อานิสงส์แห่งบุญ
เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวณฺณ?ิโต ป.ธ.๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ.๙
ภาพประกอบ : กองพุทธศิลป์
อานิสงส์การรักษาศีล ๕
“เรารักษาศีล ๕ บริบูรณ์แล้ว ทำให้ไม่ต้องตกอบายภูมิอีกเลย
การที่เรารักษาศีล ๕ ย่อมได้อานิสงส์ ๓ ประการ คือ
เป็นผู้มีอายุยืน มีโภคสมบัติมาก มีปัญญาคมกล้า”
ศีลเป็นความดีอย่างง่าย ๆ ที่สามารถทำได้โดยมิต้องใช้ทรัพย์ใด ๆ เลย และยังเกิดอานิสงส์มากมายคุ้มค่าเกินคาดอีกด้วย ดังเรื่องราวของพระเบญจสีลสมาทิยเถระ ผู้สมาทานรักษาศีล ๕ ได้ตลอดชีวิตในยุคที่มนุษย์มีอายุถึงหนึ่งแสนปี
ในสมัยพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า อโนมทัสสี พระเบญจสีลสมาทิยเถระได้บังเกิดเป็นกุลบุตรในตระกูลหนึ่ง กุลบุตรนั้นเป็นคนยากจนเข็ญใจ แม้ในใจอยากจะบวชแต่ยังหาโอกาสไม่ได้ เพราะติดที่ตนเองเป็นลูกจ้างยังต้องทำงานอยู่ แต่ทว่าเขาเป็นคนมีปัญญา เข้าใจเรื่องบุญบาปและทุกข์แห่งการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร ความเข้าใจนี้จึงทำให้เขาได้คิดอยู่เสมอว่า “เรามัวแต่ทำงานรับจ้าง จึงไม่ได้บวชสักที แต่สัตว์โลกทั้งหลายล้วนถูกความมืดแห่งอวิชชาใหญ่หลวงปิดบัง ซ้ำยังถูกไฟ ๓ กอง คือ ไฟนรก ไฟเปรต และไฟวัฏสงสารแผดเผา เราควรจะสร้างกุศลอะไรดีหนอ สิ่งของถวายเราก็ไม่มี ซ้ำเรายังเป็นคนยากไร้ ถ้ากระไรเราควรจะรักษาศีล ๕ ให้บริบูรณ์ดีกว่า” จากนั้นเขาก็ไปสมาทานรักษาศีลกับพระนิสภเถระ สาวกของพระอโนมทัสสีพุทธเจ้า เขาตั้งใจรักษาศีล ๕ เป็นอย่างดี และยังรักษาได้ครบบริบูรณ์ทุกข้อตลอดชีวิต ซึ่งมนุษย์ยุคนั้นมีอายุยืนยาวถึงหนึ่งแสนปี
ครั้นใกล้จะละโลกในชาตินั้น เหล่าเทวดาได้พากันมาเชื้อเชิญเพื่อให้ไปอยู่บนสวรรค์ด้วยกันว่า “รถม้า ๑,๐๐๐ คันเหล่านี้มาเพื่อท่านโดยเฉพาะเลยนะ” ทันทีที่เห็นขบวนรถม้าสวรรค์แล้ว เขารู้สึกปลื้มหาประมาณมิได้ จิตสุดท้ายจึงได้ระลึกถึงศีลที่ตนรักษามาดี ครั้นลาโลกไปก็บังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ด้วยอานิสงส์แห่งการรักษาเบญจศีลนี้ ทำให้เขาได้เป็นท้าวสักกเทวราชถึง ๓๐ ครั้ง มีนางอัปสรแวดล้อมมากมาย เสวยสุขอันเป็นทิพย์ อีกทั้งได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗๕ ครั้งเป็นพระราชามากครั้งจนคณานับมิได้
ในชาติสุดท้ายนี้ เขาได้มาบังเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาลในกรุงสาวัตถี บิดามารดาพาเข้าวัดตั้งแต่ยังเด็ก วันหนึ่ง เป็นวันใกล้เข้าพรรษา บิดามารดาก็พาเขาไปวัดเช่นเดิม เด็กน้อยอายุ ๕ ขวบ เห็นบิดามารดาสมาทานศีล ทำให้ระลึกนึกถึงศีลที่ตนเคยรักษามาในอดีตชาตินั้นได้ เด็กน้อยรำลึกนึกถึงศีลที่บริสุทธิ์ของตัวเอง และฟังธรรมะที่สุขุมลุ่มลึกจากพระอาจารย์ ใจก็น้อมจิตเจริญวิปัสสนา จนสามารถบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์บนอาสนะที่ตัวเองนั่งนั่นเอง
เมื่อพระบรมศาสดาทรงทราบเรื่องราวนั้นแล้ว ก็ทรงประทานการอุปสมบทเป็นกรณีพิเศษแก่เด็กน้อยให้เป็นพระภิกษุเลยทีเดียว โดยไม่ต้องรอให้อายุครบ ๒๐ ปี ต่อมาท่านได้รับขนานนามว่า “พระเบญจสีลสมาทิยเถระ” ตามคุณธรรม คือ เบญจศีลที่ท่านเคยรักษามาดีแล้วในอดีตชาติ
เมื่อหมดกิเลสแล้ว พระเถระก็ระลึกชาติไปดูบุพกรรมในอดีตที่ทำให้บรรลุธรรมตั้งแต่เยาว์วัย เห็นคุณของศีลที่รักษามาดีข้ามชาติว่า “เรารักษาศีล ๕ บริบูรณ์แล้ว ทำให้ไม่ต้อง
ตกอบายภูมิอีกเลยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
การที่เราตั้งใจรักษาเบญจศีลย่อมได้อานิสงส์ ๓ ประการ คือ ๑. เป็นผู้มีอายุยืนนาน ๒. มีโภคสมบัติมาก ๓. มีปัญญาคมกล้า อีกทั้งยังได้บรรลุคุณวิเศษอย่างอื่นด้วย ได้แก่ ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ วิโมกข์ ๘ อภิญญา ๖ เหตุและผลของการรักษาศีล
บางท่านอาจจะสงสัยว่า ศีลทำให้มีปัญญาคมกล้าได้อย่างไร ประการแรกต้องเข้าใจในวิบากกรรมของการพูดเท็จและการดื่มน้ำเมาเสียก่อน การพูดเท็จจะทำให้เป็นคนหลงลืมอะไรได้ง่าย ๆ เพราะความจำไม่ดี เนื่องจากหลอกผู้อื่นบ่อย ส่วนการดื่มน้ำเมาจะทำให้ขาดสติ ความจำเลอะเลือน และอาจถึงขั้นความจำเสื่อมได้
เมื่อเรารักษาศีล ๒ ข้อนี้ได้อย่างดีแล้ว ก็ไม่ต้องถูกตัดรอนด้วยวิบากกรรมดังกล่าว ทำให้เรามีโอกาสเรียนรู้อะไรได้โดยง่าย และเป็นผู้มีความจำดี มีสติมั่นคง ทั้งยังสามารถนำความรู้ที่จดจำมาดีไปลับให้เป็นปัญญาที่เฉียบคมยิ่ง ๆ ขึ้นไปได้ ฐานแห่งปัญญานั้นมาจากการสั่งสมความรู้ที่เป็นเยี่ยมนั่นเอง
การรักษาศีล ๕ หรือเบญจศีลให้ครบบริบูรณ์นับว่าเป็นเรื่องทำได้ยากแล้ว แต่การรักษาศีลให้ครบบริบูรณ์ได้นาน ๆ ยากยิ่งกว่า เพราะต้องใช้กำลังใจสูงส่ง วิธีหนึ่งที่จะทำให้รักษาเบญจศีลได้นาน ๆ คือ ต้องมีเบญจธรรมหรือกัลยาณธรรม ๕ ประการ เกื้อกูลควบคู่ไปด้วยกันกับเบญจศีล อันได้แก่ เมตตากรุณา สัมมาอาชีวะ กามสังวร สัจจะ สติสัมปชัญญะ
ศีลข้อที่ ๑ เว้นจากการฆ่า คู่กับธรรมข้อที่ ๑ เมตตากรุณา
ศีลข้อที่ ๒ เว้นจากการลัก คู่กับธรรมข้อที่ ๒ สัมมาอาชีวะ
ศีลข้อที่ ๓ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม คู่กับธรรมข้อที่ ๓ กามสังวร
ศีลข้อที่ ๔ เว้นจากการพูดไม่จริง คู่กับธรรมข้อที่ ๔ สัจจะ
ศีลข้อที่ ๕ เว้นจากการดื่มน้ำเมา คู่กับธรรมข้อที่ ๕ สติสัมปชัญญะ
หลักเบญจธรรม
๑. เมตตากรุณา ความรักปรารถนาดีให้ผู้อื่นได้รับความสุข และสงสารลงมือช่วยเหลือให้ผู้อื่นพ้นทุกข์
๒. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพในทางที่ชอบ ถูกทั้งกฎหมายและศีลธรรม เว้นจากอาชีพที่แม้อาจถูกกฎหมายแต่ผิดศีลธรรม เช่น เว้นจากมิจฉาวณิชชา ๕ ได้แก่ ค้าสัตว์นำไปให้เขาฆ่า ค้ามนุษย์ ค้าอาวุธ ค้ายาพิษ ค้าสุรา หรือเว้นจากการฉ้อโกงทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อดึงผลประโยชน์เข้ามาสู่ตนเอง เป็นต้น
๓. กามสังวร สำรวมในกาม ระมัดระวังควบคุมใจไม่ให้หลงใหลหมกมุ่นในกามคุณ ไม่ว่าจะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสมากเกินไปจนผิดธรรมหรือเกินความพอดี กลายเป็นความมักมากในกามไม่รู้จักพอในที่สุด
๔. สัจจะ มีอัธยาศัยซื่อสัตย์ จริงใจ ไม่มีอคติลำเอียง พูดจริงทำจริง ไม่ทอดทิ้งท้อถอยหากยังไม่บรรลุเป้าหมาย ตั้งใจจริงในการทำความดีและการละบาปอกุศล
๕. สติสัมปชัญญะ มีสติสัมปชัญญะเป็นที่พึ่งของใจ สติ คือ ระลึกก่อนจะคิด-พูด-ทำ สัมปชัญญะ คือ รู้ตัวขณะกำลังคิด-พูด-ทำ
สติ...ระลึกถึงสิ่งที่ถูกที่ควรก่อนเสมอ คอยยั้งความคิดให้รอบคอบ คอยห้ามเหนี่ยวรั้งไม่ให้คิดผิด พูดผิด ทำผิด
สัมปชัญญะ...รู้ตัวหรือพร้อมตื่นตัวอยู่เสมอในขณะกำลังพูดหรือกำลังทำ เป็นการช่วยประคองอีกชั้นหนึ่งจากสติ เพื่อให้การพูดการกระทำดำเนินเป็นไปอย่างถูกต้องที่สุด ทั้งนี้สติสัมปชัญญะจะใช้การได้ดีก็ต้องหมั่นฝึกฝนจิตด้วยสมาธิ
ในบางเรื่องแม้ไม่จัดเข้าในศีลก็จริง แต่ถือเป็นการผิดธรรมได้ เช่น อบายมุข การพนัน แม้จะมิได้จัดว่าผิดศีล แต่เป็นการผิดธรรมในข้อ ๒ คือ สัมมาอาชีวะ เพราะการพนันเป็นอาชีพที่อยู่ในวงจรบาป ซึ่งทำให้เกิดเวรต่อกัน เสียทรัพย์หมดเนื้อหมดตัว ไม่มีใครเชื่อถือถ้อยคำ ถูกครหานินทา ไม่มีใครกล้าคบหาสมาคมด้วย หรือแม้ไม่มีน้ำใจจะช่วยมดที่กำลังจมน้ำ ก็ไม่ถือว่าผิดศีล แต่ขาดธรรมคือ เมตตากรุณา เมื่อไม่มีเมตตากรุณา ใจจะหยาบขึ้นเรื่อย ๆ พอหยาบมากเข้า ๆ ใจก็จะยินดีในการเบียดเบียน แล้วก็จะพาให้ผิดศีลข้อปาณาติบาตฆ่ากันได้ในที่สุดเช่นกัน จึงสรุปง่าย ๆ ว่า เบญจศีล คือ ข้อห้ามหรือให้ละเว้น เบญจธรรม คือ ข้อที่พึงปฏิบัติ ศีลบริสุทธิ์ หยุดนิ่งได้เร็ว
เบญจธรรม ๕ ประการนี้ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงมิควรดูเบาที่จะละเลยปฏิบัติ เพราะว่าเอื้อต่อการรักษาศีล ๕ เป็นอย่างมาก และทำให้รักษาศีล ๕ ได้นานมั่นคงยิ่งขึ้นอีกด้วย และจะก่อให้เกิดผลสูงสุดคือการเป็นผู้ปฏิบัติสะดวก ได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน อย่างง่ายดายเป็นอัศจรรย์ดังสามเณรน้อยอรหันต์ที่กล่าวมาข้างต้น
สีเลน นิพฺพุตึ ยนฺติ ตสฺมา สีลํ วิโสธเย ศีลนำไปสู่การได้บรรลุนิพพาน ดังนั้นท่านทั้งหลายพึงชำระศีล ๕ ให้บริสุทธิ์เถิด