วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ เยาวชนในแอฟริกา ร่วมกันค้นหา“สันติสุขภายใน”

สร้างโลกแก้ว
เรื่อง : กองบรรณาธิการ

 

เยาวชนในแอฟริกา 
ร่วมกันค้นหา
“สันติสุขภายใน”

 

    คนเราเกิดมาแล้วต้องช่วยทำให้โลก ดีขึ้น ถึงจะคุ้มกับการเกิดมาเป็นมนุษย์ ผมค้นหาวิธีการมานาน แต่ยังไม่พบอะไรที่       โดนใจจริง ๆ เสียที กระทั่งเมื่อมาเจอ     โครงการพีซเรฟโวลูชัน ผมถึงรู้ว่าใช่เลย    คนเราจะแบ่งปันความสุขได้ ตัวเองต้องมีความสุขก่อน การที่ผมจะสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นแก่โลกนั้น ตัวผมเองต้องรู้จักคำว่าสันติภาพที่แท้จริงก่อน” 

 


    นี้คือความในใจของโมลิงเกะ เฮนรี เนียวคิ พีซเอเจนต์ผู้มีหัวใจกัลยาณมิตรจากประเทศแคเมอรูน หนึ่งในผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้มาร่วมโครงการปฏิบัติธรรมเยาวชนแอฟริกัน ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย “ดินแดน ที่วิชชาธรรมกายเฟื่องฟูที่สุดในยุคนี้”

 

    โครงการพีซเรฟโวลูชันจัดปฏิบัติธรรมเยาวชนแอฟริกันขึ้น เมื่อวันที่ ๑๕-๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๗ ในชื่อว่า อามานี เฟลโลชิป หรือ AMANI Fellowship (คำว่า “อามานี” ในภาษาสวาฮิลีแปลว่า สันติภาพ) 


    การจัดปฏิบัติธรรมครั้งนี้ มีเยาวชนชาย ๑๑ คน หญิง ๕ คน จาก ๑๑ ประเทศ ในทวีปแอฟริกา ได้แก่ ประเทศยูกันดา เคนยา แทนซาเนีย มาลาวี ซิมบับเว แคเมอรูน ไนจีเรีย บูร์กินาฟาโซ อียิปต์ โมร็อกโก และเคปเวิร์ด เดินทางมาปฏิบัติธรรมร่วมกันเป็นเวลา ๒ สัปดาห์ ที่มุกตะวัน เกาะยาวน้อย จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นสถานที่ที่สัปปายะแห่งหนึ่งสำหรับการปฏิบัติธรรม คือ ดีทั้งสถานที่ อาหาร บุคคล และธรรมะ


    ตลอดเวลา ๑๔ วัน ที่มุกตะวันจึงเป็นเวลาที่เปี่ยมด้วยความสุข และหล่อหลอมให้พวกเขาเปี่ยมด้วยคุณภาพ พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงทวีปแอฟริกาทั้งทวีป 

 

    สำหรับการเลือกเยาวชนให้มาสัมผัส “สันติสุขภายใน” ที่ประเทศไทย ผู้มาร่วมโครงการจะต้องผ่านระบบออนไลน์มาก่อน คือต้องนั่งสมาธิแล้วบันทึกผลการปฏิบัติธรรมในเว็บไซต์ของพีซเรฟโวลูชัน ซึ่งการทำเช่นนี้ไม่ใช่ของง่ายในบางประเทศในทวีปแอฟริกา 


    ที่ผ่านมา พีซเอเจนต์หลายคนต้องดิ้นรนเพื่อเรียนรู้เรื่องการทำสมาธิและ know-how   ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต บางคนต้องนั่งรถประจำทางไป-กลับวันละ ๒ ชั่วโมง ระหว่างบ้านและอินเทอร์เน็ตคาเฟ เพื่อไปทำบันทึกความดีออนไลน์ทุกวัน เป็นเวลานานถึง ๔๒ วัน ซึ่งต้องจ่ายทั้งค่ารถ และค่าใช้อินเทอร์เน็ตที่มีราคาแพงกว่าในประเทศไทยมาก

 

    เยาวชนแอฟริกันที่มาปฏิบัติธรรมที่ประเทศไทยในครั้งนี้ มีโอกาสนั่งสมาธิวันละ ๔ รอบ  ได้รักษาศีล ๘ ได้ฟังธรรม ได้ฝึกฝนอบรมตัวเองผ่านหลักความดีสากล ๕ ประการ และได้รับประสบการณ์มากมายที่หาไม่ได้จากที่อื่น


    เวลา ๑๔ วัน กับทะเลงาม ฟ้าใส อาหารอร่อย เพื่อนดี ธรรมะดี ทำให้ใจของทุกคนสว่างไสว และมีผลการปฏิบัติธรรมที่ดีขึ้นมาก เมื่อมาถึงจุดนี้พวกเขาไม่ได้คิดแค่เรื่องของตนเองหรือประเทศของตนเท่านั้น แต่พูดคุยกันถึงความเป็นไปได้ในการเผยแผ่วิธีทำสมาธิไปสู่พี่น้องชาวแอฟริกัน    ในระดับภูมิภาคย่อย ๆ อีกด้วย


    เมื่อสิ้นสุดโครงการ พวกเขาก็พร้อมทั้งกายและใจที่จะเป็นผู้นำแสงสว่างไปให้แก่ประเทศต่าง ๆ ในทวีปแอฟริกาอันเป็นดินแดนเกิดของพวกเขาต่อไป 


    เชิญติดตามผลงานที่น่าประทับใจของเยาวชนเหล่านี้ โดยเริ่มจากประเทศไนจีเรียเป็น    อันดับแรก...

 

    โครงการปฏิบัติธรรมที่ประเทศไนจีเรีย : ประเทศไนจีเรียตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของทวีปแอฟริกา มีเมืองหลวงคือกรุงอาบูจา (Abuja) มีประชากรประมาณ ๑๖๗ ล้านคน ประกอบด้วยชนเผ่าต่าง ๆ ประมาณ ๒๕๐ เผ่า ประชากรร้อยละ ๕๐ นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ ๔๐     นับถือศาสนาคริสต์ อีกร้อยละ ๑๐ นับถือลัทธิดั้งเดิมของชนเผ่าต่าง ๆ 


    การจัดปฏิบัติธรรมที่ประเทศไนจีเรียของทีมงานพีซเรฟโวลูชันครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๒ ครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ ๒๕๕๕ ที่เมืองโอเวอร์รี รัฐอิโมะ 


    สำหรับครั้งนี้ พีซเอเจนต์คอลลิน (Collins G. Adeyanju) และพีซเอเจนต์จูด (Jude Chukwuma) ซึ่งเข้าร่วมปฏิบัติธรรมแอฟริกาตะวันตก และเคยมาปฏิบัติธรรมเยาวชนแอฟริกันที่มุกตะวัน เป็นหลักในการจัดงาน 

 

 ๕

    ภารกิจแรกจัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ที่โรงเรียน Government Secondary School (GSS)-Garki ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมของรัฐ โดยมีนักเรียน ๒๒๙ คน ครูใหญ่ และครูอีก ๖-๗ คน เข้าร่วมกิจกรรม


    ที่นี่เด็ก ๆ ตั้งใจฟังพระอาจารย์เทศน์สอนและนั่งสมาธิได้ดี นักเรียนหญิงคนหนึ่งบอกว่า “ฉันมีความสุขมาก รู้สึกว่าตัวเองลอยได้ ถ้าเรามีความสุขจากภายในแล้ว มันยากที่จะโกรธใครง่าย ๆ ฉันนึกไม่ออกเลยว่าจะโกรธได้อย่างไร”


    ครูใหญ่ก็ประทับใจโครงการมากและอยากให้เด็กฝึกสมาธิอีกในอนาคต ส่วนครูอีกคนหนึ่งบอกว่า “ฉันเชื่อเต็มร้อยเลยว่า เราต้องมีสันติสุขภายในก่อน ถึงจะสร้างสันติภาพภายนอกได้” 

 

    ภารกิจที่ ๒ วันที่ ๒๘ มีนาคม จัดกิจกรรมที่องค์กร Catholic Relief Services (CRS)  ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือในเรื่องภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉิน การต่อสู้กับความยากจนและโรคภัยไข้เจ็บ การสร้างสันติภาพและความยุติธรรมในสังคม รวมทั้งการพัฒนามนุษย์ 


    ทีมงานได้รับอนุญาตให้นำเสนอสมาธิในแง่การจัดการกับความเครียดในชีวิตประจำวันแก่เจ้าหน้าที่ขององค์กร ซึ่งเจ้าหน้าที่คนหนึ่งเล่าว่า “ผมบอกตัวเองเสมอว่าต้องหาเวลาผ่อนคลายบ้าง แต่ก็ไม่เคยทำได้ วันนี้เมื่อได้มานั่งสมาธิกับพระอาจารย์ ผมรู้สึกหายเครียด ผ่อนคลายจนเหมือนจะหลับไปเล็กน้อย ผมรู้สึกเหมือนไม่ได้นั่งอยู่ในห้อง ผมตั้งใจจะฝึกสมาธิต่อไป ผมคิดว่าสมาธิช่วยลดความขัดแย้งได้แน่นอน เพราะส่วนใหญ่เวลาประชุม พวกเรามักโต้แย้งถกเถียงกัน อยู่เสมอ แต่ดูวันนี้สิ ทุกคนสงบ เยือกเย็น สุขุม บรรยากาศแตกต่างจากวันก่อน ๆ มากจริง ๆ”        

 

   

    ภารกิจที่ ๓ วันที่ ๒๙ มีนาคม จัดที่โรงเรียน Stella Maris College, Nigeria ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำระดับมัธยมต้นของคาทอลิก มีนักเรียนนับพันคน


    รอบนี้พระอาจารย์ใช้เวลาถึง ๒ ชั่วโมง ในการเทศน์และแนะนำวิธีทำสมาธิ เพราะเด็ก ๆ ให้ความสนใจมาก และมีคำถามมากมาย เช่น สมาธิจะช่วยแก้ปัญหาสิทธิสตรีได้อย่างไร สมาธิจะช่วยควบคุมอารมณ์ได้อย่างไร สมาธิจะช่วยแก้ปัญหาครอบครัวได้อย่างไร ฯลฯ


    นักเรียนหญิงคนหนึ่งบอกว่า “ฉันรู้สึกสงบสุข และสามารถละความเศร้าออกจากใจได้ ฉันรู้สึกว่าตัวเองสามารถมีความสุขกับผู้คนได้มากขึ้นหลังจากได้นั่งสมาธิ จากนี้ไปฉันน่าจะมีขีดความสามารถในการยับยั้งความโกรธได้     มากขึ้น ฉันเชื่อว่าสมาธิจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นด้วย เพราะถ้าคนเรามีความสุข   ก็จะแก้ปัญหาทุกอย่างได้ง่ายขึ้น”


    นักเรียนชายอีกคนบอกว่า “ผมรู้สึกว่าความตึงเครียดหายไปเหมือนได้กลับบ้าน ผมควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น ไม่โกรธง่าย ปกติผม   มักจะโกรธอยู่ตลอดเวลา”

    

    ภารกิจที่ ๔ วันที่ ๓๑ มีนาคม จัดที่ธนาคาร Aso Saving and Loans PLC โดยมีเจ้าหน้าที่ธนาคารเข้าร่วมกิจกรรม ๙ คน ซึ่งส่วนใหญ่มีผลการปฏิบัติธรรมที่ดี รู้สึกสบาย มีความสุข และอยากให้มีการจัดนั่งสมาธิเป็นประจำ


    เจ้าหน้าที่คนหนึ่งบอกว่า “ผมรู้สึก    สดชื่นมาก ผมคิดว่าเราต้องทำสมาธิ ก่อน หลัง และระหว่างทำงาน ควรต้องผ่อนคลายให้ได้ตลอดเวลา งานธนาคารกดดันมาก ผมอยากให้เพื่อน ๆ มาลองทำสมาธิกันมากกว่านี้ และทำอย่างสม่ำเสมอครับ” 

 

ภารกิจที่ ๕ วันที่ ๓๑ มีนาคม จัดที่โรงเรียน Regina Pacis College ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำหญิงล้วนของคาทอลิก ระดับมัธยมต้น มีนักเรียนนับพันคน โดยมีนักเรียนเข้าร่วม  ๗๙๓ คน และครูอีก ๕ คน 


    กิจกรรมในครั้งนี้ได้รับการตอบรับดีมาก ทางโรงเรียนเตรียมสถานที่ เตรียมเครื่องเสียง ไว้เป็นอย่างดี นักเรียนก็ให้ความตั้งใจในการ   ฟังเทศน์และฝึกสมาธิเป็นอย่างดี


    นักเรียนคนหนึ่งบอกว่า “ฉันรู้สึกว่า ปัญหาทั้งหมดที่มีหายไปหมดเลย เป็นอิสรเสรี ฉันมีความสุขมาก ฉันเชื่อเรื่อง PIPO (Peace in Peace out) เพราะคุณไม่สามารถให้ในสิ่งที่คุณไม่มี คุณต้องมีสันติภาพก่อน ถึงจะแจกจ่ายมันออกไปได้” 

 

๑๐

    ระหว่างที่ทีมงานพีซเรฟโวลูชันปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ไนจีเรียนั้น ไวรัสอีโบลาระบาดขึ้น   ในประเทศกินี ขณะนั้นไม่มีใครบอกได้ว่า การแพร่ระบาดจะกว้างไกลเพียงใด และการควบคุมจะทำได้ดีแค่ไหน ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยในชีวิต และสนองนโยบาย “กล้าได้ แต่อย่าบ้าบิ่น” ทีมงานจึงยกเลิกการจัดกิจกรรมในประเทศแกมเบีย แต่ก็ได้ทำภารกิจที่ไม่ได้วางแผนไว้ ๒ ประการ คือ เช้าวันที่ ๔ เมษายน เข้าพบเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงอาบูจา เพื่อขอความอนุเคราะห์วีซ่า หากมีเยาวชนจากไนจีเรียมายื่นขอ และแสดงความขอบคุณที่ทางสถานทูตช่วยอำนวยความสะดวกที่ผ่านมา 


    ช่วงเย็นจัดปฏิบัติธรรมที่ Hot Spot Yoga Class โดยมีคุณจูลี ครูสอนโยคะ ซึ่งเคยมาร่วมนั่งสมาธิ นิมนต์พระอาจารย์ไปสอนนักเรียน   ที่มาเรียนโยคะ ในรอบนี้มีผู้ร่วมกิจกรรมประมาณ ๑๐ คน ทุกคนสนใจการทำสมาธิมาก 


๑๑

      ตลอดระยะเวลา ๘ วัน ในประเทศไนจีเรีย ตั้งแต่วันที่ ๒๘ มีนาคม - ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๗ ทีมงานจัดกิจกรรมร่วมกับองค์กรต่าง ๆ ๖ องค์กร โดยมีผู้เข้าร่วมปฏิบัติธรรมทั้งสิ้น ๑,๖๕๙ คน 


    ในตอนแรกแม้พีซเอเจนต์บางคนไม่แน่ใจว่า โครงการปฏิบัติธรรมในประเทศไนจีเรีย     จะประสบความสำเร็จ แต่เมื่อทุกคนย้อนระลึกถึงสิ่งที่ได้รับจากการอบรมที่มุกตะวัน นึกถึงประสบการณ์ดีๆ ในช่วงที่ได้มาปฏิบัติธรรม ร่วมกัน ก็เกิดแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ที่จะจัดกิจกรรมนี้ให้ได้ และในที่สุดก็สามารถทำได้ดีกว่าที่คิด คือจากการประเมินงานพบว่า ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ๗๙ เปอร์เซ็นต์ ชื่นชอบกิจกรรมนี้มาก และ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ขององค์กรที่เข้าร่วมกิจกรรม ต้องการทำโครงการปฏิบัติธรรมอีกในอนาคต

 

๑๒

    โครงการปฏิบัติธรรมที่ประเทศสาธารณรัฐแกมเบีย : แกมเบียเป็นประเทศที่จัดว่าเล็กที่สุดในทวีปแอฟริกา มีพื้นที่ประมาณ ๑๐,๕๐๐  ตารางกิโลเมตร มีประชากรราว ๆ ๑,๗๐๐,๐๐๐ คน อาชีพหลักคือ การเกษตร การประมง และการท่องเที่ยว ประชากรส่วนใหญ่มีฐานะยากจน 


    สำหรับการจัดปฏิบัติธรรมที่ประเทศแกมเบียนั้น ถึงแม้ทีมงานของเรายกเลิกไปแล้ว เพราะการระบาดของไวรัสอีโบลา แต่เชอริโฟ     ซึ่งเป็นพีซเอเจนต์หนึ่งเดียวประจำประเทศนี้     ก็พยายามจัดขึ้นจนได้ 


    เชอริโฟเคยมาร่วมปฏิบัติธรรมที่มุกตะวัน และมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นกัลยาณมิตรนำ     แสงสว่างไปสู่ใจของเพื่อนร่วมชาติ เขาจึงพร้อมที่จะฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ โดยไม่หวั่นไหว


    ภารกิจแรกจัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒ เมษายน ที่โรงเรียน St. Therese’s Upper Basic School    มีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรม ๔๐๐ คน ต่อมาในวันที่ ๓ เมษายน มีกิจกรรมที่โรงเรียน Ndows and BAKAU Upper Basic School โดยจัดขึ้น ๒ รอบ มีนักเรียนเข้าร่วม ๒๐๐ คน ในวันสุดท้าย วันที่ ๔ เมษายน จัดที่โรงเรียน Abuko Upper Basic School มีนักเรียนเข้าร่วม ๖๕๐ คน 


    รวมทั้ง ๓ วัน มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม ๑,๒๕๐ คน พีซเอเจนต์เชอริโฟนำนั่งสมาธิเองทุกรอบ

 

๑๓

    ในการจัดปฏิบัติธรรมที่แอฟริกา จาก   การสัมผัสกับผู้ร่วมโครงการ ทีมงานพบว่า    ชาวแอฟริกันมักให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องความโกรธมากกว่าคนผิวขาว ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครถามนำเลย นั่นอาจเป็นเพราะสภาวะทางสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการดำรงชีพอย่างแร้นแค้น ทำให้คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะชาวพื้นเมืองต้องดิ้นรนมากเป็นพิเศษ ใจของผู้คนจึงเต็มไปด้วยความทุกข์ระทม ความขุ่นมัว และโทสะที่พร้อมจะระเบิดออกมาทุกขณะจิต 


    ด้วยตระหนักถึงสภาพความเป็นจริงที่พี่น้องชาวแอฟริกันเผชิญอยู่ตลอดมา ทีมงานพีซเรฟโวลูชันและพีซเอเจนต์ทั้งหลาย จึงมุ่งมั่นที่จะนำความสุขไปสู่ใจของพวกเขา ด้วยการวางแผนจัดโครงการปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่อง เพราะเราเชื่อว่า “สมาธิ” คือ ความหวังเดียวที่จะสร้างสันติสุข และแก้ปัญหาความทุกข์ในใจของมนุษย์ได้ ไม่ว่าจะเป็นที่แอฟริกาหรือที่ใด ๆ บนโลกสีน้ำเงินใบนี้.. 

 

 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๔๔ เดือนตุลาคม ๒๕๕๗

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล