ตำรับยอดเลขา
เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว
ตำรับยอดเลขา
จากคัมภีร์ “จรรยาบ่าว” วิธีฝึกผู้นำในยุค ร.ศ. ๑๓๑
ตอนที่ ๑
เค้าความเดิม และจรรยา ข้อที่ ๑
“ตำรับยอดเลขา” นำมาจากหนังสือ “จรรยาบ่าว” ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ ๗๕ ปีที่แล้ว โดยไม่ได้ระบุชื่อผู้เขียน เมื่อหลวงพ่อทัตตชีโวอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ท่านอยากให้ญาติโยมรู้เรื่องราวดี ๆ จึงเมตตานำมาเทศน์ให้ฟังเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ต่อมาพิมพ์รวมเล่มและตั้งชื่อใหม่ว่า “ตำรับยอดเลขา” โดยลำดับเนื้อความตามต้นฉบับเดิม และคัดลอกของเก่าไว้ให้ดูด้วย เพื่อรักษาศัพท์บางคำไว้ และเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้เขียน
เค้าความเดิม
เรื่องจรรยาบ่าว ที่ผู้เขียนไม่ปรากฏนามเรียบเรียงไว้นั้น ท่านจัดสารบัญไว้เรียบร้อยว่า จรรยาทั้ง ๓๕ ข้อ มีอะไรบ้าง แต่พอเข้าเนื้อเรื่อง ท่านก็ลุยเนื้อหาเลย ไม่ได้ยกเอาชื่อหัวข้อมาตั้งไว้อีก หลวงพ่อจึงเอามาใส่เพิ่มไว้ตามหัวข้อเอง เพื่อสะดวกแก่การทำความเข้าใจ และที่ถูกใจหลวงพ่อมากคือ คำนำ ในการจัดทำหนังสือจรรยาบ่าว จึงขอคัดลอกข้อความมาเล่าสู่กันฟังด้วย ท่านเขียนว่า
“เมื่อได้พิจารณาดูบ่าวฤๅคนใช้ สำหรับท่านผู้มีพาศนา บรรดาศักดิ์ในปัจจุบันนี้ มีกิริยาท่าทางที่ประพฤติต่าง ๆ กันหลายอย่าง จะเป็นด้วยไม่รู้ว่าหน้าที่แห่งตนควรจะกระทำอย่างไรบ้างฤๅอย่างไร ฤาจะเป็นด้วยไม่มีตำราร่ำเรียนและมีผู้แนะนำ ก็คงเป็นแต่จำกันอย่างหยาบ ๆ ต่อ ๆ มา ความจำต่อ ๆ มานั้น จะว่าดีก็มี จะว่าชั่วก็มี เป็นอันมีและเป็นได้ทั้งชั่วและดี กล่าวก็คือ ไปจำเอาที่ดีมาเป็นตำรา ก็เป็นการดีไป ถ้าไปจำเอาที่ชั่วมาเป็นตำรา เข้าใจว่าดีว่าถูก มันก็เสียหนทางไป
เมื่อสิ่งใดไม่มีหลักสูตร์ และตำราให้เรียนก็เป็นการยากที่จะทำให้ถูกให้ดีไปทุกอย่างได้ ดูก็เหลือนิสัยที่จะปฏิบัติ ถึงหากว่ามีเจตนาอันดี แต่ว่าไปถือ และกระทำทางที่ผิดเข้า เช่นไปจำอย่างโซ้ด ๆ อันไม่เข้าเรื่องอะไรมาเข้าใจ ว่าดี เช่นนี้เป็นต้น ก็กระทำให้ตนเสียความเรียบร้อยไป ความฉลาดจะมีก็ด้วยความประพฤติดีและถูกมากกว่าผิด แต่ฉันใดจึงจะรู้ว่าดีฤๅไม่มีความฉลาดเล่า ก็ต้องอาศรัยความศึกษาและร่ำเรียน และการที่เรียนนั้นก็ต้องมีตำรา และ หลักสูตร์ตำราอย่างนี้ก็ไม่มี และที่มีบ้างก็ไม่ตรงความต้องการกับเรื่องอย่างนี้ จะทำอย่างไร
เมื่อได้ตริตรองดูเห็นทางบกพร่องอยู่เช่นนี้ จึงได้คิดเรียบเรียงเรื่องจรรยาบ่าวฉบับนี้ขึ้น โดยเห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่จะเป็นข้าเจ้าบ่าวขุนนางอยู่บ้าง ถ้าได้เดินทางนี้ หรืออีกอย่าง เพื่อเป็นหนทางที่จะได้พิจารณาเลือกฟั้นหาทางที่ชอบต่อไป ถึงแม้ว่าหนังสือฉบับนี้จะรวบรวมข้อความยังไม่หมดจดถี่ถ้วน ก็นึกว่ายังดีกว่าไม่มีทีเดียว เมื่อต้องการเพียงใด ฤามีความสามารถทำได้แต่เพียงใด ก็สุดแต่ใจรักที่จะกระทำ และคงจะเป็นคุณประโยชน์อยู่บ้าง เพื่อผู้ที่ ประพฤติ์เเชเชือนไปได้พบได้อ่านก็จะสดุดใจได้สติขึ้นมาบ้างดอกกระมัง ฤๅปฏิบัติเข้าทางอยู่แล้ว แต่หากว่ายังบกพร่องแลไม่เห็นทางยืดยาวต่อไปอีกอยู่บ้าง เมื่อได้พิจารณาดู ก็จะได้แลเห็นทางที่ได้แผ้วถางทำไว้นั้นโล่งเตียนพอที่จะเดินได้สดวก ดีกว่าบุกรุกบุกพงเดาสวดไปตามบุญตามกรรรม และเมื่อมีทางเตียนให้เดินขึ้นแล้ว ก็จะเดินเร็วขึ้น ถึงนั่นถึงนี่ได้สดวกทันความต้องการ ถ้าหากว่ามีความสามารถอยากจะเดิน ถ้าแม้ไม่อยากจะเดิน ถึงมีทางไว้ ก็ไม่เป็นประโยชน์อะไรอยู่เอง
แต่การที่ได้ทำเรื่องขึ้นนี้ ไม่ได้หมายความไปถึงทาษและลูกจ้าง สำหรับแต่บ่าวหรือคนใช้ และบางข้อความจะสูงเกินไปจากคนใช้และบ่าวก็มีอยู่บ้าง แต่เห็นว่าไม่เสียหายอะไร กระทำได้ก็ยิ่งดีเสียอีก และเมื่อมีแบบฉบับสำหรับบ่าวปฏิบัติเป็นทางไว้เช่นนี้แล้ว ควรท่านผู้เป็นนายทั้งหลายจะจัดหาไปให้บ่าวฤๅคนใช้ให้ศึกษาทราบความไว้ เรื่องแคล้วความเข้าใจอะไรต่าง ๆ ของบ่าวจะน้อยลง ประโยชน์ก็มีทั้งสองฝ่าย ส่วนนายก็จะทุเลาเบาแรงในการปากบ่วนกวนใจไปบ้าง
เมื่อพลาดผิดลงในข้อใด ก็จะลงโทษและว่ากล่าวได้ถนัด เหมือนดังได้ออกคำสั่งไว้ให้แล้ว ส่วนบ่าวที่ไม่ใคร่จะเอาถ่านก็จะได้มีความรู้ในสิ่งซึ่งควรปฏิบัติ และนึกคร้ามยำเกรงระวังผิดมากเข้า จะคิดประหนึ่งว่า หนังสือนี้เหมือน ข้อบังคับ จะกลับใจที่ประพฤติแชเชือนมากลับประพฤติเข้าทางดี ก็จะมีประโยชน์ได้ดอกกระมัง ตัวอย่างก็ย่อมมีแต่ครั้งโบราณในการประพฤติแชเชือน แล้ว กลับดีได้สำเร็จมรรคผลออกเป็นกองสองกองไม่ใช่หรือ ฤๅจะคัดค้านว่าท่านเหล่านั้นมีนิสัยปัจจัย จึงกลับได้ ก็นี่ใครจะรู้แน่ได้ว่าเขาไม่มีนิสัยปัจจัยกลับเป็นดีได้บ้างเล่า ในเมื่อได้รับคำแนะนำทางดีทางชอบเข้า ข้าพเจ้าไม่ได้ประมาท เลยว่า เขาจะกลับคืนดีไม่ได้
ถึงในปัจจุบันนี้ ก็มีตัวอย่างอยู่ถมไป ที่ประพฤติแชเชือนมาแล้ว กลับประพฤติถูกทางดีไปได้ ขอให้ลองนึกดูเถิดคงจะเห็นได้ แต่คนที่ประพฤติแชเชือนมาก่อนแล้วมาประพฤติถูกทางกลับดีได้นั้น ย่อมจะเป็นคนมีความสามารถสำคัญมาก เพราะที่พี่แกได้เคยรู้รสอดทน เปรี้ยวหวานจืดเค็มก็ได้รับรองมาแล้ว แต่ข้อนี้ขออย่าให้เข้าใจว่าข้าพเจ้าแนะนำและยืนยันให้ประพฤติแชเชือนมาก่อน แล้วจึงจะดีภายหลังนั้นเลย ข้าพเจ้าไม่ยอมรับรองเอา เพราะใจของข้าพเจ้านั้นอยากจะดีมาตั้งแต่ตกฟากทีเดียวดีกว่า
ก็เพราะเหตุฉะนั้นจึงเห็นว่า แบบแผนอันใดมีอยู่ถึงว่าได้เห็นได้พบครั้งแรกจะไม่สู้นิยมเชื่อถือก็ดี แต่ทำให้สกิดใจอยู่บ้าง เมื่อสกิดเข้าบ่อย ๆ ก็เลยนิยมเชื่อถือเอาเค้าความเดิมเป็นดี มีความเลื่อมใสไปก็ได้ ใจมันกลับได้เปลี่ยนได้บางขณะเหมือนกัน เป็นสำคัญที่ต้องหมั่นส้องเสพย์และศึกษาด้วย เมื่อจี้จ่ออยู่เสมอ มันก็อาจเหหันไปได้ เช่น คำภาษิตเกล็ด ๆ ของบุราณกล่าวว่า “คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล” ฤๅภาษิตตลาดอีกไม้หนึ่งว่า “คบคนดีมีศรีแก่ตัว คบคนชั่วปราชัย” เช่นนี้ก็ความเดียวกัน
ถ้าจะแปลออกไปก็คือ ความศึกษาคบหาส้องเสพย์นั้นเอง เมื่อปั้วเปี้ยอยู่กับใครหรือกับอะไร นิสัยมันก็อาจจะติดต่อกับคนนั้น ฤๅอย่างนั้นได้ เช่น คนเป็นละครและเป็นโขน ดูกิริยาท่าทางซี คงจะมีท่าละครและโขนอยู่เสมอ เอาจักละเอียดออกไปอีกที คนที่เป็นนางก็กิริยาคงต้วมเตี้ยมลมุนลไม คนที่เป็นยักษ์เป็นลิงก็ตึงตังลอกแลก ดูเอาเถิดมันก็เป็นได้เช่นนั้น เพราะฉะนั้น เหตุไรมันจึงจะกลับตัวไม่ได้บ้างเล่า ย่อมจะเป็นได้ดังที่กล่าวแล้วบ้างเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น เมื่อมีแบบแผนและหลักสูตร์ หรือกฎข้อควรปฏิบัติขึ้นแล้ว ก็หวังใจว่า คงจะศึกษาและพิจารณาเห็นทางผิดทางชอบบ้าง เป็นทางกันเขลาและเบาความต่าง ๆ ฤๅทวีความอุสาหและกตัญญูขึ้น อันเป็นของดียิ่งแห่งมนุษย์และเทพยดาสรรเสริญ ความเผลอเพลินเฉไปทางการชั่ว ฤๅกลั้วอยู่ในทางผิด ก็จะได้นึกได้คิดเปลี่ยนจิตร์ตั้งอารมณ์ใหม่ได้สติดีเข้าในที่ทางถูกทางชอบดอกกระมัง ผู้เรียบเรียงก็มีความหวังและตั้งใจให้เป็นเช่นนี้ โดยความ ปราถนาอันดีฉะนี้แล
แล้วท่านก็ดำเนินเรื่องเลย ดังที่หลวงพ่อกำลังจะนำมาเทศน์ให้ฟังกัน พร้อมกับขยายความเพิ่มเติมให้อีก
๑
การเลือกนาย
ถ้าได้ผู้บังคับบัญชาเป็นคนพาล
ชีวิตนี้ก็จบกัน ถึงเราจะทำดีอย่างไร
ก็ไม่มีทางเจริญรุ่งเรืองต่อไปได้
๑. การเลือกนาย
ความพิจารณาในชั้นแรก เราต้องคิดก่อนว่า เราจะต้องหาเจ้าขุนมูลนายที่อัธยาศรัยใจคอ หลักถานมั่นคงและความประพฤติที่ถูกใจของเราไม่ใช่หรือ เมื่อเช่นนั้นเราจะต้องสืบเสาะสอบสวนดูว่า ท่านผู้ใดหนอที่จะเป็นที่พึ่งของเราได้ หรือที่มีนิสัยปัจจัยต้องตามอารมณ์และความประพฤติของเรา เมื่อเราทราบลักษณการในฐานเลือกฟั้นเป็นที่พอใจเช่นนั้นแล้ว เราก็ควรเข้าสามิภักดิ์ยึดเป็นที่พึ่งของเราต่อไป แต่ต้องคิดให้ดีโดยรอบคอบ เมื่อคิดผิดไปแล้วจะผลัดเปลี่ยนก็ยาก จะกลายเป็นคนจับจด อยู่ที่ใดไม่เป็นหลักแหล่งได้นาน เช่นนั้นก็ไม่สู้ดี เพราะฉะนั้น จึงต้องใช้ความตริตรองเสาะแสวงให้รอบคอบถี่ถ้วน เมื่อเห็นควรเห็นดีแน่แล้ว จึงเข้าสามิภักดิ์กับท่านผู้นั้น
ข้อความนี้ตรงกับมงคลสูตรข้อที่ ๑ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “อะเสวะนา จะ พาลานัง ห้ามคบคนพาล” ยิ่งไปกว่านั้น ไม่ใช่เพียงการคบกันเฉย ๆ แต่จะเข้าไปทำงานกับเขา ให้เขามาเป็นผู้บังคับบัญชาของเรา ถ้าได้ผู้บังคับบัญชาเป็นอันธพาลแล้ว ชีวิตนี้ก็จบกัน เราจะทำอย่างไรก็ไม่มีทางเจริญรุ่งเรืองต่อไปได้ เพราะฉะนั้น หากมีโอกาสเลือกได้ ก็ควรเลือกผู้บังคับบัญชาที่ไม่เป็นคนพาล และควรมีอัธยาศัยใจคอพอไปกันได้..
(อ่านต่อฉบับหน้า)