มุทิตาสักการะ
เรื่อง : พระสมศักดิ์ จนฺทสีโล
มุทิตาสักการะ
พระเดชพระคุณพระมหาโพธิวงศาจารย์
(ทองดี สุรเตโช) ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต
เนื่องในวาระอันเป็นสิริมงคล เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๘ ณ ห้องแก้วสารพัดนึก สภาธรรมกายสากล วัดพระธรรมกาย มีการประกอบพิธีแสดงมุทิตาสักการะพระเดชพระคุณพระมหาโพธิวงศาจารย์ เนื่องในวาระวันคล้ายวันเกิด (๑๕ กุมภาพันธ์) และในวาระที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเลื่อนสมณศักดิ์ในราชทินนามที่ “พระมหาโพธิวงศาจารย์ ปริยัติกิจวิธานปรีชา ศีลาจารวิมล โสภณธรรมานุสิฐ ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี” เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา
พระเดชพระคุณพระมหาโพธิวงศาจารย์ นอกจากจะเป็นพระมหาเถระผู้ทรงเปรียญธรรม ๙ ประโยค เป็นราชบัณฑิต และเจ้าอาวาส
วัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร แล้ว พระเดช-พระคุณหลวงพ่อยังดำรงฐานะปูชนียภิกขุแห่งพระพุทธศาสนา ผู้ทรงไว้ซึ่งพระธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และนำพระธรรมคำสอนนั้นมาอนุเคราะห์เป็นหลักในการดำเนินชีวิตอันถูกต้องดีงามแก่หมู่ชน จนเกียรติประวัติและผลงานเป็นที่ปรากฏนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
นอกจากมีเกียรติคุณปรากฏในวงการพระปริยัติธรรม และด้านวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาประดุจเพชรเม็ดงามแล้ว พระเดชพระคุณหลวงพ่อยังมีคุณูปการอย่างยิ่งแก่บรรดาพระภิกษุสามเณรของวัดพระธรรมกาย โดยเมตตาให้คำปรึกษาและสนับสนุนการทำหน้าที่เผยแผ่ทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนเป็นประธานในการจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาหลายต่อหลายโครงการมาโดยตลอด
นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา พระเดชพระคุณหลวงพ่อยังเมตตาเป็นพระอุปัชฌาย์ในการบรรพชาอุปสมบทแก่เหล่าพระภิกษุสามเณรธรรมทายาทปีละหลายหมื่นรูป และปีละนับแสนรูปในระยะเวลา ๔-๕ ปีมานี้ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญต่อความสำเร็จของงานพระศาสนาทั้งในและต่างประเทศ ทำให้พระพุทธศาสนาแผ่ไพศาลออกไปเป็นที่พักพิงทางด้านจิตใจแก่ชาวพุทธทั้งหลาย
กล่าวได้ว่าความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาที่เคยอ่อนแสงลงคล้ายอาทิตย์อัสดง กลับทอประกายเจิดจรัสแผดกล้าขึ้นมา เพราะความมุ่งมั่นที่จะรักษาพระพุทธศาสนาของพระสงฆ์ไทย โดยมีพระเดชพระคุณหลวงพ่อเป็นหนึ่งในพระมหาเถระผู้มุ่งมั่นที่จะได้เห็นพระพุทธศาสนาแผ่ไพศาลเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลก
ดังนั้น ในวาระที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อได้รับพระราชทานโปรดเลื่อนสมณศักดิ์ และในวาระวันคล้ายวันเกิด เหล่าศิษยานุศิษย์และคณะกัลยาณมิตรวัดพระธรรมกาย ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ จึงขอนอบน้อมมุทิตาสักการะและบูชาธรรมพระเดชพระคุณพระมหาโพธิวงศาจารย์ ผู้เปี่ยมด้วยวิหารธรรมและทรงคุณอันประเสริฐ เป็นพระแท้ และเป็นแบบอย่างแห่งพระสงฆ์ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ควรแก่การสักการบูชาทั้งแก่เหล่ามนุษย์และเทวดาด้วยเศียรเกล้า
ใจหนัก หลักดี มีทุน
โอวาทพระมหาโพธิวงศาจารย์
วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๘
วันนี้ปลื้มปีติ เพราะว่าท่านทั้งหลายได้มาพร้อมเพรียงกันแสดงน้ำใจอันประเสริฐยิ่ง ญาติโยมเหล่ากัลยาณมิตรทุก ๆ ท่าน เหล่ากัลยาณมิตรและญาติโยมวัดพระธรรมกายมีเป็นจำนวนมาก นำโดยหลวงพ่อธัมมชโยพร้อมทั้งพระสงฆ์ในวัด ญาติโยมทั้งหลายก็เลยไปได้ถูกต้อง ไปได้ดี เพราะมีผู้นำดี
วัดพระธรรมกายเริ่มแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ในยุคนั้นมีแต่ทุ่งนา ไม่มีต้นไม้เลยสักต้นเดียว หลวงพ่อธัมมชโย หลวงพ่อทัตตชีโว และพระอีกรูปสองรูป มาจำพรรษาที่นี่ เวลาญาติโยมทั้งหลายมาทำบุญกัน ต้องกางเต็นท์ขนาดเล็ก เสื่อก็ไม่มีปู ในยุคนั้นต้องไปยืมเสื่อที่บางขุนเทียน
ท่านทั้งหลายไม่ว่าอยู่ในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัด และอยู่ในแวดวงธรรมกาย ต่างได้ยินได้ฟังเรื่องราวของวัดพระธรรมกายมามากมาย ยิ่งเมื่อ ๑๐ กว่าปีที่แล้ว วัดพระธรรมกายมีปัญหามากมาย หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านพูดไว้ว่า “ไม่สู้ ไม่หนี ทำดีเรื่อยไป” ถ้าสู้มีสองอย่าง ไม่แพ้ก็ชนะ ถ้าหนีมีอย่างเดียวคือแพ้ ถ้าไม่สู้ ไม่หนี ทำดีเรื่อยไป มีอย่างเดียวคือชนะ ตรงนี้สำคัญมาก ไม่สู้ ไม่หนี ทำดีเรื่อยไป ชนะอย่างเดียว อันนี้อาตมาไม่ได้ยินเอง เพราะอาตมามาอยู่วัดปากน้ำไม่ทันหลวงพ่อวัดปากน้ำ แต่มีพระผู้ใหญ่ท่านเล่าให้ฟังว่าหลวงพ่อพูดไว้อย่างนี้ เราก็เลยจำ แล้วมาบอกกับวัดพระธรรมกายว่า เราไม่ต้องสู้ ใครจะว่าอย่างไรก็ตาม แต่เราก็ไม่หนี ทำดีเรื่อยไป ก็เลยอยู่ได้ทุกวันนี้ เราไม่ต้องประกาศหรอกว่า เราชนะ แต่เรารู้เองว่า พระพุทธศาสนาตอนนี้จะต้องอาศัยกลุ่มคนแบบพวกเรานี้แหละ อาศัยกลุ่มคนที่มีศรัทธามั่นคง ทำบุญทำกุศล ไม่สู้ ไม่หนี ทำดีเรื่อยไป รักษาตัวเองได้ และเป็นเหตุให้เราเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า พระศาสนาก็อยู่ได้ วัดวาอารามก็อยู่ได้
ทางวัดพระธรรมกายนั้นเก่งมาก อาตมาก็ยังตามไม่ทันด้วยซ้ำ เพราะที่วัดมีพระเณรไม่มาก คือเมื่อเผยแผ่ในประเทศอิ่มตัวแล้ว ก็ควรไปสร้างวัดในต่างประเทศบ้าง หลวงพ่อวัดปากน้ำก็เคยพูดไว้ วัดพระธรรมกายก็รับลูกไปสร้างวัดในต่างประเทศ ส่งพระไป เดี๋ยวนี้วัดสาขาของวัดพระธรรมกายที่อยู่ในต่างประเทศมีมากที่สุดในโลก มีหลายแห่ง หลายประเทศ ทำให้เห็นว่าพระพุทธศาสนาในต่างประเทศกำลังไปได้อย่างดี อาตมาก็มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนหลายที่ สำหรับตัวอาตมาก็ค่อย ๆ ก้าวเหมือนกัน แต่ที่เป็นหลักฐานก็มีแค่ ๒ ประเทศ เพราะว่ามีพระไม่พอ
ท่านทั้งหลายคงได้ยินได้ฟังมาบ้างเรื่องผลงานวิจัยที่เขาเอามาพูดคุยกันในทีวีของวัดพระธรรมกาย ช่อง DMC ฟังแล้วรู้สึกว่า พระพุทธศาสนาของเรายังจะมั่นคงอยู่อย่างนี้ได้อีกประมาณ ๒๑ ปี หลังจาก ๒๑ ปี จะวุ่นวายมาก เพราะว่าศาสนาอื่นจะมาแบ่งศาสนิก จะมีจำนวนผู้คนนับถือมากขึ้น ในยุโรปบางประเทศ พระพุทธศาสนาจะเหลือเพียง ๑๙ ปี คือผู้คนจะเริ่มเปลี่ยนศาสนา คนไทยอีก ๒๑ ปี จะเริ่มเปลี่ยนศาสนา นั้นหมายความว่า ถ้าคนพุทธยังปล่อยตามเรื่องตามราว ทั้งรัฐบาล พระสงฆ์ ประชาชน ทุกหมู่ทุกเหล่า ปล่อยไปเรื่อย ๆ อย่างนี้ ไม่ปรับปรุงแก้ไขในหมู่คณะของตน พระพุทธศาสนาจะอยู่ได้ประมาณ ๒๑ ปี ถ้าเราอ่อนแอก็คงจะไม่ถึง ๒๑ ปี แต่ถ้าเราเข้มแข็งก็จะยืดไปได้มาก อาจจะเป็น ๓๐ ปี ๕๐ ปี ก็ได้ อยู่ที่เงื่อนไขของความเข้มแข็ง
ฉะนั้น การที่วัดพระธรรมกายหรือหลวงพ่อธัมมชโยกำหนดให้บวช ๑๐๐,๐๐๐ รูป เป็นสามเณร และบวชพระทั่วประเทศ อันนี้เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่จะยืดให้คนพุทธเหล่านี้เจริญเติบโตมากขึ้น เข้มแข็งขึ้น ซึ่งจะทำให้พระพุทธศาสนามั่นคงเกิน ๒๑ ปี แล้วจำนวนคนพุทธต้องเกิดขึ้นมากด้วย เขาบอกว่าถ้าจำนวนคนพุทธเติบโต ๑.๙ เปอร์เซ็นต์ ศาสนาพุทธจะอยู่ได้นาน ถ้าต่ำกว่า ๑.๙ เปอร์เซ็นต์ เราแย่แน่ เพราะศาสนาอื่นเติบโตกว่า ๒ เปอร์เซ็นต์ต่อปี ถ้าเป็นอย่างนี้เรื่อย ๆ ไป เราจะมีเวลา ๒๑ ปี
ข้อสำคัญคือ ญาติโยมทั้งหลายชาวพุทธของเรานี้ต้องทำบุญ อย่างที่ท่านทั้งหลายทำกันอยู่เรื่อย ๆ ในขณะนี้ แต่ทำบุญจะทำอย่างไร จะพูดให้ท่านทั้งหลายฟังก็แล้วกันว่า การที่เราจะได้มีโอกาสทำบุญ ทำกุศล ทำความดี ทำจิตใจให้มั่นคงนั้น จะอยู่ในลักษณะอย่างน้อย ๓ ประการ คือ ๑. ใจหนัก ๒. หลักดี ๓. มีทุน
๑. ใจหนัก ก็คือใจต้องหนักแน่น คนพุทธหรือคนสมัยใหม่ใจไม่ค่อยหนัก สมัยพระพุทธเจ้าก็มีคนที่ใจไม่ค่อยหนัก ถ้าใจไม่หนักรักษาศาสนาไม่ได้ อย่างคนประเทศอินเดียใจไม่หนัก พอศาสนาอื่นมาบุก วัดนาลันทาถูกเผาหมด พระถูกฆ่าบ้าง หนีไปเข้าป่าบ้าง พระพุทธศาสนาก็หมดไปจากอินเดีย เหลือแต่ซาก นั้นคือใจไม่หนัก
คำว่า ใจหนักในที่นี้ก็คือ หนักแน่น มั่นใจ อาศัยศรัทธา ศรัทธา แปลว่า ความเชื่อ ความเชื่อมั่น มั่นใจ
ใจหนักก็คือ มีความมั่นใจ ไม่วอแว ไม่เหลาะแหละ ไม่เหลวไหล มั่นคง คนพุทธเราสังเกตดูก็ได้ พอมีเรื่องอะไรที่ไม่ดีเกี่ยวกับพระ จริงหรือไม่จริงไม่รู้ เชื่อเลย อย่างนี้ใจไม่หนัก คนสมัยโบราณใจหนัก จึงสามารถรักษาพระศาสนาเอาไว้ได้ตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่ปัจจุบันนี้พอเจออะไรที่ไม่ดีเกี่ยวกับพระก็เกิดความท้อแท้ เบื่อหน่าย ไม่อยากทำบุญ พระศาสนาก็เลยไม่มั่นคง เพราะผู้คนไม่ยอมทำบุญ คนที่ใจไม่หนักทำบุญไม่ค่อยได้ ฉะนั้นเราต้องใจหนัก มีศรัทธามั่นคง
๒. หลักดี หลักในที่นี้ก็คือ หลักธรรมะ หลักความถูกต้อง ต้องรู้ มีปัญญารู้ ไม่ใช่ว่าใจหนักจริง แต่ว่ามีศรัทธาไปเชื่อ ไปเลื่อมใสสิ่งที่ไม่ได้เกิดประโยชน์ เพราะฉะนั้นต้องมีปัญญา หลักต้องดี หลักจะดีได้ก็ต้องศึกษา ต้องฟัง ต้องปฏิบัติ ต้องประพฤติ ต้องทดลองทำ ไม่ใช่อ่านตำราอย่างเดียวหรือฟังอย่างเดียว ต้องอาศัยปัญญาพินิจพิจารณา ดูเหตุ ดูผล ดูความเป็นไปได้ ทดสอบ ทดลอง แล้วเราจะได้หลักเอง ถ้าหากใจหนักด้วย หลักดีด้วย ก็ไปได้ดี
๓. มีทุน คำว่าทุนในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงทรัพย์สมบัติอย่างเดียว การทำความดีนั้น ใครมีทรัพย์ให้ทำด้วยกำลังทรัพย์ ใครมีกำลังกายทำด้วยกำลังกาย ใครมีปัญญาก็ใช้มันสมอง ใช้ปัญญาทำ เพราะฉะนั้นคนที่จะทำความดี ทำบุญกุศล ช่วยเหลือสังคมได้ สร้างพื้นฐานให้ชีวิตตนเองได้ ต้องมีทุน ต้องหาทุน ถ้าหากว่าเป็นเงิน เป็นทอง เป็นทรัพย์ ก็ต้องขยันหมั่นเพียร เก็บหอมรอมริบ ประหยัด มัธยัสถ์ ก่อร่างสร้างตัว จะทำให้ทรัพย์สมบัติเกิดขึ้น ก็คือมีทุน
ใครใจหนัก หลักดี มีทรัพย์ มีทุน ก็ทำบุญทำกุศลได้ตลอด ถ้าหากว่าทุนทรัพย์ไม่ค่อยมี แต่กำลังกายยังเข้มแข็ง ก็ใช้กายช่วย เป็นอาสาสมัครด้วยความหมั่นเพียร ทำด้วยจิตใจที่งดงาม เหมือนกับที่ชาววัดพระธรรมกายทำอยู่ คือมองแบบมีปัญญา มองแบบคนทำงาน แบบอาสาสมัคร อย่างนี้เขาเรียกว่ามีทุน มีกำลังกาย คนสมัยก่อนนี้เขาก็ไม่ค่อยมีทรัพย์ อย่างสมัยอยุธยา สมัยสุโขทัย ส่วนใหญ่ใช้กำลังกายสร้างวัด ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน วัดวาอารามก็เกิดขึ้นมาถึงยุคปัจจุบัน อย่างนี้เรียกว่ามีทุนที่ใช้กำลังกาย
ฉะนั้น ท่านทั้งหลายที่มาทำบุญได้ก็ล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีใจหนัก หลักดี และมีทุนกันทั้งนั้น อย่างนี้แหละพระพุทธศาสนาอยู่ได้ แต่ถ้าใจไม่หนัก หลักไม่ดี ไม่มีทุน พระพุทธศาสนาก็อาจจะอยู่ได้ไม่ถึง ๒๑ ปี ดังนั้นก็อย่าได้ประมาท เข้มแข็งกันเข้าไว้ รวมตัวกันเข้าไว้ ก็ขอเป็นกำลังใจแก่ท่านทั้งหลาย เป็นกำลังใจแก่วัดพระธรรมกาย เป็นกำลังใจแก่พระภิกษุและสามเณรทุก ๆ ท่าน