการแสดงธรรมในหัวข้อพิเศษ ๆ ก็จะมีชาวเมืองพากันมาฟังธรรมเป็นจำนวนล้าน ถึงกับมีผู้คนล้นออกมา นอกวัดก็เคยปรากฏมาแล้ว ส่งผลให้สถานที่ปฏิบัติธรรมไม่เพียงพอต่อการฝึกอบรมพระภิกษุ บวชใหม่
ดังนั้น พระพุทธองค์จึงทรงมีพุทธานุญาตให้พระภิกษุไปหาทำเลที่เหมาะ ๆ แก่การ ปฏิบัติธรรม หลังจากที่พระองค์แสดงธรรมจบแล้ว โดยทรงมีรับสั่งว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่างเปล่า เธอทั้งหลายจงเพ่งฌาน อย่าประมาท อย่าได้เป็นผู้มีความเดือดร้อนในภายหลัง นี้เป็นคำพร่ำสอนของเราแก่เธอทั้งหลาย
ในการเลือกสถานที่ที่เหมาะแก่การปฏิบัติธรรมนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำว่า ควรรู้จักเลือกสถานที่ที่เหมาะแก่การบรรลุธรรม เพื่อว่าเมื่อเข้าไปอาศัยอยู่ ณ ที่นั้นแล้ว จะได้ฝึกฝนอบรมตนได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องมีความห่วงกังวลในเรื่องอื่น ๆ ที่รบกวนการบำเพ็ญภาวนา นั่นคือสถานที่แห่งนั้น จะต้องมีคุณสมบัติของวัดที่เหมาะแก่การบรรลุธรรม ๕ ประการ5 ดังนี้
๑ เป็นสถานที่ร่มรื่น เงียบสงบ ปลอดภัยจากแมลงมีพิษและสัตว์ร้ายรบกวน
๒ การบิณฑบาตเลี้ยงชีวิตด้วยปัจจัย ๔ ไม่ฝืดเคือง
๓ มีพระเถราจารย์ที่ทรงภูมิรู้ภูมิธรรมทั้งด้านปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธอยู่ประจำที่นั่น
๔ มีพระภิกษุที่ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนและหมั่นเพียรเจริญภาวนาอยู่ที่นั่น
๕ มีการอบรมสั่งสอนในการเจริญภาวนาจากพระเถราจารย์อยู่เป็นกิจวัตรประจำวัน
การที่พระองค์ตรัสสอนดังนี้ ย่อมจะเห็นได้ว่า สถานที่ปฏิบัติธรรมหรือวัดที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะแก่การปฏิบัติธรรม มีความสำคัญอย่างมากต่อการบรรลุธรรม เพราะถึงแม้จะได้บุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสม แก่การบรรลุธรรมมาแล้ว แต่ถ้าสถานที่สกปรกรกรุงรัง การบิณฑบาตเลี้ยงชีพฝืดเคือง ไม่มีพระเถราจารย์ที่เป็นต้นแบบการทำภาวนา เพื่อนสหธรรมิก ก็ไม่รักการทำภาวนา การอยู่ร่วมกันก็ต่างคนต่างอยู่ ไม่มีพระเถราจารย์มาให้โอวาทสั่งสอน เพื่อให้ความรู้ ให้กำลังใจ ให้การเตือนสติในการหมั่นเพียรภาวนา การเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นนั้น ย่อมยากที่จะบรรลุธรรม
ดังนั้น การฝึกอบรมคนและสถานที่ที่เหมาะแก่การอบรมคน จึงเป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้ ในการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพราะถึงแม้ได้คนรักดี แต่สถานที่ไม่ดี ก็ไม่บรรลุ ธรรม หรือได้สถานที่ดี แต่คนไม่รักดี ก็ไม่บรรลุธรรม จำเป็นต้องได้ทั้งคนรักดีและสถานที่ดี จึงจะมีโอกาสบรรลุธรรม
เพราะเหตุนี้ การฝึกอบรมคนขั้นพื้นฐานตั้งแต่นิสัย ๔ และอปัณณกธรรม ๓ จึงเป็นส่วนสำคัญในการเคี่ยวเข็ญอบรมคนให้มีคุณสมบัติทั้ง ๕ ประการ ที่เหมาะแก่การบรรลุธรรม ขณะเดียวกันการทำหน้าที่เคี่ยวเข็ญอบรมศิษย์ของพระอุปัชฌาย์และพระอาจารย์ด้วยการแนะให้ทำ นำให้ดู อยู่ให้เห็น เคี่ยวเข็ญให้เป็นนิสัย ก็จะมีผลอย่างมากต่อการฝึกอบรมคน และการดูแลสิ่งแวดล้อมภายในวัดให้คงอยู่ในสภาพที่เหมาะแก่การบรรลุธรรม ไม่สกปรกรกรุงรัง ไม่มีขยะเกลื่อนกลาด มองไปทางใดก็เห็นแต่ความสะอาด ความร่มรื่น ความเป็น ระเบียบเรียบร้อย เจริญหูเจริญตา ไม่ว่าจะเป็นวัดที่อยู่ในเมืองหรืออยู่ในป่า ก็ยังคงมีมุมสงบที่เหมาะแก่การบรรลุธรรมครบถ้วนทั้ง ๕ ประการ ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้ดีแล้วนั่นเอง
ดังนั้น การที่เราศึกษาพุทธภารกิจเร่งสร้างครูมาตามลำดับนี้ ก็จะพบว่า
๑ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสร้างนักเผยแผ่จากบุคคล ๒ กลุ่ม กลุ่มแรก คือ พระ-อรหันต์ผู้หมดกิเลสแล้ว กลุ่มที่สอง คือ บุคคลที่มีความเพียรในการปราบกิเลส
ในการฝึกอบรมนักเผยแผ่กลุ่มแรกที่เป็นพระอรหันต์นั้น พระองค์ทรงประทานโอวาทปาฏิโมกข์ เพื่อเป็นทั้งนโยบายการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และเป็นการสรุปอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้พระอรหันต์นำไปใช้เผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยการเป็นต้นแบบการปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ในชีวิตประจำวันด้วย การที่พระอรหันต์ชุดบุกเบิกมีศีลาจารวัตรที่งดงาม และมีวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัดในการเจริญภาวนา ทำให้เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของสาธุชนเป็นอันมาก ส่งผลให้พระพุทธศาสนาแผ่ขยายไปได้อย่างรวดเร็ว
ส่วนการฝึกบุคคลในกลุ่มที่ ๒ คือบุคคลที่มีความเพียรในการปราบกิเลสให้เป็นพระนักเผยแผ่นั้น พระองค์ทรงกำหนดไว้ ๒ เรื่อง คือ คุณสมบัติของบุคคลที่เหมาะแก่การบรรลุ ธรรม ๕ ประการ และคุณสมบัติของวัดที่เหมาะแก่การบรรลุธรรม ๕ ประการ ดังกล่าวแล้ว
สำหรับการปลูกฝังอบรมบุคคลให้มีคุณสมบัติเหมาะแก่การบรรลุธรรมนั้น เป็นหน้าที่ ของพระอุปัชฌายาจารย์ ทำการฝึกฝนอบรมพระภิกษุที่เข้ามาบวชใหม่ การอบรมในช่วงแรก จะเน้นหนักให้พระภิกษุปรับตัว ให้คุ้นกับการดำรงชีวิตตามหลักนิสัย ๔ พร้อมกันนั้นก็มีการ อบรมเรื่องอปัณณกธรรม ๓ คือให้รู้จักสำรวมอินทรีย์ รู้จักประมาณในการบริโภค และการ เจริญภาวนาเป็นระยะ ๆ ทั้งช่วงเช้า สาย บ่าย และค่ำ พระภิกษุที่ได้รับการฝึกฝนอบรม และปฏิบัติกิจวัตรดังกล่าวนี้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ก็จะสามารถพัฒนาคุณสมบัติของบุคคลที่เหมาะแก่การบรรลุธรรม ๕ ประการ ดังกล่าวแต่ต้นแล้ว
หลังจากการฝึกนิสัย ๔ และการปฏิบัติอปัณณกธรรม ๓ เป็นกิจวัตรแล้ว พระ-อุปัชฌายาจารย์ ก็มีหน้าที่เพิ่มเติมความรู้ให้แก่ศิษย์ โดยจัดให้มีการเรียนการสอนพระธรรม คำสอนต่าง ๆ ในพระไตรปิฎก
ความรู้จากการศึกษาเล่าเรียนนี้ นอกจากจะอำนวยให้พระภิกษุมีความรู้ในการอบรม พัฒนาคุณธรรมในตนแล้ว ยังจะเป็นภูมิรู้ภูมิธรรม สำหรับนำไปเทศน์สอนอบรมประชาชนได้เป็นอย่างดี
วัดใดก็ตามที่มีนโยบายพัฒนาวัดตามแนวทางที่กล่าวมานี้ ย่อมจะเป็นวัดที่มีคุณสมบัติ ของวัดที่เหมาะแก่การบรรลุธรรม ๕ ประการ ดังกล่าวแล้วแต่ต้น
๒ ผู้ที่จะเป็นครูผู้อื่นได้ต้องเป็นผู้ที่ฝึกฝนอบรมตนเองให้ได้อย่างน้อย ๒ ประการ คือ ๑ เป็นต้นแบบการดำเนินชีวิตได้ และ ๒ เป็นกัลยาณมิตรแก่ผู้อื่นได้
เกี่ยวกับเรื่องนี้อาจสังเกตได้จาก การที่พระธรรมคำสอนในยุคต้นพุทธกาลยังมีไม่มาก แต่ก็สามารถบุกเบิกงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ขยายไปทั่วทุกแคว้นได้ โดยอาศัย ศีลาจารวัตรอันงดงาม และความเป็นกัลยาณมิตรของพระอรหันต์เป็นต้นแบบ นำความรู้และประสบการณ์ที่ท่านฝึกฝนอบรมตนเอง มาจนกระทั่งหมดกิเลส มาเป็นหลักในการอธิบายขยายความพระธรรมคำสอน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ประชาชน เกิดความเข้าใจถูกต้อง เกิดความเลื่อมใสศรัทธา พร้อมทั้งนำไปปฏิบัติเป็นกิจวัตรจนสามารถบรรลุธรรมได้
ส่วนในยุคที่พระธรรมคำสอนมีมากแล้ว การเคี่ยวเข็ญฝึกอบรมพระภิกษุรูปใดขึ้นมาเป็นครูบาอาจารย์ แม้ว่าภิกษุรูปนั้นจะยังไม่หมดกิเลส ก็ยังทรงกำหนดว่าต้องยึดปฏิบัติตามสัปปุริสธรรม ๗ ประการ โดยคุณธรรม ๕ ข้อแรก คือ ธัมมัญญู อัตถัญญู อัตตัญญู มัตตัญญู กาลัญญู มีไว้เพื่อฝึกตนเองให้หมดกิเลส และเพื่อเป็นต้นแบบการดำเนินชีวิตให้ชาวโลก ส่วนคุณธรรม ๒ ข้อสุดท้าย คือ ปริสัญญู และปุคคลปโรปรัญญู มีไว้เพื่อทำหน้าที่ เป็นกัลยาณมิตรชักชวนชาวโลก ให้กำจัดกิเลสออกจากใจให้หมดสิ้น บรรลุพระนิพพาน
๓ ความรู้ประมาณคือหลักวิชาสำคัญ ในการฝึกอบรมครูในพระพุทธศาสนา
พระภิกษุผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ยังไม่หมดกิเลส หรือเป็น พระอรหันต์ผู้หมดกิเลสแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ในยุคต้นพุทธกาลที่ประชาชนผู้ศรัทธามีน้อย ลาภสักการะยังไม่มีมาก หรือในยุคที่พระพุทธศาสนารุ่งเรืองสูงสุด ประชาชนมีศรัทธาเป็น อันมาก ยินดีถวายลาภสักการะอันประณีต เลี้ยงบำรุงพระภิกษุทั้งหมดใน ๑๖ แคว้นใหญ่ ๕ แคว้นเล็กได้ทุก ๆ วันแล้วก็ตาม พระองค์ก็ทรงกำชับให้รู้จักใช้ปัจจัย ๔ โดยพิจารณาตามความจำเป็นขั้นพื้นฐานของการดำรงชีวิต
หลักฐานของเรื่องนี้สังเกตได้จากโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญในการ เผยแผ่พระพุทธศาสนาตั้งแต่ยุคต้นพุทธกาล ในโอวาทปาฏิโมกข์นี้ พระองค์ทรงเน้นย้ำพระอรหันต์ ผู้ทำงานเผยแผ่ให้รู้ประมาณในโภชนาหาร เพื่อเป็นต้นแบบที่ดีในการดำเนินชีวิต และเพื่อไม่ทำตนให้เป็นภาระแก่ญาติโยม สำหรับการฝึกนักเผยแผ่ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ พระองค์ก็ทรงกำชับว่า แม้ยังปราบกิเลสได้ไม่หมด ก็ต้องฝึกควบคุมกิเลสด้วยมัตตัญญู คือ เป็นผู้รู้จักประมาณในการรับ
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นช่วงต้นพุทธกาลหรือช่วงที่พระพุทธศาสนา มีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุด พระพุทธองค์ก็ยังทรงกำชับอยู่เสมอว่า "ต้องรู้ประมาณ" โดยในบางโอกาสถึงกับตรัสเตือนสติแรง ๆ ว่า ผู้ที่ไม่รู้ประมาณไม่ใช่ทายาทของพระองค์ แต่เป็นอามิสทายาท ผู้ที่เป็นทายาทของพระองค์ต้องเป็นผู้รู้ประมาณ จึงจะเรียกว่าเป็นธรรมทายาท ของพระองค์
โดยสรุปก็คือ ผู้ที่จะเป็นครูในพระพุทธศาสนานั้น ตราบใดที่ยังไม่ถูกฝึกให้รู้ประมาณ ในการใช้สอยปัจจัย ๔ ได้ ก็จะยังไม่สามารถควบคุมกิเลสได้ ยังขาดคุณสมบัติที่จะฝึกให้เป็นครูที่ดี หรือเป็นนักเผยแผ่ที่ดีได้ รากฐานของการสร้างครูในพระพุทธศาสนา จึงถูกสร้างขึ้นบนความรู้ประมาณนั่นเอง
พุทธภารกิจเร่งสร้างความมั่นคง
จากจุดเริ่มต้นที่โลกนี้มีเพียงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ตรัสรู้ธรรมหลุดพ้นจากวัฏสงสาร เพียงพระองค์เดียว แต่ก็ทรงเผยแผ่แสงสว่างแห่งธรรมไปสู่ใจชาวโลกไปวันต่อวัน เดือนต่อ เดือน ปีต่อปี จากมีจำนวนผู้บรรลุธรรมหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารได้เพียงหลักหน่วย ก็เพิ่มเป็นหลักสิบ หลักร้อย หลักพัน หลักหมื่น หลักแสน หลักล้านตามลำดับ มีผู้ศรัทธาเลื่อมใสทั้งชายหญิงจำนวนมาก มีผู้ออกบวชทั้งชายและหญิงตามมา จำนวนมาก จนกระทั่งเกิดเป็นพุทธบริษัท ๔ ได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา นับเป็นพุทธสาวกที่เกิดขึ้นอย่างครบถ้วนทั้งฝ่ายบรรพชิตและฝ่ายคฤหัสถ์ ทำให้พระพุทธศาสนาแพร่ขยายไปทั่วทั้ง ๑๖ แคว้นใหญ่ ๕ แคว้นเล็ก พระพุทธศาสนาในยุคพุทธกาลจึงมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอันมาก ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เริ่มต้นจาก การตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียงลำพังพระองค์เดียว
การประกาศธรรมของพระองค์ จึงเปรียบเสมือน การจุดดวงประทีปดวงแรกขึ้นในโลกที่มืดมิดสนิทมานานแสนนาน แล้วจุดประทีปส่งต่อ ๆ กันไปคนแล้วคนเล่า จากหนึ่งเป็นสอง สองเป็นสี่ จุดต่อ ๆ ทับทวีคูณกันไปอย่างนี้ จนกลายเป็นความสว่างไสวไปทั่ว
เมื่อจำนวนพุทธบริษัท ๔ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยล้านพันล้านเช่นนี้ สิ่งที่พระองค์ต้องรีบสร้าง รีบทำเพื่อให้พระพุทธศาสนาคงอยู่ไปตราบชั่วกัลปาวสาน ก็คือ การเร่งสร้างความมั่นคงให้กับพระพุทธศาสนา เพื่อให้พุทธบริษัท ๔ มีความสามัคคีปรองดอง มีผู้บรรลุธรรมตามอย่างต่อเนื่อง และสามารถปกป้องดูแลพระพุทธศาสนาให้พ้นจากภัยอันตรายต่าง ๆ ที่อาจ เกิดขึ้นได้ (จากปัญหาทุกข์ในชีวิตประจำวัน ปัญหามาร ๕ ฝูง ปัญหาพญามาร) หลังจาก ที่พระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว
จากการศึกษาพบว่า การเร่งสร้างความมั่นคงของพระพุทธศาสนาแบ่งออกเป็น ๔ แนวทาง คือ
๑ ความมั่นคงของสังคมพุทธ
๒ ความมั่นคงของสังคมสงฆ์
๓ ความมั่นคงของพระธรรมวินัย
๔ ความมั่นคงของการบรรลุธรรม
ตราบใดที่พระพุทธศาสนายังมีความมั่นคงทั้ง ๔ แนวทางนี้อยู่ครบถ้วน พระพุทธ-ศาสนาก็จะไม่อันตรธานหายไปจากโลกนี้
๑ ความมั่นคงของสังคมพุทธ
สังคมพุทธอยู่ได้ด้วยความรับผิดชอบต่อศีลธรรม หากผู้คนในสังคมขาดความรับผิด-ชอบต่อศีลธรรมเมื่อใด พระพุทธศาสนาย่อมอันตรธานไปในทันที ทั้งนี้เพราะความรับผิดชอบต่อศีลธรรมนั้น คือ ความมั่นคงของพระพุทธศาสนา มาทุกยุคทุกสมัยตราบกระทั่งถึงปัจจุบันนี้
ในการสร้างความมั่นคงของสังคมพุทธนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมไว้ใน สิงคาลกสูตร7 ซึ่งเนื้อหาในพระสูตรนี้ ได้กล่าวถึงการแสดงธรรมเพื่อแก้ไขชีวิตของชายหนุ่มคนหนึ่ง ผู้เป็นทายาทเศรษฐีร้อยล้าน แต่กำลังจะกลายเป็นคนล้มละลาย มรดกที่พ่อแม่ให้ไว้ก่อนตายกำลังจะวอดวายไปต่อหน้า มิหนำซ้ำวงศ์ตระกูลที่สืบทอดกันมา ก็จวนเจียน ล่มสลายในคราวยุคของตน ซึ่งเขาไม่รู้ว่า ปัญหาทั้งหมดนั้นเกิดจากความไม่รับผิดชอบต่อ ศีลธรรมของตนเอง หากวันนั้นชายหนุ่มผู้นี้ ไม่ได้รับการชี้แนะแก้ไขจากพระพุทธองค์ เขาก็คงไม่สามารถพลิกวิกฤตให้รอดพ้น จากการล้มละลายมาได้อย่างน่าอัศจรรย์
สิงคาลกสูตรนี้ พระเถราจารย์ได้กล่าวยกย่องว่า เป็นพระสูตรที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสแสดงวินัยของชาวพุทธไว้อย่างสมบูรณ์ที่สุด ด้วยเหตุนี้ พระสูตรนี้จึงถูกใช้เป็น "แม่บทการสร้างสังคมพุทธ" จนทำให้พระพุทธศาสนา มีอายุยืนยาวมาตราบกระทั่งถึงทุกวันนี้
ในการศึกษาสิงคาลกสูตรเพื่อค้นหาคำตอบว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอน วิธีสร้างความรับผิดชอบ ต่อสังคมพุทธไว้อย่างไร หลังจากศึกษา และพิจารณาเนื้อความอย่างพินิจพิเคราะห์แล้ว ก็จะได้คำตอบว่า
การสร้างความมั่นคงของสังคมพุทธ ก็คือ การฝึกฝนอบรมชาวพุทธให้เป็นคนดีมีความรับผิดชอบต่อศีลธรรม ๔ ประการ ได้แก่
๑ ความรับผิดชอบต่อศีลธรรมของตนเอง คือ การฝึกฝนอบรมตนเองให้เป็น "บุคคลที่ไม่เป็นอันตรายต่อสังคม" ด้วยการไม่ทำกรรมชั่วทางกายและทางวาจาที่เรียกว่า "กรรมกิเลส ๔" ได้แก่ การฆ่า การลัก การประพฤติผิดในกาม การพูดปด พฤติกรรมชั่วเหล่านี้ ชาวพุทธต้องไม่ทำ เพราะเป็นเหตุให้เกิดปัญหาอาชญากรรมต่าง ๆ ขึ้นในสังคม เช่น ปัญหาฆาตกรรม ปัญหาโจรกรรม ปัญหาอาชญากรรมทางเพศ ปัญหาต้มตุ๋นหลอกลวง เป็นต้น
๒ ความรับผิดชอบต่อศีลธรรมของสังคม คือ การฝึกฝนอบรมตนเองให้เป็น "บุคคลที่ไม่ทำลายความเป็นธรรมของสังคม" ด้วยการไม่ทำกรรมชั่วทางใจที่เรียกว่า "อคติ ๔" ได้แก่ ลำเอียงเพราะรัก ลำเอียงเพราะชัง ลำเอียงเพราะโง่ ลำเอียงเพราะกลัว เพราะเป็นเหตุให้เกิดปัญหาความแตกแยกต่าง ๆ ขึ้นในสังคม เช่น ปัญหาการคอร์รัปชั่น ปัญหาการกลั่นแกล้ง ปัญหาการทำลายกฎเกณฑ์ ปัญหาอิทธิพลมืด เป็นต้น
๓ ความรับผิดชอบต่อศีลธรรมของเศรษฐกิจ คือการฝึกฝนอบรมตนเองให้เป็น "บุคคลที่ไม่เลี้ยงชีพ ด้วยการทำลายศีลธรรมของผู้อื่นในสังคม" ด้วยการไม่ทำอาชีพชั่วที่เรียกว่า มิจฉาอาชีวะ ได้แก่ การค้าอาวุธ การค้ามนุษย์ การค้าขายสัตว์เพื่อฆ่าเอาเนื้อ การค้า ยาพิษ การค้าของมึนเมา (รวมทั้งสิ่งเสพติดทั้งหลาย) ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดเครือข่ายอาชญากร ที่กระทำผิดกฎหมายขึ้นในสังคม อีกทั้งไม่ส่งเสริมคนที่ทำอาชีพชั่วด้วยการเสพ อบายมุข ๖ ได้แก่ การดื่มสุรา การเที่ยวกลางคืน การหมกมุ่นในสิ่งบันเทิงเริงรมย์ การเล่นการพนัน การคบคนชั่วเป็นมิตร ความเกียจคร้านการงาน ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดปัญหามิจฉาชีพต่าง ๆ ขึ้นในสังคม เช่น ปัญหาการค้ายาเสพติด ปัญหาการค้าอาวุธสงคราม ปัญหาการค้า ประเวณี ปัญหาการพนัน ปัญหาหนี้สินนอกระบบ ปัญหาแรงงานด้อยคุณภาพ เป็นต้น
๔ ความรับผิดชอบต่อการสร้างเครือข่ายคนดีประจำทิศ ๖ คือ การฝึกฝนอบรมตนเองให้เป็น มิตรแท้ต่อสังคม ด้วยการทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบบุคคลแวดล้อมรอบตัว ๖ กลุ่ม ที่เรียกว่า "หน้าที่ประจำทิศ ๖" ได้แก่ ทิศเบื้องหน้า (พ่อแม่) ทิศเบื้องขวา (ครูอาจารย์) ทิศเบื้องหลัง (ภรรยาและบุตร) ทิศเบื้องซ้าย (มิตรสหาย) ทิศเบื้องล่าง (บริวาร) ทิศเบื้องบน (สมณะ) ซึ่งเป็นการสร้างเครือข่ายคนดีและเป็นการป้องกันปัญหาสังคมต่าง ๆ ไม่ให้เกิดขึ้นกับคนรอบตัว เช่น ปัญหาครอบครัว ปัญหาเยาวชน ปัญหาการศึกษา ปัญหาคู่ครอง ปัญหาเพื่อนบ้าน ปัญหาการงาน ปัญหาศาสนา เป็นต้น
ภาพรวมเครือข่ายคนดีประจำทิศ ๖
การที่เราต้องมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ประจำทิศ ๖ นี้ ก็เพราะว่าคนเราอยู่ คนเดียวในสังคมไม่ได้ เราจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกัน จึงไม่มีใครเป็นคนดีอยู่อย่างโดดเดี่ยว ในสังคมได้ เราจึงต้องชักชวนผู้อื่นให้ทำความดีร่วมกัน สังคมจึงจะร่มเย็นเป็นสุข และเกิดเป็นเครือข่ายคนดี ไว้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เมื่อถึงคราวที่มีภัยอันตรายจากวิบากกรรมเก่า หรือคนภัยคนพาลมาเบียดเบียนรังแก ก็จะได้ช่วยกันปกป้องดูแลให้พ้นจากภัยอันตราย
แต่การทำหน้าที่ประจำทิศ ๖ จะได้ผลก็ต่อเมื่อบุคลนั้นปฏิบัติหน้าที่ต่อบุคคลในทิศ ๖ ด้วยความมีสัจจะอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน นั่นคือ ๑) จริงจังต่อหน้าที่และการงาน ๒) จริงใจต่อคำพูดและการกระทำต่อบุคคล และ ๓) จริงแสนจริงต่อการทำความดี
ความจริงจัง ความจริงใจ ความจริงแสนจริงที่มีต่อบุคคลประจำทิศ ๖ นี้เอง จะเป็น พลังแห่งความบริสุทธิ์ใจที่ผลักดันให้บุคคลในทิศ ๖ มีความเชื่อมั่นในความดีและเต็มใจที่จะเป็นคนดีของสังคม เพราะได้ประจักษ์แล้วว่า ผลแห่งวิบากกรรมดี-ชั่วนั้นมีจริง คือการกระทำดีย่อมมีผลเป็นสุข และกระทำชั่วย่อมมีผลเป็นทุกข์จริง โดยดูได้จากผลของการกระทำต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับชีวิตของตนเองและคนอื่นในปัจจุบัน
ในการวางโครงสร้างสังคมนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำหนดให้ ทิศ ๖ เป็น หน่วยย่อยที่เล็กที่สุดของสังคมด้วยเช่นกัน การที่แต่ละคนดูแลคนในทิศ ๖ ของตนเองให้มีความรับผิดชอบทั้ง ๔ ประการได้ดีแล้ว เมื่อนำทิศ ๖ ของแต่ละคนมารวมกัน ก็จะกลายเป็นเครือข่ายคนดีที่มีความเป็นเอกภาพ
สังคมที่มีความเป็นเอกภาพของคนดีเช่นนี้ ย่อมกลายเป็นสังคมที่มีพลังของศีลธรรม เป็นสังคมที่มีความเป็นปึกแผ่นขึ้นมาทันที เพราะทุกคนต่างมีพลังของความรับผิดชอบต่อศีลธรรมอยู่ในตนเอง นั่นคือ ยิ่งทิศ ๖ ของแต่ละคนตั้งมั่นอยู่ในความดีมากเพียงใด ก็จะกลายเป็นเครือข่ายคนดี ที่เป็นกำแพงปกป้องดูแลพระพุทธศาสนา ให้มีอายุยืนยาวได้นานเพียงนั้น เปรียบเหมือนการนำแท่งลูกบาศก์รูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่มีหน้าเรียบเสมอกันทั้ง ๖ ด้าน มาก่อเป็นปราการแห่งความดี เพื่อให้พระพุทธศาสนามีความเป็นปึกแผ่นมั่นคงยิ่ง ๆ ขึ้นไป
สังคมที่มีปราการแห่งความเข้มแข็ง ด้านศีลธรรมของตนเอง ศีลธรรมของสังคม ศีลธรรมของเศรษฐกิจ และการสร้างเครือข่ายคนดีประจำทิศ ๖ เช่นนี้ ย่อมมีศักยภาพมิใช่เพียงแค่การสร้างคนดีสืบต่อ ๆ กันไปจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่งเท่านั้น แต่ยังพัฒนาสังคมให้มีความแข็งแกร่ง ด้านศีลธรรมไว้ปกป้องดูแลพระพุทธศาสนา ให้มั่นคงยืนยาวต่อไปตราบนานเท่านานอีกด้วย
ยิ่งกว่านั้น ยังเป็นสังคมที่มีพลังแห่งศีลธรรม เป็นแรงขับเคลื่อนให้การพัฒนาสังคมด้าน ต่าง ๆ เป็นไปเพื่อการปิดหนทางนรก เปิดหนทางสวรรค์ ถางหนทางไปนิพพาน ทำให้ประชาชนที่เกิดและเติบโตในสังคมนี้ มีโอกาสที่จะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร แม้ว่าพระองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วก็ตาม
ดังนั้น สังคมที่จะปกป้องพระพุทธศาสนา ให้มั่นคงยั่งยืนนาน ก็คือสังคมที่มีศักยภาพ ในการฝึกฝนอบรมประชาชนให้เป็นคนดี มีความรับผิดชอบต่อศีลธรรมของตนเอง ต่อศีลธรรมของสังคม ต่อศีลธรรมของเศรษฐกิจ และต่อการสร้างเครือข่ายคนดีประจำทิศ ๖ ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดสันติสุขอย่างแท้จริงในสังคมแล้ว ผู้คนในสังคมยังมีโอกาสฝึกหัดขัดเกลา กิเลสออกจากจิตใจของตน เพื่อความพ้นทุกข์ จากการเวียนว่ายตายเกิด ในวัฏสงสารตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปได้สำเร็จรุ่นแล้วรุ่นเล่าอีกด้วย
(อ่านต่อฉบับหน้า)