ข้อคิดรอบตัว
เรื่อง : พระมหาสมชาย €านวุฑฺโฒ (M.D.; Ph.D.) จากรายการข้อคิดรอบตัว ออกอากาศทางช่อง DMC
ฉลองปีใหม่ ตามหลักพุทธวิธี
ที่มาของการนับวันใหม่หรือวันขึ้นปีใหม่เป็นอย่างไร?
บางแห่งใช้การนับวันใหม่โดยถือว่า เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นเป็นการเริ่มวันใหม่ และสิ้นสุดวันเก่าตอนพระอาทิตย์จะเริ่มขึ้นอีกวันหนึ่ง ในพระพุทธศาสนาเราก็ถือตามพระอาทิตย์ขึ้นเป็นจังหวะเปลี่ยนวัน หากจะถือเอาเที่ยงคืนเป็นการสิ้นสุดวันเก่า แล้วขึ้นต้นวันใหม่ ก็แล้วแต่คตินิยม แต่ที่เหมือนกันคือ ๑ รอบวัน มี ๒๔ ชั่วโมง ถ้าเป็นรอบเดือนก็ถือพระจันทร์เป็นหลัก ถ้ารอบปีก็ถือพระอาทิตย์เป็นหลัก คือการที่โลกเราหมุนรอบดวงอาทิตย์ครบ ๑ รอบ
คนโบราณสามารถประดิษฐ์เครื่องมือที่ค้นพบว่า เวลา ๑ ปี หรือเวลาที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครบ ๑ รอบ คือ ๓๖๕.๒๔ วันเศษ ๆ เขาใช้วิธีเอาหลักมาปักให้ตั้งฉากกับพื้นกลางลาน แล้วสังเกตเงาแดดที่เคลื่อนตัวไปมา แล้วค่อย ๆ เก็บสถิติจนสามารถคำนวณได้ว่า ปีหนึ่งมีกี่วัน ภูมิปัญญาโบราณไม่ธรรมดาทีเดียว
เมื่อพบว่ารอบปีมีระยะเวลาเท่าไรแล้ว เขาก็สมมุติกันว่าจะเริ่มต้นนับรอบปีใหม่เวลาไหนดี ซึ่งแต่ละท้องถิ่นไม่เหมือนกัน บางที่ถือเอาช่วงสงกรานต์ ซึ่งเป็นธรรมเนียมมาจากอินเดีย ไทยเราแต่ก่อนก็ถือว่ากลางเดือนเมษายน ช่วงสงกรานต์ คือเวลาขึ้นศักราชใหม่ มาเปลี่ยนเป็นวันที่ ๑ เมษายน เมื่อรัชกาลที่ ๕ ในปี พ.ศ. ๒๔๓๒ จนถึงสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ. ๒๔๘๔ ถึงได้มาเปลี่ยนใหม่เป็นวันที่ ๑ มกราคม ส่วนจีนก็ถือตรุษจีนเป็นช่วงเปลี่ยนศักราชใหม่ เป็นการถือตามจันทรคติ ซึ่งอยู่ราว ๆ เดือนมกราคมบ้าง กุมภาพันธ์บ้าง แต่ที่ตรงกันคือครบ ๑ รอบปี ถือว่าขึ้นศักราชใหม่
ฤกษ์ยามกับโอกาสเริ่มต้นชีวิตใหม่มีความสัมพันธ์กันอย่างไร?
ฤกษ์มี ๒ อย่าง คือ ฤกษ์ในการทำกิจการต่าง ๆ ซึ่งเป็นฤกษ์ที่ไม่ได้กำหนดไว้แน่นอน เช่น ฤกษ์เปิดร้าน ฤกษ์แต่งงาน ฤกษ์บวช ฤกษ์สึก ฯลฯ อีกอย่างก็คือ ฤกษ์ที่แน่นอน เช่น ฤกษ์ปีใหม่ สิ้นสุดเวลา ๒๔.๐๐ น. ของวันที่ ๓๑ ธันวาคม ขึ้นวันที่ ๑ เดือนมกราคม ก็คือเริ่มต้นศักราชใหม่อย่างเป็นทางการ ส่วนฤกษ์สงกรานต์ก็วันที่ ๑๓ เมษายน พวกนี้เป็นฤกษ์ที่แน่นอน
ฤกษ์คืออะไร ? ฤกษ์เกิดจากการเก็บข้อมูลทางสถิติว่า ทำอะไรตอนไหนได้ผลดี แล้วรวบรวมข้อมูลไว้ ถึงคราวก็มาทำเป็นหลักวิชาเรื่องการคำนวณฤกษ์ เรื่องฤกษ์นี้มีหลายตำรับ แต่ละตำรับก็มีสูตรของตนเอง สูตรเหล่านี้มาจากการสั่งสมสถิติตั้งแต่โบราณด้วยวิธีการต่าง ๆ จากการดูดวงดาวบ้าง ดูวันเดือนปีเกิดบ้าง บ้างก็ผูกฤกษ์แบบบวกลบคูณหารตัวเลข สารพัดอย่าง แต่สถิติมีโอกาสผิด เพราะฉะนั้นถ้าจะให้ดีเราต้องเอาฤกษ์ที่เหมาะที่สุด ดีที่สุด สะดวกที่สุด เคยมีคนที่จะสึกไปกราบพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ไปขอฤกษ์ท่าน ท่านถามว่าจะเอาฤกษ์โหราหรือจะเอาฤกษ์พระพุทธเจ้าเขาเกรงใจหลวงปู่เลยบอกว่า เอาฤกษ์พระพุทธเจ้า ท่านบอกพรุ่งนี้บ่าย ๒ โมง ฉันเสร็จ สรงน้ำเสร็จ จัดข้าวของทุกอย่างเรียบร้อย มาทำพิธีสึกกัน นี้คือฤกษ์พระพุทธเจ้า เป็นฤกษ์ที่สะดวก ถ้าไปให้โหรผูกดวงแล้วบอกว่า ฤกษ์ดีตอนตีสอง แล้วใครจะมาทำพิธีสึกให้ หรือถ้าเราจะทำพิธีขึ้นบ้านใหม่ตามฤกษ์ตอนตีสองตีสาม รับรองว่าแขกเหรื่อมาน้อย ที่มาก็เพราะเกรงใจ และอาจจะบ่นในใจว่าไม่รู้จักกาลเทศะ ดังนั้นฤกษ์ที่ทุกคนสะดวกที่สุด คือฤกษ์ที่ดีที่สุด
ควรฉลองปีใหม่แบบไหนถึงจะเป็นผลดีต่อผู้เฉลิมฉลอง?
การเฉลิมฉลองมีเป้าหมายหลักเพื่อเสริมสร้างกำลังใจให้แก่ประชาชน อย่างทหารที่ไปออกรบ พอชนะกลับมา ก็ต้องทำพิธีเฉลิมฉลองให้ทุกคนรู้สึกฮึกเหิม หรือขณะจะออกรบต้องทำพิธีเสริมสร้าง กำลังใจ ที่จริงในการรบมีคนบาดเจ็บล้มตายกันมากมาย แต่ที่มีการฉลองชัยชนะ ก็เพื่อเสริมสร้างกำลังใจ ผู้คนจะได้ลืมเรื่องร้าย ๆ นึกถึงแต่สิ่งดี ๆ พอคนในสังคมหมู่ใหญ่นึกถึงสิ่งดี ๆ ก็จะเกิดกำลังใจ ซึ่งจะเป็นกำลังขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า เป้าหมายของการเฉลิมฉลองจริง ๆ อยู่ตรงนี้
การเปลี่ยนศักราชใหม่ก็เช่นกัน ลุยงานเหนื่อยมาทั้งปี ปีใหม่วางงานลงชั่วคราว ครอบครัวมาเจอกันพร้อมหน้าพร้อมตา ไปเที่ยวกัน กินเลี้ยงกันบ้าง แต่งตัวสวย ๆ งาม ๆ เหมือนเป็นการสร้างความหวัง สร้างกำลังใจ ว่าปีหน้าเราจะต้องทำให้ดีกว่าเก่า เป้าหมายของการเฉลิมฉลองเป็นอย่างนี้ เมื่อเราจับแก่นตรงนี้ได้ ก็ต้องมาดูต่อไปว่า ทำอย่างไรการเฉลิมฉลองจึงจะมีผลดีที่สุด
การเฉลิมฉลองที่มีผลดีมีหลักว่า อย่าเอาอบายมุขเข้ามาในการเฉลิมฉลองนั้น ถ้าเอาอบายมุขเข้ามาเมื่อไร ไม่ว่าสุรา น้ำเมา หรือการพนัน จะเป็นการเริ่มปีใหม่ที่แย่มาก ทำงานเก็บเงินมาทั้งปี เล่นไฮโลกัน ๗ วัน หมดตัว แถมมีหนี้อีก บางคนเมาหัวราน้ำ ตีหัวกัน บางคนกลับไม่ถึงบ้าน รถคว่ำกลางทาง บาดเจ็บล้มตาย อย่างนี้ถือว่าผิดหลักการเฉลิมฉลอง
แล้วในช่วงฉลองมีเวลาค่อนข้างยาว อย่างสงกรานต์รัฐบาลหยุดให้ ๓ วัน บางทีบวกเสาร์อาทิตย์อีกเป็น ๕ วัน บางคนลาเพิ่มอีก แล้วใคร ๆ เขาก็ฉลองกันหมด บรรยากาศมันพาไป พอหยุดยาวหลายวัน ไปเยี่ยมบ้าน นั่งคุยกันก็ไม่รู้จะคุยอะไร เมาดีกว่า นั่งเล่นไพ่กันดีกว่า เพื่อฆ่าเวลา อันนี้ผิดหลัก ถ้าสังคมเข้าใจประเด็นและช่วยกันสอนวิธีอยู่ร่วมกันในครอบครัว สื่อมวลชนนำเสนอสิ่งที่สร้างสรรค์ ทีวีมีรายการดี ๆ ที่เสริมสร้างบรรยากาศครอบครัว คนก็จะไม่เหงา ไม่ต้องไปเข้าวงไฮโล ไม่ต้องไปนั่งกินเหล้าทั้งวัน ขณะเดียวกันทางวัดก็มีกิจกรรมสวดมนต์ นั่งสมาธิ ฟังเทศน์ฟังธรรม มีกิจกรรมที่หลากหลายไว้รองรับ ถ้าอย่างนี้อยู่บ้านก็มีความสุข ดูรายการเสร็จเรียบร้อยไปวัดกัน แล้วทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ ถ้าอย่างนี้บรรยากาศในการเฉลิมฉลองจะเป็นไปในทางบวก ผู้นำก็ควรทำเป็นตัวอย่าง ถ้าฉลองอย่างนี้ถูกต้องและดีมาก
ที่ประเทศจีน เหวิน เจียเป่า อดีตนายกรัฐมนตรี ตรุษจีนแต่ละครั้ง แทนที่จะอยู่ที่บ้าน กลับไปเยี่ยมประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่ลำบาก ที่ประสบภัยธรรมชาติ แผ่นดินไหว น้ำท่วม นักข่าวถามว่า ทำไมไม่ไปเที่ยวบ้าน ท่านบอกว่า ในฐานะผู้นำประเทศ แม้คนอีก ๙๙ เปอร์เซ็นต์ สุขสบาย กำลังสนุกสนานในช่วงปีใหม่ แต่ถ้ายังมีประชาชนที่ลำบาก เราต้องไปให้กำลังใจเขา ชาวบ้านก็เกิดกำลังใจว่า ผู้นำประเทศทุ่มเทเสียสละเพื่อประชาชน ทำให้มีกำลังใจที่จะสู้ชีวิตต่อไป อันนี้เป็นสิ่งที่น่าชื่นชม พวกเราเองทุกระดับก็ขอให้ทำหน้าที่ของเราให้ดี และไม่ว่าจะตรุษจีน ตรุษไทย ตรุษฝรั่ง การเฉลิมฉลองต้องไม่มีอบายมุข แล้วก็สร้างบุญสร้างกุศลเป็นพลังขับเคลื่อนภายในถ้าสร้างกระแสอย่างนี้ขึ้นมาได้ทั่วประเทศแล้วละก็ จะเป็นการฉลองเปิดศักราชใหม่ที่ดีมาก ๆ
ในการเริ่มต้นสิ่งใหม่จะทำอย่างไรให้ตรงกับแนวทางพระพุทธศาสนา?
ให้เอาฤกษ์สะดวกดังที่กล่าวมาแล้ว วัดพระธรรมกายของเราตอนทำพิธีวางศิลาฤกษ์สร้างโบสถ์ พอเสร็จงานมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องฤกษ์ผานาทีมาดู แล้วบอกว่า ฤกษ์วัดพระธรรมกายสร้างโบสถ์สุดยอดเลย ใครเป็นคนให้ฤกษ์ เยี่ยมจริง ๆ หลวงพ่อท่านนั่งยิ้ม เพราะท่านให้ฤกษ์เอง โดยอันดับแรกเลือกเดือนก่อน การวางศิลาฤกษ์สร้างโบสถ์เป็นการแจ้งข่าวให้ประชาชนทราบ จะได้มาช่วยกันสร้างให้สำเร็จ เพราะฉะนั้นต้องให้มีคนมาร่วมงานมาก ๆ ให้มาช่วยกันสร้างให้เสร็จ ต้องเลือกเดือนรวย แล้วเดือนรวยต้องเป็นเดือนที่สะดวกต่อการเดินทาง ฝนไม่ตก อากาศก็ดี ส่วนเดือนจนคือเดือนอะไร มกราคมคือเดือนจน ฉลองปีใหม่กันเสร็จ เงินหมดแล้ว เดือนพฤษภาคมก็ไม่เหมาะ เปิดเทอม ใช้จ่ายมาก ลูกเต้าเรียนหนังสือ บางเดือนฝนตก จัดงานไม่สะดวก ค่อย ๆ กลั่นกรองออกไปจนเหลือไม่กี่เดือน
สรุปแล้วเลือกได้เดือนธันวาคม ฝนหยุดแล้ว อากาศก็เย็นสบาย พอได้เดือนแล้วก็มาเลือกวัน ต้องเอาวันอาทิตย์ เพราะสะดวกที่สุด แล้วจะเอาอาทิตย์ต้นเดือนหรือปลายเดือนดี ต้องเป็นอาทิตย์ต้นเดือน แล้วเวลาวางศิลาฤกษ์ ถ้าตี ๕ ไม่มีคนมา ควรเริ่มสัก ๐๙.๓๐ น. สวดมนต์ นั่งสมาธิ ทานข้าวเที่ยงเสร็จแล้ว บ่ายก็ทำพิธีวางศิลาฤกษ์กัน สักบ่ายสามโมงสี่โมงก็เดินทางกลับสบาย ๆ เพราะฉะนั้นก็ได้เวลาวางศิลาฤกษ์ตอนบ่าย นี่คือที่มาของฤกษ์พระพุทธเจ้า ที่ผู้เชี่ยวชาญเขาบอกว่าเยี่ยมที่สุด นี่เป็นตัวอย่างกรณีหนึ่ง
เมื่อทำตามฤกษ์แล้วยังไม่สำเร็จ มีวิธีฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ อย่างไรบ้าง?
ความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่ดวงอย่างเดียว ไม่ได้อยู่ที่มีฤกษ์ดีแล้วสำเร็จ แต่อยู่ที่คนมีคุณธรรมในตัวเพียงพอหรือเปล่า ถ้าผูกดวงแล้ว ถือฤกษ์พระพุทธเจ้าด้วย แต่ขี้เกียจ จะสำเร็จได้อย่างไร ฤกษ์เป็นเพียงจุดเริ่มต้น หลังจากนั้นต้องดำเนินชีวิตด้วยหลักธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะทำเรื่องอะไรก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องในเรื่องนั้น ๆ เช่น ทำตามฤกษ์การขึ้นบ้านใหม่แล้ว สมาชิกทุกคนในครอบครัวจะต้องถือหลักธรรม คือ สังคหวัตถุ มีน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อกัน หรือถ้าเป็นฤกษ์ในการสร้างที่ทำงาน สมาชิกต้องอาศัยหลักอิทธิบาท ๔ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เพื่อให้งานสำเร็จ คือเอาธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นหลักปฏิบัติ อย่างนี้ความสำเร็จจะเกิดขึ้น
มีข้อคิดอะไรถึงผู้ที่กำลังจะเริ่มต้นชีวิตใหม่บ้าง?
มีพุทธพจน์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่อยากจะฝากไว้คือ “บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งที่ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบันไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้น ๆ ได้ บุคคลนั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนือง ๆ ให้ปรุโปร่งเถิด พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละ ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย” สรุปคือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า สิ่งที่ผ่านไปแล้ว ก็ผ่านไปแล้ว ที่ยังมาไม่ถึง ก็ยังมาไม่ถึง อย่าไปเสียเวลากับมันจนเกินไป ที่สำคัญคือปัจจุบัน พึงทำความเพียรเสียในวันนี้ เพราะพรุ่งนี้ไม่รู้เราจะอยู่หรือเปล่า บางคนบอกชีวิตมีแต่ความล้มเหลว จะล้มเหลวกี่ครั้งก็ตาม อย่าไปคิดว่าเราไม่ไหวแล้ว ถ้าคิดว่านั่นคือกระบวนการสู่ความสำเร็จ จะมีกำลังใจสู้จนสำเร็จ แต่ถ้าคิดว่าล้มเหลวจะหมดกำลังใจ ให้ดูตัวอย่างพระบรมโพธิสัตว์ที่สร้างบารมีกว่าจะตรัสรู้ธรรม ใช้เวลานานถึง ๒๐ อสงไขยกับแสนมหากัป แต่ละชาติไม่ใช่ทำแค่วันสองวัน แต่ทำตลอดชาติจนละจากโลกไป แล้วทำซ้ำ ๆ เป็นหลาย ๆ ล้านชาติ สุดท้ายก็บรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเลิก จะได้เป็นพระพุทธเจ้าไหม? ไม่ได้เป็น ท่านไม่คิดว่านั้นคือความล้มเหลว ท่านคิดว่าแต่ละชาติคือการสั่งสมความสำเร็จ อยู่ในกระบวนการสู่ความสำเร็จ ตัวเราเองประกอบความเพียรไป ๓ เดือน ๑ ปี ๓ ปี หรือ ๑๐ ปี ก็ตาม ถ้าล้มเหลวอย่าเพิ่งทอดอาลัยตายอยาก อย่าเพิ่งยอมแพ้ ให้มองพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแบบอย่าง แล้วคิดว่านั่นคือกระบวนการสั่งสมประสบการณ์ สั่งสมความรู้ความสามารถของเรา เพื่อมุ่งไปสู่ความสำเร็จ แล้วเดินหน้าต่อไปจนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง ถ้ามีกำลังใจไม่สิ้นสุด สุดท้ายความสำเร็จจะเป็นของพวกเราทุก ๆ คน..