ตำรับยอดเลขา
เรื่อง : พระราชภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทัตตชีโว)
ตำรับยอดเลขา
จากคัมภีร์ “จรรยาบ่าว”
วิธีฝึกผู้นำในยุค ร.ศ. ๑๓๑
ตอนที่ ๑๔
จรรยาข้อที่ ๒๖-๒๗
“ตำรับยอดเลขา” นำมาจากหนังสือ “จรรยาบ่าว” ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ ๗๕ ปีที่แล้ว โดยไม่ได้ระบุชื่อ ผู้เขียน เมื่อหลวงพ่อทัตตชีโวอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ท่านอยากให้ญาติโยมรู้เรื่องราวดี ๆ จึงเมตตานำมาเทศน์ให้ฟังเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ต่อมาพิมพ์รวมเล่มและตั้งชื่อใหม่ว่า “ตำรับยอดเลขา” โดยลำดับเนื้อความตามต้นฉบับเดิม และคัดลอกของเก่าไว้ให้ดูด้วย เพื่อรักษาศัพท์บางคำไว้ และเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้เขียน
๒๖
เมื่อแขกมาหา อย่าห่างนาย
การได้ทำงานใกล้ชิดกับนายที่ดี
จะทำให้ได้ความรู้และประสบการณ์เร็วมาก
เพราะจะได้ความรู้ในเรื่องงาน ขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ
การพิจารณาตัดสินใจแก้ปัญหาต่าง ๆ
การวางตัวให้เหมาะสมในโอกาสต่างๆ
การใช้คำพูดและโวหารต่าง ๆ ในการสนทนาต้อนรับแขกแต่ละประเภท
เพื่อสร้างความคุ้นเคย ความให้เกียรติ ความสุภาพ ความยอมรับนับถือ
และบรรยากาศที่ดีในการสนทนา ซึ่งไม่มีสอนในตำราเรียน
๒๖. เมื่อแขกมาหา อย่าห่างนาย
แขกไปไทยมาเราต้องประจำการอยู่ในที่ใกล้รับใช้สรอย และจะได้ฟังการงานหรือเรื่องราวอะไรต่าง ๆ ที่ท่านพูดกันนั้นด้วย จะทำให้มีความคิดและฉลาดขึ้น เพราะได้รู้เรื่องราวที่แปลก ๆ จะเป็นราชการงานเมืองก็ดี การประเพณีธรรมเนียมก็ดี ย่อมจะเป็นประโยชน์แก่ตัวเรามากที่จะได้จดจำไว้ ไม่ควรจะหลบหลีกไปนอน หรือเถลไถลไปเสีย
ในข้อนี้อย่าเพิกเฉยเสียเลย ให้เอาใจใส่จดจำไว้เป็นกำไร นอกจากความคิดความเรียน ของเราที่มีอยู่นั้น กับจะได้รู้นิสัยปัจจัยของท่านด้วยว่า ท่านคนนั้นประพฤติอย่างนั้น นิยมยินดีอย่างนั้น อ่อนแข็งแรงกร้าวอย่างนั้น ย่อมเป็นประโยชน์มากในการที่ได้สดับตรับฟังเรื่องราว อะไรต่าง ๆ เพื่อเป็นหนทางที่จะได้เลือกเฟ้นเค้นคัดเอาสิ่งที่ชอบที่พอใจไว้เป็นความรู้เครื่องประดับของเราต่อไป
ใช่แต่เท่านั้นยังกระทำให้ทวีโวหารในการโต้ตอบระบอบอรรถกว้างขวางดีขึ้นด้วย ดีทั้งได้ ความรู้ ดีทั้งการปฏิบัตินายเป็นที่พอใจ
เว้นไว้แต่ท่านจะพูดความลับกัน ถ้าเช่นนั้นเราจะต้องถอยห่าง และเราต้องมีอัธยาศรัยพิเคราะห์เอาเอง อย่าให้ท่านทันออกปากขับไล่ก่อนได้ยิ่งดี และเมื่อขยายออกไปห่างนั้น จะไปพูดจาเล่นหัวกับเพื่อนบ่าวด้วยกัน ก็อย่าสำแดงวาจาอื้อฉาวกราวเกรียวเป็นอาการไม่ยำเกรงนั้นได้ เป็นอันไม่สมควร ถึงว่าไม่มีแขกมาก็ไม่สมควรเหมือนกัน ควรจะพูดและเล่นกันอย่าให้มีเสียงโด่งดัง ได้ยินไปถึงนายให้มีความรำคาญ ฤๅเสียกิริยานั้นด้วย ฤๅต้องถูกเอ็ด
ข้อนี้ ท่านสอนให้พยายามใกล้ชิดผู้ใหญ่เข้าไว้ เคยมีการวิจัยออกมาว่า ผู้ที่เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นอธิบดีกรมกองต่าง ๆ ส่วนมากมักจะเป็นคนสนิทรับใช้ผู้ว่าหรืออธิบดีมาก่อนทั้งสิ้น เพราะบุคคลเหล่านี้มีโอกาสศึกษาหาความรู้เป็นพิเศษ ในขณะที่ผู้ใหญ่ท่านต้อนรับสนทนากับบุคคลต่าง ๆ จึงเป็นการเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ไปด้วย ทำให้มีความแตกฉานเร็วขึ้น
เรื่องนี้ โบราณได้อุปมาไว้ว่า คนใกล้ชิดนั้นเปรียบเสมือนต้นกล้วยที่ขึ้นข้างโอ่งน้ำ ซึ่งมักจะ โตเร็วกว่าต้นกล้วยที่ปลูกไว้ในไร่ ด้วยเหตุที่ว่า ต้นกล้วยที่อยู่ข้างโอ่งน้ำมักจะได้น้ำอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่เจ้าของบ้านตื่นเช้า ลุกขึ้นมาล้างหน้าข้างโอ่งน้ำ หุงข้าว ทำกับข้าว ล้างถ้วย ล้างจาน ไปจนถึงอาบน้ำ ซักผ้า ถูบ้าน ก็ต้องใช้น้ำ ทิ้งน้ำอยู่แถวนั้น ตั้งแต่เช้าจรดเย็น ทำให้เจ้าต้นกล้วยต้นนี้ได้น้ำตลอดทั้งวัน จึงโตวันโตคืนให้ผลเร็ว
คนเราก็เช่นกัน ถ้าได้ทำงานใกล้ชิดเจ้านาย ก็จะทำให้ได้ความรู้และประสบการณ์มาก จึงก้าวหน้าเร็ว แต่มีข้อแม้ว่า
๑. เจ้านายต้องเป็นคนดี
๒. เราเองต้องรู้จักอดทน
ที่ว่าเจ้านายต้องเป็นคนดี เพราะว่าถ้าเราได้เจ้านายที่ไม่ดี เมื่อเราทำงานใกล้ชิดท่าน จะทำให้เราซึมซับความไม่ดีนั้นมา และความไม่ยุติธรรมของท่านจะทำให้เราก้าวหน้าได้ลำบาก
ต้องรู้จักอดทน เพราะการได้ใกล้ชิดเจ้านายตลอดเวลา ท่านจึงมีงานให้เราทำมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้านายที่เป็นคนรักงาน ท่านจะทำงานทั้งในและนอกเวลาโดยไม่มีพัก ซึ่งเราก็พักไม่ได้ เช่นกัน ต้องรู้จักอดทน ซึ่งก็นับว่าคุ้มค่า เพราะจะทำให้เรามีความเจริญก้าวหน้ากว่าเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ ความดีทุกอย่างต้องแลกมาด้วยน้ำพักน้ำแรง นอนเฉย ๆ แล้วได้บุญนั้นไม่มี ต้องถมเรี่ยวแรงลงไปจึงจะได้ดี
หลวงพ่อมีประสบการณ์ของตนเองที่คุณยายอาจารย์ฯ ท่านฝึกให้ตั้งแต่ก่อนบวช เมื่อคุณยายตั้งใจจะสร้างวัด ท่านมองการณ์ไกลว่าจะต้องสร้างคนก่อนสร้างวัด ดังนั้นทุกครั้งที่คุณยายรับแขก ท่านจะเรียกหลวงพ่อไปนั่งฟังด้วย แต่ท่านจะไม่บอกว่าต้องการฝึกหลวงพ่อ ท่านจะบอกว่า
“คุณเด็จ ยายแก่แล้ว คุยกับแขก ๒-๓ คำ ยายก็เหนื่อย คุณช่วยมาอยู่เป็นเพื่อนยาย จะได้คุยกับแขกเขาหน่อย”
หลวงพ่อก็ตอบ “ครับ” แล้วก็ทำตามที่ท่านสั่งโดยถือเป็นหน้าที่ ตอนนั้นยังไม่ได้บวช
หลวงพ่อจึงได้ไปช่วยคุณยายรับแขก นั่งฟังการสนทนาของท่าน ถ้าเป็นบุคคลสำคัญท่านจะรับแขกเอง พูดคุยด้วยจนแขกกลับ แต่ถ้าเป็นแขกธรรมดาที่มาเยี่ยมเยียนด้วยความคิดถึง ท่านจะคุยด้วยเล็กน้อย พร้อมกับแถมธรรมะให้พอเหมาะพอดีกับบุคคลเหล่านั้น แล้วท่านจะปลีกตัวไปทำอย่างอื่น หลังจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของหลวงพ่อที่จะต้องสนทนากับแขก เพื่อให้เกิดความคุ้นเคย กับบุคคลเหล่านั้นต่อไป
ครั้นเมื่อได้บวชแล้ว คุณยายก็ยังให้ทำหน้าที่เช่นนี้ต่อไปอีก แต่มีเพิ่มขึ้นคือ ถ้าเป็นบุคคล ที่หลวงพ่อยังไม่รู้จัก ท่านจะมานั่งเป็นเพื่อนและรับแขกให้หลวงพ่อดู ซึ่งมีทั้งผู้ที่ตั้งใจมาหาความรู้ทางด้านธรรมะและผู้ที่ตั้งใจมาจับผิด หรือบางครั้งเขาก็นำข้อสงสัยในการฝึกธรรมะหรือประสบการณ์ที่พิสดารมาถามคุณยาย ซึ่งหลวงพ่อที่มีโอกาสนั่งฟังอยู่ตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้ได้เพิ่มพูนประสบการณ์ให้หลวงพ่ออย่างมากมาย
ดังนั้น เมื่อถึงเวลาที่หลวงพ่อต้องมาเทศน์ มาสอนลูกศิษย์ จึงทำให้มีข้อมูลอย่างเต็มที่ เป็นข้อมูลที่เกิดจากทั้งการได้ฟังคุณยายรับแขก ข้อมูลจากการที่คุณยายให้รับแขกโดยลำพัง และข้อมูลจากการค้นคว้าปฏิบัติธรรมด้วยตนเอง ทำให้สามารถขยายความหรือแสดงธรรมให้พวกเราอย่างกระจ่างแจ้งได้
จากการที่เราได้ใกล้ชิดกับผู้ใหญ่ นอกจากจะทำให้ได้ประสบการณ์ในการทำงานแล้ว เรายังจะได้สังเกตอัธยาศัยของท่านอีกด้วย เมื่อถึงคราวท่านรับแขกจึงควรเข้าไปรับใช้ใกล้ชิด เพื่อให้ท่านเรียกใช้สอยได้โดยง่าย ยกเว้นหากท่านต้องการเจรจาในเรื่องที่เป็นความลับ เราต้องรู้จักปลีกตัวออกมาเองโดยไม่ต้องรอให้ท่านเอ่ยปาก ต้องเรียนรู้ว่าสิ่งใดท่านชอบหรือไม่ชอบอย่างใด ข้อมูลที่เราสะสมไว้จะทำให้เราเป็นเสมือนคอมพิวเตอร์เคลื่อนที่ กลายเป็นผู้ที่มีความสามารถสูงได้คนหนึ่ง
เมื่อได้ความรู้ ความดี ความไว้วางใจแล้ว ยิ่งต้องรู้จักระมัดระวังตัว อย่าเป็นคนหลงตัวเอง ผู้ใหญ่จะให้ความรักความสนับสนุนแก่เรา หากเราวางตัวได้เช่นนี้ ความเจริญจะมีแก่เราแน่นอน
๒๗
อย่าเย่อหยิ่งเป็น “กิ้งก่าท้าววิเทหราช”
คนที่มีฝีมือดี แต่กลับยโสโอหัง
ย่อมไม่มีทางรักษาความดีที่มีมาแต่เดิมไว้ได้
ผลสุดท้ายก็ไม่มีใครอยากร่วมงานด้วย
ผู้ใหญ่ก็ไม่ให้การสนับสนุน ก็จะต้องเฉาตาย
ไม่มีความเจริญก้าวหน้า
เพราะได้ขุดหลุมฝังตัวเอง
ไว้แต่แรกโดยไม่รู้ตัว
๒๗. อย่าเย่อหยิ่งเป็น “กิ้งก่าท้าววิเทหราช”
เมื่อนายเมตตาปรานีเป็นที่ไว้วางใจเช่นนั้นแล้ว ความเจริญก็ย่อมจะบังเกิดแก่เราหลายประการ ฯลฯ แต่ถึงอย่างนั้นก็ดี เราไม่ควรจะเย่อหยิ่ง “กิ้งก่าท้าววิเทหราช” เราควรจะยำเกรงระมัดระวังตัว อย่าให้ความชั่วมาคลุกคละปะปนกับความดีของเราที่มีอยู่แล้วให้มัวหมองไป เพราะความดีย่อมหายาก ต้องสะสมอบรมไว้ให้เป็นสมบัติของเรามาก ๆ จึงจะสำเร็จมรรคผลพาตนให้สู่ศุขได้ ความชั่วนั้นกระทำง่าย และเป็นสิ่งทำลายความดีที่เรามีไว้นั้นให้พลันสูญหาย ถึงแม้ว่าจะมีสักครั้งเดียวที่เจตนาทำ ก็อาจลบล้างความดีที่มีอยู่หลายครั้งพังทะลายหายสูญได้ ไม่ใช่เช่น ของแลกเปลี่ยนกันตัวต่อตัวเลย เพราะฉะนั้น เราควรระวังอย่าให้มีให้เป็นได้จึงจะดี แม้ถ้าจะมี เป็นขึ้นบ้างโดยไม่มีเจตนาแล้ว ก็ไม่สู้กระไรนัก โทษคงไม่หนัก ฤๅเสมอเพียงภาคทัณฑ์
มีเรื่องเล่าในอดีตว่า มีเจ้ากิ้งก่าตัวหนึ่งเกาะอยู่บนต้นไม้ ทุกครั้งที่ท้าววิเทหราชเสด็จผ่านไป มันจะลงมาจากต้นไม้มาคำนับพระองค์ ท้าววิเทหราชชื่นชมมันมาก จึงให้นำเอาลูกกระพรวนทองคำไปผูกคอให้เป็นรางวัล ตั้งแต่นั้นมา เวลาที่พระองค์เสด็จผ่านไป มันไม่เคยลงมาคำนับอีกเลย ได้แต่เกาะกิ่งไม้ชูคอว่าข้าได้ทอง ท้าววิเทหราชจึงสั่งให้นำเอาลูกกระพรวนทองคำออกจากคอเสีย
ข้อนี้เป็นการเตือนสติว่า เมื่อเราได้ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่จนกระทั่งผู้บังคับบัญชาหรือนายเรา เกิดความเมตตาปรานีไว้วางใจแล้ว ขอให้เราพยายามรักษาความดีนั้นไว้ให้ได้ อย่าเหลิงหลงลืมตัว
ตลอดระยะเวลาที่หลวงพ่อทำงานสร้างวัดก็ดี ทั้งเมื่อก่อนสร้างวัดตอนที่ยังทำงานส่วนตัวอยู่ ก็ดี ได้พบบุคคลประเภทหนึ่งคือ ในตอนแรกได้ตั้งใจทำงานทุกอย่างเป็นอย่างดี ติดตามงาน หนักเอาเบาสู้ และฉลาดในการทำงาน รวมความแล้วคือช่างรู้ใจเราไปเสียหมด แต่ภายหลังจากที่มอบความไว้เนื้อเชื่อใจ และมอบหมายการงานสำคัญ ๆ ให้ไปทำแล้ว กลับลืมตัว ถึงแม้งานที่ทำจะไม่เสีย แต่วางตัวสูงกว่าที่ควรจะเป็น มีทั้งไปเกทับสับแหลกกับเพื่อนร่วมงาน มีทั้งไปดูถูก ชาวบ้านเขา มีทั้งไปยกตนข่มท่านในรูปแบบต่าง ๆ ทำนองเดียวกับกิ้งก่าได้ทองของท้าววิเทหราช แม้กับหลวงพ่อเองบางทีก็ชักจะพอง ๆ เข้าใส่ จึงต้องเลิกใช้งาน
คนเราเมื่อไปทำงานที่ใดก็ตาม จนกระทั่งมีผู้ใหญ่เขาเกิดความไว้วางใจแล้ว ก็ย่อมจะต้องมีแต่ความเจริญต่อไปข้างหน้าอย่างแน่นอน แต่หากไปกระทำการใดที่ทำให้ผู้ใหญ่เขาไม่อยากให้ งานเรา ผลงานก็ย่อมไม่มี แล้วมันจะเฉาตาย หาความเจริญก้าวหน้าไม่ได้
คนที่มีฝีมือดี เมื่อได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจแล้ว กลับมายโสโอหังเสีย หรือบางคนพอได้เลื่อนยศตำแหน่งเข้า เลยมัวเมาจมอยู่ในอบายมุข ไม่ติดตามงานเท่าที่ควรจะเป็น พวกนี้ขุดหลุมฝัง ตัวเองทั้งนั้น
ฉะนั้น ใครที่ยังเป็นผู้น้อยอยู่ เมื่อได้รับการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง แทนที่จะเอาเรื่องเหล่านี้ มาเป็นข้อยกตนข่มท่าน น่าจะคิดกลับเสียใหม่ว่า ที่เราได้ดีขึ้นมาขนาดนี้ เพราะเราได้ทุ่มเท ชีวิตให้กับการงานจริง ๆ ดังนั้นถ้าจะให้ดียิ่งไปกว่านี้ ก็ต้องทุ่มเทให้มากขึ้น แม้แต่การที่เราได้ความร่วมมือจากเพื่อนร่วมงานหรือจากหน่วยงานอื่นก็เช่นกัน เราได้มาเพราะเรามีความอ่อนน้อมถ่อมตนเข้าไปหา ดังนั้นเราควรจะอ่อนน้อมถ่อมตนให้มากขึ้นไปอีก เพื่อจะได้เกิดพลังสะสมให้ ยิ่ง ๆ ขึ้นไป
การกระทำดังกล่าวนี้ เป็นสิ่งถูกต้องที่ควรกระทำอย่างยิ่ง มิฉะนั้นจะเอาตัวไม่รอด แต่คนเราโดยทั่วไปแล้วยังไม่หมดกิเลส เมื่อได้เลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง ก็อดไม่ได้ที่จะไปคุยอวด โดยเฉพาะคนใกล้ชิด เช่น ลูก เมีย พ่อ แม่ พี่ น้อง เพื่อนสนิท แต่อย่าถึงกับไปเกทับคนอื่นเขา เพราะถ้าเขาเกิดหมั่นไส้ขึ้นมาจะไม่ได้รับความร่วมมือ
สรุปความในข้อที่ ๒๗ นี้ได้ว่า คนเราแม้ได้ตั้งใจทำความดีมามากเพียงไร เช่น สมมุติว่า ทำความดีไว้ ๙๙ ครั้ง แต่มาทำเสียในครั้งที่ ๑๐๐ คนเขาจะลืมหมดว่าเราเคยทำความดี มา ๙๙ ครั้ง แต่จะจดจำครั้งที่ ๑๐๐ เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ที่เราได้ทำเสียไป เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะกู้ชื่อเสียงในการทำความดีให้กลับคืนมาได้ยาก เพราะฉะนั้นครั้งใดที่มีการเลื่อนยศตำแหน่ง ครั้งนั้นยิ่งต้องมีความระมัดระวังตั้งใจสร้างความดีให้ยิ่งขึ้นเป็นเงาตามตัว มิฉะนั้นถ้าพลาดขึ้นมาความดีที่ได้ตั้งใจสร้างไว้เท่าใดก็จะพังทลายลงเสีย
(อ่านต่อฉบับหน้า)