เรียบเรียงจากพระธรรมเทศนา พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)
เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๙
วันนี้เป็นวันอาสาฬหบูชา เป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาที่มีเหตุการณ์อัศจรรย์ ๓ อย่างบังเกิดขึ้น คือ เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงปฐมเทศนา เป็นวันที่มีพระสงฆ์บังเกิดขึ้น เป็นครั้งแรกในโลก และเป็นวันแรกที่มีพระรัตนตรัย ครบองค์สาม คือ มีพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ครบถ้วนบริบูรณ์
คำว่า "อาสาฬหบูชา"มาจากคำว่า "อาสาฬหปุรณมีบูชา" ซึ่งแปลว่า การบูชาใน วันเพ็ญเดือน ๘ เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญ ในพระพุทธศาสนา เป็นวันที่พระจันทร์เสวย อาสาฬหฤกษ์ ในวาระนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดง "ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร" แก่ปัญจวัคคีย์ ทั้ง ๕ คือ ท่านโกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และท่านอัสสชิ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตเมืองพาราณสี
"ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร" เป็นพระสูตรที่แสดงถึงการหมุนกงจักรแห่งธรรม หรือ พระสูตรแห่งการแผ่ขยายธรรมจักร เพื่อให้ผู้ปฏิบัติได้เข้าถึงแก่นธรรม อันจะนำมาซึ่งความร่มเย็นและความสงบสุข ยังสรรพสัตว์ทั้งหลายให้พ้นทุกข์ และได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ซึ่งการแสดงปฐมเทศนาครั้งแรกนั้น พระพุทธองค์ทรงให้ หลักธรรมสำคัญ ๒ ประการ คือ "มัชฌิมาปฏิปทา" และ"อริยสัจสี่"
"มัชฌิมาปฏิปทา" หรือทางสายกลาง เป็นข้อปฏิบัติที่เป็นกลางๆ ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อให้ได้บรรลุถึงจุดหมายในการแสวงหาทางพ้นทุกข์ มิใช่การดำเนินชีวิตสุดโต่ง ๒ ทาง คือ การหมกมุ่น ในกาม มัวเมาในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่เรียกว่า "กามสุขัลลิกานุโยค" และการทรมานตนให้ได้รับความลำบาก คอยหวังพึ่งอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ด้วยคิดว่าจะสามารถช่วยให้พ้นทุกข์ได้ ที่เรียกว่า "อัตตกิลมถานุโยค"
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้ละเว้น จากการปฏิบัติผิดสองทางนี้ ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ตึงเกินไป และหย่อนเกินไป ทรงให้หันกลับมาดำเนินในหนทางสายกลาง เพราะพระองค์เคยผ่านสองวิธีการนั้นมาแล้ว ทรงเห็นว่าไม่ได้ผล และไม่ใช่หนทางแห่งการพ้นทุกข์ที่แท้จริง หนทางสายกลางที่ถูกต้องสมบูรณ์นั้น ต้องประกอบด้วยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
"สัมมาทิฏฐิ" ความเห็นชอบ คือ มีความเข้าใจถูกต้อง เช่น เข้าใจเรื่องกฎของไตรลักษณ์ เรื่องกฎแห่งกรรม สามารถรู้เห็นไปตามที่เป็นจริง และสำคัญที่สุดคือ เห็นว่า นิพพานมีจริง
"สัมมาสังกัปปะ" ดำริชอบ คือ คิดสุจริต มีความคิดถูกต้องดีงาม คิดที่จะออกจากกาม จากความพยาบาท และการเบียดเบียนกัน
"สัมมาวาจา" เจรจาชอบ คือ กล่าวคำสุจริต มีวาจาสุภาษิต ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ พูดแต่คำจริง มีประโยชน์ ประกอบด้วยจิตเมตตา ไพเราะ และถูกกาล
"สัมมากัมมันตะ" กระทำชอบ คือ การกระทำที่สุจริต ที่เป็นทางมาแห่งบุญกุศล
"สัมมาอาชีวะ" อาชีพชอบ คือ ประกอบอาชีพที่สุจริต เว้นขาดจากมิจฉาวณิชชา อาชีพ ต้องห้าม อันได้แก่ การค้ามนุษย์ ค้าอาวุธ ค้ายาพิษ ค้าสุรายาเสพติด และค้าสัตว์เพื่อนำไปฆ่า
"สัมมาวายามะ" พยายามชอบ คือ ความเพียรระวังบาปอกุศลไม่ให้เกิด เพียรกำจัดบาปที่เกิดขึ้น เพียรฝึกใจให้หยุดนิ่ง และเพียรรักษาใจให้ผ่องใสอยู่เสมอ
"สัมมาสติ" ระลึกชอบ คือ มีจิตสำนึกอยู่ภายในกลางกายเสมอ ไม่เผลอ ไม่ประมาท ให้ใจอยู่ในปริมณฑล ตรงฐานที่ตั้งของใจที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
ในที่สุดก็จะเกิด "สัมมาสมาธิ" มีใจตั้งมั่น แน่วแน่ มั่นคง พอใจหยุดนิ่งถูกส่วนก็เป็นดวงใสสว่างเกิดขึ้นที่กลางกาย เรียกว่า ดวงปฐมมรรค ซึ่งเป็นต้นทางสายกลางที่จะนำไปสู่การได้บรรลุมรรคผลนิพพาน
หลักธรรมที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ "อริยสัจสี่" ความจริงอันประเสริฐของพระอริยะ ผู้ที่ห่างไกลแล้วจากกิเลส อันได้แก่
"ทุกข์" คือ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ เป็นสิ่งที่ทนได้ยาก เป็นสิ่งที่บุคคลต้องกำหนดรู้ให้เท่าทันตามความเป็นจริง
"สมุทัย" คือ เหตุเกิดแห่งทุกข์ เป็นตัวการสำคัญของความทุกข์ เกิดขึ้นเพราะอาศัยตัณหา ความทะยานอยาก ถ้าดับความอยากได้ ทุกข์ก็ดับไป จะดับความอยากได้ ต้องทำใจให้หยุด ที่เรียกว่า นิโรธ
"นิโรธ" คือ ความดับทุกข์ "นิโรธ" แปลว่า หยุด หรือดับ เมื่อหยุดแล้วจึงดับ เมื่อดับแล้วจึงเกิดมรรค
"มรรค" คือ หนทางดับทุกข์ เป็นดวงใสสว่างในกลางกาย อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ยามเที่ยงวัน แล้วก็ทำใจให้หยุดในหยุดต่อไปเรื่อยๆ ก็จะเห็นดวงธรรมต่างๆ ซ้อนกันเข้าไป จะพบกายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม และกายธรรมไปตามลำดับ
ท่านโกณฑัญญะผู้เป็นหัวหน้าปัญจวัคคีย์ ตั้งใจฟังกระแสพระดำรัส แล้วปล่อยใจตามไป ในที่สุดท่านก็ได้บรรลุธรรมาภิสมัย มีดวงตาเห็นธรรม มีธรรมจักขุ ญาณ ปัญญา วิชชา อาโลโก (แสงสว่าง) บังเกิดขึ้น ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ดังนั้นจึงมีพระอริยสาวกบังเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก จากนั้นท่านก็ทูลขออุปสมบท เป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา มีนามว่า พระอัญญาโกณฑัญญะ พระมหาเถระรัตตัญญู ผู้รู้ราตรีนาน ทำให้มี พระรัตนตรัยครบองค์สาม คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์
ดังนั้น ในวันอาสาฬหบูชานี้ เราจึงควรมาตามระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในพระพุทธศาสนา และทบทวนหลักธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงปฐมเทศนาเอาไว้ เพื่อเราจะได้นำมาใช้ประคับประคองชีวิตของเราให้อยู่เย็นเป็นสุข เมื่อวันสำคัญนี้เวียนมาถึง เราก็จะต้องทำวันนี้ให้เป็นวันที่ดีที่สุดในชีวิตของเรา ด้วยการสั่งสมบุญกุศลกันอย่างเต็มที่ อย่างเต็มกำลัง
ในวันนี้ เราก็จะมาหล่อเทียนสวรรค์กัน เพราะบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในช่วงเข้าพรรษา เขาก็มีการจุดเทียนทิพย์บูชาพระรัตนตรัย โดยผ่านมหาจุฬามณี ส่วนในเมืองมนุษย์ เราก็มีเทียนสวรรค์เพื่อบูชาพระรัตนตรัย โดยผ่าน มหาธรรมกายเจดีย์ ซึ่งเป็นเจดีย์แห่งพระรัตนตรัย มีพุทธปฏิมากรซึ่งเป็นตัวแทนของพระสัมมา สัมพุทธเจ้าสามแสนองค์ประดิษฐานภายนอก มหาธรรมกายเจดีย์ ฉะนั้นในพรรษานี้ เราจะบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างน้อยก็คราวละสามแสนองค์ไปจนตลอดพรรษา
การบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นทักขิไณยบุคคลอันเลิศ ถือเป็นการบูชา บุคคลอันสูงสุดที่ควรบูชาอย่างยิ่ง เป็นทางมาแห่งบุญกุศล อันยิ่งใหญ่ของเรา และเราจะได้รับอานิสงส์อันยิ่งใหญ่จากการบูชานี้ คือ จะทำให้เป็นผู้ที่มีศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัย ไม่ว่าจะไปที่แห่งใดก็จะได้รับการเคารพบูชา เราจะมีกำลังใจอันสูงส่งในการสร้างความดี ชีวิตจะมีแต่ความเจริญ รุ่งโรจน์สว่างไสว จะมีดวงตาที่สดใสสวยงาม ไม่เป็นโรคนัยน์ตา จะมีผิวพรรณวรรณะผ่องใส มีดวงปัญญาสว่างไสว มีปฏิภาณไหวพริบดี จะได้ที่สุดแห่งรูปสมบัติ ที่สุดแห่งทรัพย์สมบัติ ที่สุดแห่งคุณสมบัติ ที่สุดแห่งลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มรรคผลนิพพาน และจะได้บรรลุถึงที่สุดแห่งธรรม