วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ สัจจบารมี ยอมตายไม่ยอมคด

ปกิณกธรรม

เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวณฺณจิโต ป.ธ.๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ.๙/ ภาพประกอบ : กองพุทธศิลป์

 

 

สัจจบารมี

ยอมตายไม่ยอมคด    

         "ท่านพึงบำเพ็ญสัจจบารมีให้เต็มเปี่ยม อย่าได้พูดเท็จทั้งที่รู้ตัวอยู่ด้วยมุ่งทรัพย์ เป็นต้น  ดาวประกายพรึกในทุกฤดูกาล ไม่โคจรไปในทางอื่น โครจรเฉพาะในทางของตนเท่านั้น   ฉันใดแม้ท่านไม่ละสัจจะ ไม่ทำการพูดเท็จ ก็จักได้เป็นพระพุทธเจ้า ฉันนั้น "

          พระโพธิสัตว์รู้ว่า บนเส้นทางสร้างบารมีนั้น ลาภ ยศ สรรเสริญ เป็นเหตุให้ใจหวั่นไหวได้ จึงต้อง บำเพ็ญสัจจบารมี คือ จะไม่ออกนอกทางแห่งความดี ที่ตั้งใจไว้ ถึงแม้จะมีลาภยศมามอบให้ เพื่อให้ทำ สิ่งที่ผิดศีลผิดธรรม  ก็จะไม่เห็นแก่สิ่งของล่อใจ เหล่านั้นเด็ดขาด จะกี่เดือน  กี่ปี  ดาวประกายพรึกก็ไม่เคยเปลี่ยนวิถีโคจรในการส่องแสง ตัวท่านเองก็จะมั่นคงในการสร้างบารมีเพื่อมุ่งไปสู่สัมมาสัมโพธิญาณตลอดไป

          สัจจะ แปลว่า ความสัตย์ ความซื่อ คนที่มี สัจจะ มีความรับผิดชอบต่องานที่ทำทุกอย่าง ไม่ปล่อยผ่านกับสิ่งที่ได้รับมา จะทำทุกสิ่งที่มาถึงมืออย่างสุดกำลังและเต็มความสามารถ

          ลักษณะของสัจจะมี ๕ ประการ คือ

          ๑. สัจจะต่อหน้าที่ เช่น พ่อ-แม่, บุตร-ธิดา, ภรรยา-สามี ต่างต้องมีหน้าที่ต่อกันและกันตามหลักสิงคาลกสูตร เป็นต้น ใครมีหน้าที่อะไรก็ต้องมีความรับผิดชอบ

          ๒. สัจจะต่อการงาน คือ เมื่อตั้งใจทำงานชิ้นใดแล้วจะทำให้เต็มที่ ไม่เสร็จไม่เลิก มีแต่ต้องทำงาน ชิ้นนั้นให้สำเร็จและดีที่สุด

          ๓. สัจจะต่อวาจา คือ เมื่อพูดอย่างไรก็ต้อง ทำอย่างนั้น เป็นผู้มีวาจาตรงกับใจ

          ๔. สัจจะต่อบุคคล คือ ไม่หน้าไหว้หลังหลอก คบกับใครต้องเป็นมิตรแท้กับคนเหล่านั้น ถึงขนาดยอมตายแทนกันได้

          ๕. สัจจะต่อความดี คือ มั่นคงต่อความดี ไม่หันเหไปในทางชั่ว ไม่ข้องเกี่ยวกับอบายมุขทุกชนิด คิดแต่จะทำความดี ไม่ว่าจะมีคนรู้หรือไม่ก็ตาม

          มีเรื่องเล่าว่า ภิกษุรูปหนึ่งบวชด้วยความศรัทธา แต่อยู่ได้ไม่นาน อยากจะลาสิกขา พระพุทธองค์จึงตรัสสอนว่า " ดูก่อนภิกษุ เมื่อครั้งพระพุทธเจ้ายังไม่เกิดขึ้น ดาบสผู้บำเพ็ญพรตนอกพระพุทธศาสนา ทนประพฤติพรหมจรรย์อยู่ได้กว่า ๕๐ ปี โดยไม่บอกใครให้รู้เลยว่าตัวเองอยากกลับไปเป็นฆราวาส เธอบวชในศาสนาที่จะทำให้หลุดพ้นได้จริง ทำไมจึงคิดอยากจะออกไปแสวงหาทุกข์ ทำไมเธอไม่รักษาหิริโอตตัปปะเอาไว้" จากนั้นพระองค์ทรงนำ เรื่องในอดีตมาเล่าเพื่อเป็นเครื่องสอนใจ ดังนี้

 

 

สัจจะชนะความตาย

          ในอดีต พระโพธิสัตว์เกิดเป็นลูกของพราหมณ์ ชื่อ ทีปายนกุมาร เมื่อเรียนจบศิลปศาสตร์แล้ว ไม่อยากครองเรือน จึงขนสมบัติที่มีอยู่ทั้งหมดออกบริจาคเป็นทาน อำลาหมู่ญาติออกบวช บำเพ็ญภาวนาอยู่ในป่าหิมพานต์นานถึง ๕๐ ปี ต่อมาดาบส ได้ออกจากป่าเที่ยวภิกขาจารไปตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อนเก่าสมัยยังไม่ได้บวชเห็นเข้าจึงนิมนต์ไปพักที่ สวนหลังบ้าน และต้อนรับเป็นอย่างดี อุปัฏฐากไม่ให้ขาดตกบกพร่อง

 

 

          วันหนึ่ง ลูกชายของเพื่อนชื่อยัญญทัตตกุมาร ถูกงูพิษกัด ไม่สามารถทนพิษได้จึงสลบไป พ่อแม่ รีบอุ้มลูกไปหาดาบสให้ช่วยเยียวยา โดยอ้อนวอนว่า "ท่านเจ้าข้า ขอได้โปรดช่วยลูกดิฉันด้วยเถิด" ดาบส กล่าวว่า "โยม อาตมาเป็นบรรพชิต ไม่ทำยารักษาโรค " เมื่อถูกอ้อนวอนหนักเข้า ท่านจึงหลับตาทำภาวนาแผ่เมตตาจิตไปยังเด็กน้อยผู้เหลือแต่ลมหายใจ ที่แผ่วเบาแล้วก็วางมือลงบนศีรษะของเด็ก พลางตั้งสัตย์อธิษฐานดัง ๆ ว่า

          " เรามีจิตเลื่อมใสตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์อยู่ เพียง ๗ วันเท่านั้น ต่อจากนั้น แม้เราอยากลาสิกขา แต่ก็ยังทนบวชได้ถึง ๕๐ ปี ด้วยความสัตย์นี้ ขอให้ หนูน้อยรอดชีวิตเถิด " พออธิษฐานเสร็จ สิ่งอัศจรรย์ ก็เกิดขึ้น พิษในกายของเด็กไหลออกมา แล้วซึมหาย ไปในแผ่นดิน เมื่อเด็กน้อยรู้สึกตัว ลืมตาขึ้นแล้วเรียก หาแม่ พลิกตัวไปมาได้ แต่ยังลุกขึ้นไม่ได้

          ดาบสบอกเพื่อนว่า "กำลังบุญของเราทำได้แค่นี้ พวกท่านลองตั้งใจนึกถึงสัจจะที่เคยทำเอาไว้ดูสิ" พ่อของเด็กวางมือบนหน้าอกของลูก แล้วกล่าว สัจจกิริยาดัง ๆ ว่า "เราเห็นแขกมาถึงบ้านเพื่อจะขอพัก บางครั้งเราไม่พอใจจะให้พักเลย แต่ก็ตัดใจให้ทุกครั้ง ด้วยความสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ยัญญทัตตกุมารด้วยเถิด "

          เมื่อบิดาทำสัจจกิริยาเช่นนี้แล้ว อาการของลูกชายจึงดีขึ้นมาก แต่ยังไม่หายสนิท จึงหันมาทาง ภรรยา "ที่รัก พี่ได้ทำสุดกำลังแล้ว ที่นี้น้องจงทำสัจจกิริยาให้ลูกชายลุกขึ้นเดินได้ด้วยเถิด" ภรรยากล่าวว่า "พี่ ความสัตย์ของฉันมีอยู่อย่างหนึ่ง แต่ไม่กล้ากล่าวต่อหน้าพี่ กลัวว่าพี่จะโกรธเคือง" สามีบอกว่า "กล่าวไปเถิด เพื่อลูกแล้ว อะไรก็ยอม"

          ภรรยาจึงทำสัจจกิริยาว่า  ลูกรัก อสรพิษกัดลูก มีฤทธิ์เดชมาก แม่ไม่ชอบงูพิษตัวนี้พอ ๆ กับที่ ไม่ชอบพ่อของลูกนั่นแหละ ด้วยความสัตย์นี้ ขอลูกรัก จงรอดชีวิตเถิด "เมื่อนางอธิษฐานเสร็จ พิษงูได้มลาย หายไปสิ้น ลูกชายสามารถลุกขึ้นพูดคุยกับพ่อแม่และหมู่ญาติที่มาห้อมล้อมได้เป็นปกติ

          ต่อมา เพื่อนของท่านดาบสถามด้วยความสงสัยว่า "ท่านเป็นผู้สงบ ฝึกฝนตนดีแล้ว นอกจาก ท่านแล้วจะหาผู้ที่มีคุณธรรมเสมอเหมือนท่านนั้นยากยิ่งนัก แล้วทำไมท่านจึงต้องสู้ฝืนใจประพฤติพรหมจรรย์ "

          ท่านดาบสเปิดเผยความในใจว่า "ผู้ออกบวชด้วยศรัทธาแล้วกลับเข้าบ้านอีก เป็นคนเหลวไหล เป็นคนกลับกลอก เราเกลียดต่อถ้อยคำเช่นนี้ จึงสู้ฝืนใจประพฤติพรหมจรรย์ อยู่ในฐานะที่วิญญูชนสรรเสริญ และเป็นฐานะของสัตบุรุษทั้งหลาย เพื่อน เอ๋ย เราเป็นผู้ทำบุญ ทนประพฤติพรหมจรรย์ เพราะ อาศัยหิริโอตตัปปะ "

          ท่านดาบสย้อนถามว่า "ท่านเลี้ยงดูสมณพราหมณ์และคนเดินทางให้อิ่มหนำสำราญ บ้านของท่านเป็นเหมือนบ่อน้ำ ท่านคิดอย่างไรแม้ไม่ประสงค์ จะให้ทาน ก็ยังให้ด้วยความเคารพ" เพื่อนตอบว่า "ปู่ย่า ตายาย เป็นคนมีศรัทธา เราประพฤติตามวงศ์ตระกูล ถ้าไม่ทำก็จะถูกตำหนิว่าเป็นคนทำลาย ธรรมเนียม ดังนั้นแม้ไม่ประสงค์จะให้ เราก็ให้ทานไม่เคยขาด "

          ดาบสแนะนำเพื่อนว่า  เพื่อนเอ๋ย การที่ท่านหาทรัพย์ได้มาโดยลำบาก แล้วบริจาคทานโดยไม่มี ศรัทธา เป็นสิ่งไม่สมควร แต่นี้ไปท่านจงเชื่อกรรมและผลแห่งกรรม ให้ทานด้วยศรัทธาเถิดŽ เพื่อนก็รับคำ จากนั้นได้ไต่ถามภรรยาว่า " น้องรัก พี่รักน้อง อย่างสุดหัวใจ แล้วทำไม ถ้าน้องไม่รัก จึงไม่จากไปล่ะ "

          นางบอกว่า "ตระกูลของฉันไม่มีใครหย่าร้างกับสามี ฉันมีหิริโอตตัปปะ แม้ไม่รักก็อยู่ได้ เพราะไม่อยากให้ใครมานินทาว่าเป็นผู้ทำลายวงศ์ตระกูลจ้ะ" ครั้นนางได้กล่าวอย่างนี้แล้ว จึงได้ขอโทษสามีต่อหน้าท่านดาบส เมื่อทั้งคู่เปิดใจต่อกันแล้ว ก็มีความเคารพรักกันยิ่งขึ้น ภรรยาก็มีความเสน่หาในสามีเป็นอย่างดี ฝ่ายสามีก็มีจิตเลื่อมใสถวายทานด้วยศรัทธา พระโพธิสัตว์ก็บรรเทาความเบื่อหน่ายเสียได้ ทำฌานและอภิญญาให้เกิด แล้วไปบังเกิดในพรหมโลก

          ท่านสาธุชนทั้งหลาย...คนที่มีวาจาตรงกับใจ จะเป็นคนที่สามารถหาศูนย์กลางกายง่าย ปฏิบัติสะดวกเข้าถึงธรรมได้เร็ว เพราะใจไม่คด ไม่งอ แต่ถ้าธาตุในตัวคดเสียแล้ว จะขยันนั่งอย่างไรก็เข้าถึงธรรมยาก ลักษณะของคนที่มีสัจจะคือคนที่ทำอะไรทุ่มสุดตัว จะทำงานชิ้นใดก็ทุ่มทำให้ดีที่สุด ฉะนั้น การเป็นคนมีสัจจะต่อหน้าที่ การงาน วาจา บุคคล ความดี จึงเป็นสิ่งที่เราต้องฝึกฝนกันเรื่อยไป เมื่อเจอวิกฤตจะได้พลิกให้เป็นโอกาสด้วยอานุภาพแห่งสัจจบารมี

 

" สจฺจํ เว อมตา วาจา คำสัตย์จริงเป็นสิ่งไม่ตาย "

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล