บทความพิเศษ
เรื่อง : Tipitaka (DTP)
หอไตร...กลางสายธารแลสายธรรม
หอไตรกลางน้ำ วัดมหาธาตุ จ.ยโสธร
เมื่อยามอากาศร้อนอบอ้าว สายลมพัดพาความชุ่มชื้นของกระแสน้ำลอดผ่านร่องไม้ช่วยให้อากาศภายในเรือนไม้หลังนี้ปลอดโปร่งขึ้น ความเย็นจากสายลมและความพลิ้วไหวบนผืนน้ำยังทำให้จิตใจของผู้มาเยือนสงบนิ่งลงได้อย่างประหลาด สายน้ำใสเย็นจึงเปรียบประหนึ่งสายธรรมที่นำพาดวงจิตให้สงบ ตั้งมั่นเป็นสมาธิ เกิดเป็นดวงปัญญาสว่างไสว
นอกจากความงดงามตามธรรมชาติแล้ว “สายน้ำ” ยังมีประโยชน์ในเชิงอนุรักษ์คัมภีร์โบราณ บุรพชนจึงนิยมสร้างหอไตรไว้กลางน้ำเพื่อเก็บรักษาคัมภีร์ใบลานที่จารึกพระไตรปิฎกและคำสอนในพระพุทธศาสนา รวมถึงความรู้เรื่องอื่น ๆ อาทิ วรรณคดีพื้นบ้านโบราณ หรือตำรายา เป็นต้น
ในอดีตหอไตรหรือหอธรรมจึงเป็นเสมือนห้องสมุด แหล่งขุมทรัพย์ทางปัญญาสำหรับพระภิกษุสงฆ์สามเณรเข้ามาศึกษาหาความรู้ เป็นพื้นที่สงวนเฉพาะสงฆ์เท่านั้น บุคคลภายนอกไม่สามารถล่วงล้ำเข้าไปได้ แม้กระทั่งตัวคัมภีร์ใบลานที่อยู่นอกหอไตรก็ไม่อนุญาตให้สตรีเพศจับต้อง เพราะถือว่าคัมภีร์ที่ได้รับการจารและตรวจทานเรียบร้อยดีแล้วเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ควรค่าแก่การเคารพบูชา
การเก็บรักษาคัมภีร์ไว้ ณ หอไตรกลางน้ำ นับว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ช่วยให้คัมภีร์ ใบลานพ้นจากภัยต่าง ๆ จนสามารถอยู่รอดปลอดภัย ผ่านกาลเวลามาได้ถึงปัจจุบัน เพราะสายน้ำเป็นเกราะป้องกันตัวอาคาร ที่เป็นเรือนไม้ ไม่ให้ปลวก มด แมลง และสัตว์อื่น ๆ มากัดแทะทำลายคัมภีร์ อีกทั้งความชุ่มชื้นของสายน้ำที่พอเหมาะยังช่วยรักษาน้ำมันตามธรรมชาติในเนื้อลาน ทำให้คัมภีร์ใบลานไม่แห้งกรอบ มีความยืดหยุ่น จึงสามารถคงสภาพได้นานหลายร้อยปี
เสาครึ่งปูนครึ่งไม้กลางน้ำช่วยป้องกันสัตว์และแมลง ไอชื้นจากสายน้ำที่ล้อมรอบจะช่วยให้อาคารชุ่มเย็น
เป็นการรักษาคัมภีร์ใบลานให้มีอายุยืนนานกว่าปกติ
ประโยชน์อีกทางหนึ่ง คือ เมื่อเกิดอัคคีภัย สายน้ำจะเป็นแนวป้องกันสมบัติอันล้ำค่าของพระศาสนาไม่ให้มอดไหม้สูญไปกับเปลวเพลิง นอกจากนี้ความสงบเย็นของสายน้ำยังเป็นเครื่องป้องกันสิ่งรบกวนจากภายนอก ไม่ให้เข้ามาทำลายสมาธิพระภิกษุผู้ศึกษาธรรมะของ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้รู้แจ้งแตกฉานในธรรมะอันลุ่มลึกไปตามลำดับ
ในทุกภาคของประเทศไทยมีการสร้างหอไตรกลางน้ำไว้มากมายมาแต่ในอดีต ซึ่งต่างล้วนมีรูปทรงเป็นเอกลักษณ์ที่วิจิตรตระการตาด้วยศิลปะเฉพาะถิ่นของช่างฝีมือแห่งยุคสมัยที่ตั้งใจบรรจงสร้างให้งดงามที่สุด หลายแห่งอนุญาตให้ ผู้สนใจศึกษาเข้าเยี่ยมชม อาทิเช่น หอไตรกลางน้ำ ณ วัดมหาธาตุ จังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นวัดคู่บ้าน คู่เมืองมาแต่แรกสร้างเมือง
หอไตรกลางน้ำ วัดมหาธาตุ เป็นอาคารสร้างด้วยไม้ หันหน้า
ไปทางทิศใต้ มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ช่อฟ้าตรงแนวกลางสันหลังคาแสดงถึงอิทธิพลของศิลปะช่างศิลป์แบบลาว
หอไตรแห่งนี้ถือเป็นหอไตรกลางน้ำที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของภาคอีสาน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นอาคารที่ใช้ศิลปะผสมผสานแบบช่างศิลป์ของลาว และรัตนโกสินทร์ได้อย่างลงตัว สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง ภายในหอไตรนี้ตรงกลางยกสูงขึ้นจากพื้นเล็กน้อย เป็นห้องสำหรับเก็บพระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่าง ๆ และมีระเบียงทางเดินโดยรอบใต้ชายคา เป็นที่เก็บรักษาตู้พระธรรม หีบพระธรรม และโบราณวัตถุที่ทรงคุณค่าและเป็นพื้นที่ให้พระภิกษุสามเณรเข้าไปนั่งศึกษาคัมภีร์ใบลาน กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนหอไตรวัดมหาธาตุเป็นโบราณสถานของชาติ เป็นสมบัติคู่เมืองยโสธร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๑
ผนังของห้องเก็บพระไตรปิฎกพร้อมทั้งเสาและเครื่องบนของหอไตรเขียนลายรดน้ำ ผนังจำหลักลาย
แนวพรรณพฤกษา บานหน้าต่างประดับแผงรวงผึ้ง ส่วนล่างทำเป็นรูปมะหวด และลวดลายปิดทอง
ประดับกระจกสี ด้านนอกมีระเบียงเชื่อมต่อโดยรอบใต้ชายคา
ณ วันนี้ หอไตรวัดมหาธาตุแห่งนี้และอีกหลาย ๆ แห่ง ยังคงเป็นคลังความรู้แก่ผู้ที่สนใจศึกษาพระพุทธศาสนาจากหลักฐานต้นแหล่ง รวมถึงผู้แสวงหาความรู้ภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษได้จดจารต่อกันมาหลายชั่วอายุคนด้วยความพากเพียรอุตสาหะ อีกทั้งศิลปะแบบช่างศิลป์โบราณของตัวเรือนไม้หอไตรก็นับวันจะหาดูได้ยากยิ่ง เราจึงไม่ควรละเลยและควรช่วยกันอนุรักษ์รักษาอย่างจริงจัง
แม้กาลเวลาจะผ่านไป สายน้ำจะไหลไปไม่หวนกลับ แต่สายธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไหลรินสู่ดวงใจของทุกผู้คน ตราบเท่าที่พุทธศาสนิกชนยังช่วยกัน ธำรงรักษาไว้ให้พระพุทธศาสนารุ่งเรืองสืบทอดไปอีกนานเท่านาน..
พระราชรัตนกวี
เจ้าคณะจังหวัดยโสธร เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ จังหวัดยโสธร
. ..ความเป็นมาของหอไตรกลางน้ำวัดมหาธาตุนี้ บูรพาจารย์โบราณได้ช่วยกันอนุรักษ์รักษามา และเป็นจุดเด่นจุดสำคัญของวัดด้วย เพราะเป็นแหล่งรวมหลักคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งสามารถให้ญาติโยมที่เข้าใจในภาษาสามารถที่จะค้นคว้าได้ และทางวัดพระธรรมกายก็มีเจตนาที่จะช่วยประกาศเผยแผ่ ซึ่งก็เป็นการดีมาก คัมภีร์ใบลานบางส่วนมาจากเวียงจันทน์ และบางส่วนก็เป็นของคณะ ครูบาอาจารย์โบราณที่ท่านมีฝีมือ เนื้อหาที่จารจารึกไว้ใส่ใบลานมีอยู่หลายเรื่อง เช่น วรรณคดี ประวัติศาสตร์ ซึ่งมีพระมหาเถระช่วยกันรักษามาเป็นยุค ๆ เป็นเรื่องต่าง ๆ ที่มีความสำคัญ จำเป็นที่จะต้องศึกษาแล้วนำมาประพฤติปฏิบัติ ท่านคิดถึงอนุชนรุ่นหลังที่จะได้มาศึกษาด้วย
...ที่ต้องเก็บไว้กลางน้ำ เขาเล่ากันว่า เป็นการเก็บหนังสือโบราณที่ดีที่สุด เพราะว่า หอไตรบางส่วนเป็นไม้ เมื่อสร้างกลางน้ำ ปลวกไม่กิน ปลวกเข้าไม่ถึง ก็เลยปลอดภัย